“สามย่าน” ย่านชุมชนเก่าแก่ ใจกลางกรุงเทพมหานครที่ชาวจุฬาฯ รู้จักดี มีพื้นที่อยู่บริเวณหัวมุมถนนพระราม 4 ตัดกับถนนพญาไท เดิมเป็นชุมชนเล็กๆ และเติบโตขึ้นมาเรื่อยๆ เพราะมีการขยายตัวมาจากฝั่งย่านเยาวราช ดังนั้น...ผู้คนในย่านนี้ จึงเป็นชาวไทย “เชื้อสายจีน” เสียส่วนมาก

แต่...เดิมย่านนี้เป็นเพียงห้องแถวไม้ ก่อนจะกลายเป็นตึกแถวตามการขยายตัวของชุมชน จนกลายเป็นชุมชนขนาดใหญ่และเป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้น เพราะมีทั้งตลาด ร้านค้า ร้านขายของ ธุรกิจต่างๆ

และ...เหตุผลสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้ย่านนี้มีความคึกคัก นั่นก็คือ มีสถานศึกษาชั้นนำของประเทศ “จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย” และ “โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา” กับอีกหลายสถานการศึกษา ตั้งอยู่ในย่านดังกล่าว นอกเหนือจากนั้นพื้นที่แห่งนี้ยังขึ้นชื่อว่าเป็นดินแดนแห่งของอร่อยนานาชนิด

ถือเป็นจุดกำเนิดร้านอาหารดังระดับตำนานหลายร้าน อาทิ ร้านซีฟู้ด “สมบูรณ์โภชนา” ต้นตำรับ “ปูผัดผงกะหรี่” ที่มาเปิดร้านเล็กๆ เป็นห้องแถว 1 คูหาในย่านนี้เมื่อปี 2512 ด้านข้างรั้วของคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาฯ และได้รับความนิยมอย่างรวดเร็วจากนักกิน จนขยับขยายไปถึง 5 สาขาทั่วกรุงเทพฯ

อีกร้าน...“อี่โภชนา” ที่นักกินรู้จักดี “ร้านเค้กต้นกก” ตรงจุฬาฯซอย 11 “ร้านข้าวขาหมูจุฬาฯ” หนึ่งในร้านข้าวขาหมูที่อร่อยที่สุด หรือแม้กระทั่งร้าน “จีฉ่อย” ร้านโชห่วยในความทรงจำของชาวจุฬาฯ

“จีฉ่อย” นับเป็นอีกตำนานคู่กับจุฬาฯที่เหล่านิสิตหรือลูกค้าทั่วไป สามารถหาซื้อของได้หลากหลายชนิดมาก เรียกว่าหาซื้อได้ตั้งแต่ไม้จิ้มฟันยันเรือรบและร้านอยู่ยงคงกระพันมาจนตลาดสามย่านถึงจุดสิ้นสุด ก็เป็นหนึ่งในตำนานของย่านนี้ที่คนกล่าวขานถึง

...

“สามย่าน” ยังเป็นต้นกำเนิดของ “ตลาดสามย่าน” ตลาดขายของสด ของแห้ง ผัก ผลไม้ ที่มีคุณภาพมากตลาดหนึ่งในกรุงเทพฯ ตลาดนี้เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2508 ปัจจุบันได้รับการพัฒนาให้เป็นตลาดสดทันสมัย

และ...ย้ายจากที่เดิมมาอยู่ระหว่างจุฬาฯ ซอย 32 และ 34

ราวปี 2551 หลังการย้ายออกของตลาดสามย่าน สำนักงานจัดการทรัพย์สินจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยก็ได้พัฒนาสร้างโครงการขนาดใหญ่ มีทั้งอาคารสำนักงาน อาคารพักอาศัย และพื้นที่รีเทล...ธุรกิจร้านค้า

“สามย่านมิตรทาวน์” คือการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ล่าสุดบนถนนพระราม 4 ประกอบด้วยอาคารสำนักงาน ที่พักอาศัย โรงแรม และรีเทล ซึ่งเป็นส่วนผสมที่ลงตัวด้วยสัดส่วนพื้นที่ 33% เท่าๆกัน ทำให้โครงการนี้มีทั้งคนทำงาน คนใช้ชีวิต มีนักท่องเที่ยว และมีชาวสามย่านที่อยู่อาศัยโดยรอบ

ธนพล ศิริธนชัย ประธานอำนวยการ บมจ.แผ่นดินทอง พร็อพเพอร์ตี้ ดีเวลลอปเม้นท์ (โกลเด้นแลนด์) บอกว่า โครงการนี้มีมูลค่าการลงทุนมากกว่า 9,000 ล้านบาท เราหวังว่า “สามย่านมิตรทาวน์” จะเป็นจุดหมายใหม่ของทุกคน ซึ่งเราเองเตรียมพร้อมอำนวยความสะดวกในการเดินทางอย่างเต็มที่

ไม่ว่าจะเป็นอุโมงค์ที่เชื่อมต่อถึงโครงการสามย่านมิตรทาวน์โดยตรงกับสถานีเอ็มอาร์ทีสามย่าน...รถรับส่งจากบีทีเอสสถานีสยาม-สามย่านมิตรทาวน์...“อุโมงค์” ที่ว่านี้เองกำลังมาแรง ฮอตฮิตอยู่ในกระแสเป็นจุดเช็กอินแห่งใหม่ใจกลางกรุงเทพฯ ด้วยมีการออกแบบให้ช่วงกลางทางเป็นพื้นกระจกใสดูแปลกตา...

โดยรวมๆแล้วบรรยากาศให้ความรู้สึกเหมือนเป็นอุโมงค์ในสถานีอวกาศประมาณนั้น

ไฮไลต์สำคัญ...อาคารสำนักงานที่ใส่เทคโนโลยีรองรับการทำงานรูปแบบใหม่ๆโดยในส่วนออฟฟิศจะมีคนทำงานประมาณ 5,000 คน มี Co-Working Space จาก JustCo เพื่อรองรับกลุ่ม...“สตาร์ตอัพ”

และ...ในส่วนของที่อยู่อาศัยก็มีห้องชุดกว่า 500 ห้อง รองรับนิสิต นักศึกษา คนทำงานที่อยู่ละแวกนี้ได้อย่างสมบูรณ์ และยังมีโรงแรมอีก 100 ห้อง ที่จะเสริมความสะดวกสบาย นับรวมไปถึงพื้นที่รีเทลที่จะมาเติมเต็มการอยู่อาศัยให้สมบูรณ์แบบมากขึ้น รองรับไลฟ์สไตล์คนเมืองที่อาจจะใช้ชีวิตยามค่ำคืนได้ 24 ชั่วโมง

ภายใต้แนวคิดที่สำคัญ...“สามย่านมิตรทาวน์” อยู่บนพื้นที่ที่มีตำนานอาหารแห่งใหญ่ในกรุงเทพฯ ก็ต้องโดดเด่นในเรื่องร้านอาหารที่การันตีเรื่องร้านอาหารดีเด่นดัง...อร่อยเลิศ รวมถึงร้านที่เป็นศูนย์รวมพื้นที่การเรียนรู้ของคนรุ่นใหม่ เช่น ร้านจำหน่ายอุปกรณ์อาร์ต...งานคราฟต์ Medium & More (มีเดียม แอนด์ มอร์)

ศูนย์รวม Art and Craft Supply (อาร์ต แอนด์ คราฟต์ ซัพพลาย) ที่ครบครันในด้านของอุปกรณ์ศิลปะ งานประดิษฐ์ รวมถึงสินค้าแปลกใหม่จากทุกมุมโลก Pailin (ไพลิน)...สถาบันสอนออกแบบแฟชั่นและตัดเย็บที่มีประสบการณ์กว่า 40 ปี หลักสูตรมาตรฐานยุโรป เพื่อตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์คนย่านนี้

จึงเป็นที่มาของคอนเซปต์...“คลังแห่งอาหารและการเรียนรู้”

...

วันวานถึงวันนี้ แม้ว่า “สามย่าน” จะถูกกาลเวลาพัดพาให้เกิดการเปลี่ยนแปลง พัฒนาไปตามยุคสมัยมากขึ้นเรื่อยๆ หากแต่หลากหลายความทรงจำยังคงอยู่ไม่เสื่อมคลาย

“ซูม” นสพ.ไทยรัฐ เขียนถึง เมื่อเร็วๆนี้มีการเปิดศูนย์การค้าใหม่ขึ้นอีกแห่งหนึ่งที่บริเวณตลาดสามย่านเก่าในชื่อ “สามย่านมิตรทาวน์” ซึ่งพอเปิดปุ๊บก็ฮิตปั๊บในทันทีทันควัน มีรายงานว่า...คนกรุงเทพฯซึ่งชอบของอะไรใหม่ๆต่างแห่แหนไปเดินดู ชม และอุดหนุนร้านอาหารต่างๆในศูนย์การค้านี้วันละนับหมื่นคน

“ที่สำคัญ ศูนย์การค้าแห่งนี้เขามาในความคิดใหม่ เปิดให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง มีทั้งร้านอาหาร 24 ชั่วโมง...ร้านกาแฟ 24 ชั่วโมง... ซุปเปอร์มาร์เกต 24 ชั่วโมง...ธนาคาร 24 ชั่วโมง”

สำหรับนิสิต นักศึกษา หรือนักเรียน ก็มีโต๊ะให้นั่งติว นั่งดูหนังสือตลอดทั้งคืนไว้บริการ ด้วยจุดมุ่งหมายที่จะให้เป็น “แหล่งมั่วสุมทางปัญญา” สมกับเป็นศูนย์การค้าที่มาก่อสร้างอยู่ในที่ดินของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกของประเทศไทย

...

คงไม่มีใครปฏิเสธได้ว่า...ทำเลที่ตั้งสามย่านมิตรทาวน์ ถนนพระราม 4 นั้นโดดเด่นขนาดไหน คาดหวังกันว่าจะเป็นแม่เหล็กดึงดูดแห่งใหม่ได้ไม่ยากนัก อยู่ในจุดที่มีทางเลือกในการเดินทางที่หลากหลาย

ไม่ว่า...จะเดินทางด้วยรถยนต์ก็ใกล้กับ 2 ทางด่วน ห่างจากทางด่วนศรีรัช 1.6 กม. และห่างจากทางด่วนเฉลิมมหานคร 3 กม. ส่วนการเดินทางด้วยขนส่งสาธารณะอย่างรถไฟฟ้าบีทีเอสก็ทำได้สะดวก

และรถไฟฟ้าใต้ดิน MRT ก็เชื่อมตรงกับสถานีสามย่าน ซึ่งทางโกลเด้นแลนด์ยังได้ลงทุนเพิ่มเติมอีก 300 ล้านบาท เพื่อสร้างทางเชื่อมจากรถไฟฟ้าใต้ดิน MRT ทางออก 2 ตรงเข้าสู่ตัวโครงการบริเวณชั้น B 1 เรียกว่าเป็นหนึ่งในจุดแข็งในการเข้าถึงตัวโครงการ และการเดินทางอย่างมาก

สามย่านแห่งความหลัง 60 ปีก่อนมี “มิตรทาวน์”...“ซูม ไทยรัฐ” ยังได้เล่าย้อนกลับไปในปี 2502 เมื่อครั้งที่เคยมาเป็นสมาชิกคนหนึ่งของชุมชนสามย่าน โดยมาเช่าห้องพักอยู่กับเพื่อนนักเรียนเตรียมอุดมอีก 2-3 คน ที่บ้านของผู้มีอันจะกินรายหนึ่ง ตั้งอยู่ตรงข้ามวัดหัวลำโพง ซึ่งก็คือจามจุรีสแควร์ปัจจุบันนั่นเอง

ยุคนั้นตลาดสามย่านจะมีทั้ง 2 ฟากฝั่งถนนพญาไท และเป็นตลาดที่สร้างในลักษณะตึกแถวเฉพาะริมถนนเท่านั้น แต่ด้านหลังตึกที่อยู่ในซอกซอยต่างๆจะเป็นอาคารไม้เสียเป็นส่วนมาก

ตลาดสามย่านได้ชื่อว่าเป็นย่านที่อุดมด้วยอาหารการกินมานานแล้ว ทางซีกที่ผมอยู่จะมีร้านข้าวต้มและร้าน “กาแฟแข็ง” คือใช้กาแฟดำใส่แก้วไปแช่ตู้เย็นจนเป็นน้ำแข็ง สัญลักษณ์ประการหนึ่งของสามย่าน

“สามย่าน” ในวันวาน กับ “สามย่านมิตรทาวน์” ในวันนี้...มีข้อดีข้อเด่นกันคนละอย่าง ผันแปรไปตามยุคสมัย มองโลกด้วยหัวใจทุกๆอย่างดำเนินไปเหมือนดั่งสายน้ำที่ไม่มีวันไหลกลับ.

...