จากอดีตสู่ปัจจุบัน ยังมีประชาชนจำนวนไม่น้อยที่ตกเป็นเหยื่อขบวนการฉ้อโกงหลากหลายรูปแบบ โดยเฉพาะลักษณะการชวนเข้าร่วมลงทุนในธุรกิจรูปแบบ “แชร์ลูกโซ่” ที่เน้นโฆษณาเชิญชวนให้ผู้คนหันมาสนอกสนใจในผลตอบแทนที่มากโข เพื่อล่อหลอกให้ผู้คนเหล่านี้คล้อยตาม จนกระทั่งนำเงินมาร่วมลงทุนด้วย

จากแชร์แม่มณีที่ตกเป็นข่าวโด่งดัง สู่การย้อนศึกษามหากาพย์แชร์ลูกโซ่ในตำนาน ทีมข่าวเจาะประเด็นไทยรัฐออนไลน์ ย้อนรอยคดี “แชร์แม่ชม้อย” มหากาพย์แชร์ลูกโซ่ยุคแรกที่เป็นปฐมบทให้คนไทยได้รู้จักและศึกษากลโกงในระบบ “แชร์ลูกโซ่” ได้เป็นอย่างดี

ย้อนกลับไปเกือบ 40 ปีก่อน ในช่วงระหว่างปี พ.ศ.2525 นางชม้อย ทิพย์โส ชาวจังหวัดสิงห์บุรี อดีตพนักงานองค์การเชื้อเพลิง ได้อุปโลกน์ตั้งบริษัทเกี่ยวกับน้ำมันปิโตรเลียมฯ โดยอ้างว่า “ได้กระทำกิจการซื้อขายน้ำมัน ทั้งในประเทศและต่างประเทศ”

โดยเงื่อนไขการลงทุนไม่ได้วุ่นวายซับซ้อนแต่อย่างใด เพราะผู้สนใจเข้าร่วมการลงทุน จะต้องนำเงินไปลงทุนซื้อน้ำมัน 1 คันรถบรรทุก เป็นจำนวนเงิน 160,800 บาท โดยให้ผลตอบแทนเป็นดอกเบี้ยร้อยละ 6.5 ต่อเดือน หรือ 10,450 บาทต่อเดือน เรียกได้ว่า ปีครึ่งก็คืนทุน แถมจ่ายตรงเวลา และสามารถถอนเงินต้นคืนได้ตลอดเวลา

...

บริษัทของเธอสามารถดึงดูดบรรดาเหยื่อให้นำเงินมาร่วมลงทุนมากมาย แต่ไม่มีใครล่วงรู้เลยว่า แท้จริงแล้ว บริษัทเกี่ยวกับน้ำมันปิโตรเลียมฯ ที่เธออ้างถึง ไม่ได้มีการประกอบกิจการจริงแต่อย่างใด!

ด้วยความที่ผลตอบแทนล่อตาล่อใจ จึงพูดกันปากต่อปากเกี่ยวกับการลงทุนแชร์น้ำมันดังกล่าว สุดท้ายเริ่มเรียกกันติดปากว่า “แชร์แม่ชม้อย” เนื่องจากได้รับความนิยมจนจำนวนลูกแชร์เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ประชาชนแทบจะทุกสาขาอาชีพทั้งข้าราชการ พ่อค้า ประชาชน ฯลฯ ต่างหลงเชื่อนำเงินไปเข้าร่วม จนทำให้มียอดเงินสะพัดในบัญชีหลายพันล้านบาท

ต่อมา แชร์แม่ชม้อย ได้ปรับรูปแบบแชร์ให้ชนชั้นกลางสามารถเข้าร่วมได้ โดนแบ่งการลงทุนเพิ่มขึ้นในลักษณะเป็น “ล้อ” กล่าวคือรถบรรทุก 1 คัน จะมี 4 ล้อ ล้อละ 40,000 บาท (หนึ่งคันมีสี่ล้อ) โดยให้ผลตอบแทนเดือนละ 2,600 บาท เรียกได้ว่า 15 เดือนก็สามารถคืนทุนได้

ชม้อย แถลงข่าว เรื่องแชร์แม่ชม้อยให้ลูกแชร์ฟังที่บ้าน
ชม้อย แถลงข่าว เรื่องแชร์แม่ชม้อยให้ลูกแชร์ฟังที่บ้าน

แม้แต่คนมีรายได้น้อย ก็ยังขวนขวายหาเงินมาร่วมลงทุน จนกระทั่ง จำนวนคนลงทุนสูงขึ้นกว่า 1.6 หมื่นคน โดยมียอดเงินสูงกว่า 4 พันล้านบาท

แชร์แม่ชม้อยเติบโตอย่างพุ่งกระโดด และความเติบโตนี้ กลายเป็นชนวนเร่งให้จุดจบของแชร์แม่ชม้อยมาถึงเร็วขึ้น เพราะจำนวนผู้ลงทุนที่เพิ่มสูงขึ้น ย่อมทำให้เงินปันผลที่ต้องจ่ายให้แก่บรรดาลูกแชร์สูงขึ้นตามไปด้วย ซึ่งเรื่องนี้แม่ชม้อยก็พอจะทราบดี เพราะการที่แชร์น้ำมันยืนหยัดอยู่ได้มาเป็นเวลานานนั้น ก็เนื่องมาจากระบบ “ลูกโซ่” ที่นำเงินจากผู้ร่วมลงทุนรายใหม่ มาจัดสรรคิวแบ่งจ่ายให้ผู้ลงทุนรายเก่าในลักษณะหมุนเวียนกันนั้นเอง

อีก 2 ปีต่อมา ความโด่งดังของแชร์แม่ชม้อยไปเตะตาเข้าหูในผู้คนหลายวงการ จนทำให้ตำรวจต้องเชิญตัวเจ้าแม่แชร์น้ำมันรายนี้ไปยังกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง เพื่อสอบสวนพฤติกรรมว่า นางชม้อยนำเงินไปหมุนเวียนออกดอกออกผลอีท่าไหน ถึงได้มีปัญญาจ่ายดอกเบี้ยให้ลูกแชร์มากมาย

ทั้งสอบทั้งเค้นยังไม่ทันได้ความจริง อีก 3 เดือนถัดมา ตัวแทนลูกแชร์แม่ชม้อย จัดทำบัญชีหางว่าว โดยรวมรายชื่อลูกแชร์ที่ถูกนางชม้อยเบี้ยวจำนวน 2,929 ราย ไปยื่นให้เจ้าหน้าที่ตำรวจ เพราะแม่ชม้อยหายหน้าหายตาไป และหวังให้ตำรวจช่วยเกลี้ยกล่อมเจ้าแม่แชร์คืนเงินต้น

...

ชม้อย แถลงข่าว เรื่องแชร์แม่ชม้อยให้ลูกแชร์ฟังที่บ้าน
ชม้อย แถลงข่าว เรื่องแชร์แม่ชม้อยให้ลูกแชร์ฟังที่บ้าน

ระหว่างการไกล่เกลี่ย ขบวนการงูกินหางเกิดระอุขึ้นมาเสียก่อน นางชม้อยถูกลูกแชร์ของตัวเองลงขันถลกหนังจับตัวส่งตำรวจดำเนินคดีในข้อหาฉ้อโกงประชาชน ตามพระราชกำหนดการกู้ยืมเงินอันเป็นการฉ้อโกงฯ

3 ก.ย.2528 กองปราบฯ นำสำนวนการสอบสวนนางชม้อย หนา 71,521 แผ่น ไปมอบให้พนักงานอัยการเตรียมส่งฟ้องศาล ระยะเวลาไม่ถึง 2 เดือน มีผู้มาแจ้งความดำเนินคดีแก่นางชม้อย ทั้งสิ้น 15,473 ราย รวมเป็นยอดเงินที่ถูกเบี้ยวถึง 4,822 ล้านบาทเศษ

...

หลังจากนั้น ภาระการติดตามค้นขุมทรัพย์แม่ชม้อย ซึ่งแต่ละแห่งก็ลึกลับซับซ้อน ไม่แตกต่างจากขุมทรัพย์สุดขอบฟ้าในหนังฝรั่งชุดอินเดียนาโจนส์ ก็เป็นของตำรวจกองปราบฯ

ทุกขุมทรัพย์ที่ตำรวจตามขุดได้ ชาวบ้านก็พลอยได้เห็นทองคำแท่ง ทองรูปพรรณ เครื่องเพชร เป็นหีบๆ เงินสดที่ฝังไว้เป็นลังๆ จำนวนมากจำนวนน้อยต่างกันไป ท่ามกลางข้อสงสัยของประชาชนทั้งประเทศว่า ส่วนที่ตามล้วงตามควักไปไม่ถึง จะมีอีกจำนวนสักเท่าใด

ทีวีถ่ายทอดนาทีตำรวจนำตัวชม้อยขึ้นศาล
ทีวีถ่ายทอดนาทีตำรวจนำตัวชม้อยขึ้นศาล

คดีแม่ชม้อย เมื่อคดีถึงชั้นศาล ใช้เวลาในการสืบพยานนานถึง 4 ปี จนเมื่อวันที่ 27 ก.ค.2532 ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุด ให้นางชม้อยและพวกรวม 10 คน มีความผิดฐานฉ้อโกงประชาชน ตามประมวลกฎหมายอาญา ให้จำคุกเป็นเวลา 117,595 ปี ฐานฉ้อโกงประชาชนตามพระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ.2527 อีก 36,410 ปี รวมจำคุก 154,005 ปี แต่ประมวลกฎหมายอาญา กำหนดให้ลงโทษรวมกันทุกกระทงแล้วไม่เกิน 20 ปี ศาลจึงพิพากษาให้จำคุกนางชม้อยและพวกเป็นเวลา 20 ปี และให้คืนเงินที่ฉ้อโกงประชาชนไปรวม 510,584,645 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี

...

ขายทอดตลาด ทรัพย์สินแม่ชม้อย ถูกขายทอดตลาด ที่ห้องประชุมชั้น 5 กรมบังคับคดี
ขายทอดตลาด ทรัพย์สินแม่ชม้อย ถูกขายทอดตลาด ที่ห้องประชุมชั้น 5 กรมบังคับคดี

ระหว่างที่นางชม้อยก้มหน้าก้มหน้าใช้กรรมอยู่ในทัณฑสถานหญิงเรือนจำลาดยาว เพียง 7 ปีเศษ เธอพ้นโทษไปเมื่อวันที่ 27 พ.ย.2536 ซึ่งเป็นการพ้นโทษก่อนกำหนดถึง 13 ปี เพราะได้รับพระราชทานอภัยโทษ เนื่องในฐานะนักโทษชั้นดี

แม้ว่านางชม้อยจะได้รับอิสรภาพ แต่เป็นอิสรภาพที่ใครก็รู้ว่า ไม่ค่อยปลอดภัยเท่าใดนัก เพราะรู้กันเต็มอกว่า รอยแค้นฝังลึกที่เธอก่อไว้กับลูกแชร์หลายคน ยังไม่เลือนไปจากความทรงจำ

เจ้าหน้าที่กรมบังคับคดีนำเครื่องประดับอัญมณีในคดี
เจ้าหน้าที่กรมบังคับคดีนำเครื่องประดับอัญมณีในคดี "แชร์แม่ชม้อย" ออกมาขายทอดตลาด มีผู้แย่งกันประมูลซื้อ รวมมูลค่ากว่าสิบล้านบาท
ขายทอดตลาด ทรัพย์สินแม่ชม้อย ถูกขายทอดตลาด ที่ห้องประชุมชั้น 5 กรมบังคับคดี
ขายทอดตลาด ทรัพย์สินแม่ชม้อย ถูกขายทอดตลาด ที่ห้องประชุมชั้น 5 กรมบังคับคดี

แม่ชม้อย อยู่ไหน?

ไม่กี่ปีก่อน มีสื่อมวลชนถามหาว่า แม่ชม้อยอยู่ที่ไหน? ปัจจุบันเป็นอย่างไร? นายสำเร็จ บุษยากรณ์ รองอธิบดี กระทรวงยุติธรรม ในยุคนั้น เคยตอบข้อซักถามนี้ว่า “อย่าว่าแต่คุณ เราเองก็อยากรู้ว่า เวลานี้ชม้อยไปกบดานที่ไหน”

“เท่าที่ทราบกระแสข่าวสุดท้ายยืนยันว่า หลังออกจากคุกกลับไปอยู่ที่สิงห์บุรีบ้านเกิด แต่จะให้เจาะลึกถึงแหล่งกบดานจริงๆ ยังไม่มีใครรู้ แม้แต่กรมบังคับคดี เวลาจะติดต่อ ยังต้องใช้วิธีส่งเอกสาร และปิดหมายไว้ที่บ้านเกิด โดยให้ญาติเป็นผู้เซ็นรับ และบอกข่าวต่อไปยังนางชม้อยอีกทอด” รองอธิบดี กระทรวงยุติธรรม ทิ้งท้าย.