สมัชชาคนจน” ประเด็นที่หลายคนบอกว่า เรื่องนี้ไม่ค่อยมีพื้นที่สื่อมากมายเท่าใดนัก ทั้งๆ ที่เป็นเรื่องปากท้องของคนยากคนจนที่อดทนตากแดดตากลมกางเต็นท์ชุมนุมอยู่ในเมืองกรุง โดยที่ปู่ย่าตายายกลุ่มนี้มุ่งหวังให้ผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเมืองแก้ปัญหาที่พวกเขาเผชิญเสียที ทีมข่าวเจาะประเด็นไทยรัฐออนไลน์ ไล่เรียงเรื่องราว “สมัชชาคนจน” ให้คุณเข้าใจง่ายๆ ดังต่อไปนี้

  • 6 ต.ค.62 เครือข่ายองค์กรชาวบ้านในนาม “สมัชชาคนจน”  เดินทางจากต่างจังหวัดเข้ากรุงเทพฯ เพื่อชุมนุมเรียกร้องแก้ไขปัญหาที่ดินทำกิน และผลกระทบจากนโยบายรัฐบาล ซึ่งการชุมนุมครั้งนี้ เป็นการชุมนุมใหญ่ครั้งแรกในรอบ 5 ปี (ตั้งแต่รัฐประหารปี 57)

  • วันแรก สมัชชาคนจน ปักหลักพักค้างบริเวณข้างกระทรวงศึกษาธิการ ถนนราชดำเนิน แต่ 2 วันต่อมา (8 ต.ค.62) สมัชชาคนจน เดินไปตามเส้นทางรอบทำเนียบรัฐบาล 

  • เหตุผลที่พวกเขาต้องออกเดิน ก็เพื่อต้องการสื่อสารกับคนเมืองให้ได้รับรู้ปัญหาที่ชาวบ้านได้รับผลกระทบจากนโยบายภาครัฐในหลายพื้นที่



  • สำหรับการออกมาเคลื่อนไหวครั้งนี้ "สมัชชาคนจน" เรียกร้องให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาผลกระทบจากนโยบายรัฐ จำนวน 5 กลุ่มปัญหา รวม 35 กรณี

  • โดย 5 กลุ่มปัญหา มีดังต่อไปนี้
    1.กรณีปัญหาที่สาธารณประโยชน์ ที่ราชพัสดุ พื้นที่ป่าไม้ ป่าสงวนแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า อุทยานแห่งชาติ ที่ดินของรัฐประเภทอื่นๆ และกรณีผลกระทบจากนโยบายทวงคืนผืนป่า
    2.แนวทางการแก้ไขปัญหากรณีปัญหาโครงการก่อสร้างเขื่อน ฝาย และอ่างเก็บน้ำ
    3.แนวทางการแก้ไขปัญหากรณีปัญหาได้รับผลกระทบจากโครงการพัฒนาของรัฐ
    4.แนวทางการแก้ไขปัญหาด้านการเกษตร
    5.แนวทางการเจรจาแก้ไขปัญหาด้านแรงงาน




  • ส่วน 35 กรณีที่เกิดขึ้น ทีมข่าวขอยกตัวอย่างเช่น ปัญหาราคาพืชผลการเกษตรตกต่ำ, ปัญหาการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม, ปัญหาการตรวจพบสารตะกั่วในเลือดพนักงานสูงกว่าค่าที่กำหนด, ปัญหานายจ้างปิดกิจการ ลอยแพลูกจ้าง, ชาวบ้านถูกเวนคืนที่ดิน เพราะโครงการอุตสาหกรรม

  • ชาวบ้านไม่มีเอกสารสิทธิทำกิน เพราะร่าง พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ และ พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ 2562 ที่จะมีผลบังคับใช้กลางเดือน พ.ย.นี้, ปัญหาสร้างเขื่อนที่ทำให้สูญเสียที่ดินและอาชีพ, ปัญหาประกาศเขตป่าทับที่อยู่อาศัยและที่ทำกิน, ถูกขับไล่ออกจากที่ดิน จากนโยบายทวงคืนผืนป่า

  • หนึ่งในปัญหาของสมัชชาคนจนที่ยืดเยื้อยาวนานกว่า 20 ปี ผ่านมาแล้วกว่า 10 รัฐบาล คือ ปัญหาเขื่อนปากมูล ซึ่งมีชาวบ้านมากกว่า 3,000 คน ยังไม่ได้รับเงินเยียวยา



  • นายบุญยืน สุขใหม่ กรรมการบริหารสมัชชาคนจน กล่าวกับสื่อว่า คนจนในหลายพื้นที่ได้รับความเดือดร้อนมานาน ประชาชนจำนวนมากถูกไล่ออกจากพื้นที่ จากนโยบายทวงคืนผืนป่าในยุค คสช. และที่ผ่านมาชาวบ้านได้พยายามแจ้งปัญหาให้รัฐบาลฟังมาโดยตลอด แต่ไม่ได้รับการแก้ไข

  • ตัวแทนสมัชชาคนจนระบุว่า ที่ผ่านมา รัฐบาลอ้างว่ามีกลไกคณะกรรมการกำกับติดตามการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของมวลชนอยู่แล้ว แต่ทางสมัชชาคนจนปฏิเสธเข้าสู่กลไกนี้ เพราะมองว่า สัดส่วนคณะกรรมการไม่ได้มีตัวแทนชาวบ้านเข้าไปร่วมอย่างแท้จริง

  • ตัวแทนสมัชชาคนจน ยังระบุอีกว่า สาเหตุที่แก้ปัญหาค้างคามานาน อาจเนื่องมาจากผลประโยชน์ที่ภาครัฐเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้อง



  • 8 ต.ค.62 นายเทวัญ ลิปตพัลลภ รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นตัวแทนรัฐบาลเจรจากับกลุ่มผู้ชุมนุม เบื้องต้นได้ข้อสรุปว่า จากนี้ นายเทวัญ จะรับหน้าที่เป็นประธานคณะกรรมการแก้ไขปัญหาตามข้อเรียกร้อง

  • 15 ต.ค.62 หรือนับเป็น 10 วันที่สมัชชาคนจนชุมนุมข้างกระทรวงศึกษาธิการ ถนนราชดำเนิน สมัชชาคนจน ได้ออกแถลงการณ์ว่า หลังจากนายกรัฐมนตรี มีคำสั่งแต่งตั้ง เทวัญ ลิปตพัลลภ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นผู้แทนนายกรัฐมนตรีในการเจรจาแก้ไขปัญหาของสมัชชาคนจน พวกเรายังไม่เห็นถึงความจริงใจของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหา

  • “พวกเราจึงมีความจำเป็นที่จะต้องยกระดับการเคลื่อนไหวกดดัน เพื่อให้เกิดการเจรจากับรัฐบาล” เนื้อหาในแถลงการณ์ของกลุ่มสมัชชาคนจน ดูมีสัญญาณไม่ดี



  • ช่วงบ่าย รัฐบาลไม่รอให้ปัญหายืดเยื้อ ผู้ใหญ่ในรัฐบาล มาประชุมร่วมกับตัวแทนสมาชิกสมัชชาคนจนทันที โดยใช้เวลาคุยยาวนานถึง 4 ชั่วโมง (ผู้ใหญ่ที่ว่านี้ก็คือ นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว.พลังงาน นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรและสหกรณ์ นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นายนิพนธ์ บุญญามณี นายทรงศักดิ์ ทองศรี รมช.มหาดไทย นายสุภรณ์ อัตถาวงศ์ กรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี)

  • ผลประชุมสรุปว่า รัฐมนตรีแต่ละคนได้รับฟังการสะท้อนปัญหาของตัวแทนสมัชชาคนจน และรับไปประสานงานเพื่อให้เกิดผลเป็นรูปธรรม

  • 16 ต.ค. 62 นายเทวัญ เปิดเผยถึงความคืบหน้าว่า บางปัญหาอาจต้องใช้ระยะเวลา ส่วนปัญหาใดมีความเร่งด่วนจะรีบให้กระทรวงช่วยดำเนินการทันที แต่ต้องมีการพูดคุยกันอย่างต่อเนื่องอีกระยะหนึ่ง และได้ทำบันทึกสรุปร่วมกัน เพื่อนำเรียนนายกรัฐมนตรี โดยเสนอผ่านทางรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ผ่าน นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี และเสนอให้นายกรัฐมนตรีทราบต่อไป



  • 20 ต.ค.62 หรือนับเป็น 15 วันของการชุมนุม รัฐบาลส่งผู้แทนมาเจรจา ซึ่งทางสมัชชาคนจนมองว่า รัฐบาลขาดความจริงใจ 

  • 21 ต.ค.62 หรือนับเป็น 16 วันของการชุมนุม ช่วงเช้าตรู่ กลุ่มผู้ชุมนุมสมัชชาคนจนเคลื่อนขบวนจากบริเวณริมคลองผดุงกรุงเกษม ข้างกระทรวงศึกษาธิการ มายังหน้าทำเนียบ ด้านถนนราชดำเนิน เพื่อเป็นการกดดันรัฐบาล 

  • เหตุที่สมัชชาคนจนต้องเคลื่อนไหวกดดันรัฐบาลนั้น มีที่มาจากรัฐบาลนัดพบสมัชชาคนจนในช่วงเช้า ซึ่งแกนนำของสมัชชาคนจนเตรียมตัวเจรจาเป็นอย่างดี ชาวบ้านต่างมีความหวัง แต่รัฐบาลกลับขอเลื่อนเป็นช่วงบ่าย ซึ่งทางสมัชชาคนจนรู้สึกผิดหวังกับท่าทีของรัฐบาลที่ทำให้ดูเสมือนว่าไม่มีความจริงใจและความตั้งใจในการแก้ไขปัญหา แต่กลับมีเจตนาที่จะยื้อเวลาออกไปเรื่อยๆ
  • ตลอดระยะเวลาของการชุมนุมกว่าครึ่งเดือน กลุ่มสมัชชาคนจนรู้สึกกังวลเสมอมาว่า ประชาชนผู้ใช้เส้นทางในการสัญจรไปมาในบริเวณที่มีการชุมนุม จะไม่ได้รับความสะดวก



  • 22 ต.ค.62 นายเทวัญ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้กล่าวกับสื่อว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้กำชับกับรัฐมนตรีแต่ละกระทรวงให้มาลงมารับฟังความคิดเห็นในส่วนที่แต่ละกระทรวงต้องรับผิดชอบ เพื่อนำปัญหาแต่ละอย่างมาแก้ไขอีกครั้ง

  • “เราอยากกลับบ้าน ไม่มีใครอยากมาชุมนุม แต่พวกเราเดือดร้อน ดังนั้น เราจะกลับบ้านได้ก็ต่อเมื่อการเจรจาเป็นข้อยุติที่ดี” นายบารมี ชัยรัตน์ ที่ปรึกษาสมัชชาคนจน



  • สมัชชาคนจนยืนยันว่า ต้องมีการบันทึกข้อตกลงในการแก้ไขปัญหาทุกเรื่อง เพราะที่ผ่านมาไม่สามารถเชื่อใจรัฐบาลได้อีกแล้ว และคาดหวังว่า จะได้มีการเจรจาอย่างเสมอหน้ากับรัฐมนตรี ไม่ใช่ข้าราชการ โดยอยู่ภายใต้หลักการ “ประชาธิปไตยที่กินได้ การเมืองที่เห็นหัวคนจน”

...