บริษัทไปรษณีย์ไทยเชิดชูเกียรติ และร่วมเฉลิมฉลอง 100 ปีชาตกาล “กำพล วัชรพล” บุคคลสำคัญของโลก ที่ยูเนสโกประกาศยกย่องจัดทำแสตมป์ “กำพล วัชรพล” เป็นภาพวาดลายเส้นฝีมือ “ชัย ราชวัตร” วางจำหน่ายชนิดราคา 5 บาท จำนวน 500,000 ดวง พร้อมซอง ติดแสตมป์อีก 8,000 ซอง ให้นักเล่นแสตมป์และผู้สนใจเก็บเป็นที่ระลึก
เนื่องในวาระที่องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือยูเนสโก ได้ประกาศยกย่องให้นายกำพล วัชรพล ผู้ก่อตั้งหนังสือ พิมพ์ไทยรัฐ เป็นบุคคลสำคัญของโลกคนที่ 28 ผู้มีผลงานดีเด่นด้านการศึกษาและสื่อสารมวลชน ระหว่างปี 2561-2562 โดยเป็นคนไทยและคนเอเชียเพียงคนเดียวที่ได้รับการประกาศยกย่องในครั้งนี้ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด จึงได้จัดทำตราไปรษณียากรเชิดชูเกียรติ 100 ปี ชาตกาล “กำพล วัชรพล” เพื่อร่วมเฉลิมฉลอง เป็นที่ระลึกเป็นประวัติศาสตร์และเป็นตำนานสืบไป
สำหรับตราไปรษณียากรชุดดังกล่าว เป็น ภาพวาดลายเส้นฝีมือ “ชัย ราชวัตร” อดีตนักวาดการ์ตูนล้อเลียนการเมืองชื่อดังในหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ พิมพ์ด้วยระบบลิโธกราฟี่-หลายสี พร้อมปั๊มฟอยล์สีเขียวสีเอกลักษณ์ของไทยรัฐ บริเวณตัวเลขชนิด ราคา 5 บาท จัดพิมพ์จำนวน 500,000 ดวง มีซองติดแสตมป์อีก 8,000 ซอง เปิดจำหน่ายแล้วเมื่อวันที่ 19 ส.ค.62 เป็นวันแรก นักเล่นแสตมป์หรือ ผู้ที่สนใจเก็บแสตมป์เป็นที่ระลึก หาซื้อได้ที่ไปรษณีย์ทุกแห่งทั่วประเทศ รวมทั้งที่พิพิธภัณฑ์ตราไปรษณียากรสามเสนในและเชียงใหม่
ทั้งนี้ บุคคลสำคัญของโลกที่เป็นชาวไทย นับตั้งแต่ท่านแรกคือสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ พระบิดาแห่งประวัติศาสตร์ไทย ในปี 2505 เป็นต้นมาจนถึงนายกำพล วัชรพล บุคคลล่าสุด มีด้วยกัน 28 ท่าน ในจำนวนนี้เป็นพระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์ 14 พระองค์ บุคคลทั่วไป 12 คน พระสงฆ์ 2 รูป
นายกำพล วัชรพล ก่อตั้งกิจการหนังสือพิมพ์ยุคเริ่มแรก เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2492 ในชื่อ “ข่าวภาพ” และเสียงอ่างทอง ก่อนมาเป็น นสพ.ไทยรัฐและวางจำหน่ายฉบับปฐมฤกษ์ เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2505 และด้วยยอดจำหน่ายที่มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้ไทยรัฐกลายเป็นหนังสือพิมพ์รายวันที่มียอดจำหน่ายสูงสุดของประเทศ นายกำพลได้ริเริ่มโครงการ “โรงเรียนไทยรัฐวิทยา เพื่อชุมชนในชนบท” เป็นการสร้างโรงเรียนไทยรัฐวิทยาสำหรับการศึกษาแก่เด็กเยาวชนในจังหวัดต่างๆ มาอย่างต่อเนื่อง และส่งมอบเป็นทรัพย์สินของราชการภายใต้การอุปถัมภ์ของมูลนิธิไทยรัฐ จนถึงปัจจุบันมีจำนวนทั้งสิ้น 111 แห่ง
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง "100 ปี ชาตกาล กำพล วัชรพล"