น่าเอาแบบอย่าง นักศึกษา ม.สยาม คณะเทคโนโลยีสารสนเทศ สาขาแอนิเมชัน พิการไร้แขน ขา บากบั่นใจสู้ คาบปากกาจดเลกเชอร์ในชั้นเรียนจนใกล้จบ ท่ามกลางความช่วยเหลือของกลุ่มเพื่อนที่เรียนกันมาตั้งแต่ชั้น ปวช.-ปวส. จนมาต่อระดับ ป.ตรี เจ้าตัวชี้เยาวชนไทยต้องมีความรู้ขั้นต่ำระดับ ป.ตรี ตั้งใจเป็นนักกราฟิก ทำงานอยู่กับบ้าน ด้านอธิการบดีรับปากให้ทุนการศึกษาต่อเนื่องจนจบในชั้นสูงสุดตามที่ต้องการ

เผยหนุ่มพิการไร้แขนขาทั้ง 2 ข้าง ใจสู้ขวนขวายเรียนจนใกล้จบ ป.ตรี ท่ามกลางการช่วยเหลือของเพื่อนฝูง โดยเมื่อเที่ยงวันที่ 29 ก.ย. ผู้สื่อข่าวสายอาชญากรรม นสพ.ไทยรัฐ ได้รับการบอกเล่าเรื่องราวอันน่าประทับใจจากบรรดานักศึกษาใน ม.สยามว่ามีนักศึกษาชายรายหนึ่งพิการไม่มีแขนขา แต่พยายามกัดฟันสู้เข้าเรียนในคณะเทคโนโลยีสารสนเทศ สาขาแอนิเมชัน จนใกล้จบการศึกษาจึงเดินทางไปตรวจสอบที่ห้องไอที ชั้น 8 ตึก 12 พบนายศุภกร หรือซัน กุลตันติวานิช อายุ 22 ปี นักศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะเทคโนโลยีสารสนเทศ สาขาแอนิเมชัน ขณะคาบปากกาจดเลกเชอร์ตามที่อาจารย์บรรยายในชั้นเรียนด้วยความตั้งใจมากกว่าคนปกติ เบื้องต้นพบนายศุภกรมีร่างกายผิดไปจากคนธรรมดา แขนทั้ง 2 ข้างยื่นออกมาจากหัวไหล่เป็นปลายแหลมยาวประมาณ 10 ซม. ขาขวาเล็กลีบยาวประมาณ 10 ซม. ส่วนขาซ้ายยาวกว่าขาขวาเล็กน้อย ต้องนั่งอยู่บนรถเข็นตลอดเวลา แต่สีหน้าและแววตายังคงมุ่งมั่นจดจ่ออยู่กับการเรียน

หลังเสร็จสิ้นการบรรยายในชั้นเรียนนายศุภกรให้ข้อมูลกับผู้สื่อข่าวว่า เป็นลูกชายคนโตมีน้องสาว 2 คน คนรองเรียนอยู่ ม.ธรรมศาสตร์ ชั้นปีที่ 2 ส่วนคนเล็กเรียนอยู่ชั้น ม.5 โรงเรียนศึกษานารี ทั้งคู่ร่างกายปกติ ที่ตนเป็นเช่นนี้เพราะช่วงที่แม่ท้อง เป็นโรคหอบหืดต้องกินยามาก ทำให้ส่งผลข้างเคียงมาสู่ตน ประกอบกับตนได้คลอดก่อนกำหนดถึง 1 เดือน ทั้งนี้ พ่อและแม่รักตนเท่ากับน้องๆ ไม่เคยแสดงความรังเกียจ ตนไม่เคยอับอาย น้อยใจในสิ่งที่เป็น พยายามใช้ชีวิตให้เหมือนคนปกติทั่วไป ถ้าสิ่งไหนทำไม่ได้ คนที่บ้านและเพื่อนๆจะช่วยทำให้ เช่น เข็นรถพาตนเข้าห้องน้ำ ป้อนข้าว ทั้งนี้ เห็นว่าความรู้ขั้นต่ำของเยาวชนไทยน่าจะอยู่ที่ระดับปริญญาตรี จึงขยันเรียนมาตั้งแต่เด็กๆ กระทั่งมาเรียนต่อที่วิทยาลัยเทคโนโลยีสยามจนจบวุฒิ ปวส.แล้วมาต่อระดับปริญญาตรีที่มหาวิทยาลัยสยามอีก 2 ปี ขณะนี้เรียนอยู่ปีสุดท้ายปีเหลืออีกเพียงเทอมเดียวก็จะจบแล้ว มีเพื่อนสมัยที่เรียนตั้งแต่ ปวช.ปี 1 ที่มีบ้านอยู่ไม่ไกลกันมากนัก ขึ้นรถแท็กซี่มารับตนที่บ้านพักในหมู่บ้านสุขสันต์ ซอยเพชรเกษม 90 แขวงบางแคเหนือ เขตบางแค กทม. อุ้มตนขึ้น-ลงรถเข็นเข้าห้องเรียนทุกวัน ทำแบบนี้มาเกือบ 7 ปีแล้ว ตอนนี้เกรดเฉลี่ยอยู่ที่ 3.00 จัดว่าอยู่ในเกณฑ์ดี

...

“ที่บ้านผมมีอาชีพเปิดร้านขายเครื่องไหว้เจ้าอยู่แถวสวนลุมฯ ไม่เดือดร้อนการเงินเท่าไรนัก ผมต้องเสียค่ารถแท็กซี่เฉลี่ยเดือนละ 6 พันบาท ส่วนที่เลือกเรียนที่ ม.สยาม เพราะเป็นมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงและอยู่ใกล้บ้าน อนาคตตนอยากเป็นนักออกแบบกราฟิก ทำงานอยู่กับบ้าน หากร่างกายผมมีอาการครบ 32 เหมือนคนทั่วไปก็อยากเป็นเจ้าของร้านอาหาร ส่วนงานอดิเรกมักจะไปเที่ยวห้าง มีเพื่อนคอยเข็นรถให้ และชอบเล่นเกมส์ ROV ซึ่งในวันจันทร์ที่ 30 ก.ย.จะมีการจัดแข่งขันกันที่มหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม ผมก็ไปแข่งขันด้วย” นายศุภกรเล่าด้วยสีหน้ายิ้มแย้ม

น.ส.กุลธิดา วงศ์ปราการ อายุ 24 ปี 1 ในกลุ่มเพื่อนของนายศุภกรกล่าวว่า กลุ่มของตนมีอยู่ประมาณ 3-4 คน เรียนกันมาตั้งแต่ชั้น ปวช.ผลัดกันคอยดูแลนายศุภกรมาตลอด ทั้งไปรับที่บ้านอุ้มขึ้นรถ ลงรถ เข็นรถ ป้อนข้าว ทำแบบนี้จนชิน ใครว่างก็สลับกันมาดูแลเพื่อน ซึ่งช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ ไม่เคยรังเกียจและอายสายตาคนที่มอง คิดว่าการช่วยเหลือเพื่อนให้ได้รับการศึกษาถึงจุดที่เขาวาดฝันไว้น่าจะเป็นสิ่งที่ได้กุศลมาก ตั้งใจจะช่วยเพื่อนไปจนกระทั่งเรียนจบ ถ้าจบไปแล้วต้องการให้ช่วยอะไรก็สามารถบอกได้ตลอดเวลา

ขณะที่นายพรชัย มงคลวนิช อธิการบดีมหาวิทยาลัยสยาม กล่าวว่า เมื่อวันที่ 5 มิ.ย. สถาบันประชุมร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา ในเรื่องการดำเนินงานจัดการศึกษาสำหรับคนพิการในระดับอุดมศึกษาโดยลดอุปสรรคข้อจำกัดโอกาสของนักศึกษาพิการ และจัดหาบริการสนับสนุนช่วยให้นักศึกษาพิการสามารถบรรลุเป้าหมายทางการศึกษาได้ ขณะนี้ทางสถาบันมีนักศึกษาพิการช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ 5 คน ทุกคนได้ทุนเรียนฟรีจนจบ ป.ตรี ทั้งนี้ ทราบว่านายศุภกรจะจบ ป.ตรีในปี 63 นี้ หากนักศึกษารายใดพิการช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ต้องการสิ่งใดเพิ่มสามารถทำเรื่องมาที่ฝ่ายประสานงานนักศึกษาได้เลย และหากนายศุภกรต้องการเรียนต่อ ทางสถาบันจะประสานในเรื่องของทุนการศึกษา เพื่อส่งเสริมความต้องการให้บรรลุเป้าหมายชั้นสูงสุดต่อไป