พก.คว้ารางวัลนวัตกรรมการบริการ ระดับดีเด่น "เก้าอี้ลังกระดาษ" (Cardboard chair) ช่วยเด็กพิการซ้ำซ้อน พร้อมเน้นขยายไปในชุมชน ถึงอุปกรณ์ช่วยเหลือความพิการขั้นพื้นฐานได้อย่างเป็นรูปธรรม
วานนี้ (13 ก.ย.) นางธนาภรณ์ พรมสุวรรณ อธิบดีกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ เข้าร่วมในพิธีมอบรางวัลเลิศรัฐ ประจำปี 2562 พร้อมแสดงความยินดีกับสถานคุ้มครองและพัฒนาคนพิการบ้านเฟื่องฟ้า จังหวัดนนทบุรี หน่วยงานในสังกัดกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ (พก.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ที่ได้รับรางวัลบริการภาครัฐระดับดีเด่น ประเภทนวัตกรรมการบริการ จากผลงาน "เก้าอี้ลังกระดาษ" (Cardboard chair) โดยมี นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีฯ พร้อมมอบนโยบายและทิศทางการพัฒนาระบบราชการ ณ ห้องรอยัล จูบิลี่ บอลรูม อิมแพ็ค เมืองทองธานี
นางธนาภรณ์ กล่าวว่า สืบเนื่องจากพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ.2550 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2556 มาตรา 20 ได้กำหนดให้คนพิการมีสิทธิเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้จากสิ่งอำนวยความสะดวกอันเป็นสาธารณะ ตลอดจนสวัสดิการและความช่วยเหลืออื่นใด ทั้งในด้านการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์ การจัดการศึกษาการส่งเสริมอาชีพ การมีส่วนร่วมในกิจกรรมทางสังคม ตลอดจนการเข้าถึงนโยบาย แผนงาน โครงการ ข้อมูลข่าวสาร บริการสาธารณะ เทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวก เบี้ยความพิการ เป็นต้น ประกอบกับแผนพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติฉบับที่ 5 พ.ศ.2560-2564 ได้กำหนดวิสัยทัศน์ให้คนพิการเข้าถึงสิทธิอย่างแท้จริง ดำรงชีวิตอิสระในสังคมอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกันอย่างยั่งยืน ภายใต้ยุทธศาสตร์แห่งความเท่าเทียม (EQUAL) ซึ่งสอดคล้องกับภารกิจหลักของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) ในการขับเคลื่อนการพัฒนาระบบราชการให้ยึดหลักธรรมาภิบาล เพื่อประโยชน์สุขของประชาชนและการให้บริการประชาชนทุกกลุ่มเป้าหมายได้อย่างมีคุณภาพและประสิทธิภาพ รวมถึงผลักดันให้มีการนำนวัตกรรมและแนวคิดริเริ่มใหม่ๆ มาเป็นกลไกหลักในการพัฒนาประเทศชาติให้ดียิ่งขึ้น โดยในปีนี้ (2562) สำนักงาน ก.พ.ร. ได้จัดงานมอบรางวัลเลิศรัฐ ประจำปี พ.ศ.2562 ซึ่งถือเป็นรางวัลแห่งเกียรติยศที่มอบให้หน่วยงานที่ได้มุ่งมั่นปฏิบัติราชการจนประสบความสำเร็จมีความเป็นเลิศแห่งหน่วยงานรัฐ
...
นางธนาภรณ์ กล่าวต่อไปว่า โดยสถานคุ้มครองและพัฒนาคนพิการบ้านเฟื่องฟ้า จังหวัดนนทบุรี เป็นหน่วยงานในสังกัด พก. ที่ให้การอุปการะเด็กอ่อนพิการทุกประเภททั้งชายและหญิง อายุแรกเกิดถึง 7 ปี จากทั่วประเทศที่ประสบปัญหาเดือดร้อน โดยให้การเลี้ยงดู ฟื้นฟู พัฒนาเด็กพิการอย่างรอบด้าน ให้สามารถช่วยเหลือตนเองได้ตามสภาพความพิการ ปัจจุบันมีเด็กพิการอยู่ในความอุปการะ จำนวนทั้งสิ้น 379 คน เพศชาย 239 คน เพศหญิง 140 คน ในจำนวนนี้เป็นเด็กพิการซ้ำซ้อนที่มีความบกพร่องทางร่างกายและการเคลื่อนไหว ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ จำนวน 25 คน ทั้งนี้ พก.ได้เข้าร่วมขอรับการตรวจประเมินรางวัลเลิศรัฐ ส่งผลงานประดิษฐ์ "เก้าอี้ลังกระดาษ (Cardboard Chair)" ของสถานคุ้มครองและพัฒนาคนพิการบ้านเฟื่องฟ้า พก.ทั้งนี้จากผลงานดังกล่าว ได้รับรางวัลบริการภาครัฐ ระดับดีเด่น ประเภทนวัตกรรมการบริการ ซึ่งวันนี้ ได้มาร่วมแสดงความยินดีกับสถานคุ้มครองและพัฒนาคนพิการบ้านเฟื่องฟ้า โดยรางวัลดังกล่าวถือเป็นรางวัลอันทรงเกียรติและสร้างขวัญกำลังใจให้แก่หน่วยงาน ให้มุ่งเดินหน้าพัฒนาคุณภาพการให้บริการและระบบการบริหารงานให้มีประสิทธิภาพ ซึ่งจะเป็นต้นแบบที่ดีให้แก่หน่วยงานต่างๆ ใช้เป็นแนวทางในการพัฒนาระบบงานของหน่วยงานให้ดียิ่งขึ้นต่อไป
สำหรับ "เก้าอี้ลังกระดาษ (Cardboard Chair)" ของสถานคุ้มครองและพัฒนาคนพิการบ้านเฟื่องฟ้า พก.จัดทำขึ้น เพื่อให้เด็กพิการซ้ำซ้อนนอนติดเตียงที่ไม่สามารถเคลื่อนไหวได้ตัวเองได้ ได้มีโอกาสนั่งบนเก้าอี้ที่มีการออกแบบให้เหมาะสมกับสรีระของเด็กแต่ละคน อุปกรณ์นี้มีต้นทุนการผลิตเพียง 400 บาท มีน้ำหนักเบาเพียง 2-3 กิโลกรัม สามารถรองรับน้ำหนักของเด็กได้เป็นอย่างดี มีเข็มขัดรัดเอวไว้กับเก้าอี้ ช่วยสร้างการพัฒนาทางร่างกาย จนอาจส่งผลให้สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ในอนาคต ผลการดำเนินการพบว่าร้อยละ 100 ของเด็กที่นั่ง มีองศาการเคลื่อนไหวของคอดีขึ้น การเกิดแผลกดทับที่ปุ่มกระดูกมีพัฒนาการดีขึ้น การเกิดกระดูกสันหลังคดมีพัฒนาการที่ดีขึ้น เด็กสามารถชันคอตั้งขึ้นได้เองทั้งในท่าก้มคอและเงยคอ ส่งผลต่อกล้ามเนื้อช่องปากและใบหน้าของเด็กขยับได้ง่ายขึ้นร้อยละ 92 รวมทั้งได้รับความพึงพอใจของเจ้าหน้าที่และผู้ปกครองเด็ก ทั้งด้านความสุขของเด็กเมื่อได้นั่งเก้าอี้ ความปลอดภัย และความสะดวกในการดูแลและเก็บรักษา นอกจากนี้ยังมีการพัฒนาศักยภาพของบุคลากรร่วมกับคณะกายภาพบำบัด มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมด้วย
"นอกจากคนพิการจะเป็นคนที่ยากลำบากที่สุดทางสังคมแล้ว แต่ความพิการนั้นยังส่งผลให้คนพิการมีโอกาสเข้าถึงบริการและสวัสดิการจากรัฐได้ยากกว่ากลุ่มเป้าหมายอื่นๆ ความเหลื่อมล้ำจึงมีโอกาสเกิดกับคนพิการได้มากที่สุด โดยการประดิษฐ์เก้าอี้ลังกระดาษทำให้คนพิการที่ได้รับการฟื้นฟูสมรรถภาพด้านร่างกาย อีกทั้งยังเน้นการขยายไปในชุมชน สอนชาวบ้านให้ทำเป็นเพื่อให้สามารถเข้าถึงอุปกรณ์ช่วยเหลือความพิการขั้นพื้นฐานที่มีราคาถูก หาง่าย สามารถประกอบได้เอง และเหมาะสมกับเด็กพิการแต่ละราย เมื่อเด็กพิการและครอบครัวอยู่ด้วยกันได้อย่างมีความสุข สร้างความภาคภูมิใจให้กับครอบครัวผู้ดูแลเด็กพิการที่สามารถดูแลเด็กพิการได้ด้วยตนเองไม่ต้องถูกทอดทิ้งไว้ในสถานคุ้มครองฯ จึงเป็นการลดความเหลื่อมล้ำในสังคมได้อย่างเป็นรูปธรรม ทั้งนี้ ในวันที่ 24 ก.ย.นี้ พก.จะมีการจัดแสดงผลงาน "นวัตกรรม เทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับคนพิการ" โดยจะนำเก้าอี้ลังกระดาษ ไปจัดแสดงผลงานและสาธิตวิธีการทำ เพื่อให้ผู้ที่สนใจสามารถรับสิทธิ์และนำไปใช้ประโยชน์ต่อไป" นางธนาภรณ์ กล่าว
...