อาจารย์ ม.ดัง เห็นแย้ง อดีต รมว.คลัง ยันต้องเร่ง CPH ดำเนินการสร้างรถไฟ 3 สนามบิน ย้ำสัญญาต้องเป็นสัญญา แม้ราคาต่ำกว่าคู่แข่ง ย้อนได้กำไรจากประเทศมากแล้ว
เมื่อวันที่ 6 ต.ค.62 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากกรณีที่ นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง โพสต์เพจเฟซบุ๊กส่วนตัวชื่อ "Thirachai Phuvanatnaranubala" ให้ภาครัฐทบทวนการเร่งให้ CPH ซึ่งผู้ชนะการประมูลสร้างรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน มาเซ็นสัญญาดำเนินการ โดยกังวลว่า จะมีปัญหาการส่งมอบพื้นที่ล่าช้า ทำให้เกิดการฟ้องร้องหน่วยงานของรัฐในอนาคตนั้น
โดย ผศ.วันวิชิต บุญโปร่ง นักวิชาการ จาก ม.รังสิต ให้ความเห็นว่า ตามสัญญาซึ่งปรากฏเป็นข่าว หากการรถไฟฯ ส่งมอบพื้นที่ได้จำนวนหนึ่ง ต้องเริ่มเซ็นสัญญาก่อสร้างได้ ดังนั้นเมื่อการรถไฟสามารถทำได้ตามที่กำหนดแล้ว หน้าที่ของเอกชนก็ต้องทำงาน สัญญาต้องเป็นสัญญา หลักการมีแค่นี้ ส่วนเมื่อเซ็นสัญญาไปแล้ว หากมีปัญหาอันเกิดจากภาครัฐ ฝ่ายเอกชนก็ฟ้องร้องได้ แต่ถ้าหากไม่มาเซ็นสัญญาดำเนินการเลย เอกชนจะได้รับผลเสียมาก ทั้งเรื่องของการโดนริบเงินประกัน ขึ้นบัญชีดำ จ่ายส่วนต่างๆ กรณีได้ว่ารับจ้างรายใหม่ที่เสนอราคาสูงกว่าเดิม ที่สำคัญคือเสียความน่าเชื่อถือ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญในแวดวงธุรกิจ
ถ้าหากว่า CPH รู้สึกว่าเป็นการลงทุนที่ไม่คุ้มค่า เพราะประมูลงานด้วยราคาที่ต่ำกว่าคู่แข่งหลายหมื่นล้านบาท นั่นเป็นความผิดพลาดของฝ่ายเอกชนที่ประเมิน และเสนอราคาดังกล่าว ไม่สามารถเข้าใจได้ว่าคิดอะไรอยู่ แต่เป็นราคาที่เหลือเชื่อ ชนิดชนะคู่แข่งรายอื่นแบบไม่เห็นฝุ่น และเมื่อมาถึงจุดนี้ ขอให้นึกเสียว่า CPH ก็ได้อะไรจากประเทศไทยเยอะมาก ดังนั้นโครงการนี้ถือว่าทำเพื่อบ้านเมือง จะได้สบายใจและในอนาคตกลุ่ม CPH จะได้รับความเชื่อมั่นจากภาครัฐ และได้รับผลตอบแทนในระยะยาว อาทิ กรรมสิทธิ์ในที่ดิน ซึ่งเปลี่ยนเป็นเม็ดเงินได้มหาศาล
...
"โครงการนี้ มีความสำคัญกับ EEC มาก และ EEC คือ อนาคตของเศรษฐกิจไทย ที่รัฐบาลและประชาชนตั้งความหวัง หวังว่าฝ่ายเอกชน จะเห็นประโยชน์ของชาติเป็นใหญ่"