หากใครผ่านไปมาบริเวณแยกศาลาแดง หน้าสวนลุมพินี ก็จะคุ้นตากับภาพ พระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ในหลวงรัชกาลที่ 6 เด่นตระหง่าน สร้างแล้วเสร็จมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2485 หรือราว 77 ปีที่ผ่านมา พื้นที่จุดนี้เป็นทรัพย์สินส่วนพระองค์ที่พระราชทานไว้เป็นสมบัติของประชาชน เพื่อจัดงานสยามรัฐพิพิธภัณฑ์แสดงสินค้าไทยแก่ชาวโลกเป็นครั้งแรก มุ่งหวังบำรุงเศรษฐกิจและพาณิชยกรรมของประเทศ และทรงตั้งพระราชหฤทัยว่า เมื่อเสร็จงานแล้ว จะโปรดเกล้าฯ พระราชทานเป็นสวนสาธารณะพักผ่อนหย่อนใจแห่งแรกในกรุงเทพฯ พร้อมทั้งพระราชทานนามว่า "สวนลุมพินี"

ทีมข่าวเจาะประเด็นไทยรัฐออนไลน์ พาท่านผู้อ่านเข้าสู่ยุคสมัยแห่งการปกครองประเทศของ "พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว" ทรงเป็นพระโอรสองค์ที่ 29 ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในหลวงรัชกาลที่ 5 และเมื่อสมเด็จพระบิดา (รัชกาลที่ 5) เสด็จสวรรคต เมื่อวันที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2453 พระองค์ทรงขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัติ เป็นในหลวงรัชกาลที่ 6 แห่งราชวงศ์จักรี และทรงครองราชย์สืบต่อมาเป็นระยะเวลา 15 ปี 34 วัน

...

เรื่องราวที่เกี่ยวข้อง 

ราชาภิเษก พฤศจิกายน พ.ศ. 2453

เมื่อสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมารพระองค์แรก สวรรคต ต่อมาพระบิดา (รัชกาลที่ 5) จึงได้โปรดให้สถาปนาพระองค์ดำรงตำแหน่งแทน เมื่อวันที่ 17 มกราคม 2437 โดยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 6) เป็นพระราชโอรสองค์ที่ 29 ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) และเป็นองค์ที่ 2 ที่ประสูติแต่ สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง พระราชสมภพเมื่อวันเสาร์ เดือนยี่ ขึ้น 2 ค่ำ ปีมะโรง ตรงกับวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2423

พระองค์ทรงขึ้นเสวยราชสมบัติ เมื่อวันอาทิตย์ที่ 23 ตุลาคม ปีจอ พุทธศักราช 2453 ก่อนที่พระบิดา (รัชกาลที่ 5) จะสิ้นพระชนม์ รัชกาลที่ 6 ได้รับการสถาปนาตั้งไว้ในพระรัชทายาทสืบพระราชสันตติวงศ์มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2437 ล่วงหน้า ขณะนั้น กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช ซึ่งเป็นพระปิตุลา (ท่านอาแท้ๆ) ทูลเชิญเสด็จลง ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน ท่ามกลางพระบรมวงศานุวงศ์ เสนาบดี ผู้ใหญ่ องคมนตรี และข้าราชการผู้ใหญ่ผู้น้อยที่ชุมนุมอยู่ พระปิตุลาได้กราบถวายบังคมอัญเชิญเสด็จขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัติเป็นพระเจ้าแผ่นดิน ภายในคืนนั้นเองได้มีประกาศภาษาไทยให้ออกพระนามว่า สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช ผู้ทรงสำเร็จราชการแผ่นดิน ต่อมาวันที่ 25 ตุลาคม จึงให้ออกพระนามว่า สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

ต่อมาในวันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2459 ทรงเห็นชอบกับคำกราบบังคมทูลของเหล่าเสนาบดีให้เฉลิมพระปรมาภิไธย "สมเด็จพระรามาธิบดี" แทนคำว่า "สมเด็จพระปรเมนทร" จึงมีพระปรมาภิไธยอย่างสังเขปว่า "พระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราวุธ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว” พระองค์ทรงตั้งสัตยาธิษฐานที่จะปฏิบัติหน้าที่ให้สมกับที่ทรงได้รับเลือกเป็นรัชทายาท และจะทรงอุทิศทั้งชีวิตและร่างกาย เพื่อผลประโยชน์ของชาติ และพระศาสนา ต่อมา โปรดเกล้าฯ ให้ตั้งการราชพิธีบรมราชาภิเษกสมโภชในเดือนธันวาคม 2454 พระองค์เสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนคร โดยขบวนพยุหยาตรา นับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ไทย ที่มีนานาประเทศสำคัญทั่วโลกมาร่วมงาน พร้อมทูตและคณะผู้แทนจากประเทศต่างๆ

...

พระมหากษัตริย์ไทยพระองค์แรกที่สำเร็จการศึกษาจากต่างประเทศ

ย้อนไปขณะที่ทรงพระเยาว์ ได้ศึกษาในพระบรมมหาราชวัง โดยมีหม่อมเจ้าประภากร มาลากุล พระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) และพระยาอิศรพันธุ์โสภณ (หนู อิศรางกูร ณ อยุธยา) เป็นพระอาจารย์ถวายพระอักษรภาษาไทย ส่วนวิชาภาษาอังกฤษนั้น ทรงศึกษากับ นายโรเบิร์ต มอแรนต์ พระองค์ทรงได้รับการศึกษาทางด้านอักษรศาสตร์ และศิลปศาสตร์ จากสมเด็จพระราชบิดาและอาจารย์ผู้สันทัดแต่ละวิชาการ ครั้งพระชนมายุ 13 พรรษา พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชบิดา (ในหลวงรัชกาลที่ 5) โปรดให้พระองค์ออกไปศึกษาวิชาการในต่างประเทศ

...

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ในหลวงรัชกาลที่ 6 ทรงศึกษาวิชาหลายแขนงอยู่ ณ ประเทศอังกฤษ ทางทหาร ทรงสำเร็จการศึกษาจากแซนเฮิสต์ และเข้าอบรมวิชาการใช้อาวุธ อีกทั้งยังศึกษาวิชาประวัติศาสตร์และกฎหมาย ที่วิทยาลัยไครสต์เชิร์ช มหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด หลังจากสำเร็จการศึกษาทรงเข้ารับราชการทหารในกองทัพ ดำรงพระยศเป็นนายพลเอกราชองครักษ์ และผู้บังคับการกรมทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ เมื่อพระบิดา (ในหลวงรัชกาลที่ 5) เสด็จไปยังประเทศยุโรปครั้งที่ 2 พระองค์ทรงรับหน้าที่สำคัญ เป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดินแทน

...

ในหลวงรัชกาลที่ 6 เป็นพระมหากษัตริย์ไทยพระองค์แรกที่สำเร็จการศึกษาจากต่างประเทศ จึงเข้าพระทัยอย่างลึกซึ้งในเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และสถานการณ์ที่นานาประเทศมีการขัดแย้งแข่งขันทางการเมืองและเศรษฐกิจ รัชสมัยของพระองค์ จึงเป็นอีกครั้งหนึ่งที่ทรงนำประเทศผ่าวิกฤติจากภัยของมหาอำนาจโลกไปให้ได้

สงครามโลกครั้งที่ 1 การเลือกข้างของสยาม ความจำเป็นทางการเมือง

22 กรกฎาคม 2460 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ทรงประกาศสงครามกับฝ่ายมหาอำนาจกลาง นำโดยเยอรมนีและออสเตรีย-ฮังการี หลังจากวางตัวเป็นกลางมาเกือบ 3 ปี และเมื่อสงครามโลกครั้งที่ 1 เริ่มต้น ประเทศไทยมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเลือกข้างทางการเมือง และสิ่งนี้เอง คือการฟื้นฟูอำนาจอธิปไตยและเสรีภาพในการค้าและการพาณิชย์กับชาติตะวันตกอย่างอังกฤษและฝรั่งเศส เปิดทางสู่การยกเลิกสนธิสัญญาอันไม่เป็นธรรม 

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าอยู่หัว ติดตามข่าวการสงคราม เล็งเห็นการณ์ไกลในการให้ประเทศสยามประกาศตัวเข้าร่วมกับฝ่ายสัมพันธมิตร เพราะถ้าฝ่ายสัมพันธมิตรได้รับชัยชนะ จะมีผลดีในการที่ประเทศไทยจะเรียกร้องสิทธิต่างๆ ได้ จึงโปรดเกล้าฯ ให้จัดส่งทหารไทย ไปเข้าร่วมกองรบในทวีปยุโรป เพื่อให้การเข้าร่วมของสยามมีน้ำหนักและความหมายยิ่งขึ้น และได้ประกาศสงครามกับเยอรมนีและออสเตรีย-ฮังการี ในวันที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2460

สถานทูตฝรั่งเศสเปิดเผยภาพและภาพยนตร์ทหารไทยเข้าร่วมรบในฝรั่งเศสสมัยสงครามโลกครั้งที่ 1
สถานทูตฝรั่งเศสเปิดเผยภาพและภาพยนตร์ทหารไทยเข้าร่วมรบในฝรั่งเศสสมัยสงครามโลกครั้งที่ 1

โดยประกาศกระแสพระบรมราชโองการประณามว่า "เยอรมนีและออสเตรีย-ฮังการี เป็นฝ่ายละเมิดเมตตาธรรมของมวลมนุษย์ มิได้มีความนับถือต่อประเทศเล็ก ไม่ปฏิบัติตามกฎหมายระหว่างประเทศ และเป็นผู้ก่อกวนความสุขของโลก"....ท้ายที่สุด สงครามโลกครั้งที่ 1 สิ้นสุดลง พร้อมกับโอกาสของสยามประเทศในฐานะผู้ร่วมรบของฝ่ายชนะสงคราม 

อนึ่ง "วงเวียน 22 กรกฎา" จึงถือเป็นอีกหนึ่งหลักฐานประวัติศาสตร์ที่สำคัญของประเทศ ด้วยในวันอาทิตย์ที่ 22 กรกฎาคม 2460 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการประกาศเข้าร่วมกับฝ่ายสัมพันธมิตร ณ ที่แห่งนี้ ซึ่งต่อมาได้แก้ไขสนธิสัญญาที่ไม่เป็นธรรมกับต่างประเทศจนสำเร็จ 

ทรงประพันธ์โคลง สู่การแต่งเพลง "สยามานุสสติ" - ปรับเปลี่ยนธงชาติไทย 

"สยามานุสสติ" เป็นคำโคลงพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชนิพนธ์ไว้ ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน เมื่อวันเสาร์ที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2461 และได้พระราชทานแก่ทหารอาสาสมัยสงครามโลกครั้งที่ 1 ต่อมาได้มีการนำโคลงนี้มาแต่งเป็นเพลงปลุกใจ ซึ่งประพันธ์ทำนองโดย นารถ ถาวรบุตร พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชนิพนธ์โคลงสยามานุสสติ มาจาก คำขวัญปลุกใจของอังกฤษในช่วงสงครามโลกครั้งที่หนึ่งที่ว่า "What stands if Freedom fall? Who dies if England live?" 

จากการประกาศสงคราม อันเป็นการยกระดับประเทศเคียงบ่าเคียงไหล่กับอารยประเทศ จึงโปรดเกล้าฯ ให้แก้ไขลักษณะธงชาติไทย เพิ่มเติมจากที่แก้ไขไว้เมื่อปี 2459 ซึ่งครั้งนั้นทรงเริ่มทดลองใช้ธงแถบสีแดงขาวแทนธงช้าง ต่อมาทรงเพิ่มแถบสีน้ำเงินเข้าไปตรงกลาง พระราชทานความหมายของแต่ละสีไว้ว่า "สีแดง" คือ สีโลหิตที่ยอมเสียสละรักษาชาติ ศาสนา "สีขาว" คือ สีแห่งพระไตรรัตน์คุ้มครองจิตใจ "สีน้ำเงิน" คือ สีแทนองค์พระมหากษัตริย์ โปรดให้เรียกว่า ธงไตรรงค์

เมื่อธงไตรรงค์ ได้โบกสะบัดอยู่ในการสวนสนามฉลองชัยชนะ ร่วมกับอารยประเทศ ตอนสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 1 ประกอบกับพระปรีชาสามารถในการดำเนินงานต่างประเทศในรูปแบบต่างๆ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงรักษาสยามประเทศ ให้ธำรงความเป็นเอกราชมาได้จนทุกวันนี้ 

คณะกบฏ ร.ศ. 130 หวังโค่นอำนาจ


หลังจากขึ้นครองราชสมบัติได้ 2 ปี ได้เกิดเหตุนายทหารและปัญญาชนกลุ่มหนึ่ง วางแผนปฏิบัติการ โดยหมายให้พระมหากษัตริย์พระราชทานรัฐธรรมนูญให้ และเปลี่ยนแปลงการปกครองสู่ระบอบประชาธิปไตย ซึ่งคณะผู้ก่อการได้รวมตัวกันเป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ 13 มกราคม พ.ศ. 2455 กบฏ ร.ศ. 130 เป็นการก่อกบฏก่อนการปฏิวัติสยาม พ.ศ. 2475 ในสมัยรัชกาลที่ 6 เมื่อนายทหารและปัญญาชนกลุ่มหนึ่ง วางแผนปฏิบัติการโดยหมายให้พระมหากษัตริย์พระราชทานรัฐธรรมนูญให้ และเปลี่ยนแปลงการปกครองสู่ระบอบประชาธิปไตย แต่แผนการแตกเสียก่อน จึงมีการจับกุมผู้คิดก่อการไว้ได้ 91 คน

กบฏ ร.ศ.130
กบฏ ร.ศ.130

คณะผู้ก่อการวางแผนจะก่อการในวันที่ 1 เมษายน ซึ่งเป็นวันพระราชพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา และวันขึ้นปีใหม่ ผู้ที่ต้องเป็นคนลงมือก่อเหตุเกิดเกรงกลัวความผิด จึงนำความไปแจ้งหม่อมเจ้าพันธุ์ประวัติ ผู้บังคับการกรมทหารช่างที่ 1 รักษาพระองค์ และพากันนำความไปแจ้ง สมเด็จพระอนุชาธิราช เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ เมื่อความทราบไปถึงพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ประทับอยู่ที่พระราชวังสนามจันทร์ จังหวัดนครปฐม

คณะทั้งหมดจึงถูกจับกุมเมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ ถูกส่งตัวไปคุมขังที่คุกกองมหันตโทษ ที่สร้างขึ้นใหม่ เดิมคณะตุลาการศาลทหารมีการพิจารณาตัดสินลงโทษให้จำคุกและประหารชีวิต แต่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีพระบรมราชวินิจฉัย และได้มีพระบรมราชโองการพระราชทานอภัยโทษ ละเว้นโทษประหารชีวิต ด้วยทรงเห็นว่าไม่มีจิตพยาบาทต่อผู้คิดประทุษร้ายแก่พระองค์

ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ และ ระบอบประชาธิปไตย

"การมี “คอนสติตูชั่น” เป็นอันตัดความไม่แน่นอนไปได้มาก เพราะอำนาจมิได้อยู่ในมือคนคนเดียว ซึ่งแม้จะดีฤาชั่วปานใดก็เปลี่ยนไม่ได้ ประชาชนได้มีเสียงในการปกครองชาติบ้านเมืองของตนเอง เสนาบดีผู้รับตำแหน่งที่ปกครองก็รับผิดชอบต่อประชาชน" 

ในหลวงรัชกาลที่ 6 ทรงเปรียบเทียบการปกครองระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ และระบอบประชาธิปไตย ได้ทรงบันทึกไว้ในจดหมายเหตุราชกิจรายวันของพระองค์ ในเดือนมีนาคม พ.ศ.2455 ภายหลัง “กบฏ ร.ศ. ๑๓๐” กบฏจากกลิ่นอายประชาธิปไตย "พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว" ทรงกล่าวถึงการเลือกตั้ง การตั้งพรรคการเมือง และการตั้งรัฐบาล ไว้ก่อนที่ประเทศไทยจะมีการปกครองระบอบประชาธิปไตย ตั้งแต่คำว่า “รัฐธรรมนูญ” “ประชาธิปไตย” และ “พรรคการเมือง” ยังไม่เกิดเสียด้วยซ้ำ แต่ก็ทรงวิจารณ์ประชาธิปไตยที่ไม่ได้อยู่ในตำรา ยังกับทอดพระเนตรเห็นเหตุการณ์ในวันนี้

อันแสดงถึงความเข้าพระราชหฤทัยในเรื่องของการปกครองในรูปแบบต่างๆ อย่างลึกซึ้ง จากประสบการณ์ที่ได้ทรงศึกษาอยู่ในต่างประเทศ ทรงตระหนักถึงปัญหาการพัฒนาคุณภาพของนักการเมือง และพรรคการเมือง อันเป็นจุดอ่อนของระบอบประชาธิปไตย ที่กำลังดำเนินอยู่ในหลายประเทศทั่วโลก ณ ขณะนั้น 

นับจากเริ่มรัชกาล ทรงสืบต่อการบริหารราชการแผ่นดินต่อจากพระบิดา ในลักษณะการกระจายพระราชอำนาจ มาสู่คณะบุคคลต่างๆ ปรับปรุงโรงเรียน กฎหมาย และทรงจัดตั้งเนติบัณฑตยสภา เพื่อบำรุงการศึกษาวิชากฎหมาย และควบคุมทนายความ ทรงตั้งมั่นพระราชหฤทัยให้ข้าราชบริพารและประชาชนได้เรียนรู้วิธีปกครองตัวเอง 

โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ 

โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สร้างขึ้นตามพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ให้สร้างขึ้นในเขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2457 พระองค์มีพระราชประสงค์ที่จะทรงบำเพ็ญพระราชกุศล เพื่อสนองพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5

"โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์" เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดโรงพยาบาล เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2457 ตามแจ้งความสภากาชาดสยาม ลงวันที่ 1 พฤษภาคม 2457 ได้กำหนดจุดมุ่งหมายให้โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เป็นโรงพยาบาลที่ดีจริง ถูกต้องตามวิทยาศาสตร์ แผ่พระเกียรติยศในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว กับทั้งแพร่เกียรติยศของชาติไทย บริการรักษาพยาบาลช่วยแบ่งเบาภาระของรัฐบาล ให้บริการรักษาผู้บาดเจ็บและผู้ป่วยไข้ทั้งในยามสงครามและปกติ โดยยึดมั่นในปณิธาณอันแน่วแน่ที่จะให้ความช่วยเหลือผู้บาดเจ็บทั่วไป โดยไม่เลือกชาติ ชั้น วรรณะ ลัทธิ ศาสนา หรือความคิดเห็นทางการเมือง

โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ให้บริการทางการแพทย์ พยาบาล ตลอดจนการนำเทคโนโลยีทางการแพทย์และวิทยาศาสตร์ที่ทันสมัย มาใช้ศึกษาเพื่อการรักษาพยาบาลที่มีประสิทธิภาพ โดยมีการส่งเสริมการค้นคว้าวิจัยนับตั้งแต่โรงพยาบาลได้เปิดบริการ และพัฒนาการรักษา พัฒนาบุคลากรทุกระดับอย่างต่อเนื่อง ทำให้โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ มีความก้าวหน้าเป็นอย่างมาก ทั้งในด้านการรักษาพยาบาลและงานวิจัย ทั้งนี้ ด้วยการประสานงานกันเป็นอย่างดีระหว่างโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์และคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ส่งเสริมการศึกษา วชิราวุธวิทยาลัย เบญจมราชาลัย เพาะช่าง หอสมุดแห่งชาติ 

มหาวิทยาลัยแห่งแรกของประเทศไทย ในหลวงรัชกาลที่ 6 ทรงสถาปนาเมื่อวันพุธศักราช 2459 โดยรวมโรงเรียนเข้าเป็นส่วนหนึ่ง และโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามว่า จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นส่วนหนึ่งของประจักษ์พยานที่แสดงให้เห็นว่า ทรงมองการณ์ไกลด้านการศึกษา นอกจากนี้ ยังมีพระราชดำริให้สร้างโรงเรียนแทนวัด เพื่อส่งเสริมขยายการศึกษาให้แก่ประชาชน สอดคล้องกับการพัฒนาประเทศ ประกอบกับการศึกษาไม่ได้บรรจุกับทางวัด ดังนั้น พระองค์ทรงไม่ได้โปรดให้สร้างพระอารามหลวงขึ้นใหม่ แต่ให้สร้างโรงเรียนมหาดเล็กหลวง มุ่งเน้นการเรียนการสอน และอบรมให้เด็กชายเป็นสุภาพบุรุษ เสมือนว่า โรงเรียนนี้เป็นเหมือนพระอารามหลวงประจำรัชกาล ต่อมาในยุคสมัยของในหลวงรัชกาลที่ 7 ทรงพระราชทานนามโรงเรียนแห่งนี้ว่า “โรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัย”

ด้านอาชีวศึกษา โปรดเกล้าฯ ให้ตั้งโรงเรียนเพาะช่างขึ้นเป็นสถานศึกษาที่ผลิตบุคลากร รักษาศิลปะการช่างไทย ปัจจุบันคือวิทยาลัยเพราะช่าง นอกจากนี้ ทรงให้โอกาสทางการศึกษาของสตรี ด้วยการจัดตั้งโรงเรียนนางพยาบาลสภากาชาดสยาม และโรงเรียนฝึกหัดครูสตรี เพื่อไปเป็นครูประจำโรงเรียนสตรีต่างๆ ซึ่งปัจจุบันเป็นที่ตั้งของโรงเรียนเบญจมราชาลัย นอกจากนี้ ยังโปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งโรงเรียนครูปฐมกสิกรรม เพื่อให้ไปเป็นครูตามโรงเรียน ปูพื้นฐานตามกสิกรรม

ทรงเห็นการศึกษาของเอกชน ที่จะช่วยให้ความสัมพันธ์ของชาติกว้างขวางมากขึ้น และโปรดเกล้าฯ ให้ใช้พระราชบัญญัติโรงเรียนราษฎร์ เมื่อปี พ.ศ.2561 และประกาศใช้พระราชบัญญัติประถมศึกษา พ.ศ 2464 กำหนดให้เด็กทุกคนที่มีอายุตั้งแต่ 7 ปี เรียนหนังสืออยู่ในโรงเรียน จนอายุครบ 14 ปี โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย เพื่อให้คนไทยทุกคนได้มีสิทธิได้รับการศึกษาโดยทั่วกัน ทรงส่งเสริมการอ่านหนังสือแสวงหาความรู้นอกห้องเรียน จึงโปรดให้จัดตั้งหอสมุดสำหรับพระนครขึ้น และได้พัฒนาเป็นหอสมุดแห่งชาติในปัจจุบัน

กรมรถไฟหลวง โทรเลข บริษัทปูนซีเมนต์ไทย ธนาคารออมสิน 

ปลายเดือนมกราคม พ.ศ.2453 บริษัทการบินจากประเทศฝรั่งเศส นำเครื่องบินเข้ามาจัดแสดงการบินในกรุงเทพมหานครเป็นครั้งแรก ในหลวงรัชกาลที่ 6 ทรงอนุญาตให้จัดแสดงเป็นระยะเวลา 5 วัน และใช้สนามราชกรีฑาสโมสร เป็นสนามบินชั่วคราว นับว่าในรัชสมัยของพระองค์ ทรงเปิดรับเทคโนโลยีในด้านต่างๆ ของตะวันตก เพื่อให้คนไทยได้ศึกษาเรียนรู้ เช่น พัฒนาประเทศ ทรงวางรากฐานการเรียนรู้ มีการขนส่งไปรษณีย์ทางอากาศ ระหว่างกรุงเทพฯ กับจันทบุรีเป็นครั้งแรก เมื่อ พ.ศ.2463 และโปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งสถานีวิทยุโทรเลขขึ้นตามภูมิภาคต่างๆ ทำให้การติดต่อสื่อสารสะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น ทรงพัฒนากิจการรถไฟให้ก้าวหน้า โดยรวมรถไฟสายใต้และสายเหนือเข้าด้วยกัน เรียกว่า “กรมรถไฟหลวง”

ทรงเปิดเส้นทางเดินรถไฟสายใต้ ระหว่างสยามกับมาลายู โปรดเกล้าฯ ให้สร้างสะพานพระราม 6 ข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา เพื่อเชื่อมทางรถไฟสายเหนือและสายใต้ โปรดเกล้าฯ ให้สร้างเขื่อนพระราม 6 อันเป็นเขื่อนทดน้ำแห่งแรกของประเทศ ที่ตำบลท่าหลวง จังหวัดพระนครศรีอยุยา ทรงมองเห็นประโยชน์ของการผลิตปูนซีเมนต์ขึ้นใช้เอง ส่งผลดีกับการพัฒนาสาธารณูปโภค บริษัทปูนซีเมนต์ไทย จึงเกิดขึ้นในปี 2456

นอกจากนี้ ยังทรงโปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งกรมสรรพากร และกรมตรวจสอบเงินแผ่นดินเพื่อเป็นไปอย่างถูกต้อง และกรมสถิติพยากรณ์เพื่อจัดเก็บข้อมูลรายรับรายจ่ายของประเทศ และในปลายรัชกาลที่ 6 โปรดเกล้าฯ ให้ยกขึ้นเป็นกระทรวงพาณิชย์ ยิ่งกว่านั้นเพื่อให้ประชาชนรู้จักการออม จึงมีพระราชดำริให้จัดตั้งธนาคารออมสิน และปัจจุบันคือ ธนาคารออมสิน

“เมื่อกลับแผ่นดินไทย จะทรงเป็นไทยยิ่งกว่าเมื่อมาเรียน”


ขณะที่พระองค์ทรงศึกษาอยู่ในประเทศอังกฤษ ในหลวงรัชกาลที่ 6 ได้มีพระดำรัสอันเป็นความตั้งมั่นในพระราชหฤทัย “เมื่อกลับแผ่นดินไทย จะทรงเป็นไทยยิ่งกว่าเมื่อมาเรียน” และเมื่อเสด็จขึ้นครองราชย์ ทรงตระหนักว่าประเทศตกอยู่ภายใต้กระแสการปรับตัว ตกอยู่ภายใต้วัฒนธรรมตะวันตก จึงอาจจะต้องสูญเสียเอกลักษณ์ ศิลปะความเป็นไทย จึงทรงมุ่งมั่นที่จะรักษาความเป็นไทย ดั่งที่ทรงได้ตั้งพระราชหฤทัยไว้แต่เบื้องต้น ส่วนในด้านของการส่งเสริมพระพุทธศาสนาที่เป็นหลักหนึ่งของความเป็นชาติ ทรงบูรณปฏิสังขรณ์พระพุทธเจดี
ย์ และพระอารามต่างๆ

ด้วยความเป็นนักอักษรศาสตร์ ทรงใส่พระราชหฤทัยในการใช้ภาษาไทย ทรงบัญญัติศัพท์ภาษาไทยเพื่อใช้แทนภาษาอังกฤษ ดังคำว่า ตำรวจ ธนาคาร โทรเลข โทรศัพท์ บริษัท เป็นต้น ทรงเปี่ยมด้วยความเป็นครูและนักการศึกษา และทรงพระราชนิพนธ์วรรณกรรมเพื่อสอนใจบุคคลกลุ่มต่างๆ เกี่ยวกับการเป็นชาติไทย สอนกองเสือป่าและลูกเสือ เพื่อให้เข้าใจถึงความเสียสละของบรรพบุรุษไทย ที่สละเลือดเนื้อและชีวิตรักษาชาติบ้านเมือง ทรงสอนทหารในเรื่องการรบด้วยงานเขียน ปลุกใจทหารให้เห็นคุณค่าของการปกป้องประเทศชาติ

เริ่มต้นให้มีชื่อ-สกุล จดทะเบียนสมรสตามกฎหมาย ใช้คำนำหน้าเด็กชาย เด็กหญิง 

โปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขนานนามสกุลใน พ.ศ. 2456 ให้ทุกคนมีชื่อและนามสกุล เพื่อให้สามารถจดทะเบียนคนเกิด คนตาย และเรื่องเกี่ยวกับการสมรส ซึ่งมีพระราชดำริเพิ่มเติมว่า “การจดทะเบียนสมรส เป็นหลักฐานของการแต่งงานเป็นสามีภรรยา นอกจากนั้นยังโปรดเกล้าฯ ให้บัญญัติคำนำหน้าชื่อว่า เด็กชาย เด็กหญิง และใช้คำนำหน้าผู้หญิงว่า “นาง-นางสาว” แทนคำนำหน้าชื่อ “อำแดง” ที่เคยใช้ในอดีต ในรัชสมัยของพระองค์ ผู้หญิงเปลี่ยนจากนุ่งโจงมาเป็นนุ่งซิ่น และไว้ผมยาวตามพระราชนิยม

โปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนวิธีนับโมงยามเป็นแบบสากลนิยม คือแบ่งวันหนึ่งเป็น 24 ชั่วโมง และให้เวลาเที่ยงคืนคือการเปลี่ยนเป็นวันใหม่ และเพื่อพัฒนานิสัยรักการอ่าน โปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติการพิมพ์ฉบับแรก เรียกว่า พระราชบัญญัติสมุดเอกสารและหนังสือพิมพ์ ต่อมาได้เกิดหนังสือพิมพ์ไทย จีน และอังกฤษหลายฉบับ พระราชนิพนธ์บทความลงในหนังสือพิมพ์ โดยใช้นามแฝงเพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนวิจารณ์บทความของพระองค์ได้โดยเสรี สร้างสรรค์สังคม

ทีมฟุตบอลสยาม ยังดำรงอยู่มาจนทุกวันนี้ 

ทรงรับวัฒธรรมการเล่นกีฬาแบบตะวันตก โดยเฉพาะฟุตบอล โดยมีพระราชดำริว่า การเล่นเป็นทีมจะช่วยฝึกความอดทนและความสามัคคี ต่อมาโปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งฟุตบอลสยาม สมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทยในพระราชูปถัมป์ ทรงร่างข้อบังคับด้วยพระองค์เอง ถือเป็นธรรมนูญกีฬาฉบับแรกของเมืองสยาม พระราชทานถ้วยนักรบ ถ้วยใหญ่ และถ้วยน้อย ปัจจุบันคือถ้วย ก. และถ้วย ข. เพื่อให้คณะฟุตบอลสยาม จัดการแข่งขันประเภทประชาชน เรียกว่า ฟุตบอลชิงถ้วยพระราชทานประจำปี

พ.ศ.2468 มีพระบรมราชานุญาตให้คณะฟุตบอลสยาม สมัครสมาชิกของสมาพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ หรือ ฟีฟ่า ทีมฟุตบอลสยามที่ได้จัดตั้งขึ้นในรัชสมัยรัชกาลที่ 6 ยังได้รับความนิยมสืบเนื่องมาทุกวันนี้

สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี พระธิดาองค์เดียวในพระองค์

พระราชธิดาเพียงพระองค์เดียวของพระองค์คือ สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี ประสูติเมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2468 ได้รับพระราชทานพระนามจากพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ในการพระราชพิธีสมโภชเดือนและขึ้นพระอู่ เมื่อวันที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2468 โดยมี สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสามาตุจฉาเจ้า ทรงพระเมตตาเอาพระหทัยใส่ดูแลทั้งด้านพระอนามัยและความเป็นอยู่มาโดยตลอด

ด้วยเมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ขณะทรงพระประชวรหนักนั้น ได้มีพระราชดำรัสกับสมเด็จพระมาตุจฉาเจ้าว่า “ขอฝากลูกด้วย” พระองค์ยังได้มีพระราชกระแสถึงเรื่องนี้ไว้ว่า “เจ้าฟ้านี่ ฉันตายก็นอนตาไม่หลับ พระมงกุฎฝากฝังเอาไว้” ต่อมาเจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา พร้อมด้วยพระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี ได้เสด็จฯ ไปประทับที่ประเทศอังกฤษ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2480 จนในปี พ.ศ. 2501 ทั้งสองพระองค์ได้เสด็จกลับประเทศไทยเป็นการถาวร และประทับที่วังรื่นฤดีร่วมกัน

ท้ายที่สุด สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี สิ้นพระชนม์ด้วยพระอาการติดเชื้อในกระแสพระโลหิต เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2554 เวลา 16.37 นาฬิกา ณ ตึก 84 ปี โรงพยาบาลศิริราช พระชนมายุได้ 85 พรรษา

เสด็จสวรรคต ยังความโศกเศร้าแก่ประชาชนชาวสยาม

พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาวชิราวุธฯ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว หรือ ล้นเกล้า ร.6 เสด็จสวรรคต ยังความโศกเศร้าอาดูรแก่ประชาชนชาวสยามอย่างหาที่สุดมิได้ ยิ่งได้รับรู้ว่ามีสาเหตุมาจากพระโลหิตเป็นพิษในพระอุทร ตั้งแต่วันที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2468

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระประชวรพระโรคพระโลหิตเป็นพิษในพระอุทร ตั้งแต่วันที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2468 โดยทรงได้เสวยพระกระยาหารผิดสำแดงและทรงพระบังคน มีมดมาเกาะพระบังคน หมอจึงสรุปว่า มีเบาหวานแทรกซ้อน แต่พระอาการก็ทรงกับทรุด อย่างไรก็ดี ข้อมูลทางหนึ่งระบุว่า พระอาการนี้สืบเนื่องมาจากแผลผ่าตัดด้วยพระอันตะ (ไส้ติ่ง) อักเสบ ที่มีพระอาการมาก ต้องเข้ารับการผ่าตัดทันทีที่ประเทศอังกฤษ

กระทั่งเสด็จสวรรคต ณ พระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน ภายในพระบรมมหาราชวัง เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2468 เวลา 1 นาฬิกา 45 นาที โดยได้อัญเชิญพระบรมศพไปประดิษฐาน ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท รวมพระชนมพรรษาได้ 45 พรรษา และครองสิริราชสมบัติได้ 15 ปี

วัดบวรนิเวศราชวรวิหาร

วัดแห่งนี้ เป็นวัดที่สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพ โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 3) มีสถาปัตยกรรมแบบไทยผสมจีน พระอารามนี้เคยเป็นที่ประทับของสมเด็จพระสังฆราชถึง 4 พระองค์ และเป็นที่ตั้งของมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย

วัดบวรนิเวศราชวรวิหาร เดิมชื่อ "วัดใหม่" เป็นวัดโบราณ เมื่อรัชกาลที่ 4 ทรงผนวช ได้เสด็จมาประทับ และทรงตั้งคณะสงฆ์ธรรมยุติกนิกายขึ้นที่วัดนี้เป็นครั้งแรก ถือเป็นวัดสำคัญแห่งหนึ่ง เพราะพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 รัชกาลที่ 7 และ รัชกาลที่ 9 ทรงผนวช ณ วัดแห่งนี้อีกด้วย 

*** พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงสร้างชาติมาสู่ความเป็นสากลทุก ด้วยพระราชกรณียกิจ และคุณงามความดีของพระองค์ที่ทุ่มเทเพื่อชาติ ถือเป็นจุดเปลี่ยนแห่งการปกครอง  ถึงแม้ว่ารัชสมัยของพระองค์ จะถูกล่าอาณานิคมจากประเทศชาติตะวันตก แต่พระปรีชาสามารถของพระองค์ในการนำประเทศเข้าสู่สงครามโลก และการข้ามผ่านอุปสรรคต่างๆ

ถือเป็นพระราชกรณียกิจอันทรงคุณูปการอย่างใหญ่หลวง ในการพลิกประเทศไปสู่การมีประสิทธิภาพอย่างแท้จริง ก่อนจะส่งมอบแผ่นดินให้ "พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว" ในหลวงรัชกาลที่ 7 น้องชายโดยสายเลือด ได้ปกครองดูแลประชาชน ประเทศชาติ.. เราจะมาติดตามเรื่องราวของในหลวงรัชกาลที่ 7 ในตอนต่อไป 

ขอบพระคุณข้อมูลและภาพ : สำนักเลขาธิการ สำนักพระราชวัง พลเอกพงษ์เทพ เทศประทีป, หอสมุดแห่งชาติ,สถานทูตฝรั่งเศส , วิกิพีเดีย ฯลฯ 

เรื่องราวที่เกี่ยวข้อง