'นายกฯ นักประดิษฐ์' ติงไทย ร่วมมือกับบริษัทด้านการสื่อสาร หวั่น ความลับทางการค้ารั่วไหล แนะ ยกร่าง พ.ร.บ.ความลับทางการค้า ฉบับใหม่ ให้ทันกับเทคโนโลยีและการค้าสมัยใหม่ พร้อมเสนอเทคโนโลยีป้องกันข้อมูลรั่วไหล และสืบค้นหาผู้กระทำความผิด
วันที่ 2 พ.ย. นายภณวัชร์นันท์ ไกรมาตย์ นายกสมาคมนักประดิษฐ์และนวัตกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวถึงกรณีที่มีข่าวว่า บริษัทที่พัฒนานวัตกรรมด้านการสื่อสาร มาลงทุนก่อสร้างโครงข่าย 5G, อีโคซิสเต็ม ที่เกี่ยวข้องและปัญญาประดิษฐ์ (5G+AI Eco-Innovation) ในประเทศไทยว่า ตนเห็นว่า การชักชวนให้บริษัทเอกชนของจีน ได้มาลงทุนในไทยนั้น ต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ เพราะ ยกตัวอย่าง ปกติ 4G เปรียบเหมือน ท่อน้ำไหลปกติ แต่ 5G เป็นการเพิ่มเครื่องดูดน้ำแรงสูงให้ไหลเร็วเพิ่มขึ้น ซึ่งสามารถดูดข้อมูลได้รวดเร็วและมีประสิทธิภาพ ดังนั้น การให้บริษัทที่มีความเชี่ยวชาญมาสอนและพัฒนาทักษะด้านเทคโนโลยีการสื่อสารนั้น จำเป็นต้องป้องกันการล้วงข้อมูลทางการค้า ซึ่งในปัจจุบัน ตนเห็นว่า ปัญหาเรื่องขโมยความลับความมั่นคงของชาติ และความลับทางการด้านทรัพย์สินทางปัญญา สมัยนี้ง่ายมาก เพราะหากที่ไหนมี Wifi หรือคลื่น 5 G และมีคนที่ล่วงรู้รหัสนอกจากผู้ปฏิบัติงาน และผู้เกี่ยวข้องแล้ว ก็สามารถเชื่อต่อคอมพิวเตอร์ทุกตัวได้โดยง่าย และหาก Strong AI เข้าถึงก็จะสามารถดูดข้อมูล และส่งไปยัง center data ประมวลผลก็สามารถผลิตเลียนแบบ และส่งมาขายราคาถูก ส่วนเจ้าของ เสียหายเกินเยียวยา
ดังนั้น หากรัฐยังไม่มีระบบป้องกัน ข้อมูลความลับของประเทศ จะถูกดูดไปหมด อีกทั้ง เราไม่สามารถพึ่งพาอาศัยกฎหมายการค้าระหว่างประเทศได้เลย เพราะอนาคต ประเทศไทยจะถูกบีบทางเศรษฐกิจ ผลิตสินค้าแต่ขายไม่ได้ เพราะต้นทุนแพงกว่าแม้เป็นผู้ประดิษฐ์คิดค้น เอง แต่ถูกขโมย ไปแบบหน้าด้านๆ จะทำให้ ประเทศที่ดูดข้อมูล กินเนื้อปลา ส่วนเจ้าของข้อมูลได้แต่กินก้างปลา คนไทยชีช้ำกะหล่ำปลี ลูกหลานไม่มีที่ยืนทางสังคมถูกต่างชาติเอาเปรียบ กดขี่ข่มเหง คนไทยไร้อาชีพ ไม่มีที่ยืน ดังนั้น ตนจึงเสนอให้มีการปรับปรุง หรือ มีการร่าง พ.ร.บ.ความลับทางการค้าเสียใหม่ ให้เป็นตามสภาวการณ์ของโลกและความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่เพิ่มขึ้น เพราะอย่างที่ตนย้ำไปว่า ทุกวันนี้ความลับความมั่นคง และความลับทางการค้าด้านทรัพย์สินทางปัญญา ถูกดูดไปโดยง่ายดาย หากรัฐไม่เข้ามาปกป้อง เนื่องจากการพัฒนาด้านเทคโนโลยีการสื่อสารจากต่างประเทศ ที่ใช้ความทันสมัยและอำนาจเศรษฐกิจทำให้เกิดความกลัวของผู้มีอำนาจ กลัวว่าประเทศจะล่าหลัง ด้อยพัฒนาจนลืมปกป้องความลับทางการค้าและทรัพยสินทางปัญญาของคนไทย
...
"ถึงแม้ว่า ทางผู้บริหารบริษัทดังกล่าว ยืนยันว่า จะเคารพในความเป็นอธิปไตยด้านดิจิทัลของประเทศไทยในการส่งเสริมนวัตกรรมให้แก่บริษัทสตาร์ทอัพและเอสเอ็มอี บ่มเพาะให้เกิดอีโคซิสเต็มแห่งนวัตกรรม ผ่านแพลตฟอร์มระบบเปิด เพื่อร่วมมือกันสร้างอีโคซิสเต็มของภาคอุตสาหกรรม เพื่อสังคมอัจฉริยะที่เชื่อมต่ออย่างไร้ที่ติในอนาคต แต่อย่างไรก็ตาม ผมก็ต้องแสดงความเป็นห่วงในฐานะที่ว่า หากในระหว่างการพัฒนาด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม นั้น ความลับทางการค้าด้านทรัพย์สินทางปัญญาที่เกิดรั่วไหลขึ้นมาแล้ว ก็จะส่งผลเสียหาย ไม่สามารถประเมินมูลค่าเสียหายเป็นวงกว้าง รวมทั้ง พ.ร.บ.ความลับทางการค้า พ.ศ. 2545 มีบทบัญญัติหลายประการที่ไม่สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีและวิธีการทางการค้าสมัยใหม่ ดังนั้น ผมจึงขอแสดงเจตจำนงว่า หากมีการพิจารณาปรับปรุงหรือมีการยกร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ขึ้นมาใหม่ ตนพร้อมจะให้ข้อมูล เพื่อปกป้องสิทธิประโยชน์คนไทยและป้องกันความเสียหายต่อประเทศไทยต่อไป" นายภณวัชร์นันท์ กล่าว...
นายภณวัชร์นันท์ กล่าวด้วยว่า ขณะเดียวกัน ตนอยากให้ผู้เกี่ยวข้อง พัฒนาโปรแกรมที่ต่อต้านการดูดข้อมูล ความลับของชาติ และข้อมูลความลับทางการค้า ด้านทรัพย์สินทางปัญญา จากภายนอกและปกป้องข้อมูลความลับ ของชาติ เช่น เทคโนโลยี WHAT-HAT ที่มีกลยุทธ์ในการสร้างการป้องกันข้อมูลขององค์กร โดยการสำรวจวิธีที่ผู้โจมตีเฝ้าดูองค์กร และช่องทางที่ผู้โจมตีสามารถแทรกซึมเข้าไปในเครือข่ายขององค์กร เพื่อป้องกันความปลอดภัยเทคโนโลยีนี้สามารถตรวจจับภัยคุกคามและความเสี่ยง ป้องกันความเสียหายล่วงหน้าโดยนำเสนอข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับวิธีการโจมตีที่อาจเกิดขึ้น และเทคโนโลยี OSINT Dark Web GiO ที่สามารถระบุตำแหน่งที่ทันสมัยใน GSM, UMTS และ LTE มอบความแม่นยำเชื่อถือได้และใช้งานง่ายโดยสามารถระบุตำแหน่งโทรศัพท์มือถือ แยกข้อมูลจากเว็บไซต์ที่เชื่อมต่อกับเป้าหมาย มีความสามารถในการตรวจจับการโจมตีทางไซเบอร์และการรั่วไหลของข้อมูลที่มีความละเอียดอ่อนซึ่งเกิดจาก Dark Web และกำจัดข้อมูลเหล่านั้นก่อนที่จะเกิดขึ้น สามารถให้ข้อมูลกับลูกค้าผ่านการแจ้งเตือนแบบ real time
ซึ่งทั้ง 2 เทคโนโลยีนี้ สามารถเพิ่มความมั่นคงให้กับชาติด้วยการวางตำแหน่งขั้นสูง เพื่อให้มั่นใจว่ามีความสามารถค้นหาข้อมูลที่เฉพาะเจาะจง เช่น ข้อมูลส่วนตัว สถานที่ตั้ง สถานะการโรมมิ่ง ประเภทของเครือข่ายโปรไฟล์ Facebook, Google, LinkedIn, Roaming, Skype, Twitter เป็นต้น อีกทั้งยังสามารถตรวจสอบและแจ้งเตือนการสนทนา โดยการวิเคราะห์ข้อมูลขั้นสูง จึงเป็นประโยชน์อย่างยิ่งเมื่อต้องการสืบหาผู้กระทำความผิด หรือผู้ที่เป็นภัยความมั่นคง และความสงบสุขของสังคมของคนไทย