เปิด ‘พิพิธภัณฑ์’ รำลึกบุคคลสำคัญของโลก เปรียบดั่งพญาอินทรี

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โปรด เกล้าฯ ให้ “พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์” เป็นผู้แทนพระองค์ ในงานประกาศเกียรติคุณบุคคลสำคัญของโลก 100 ปี ชาตกาล นายกำพล วัชรพล พร้อมเปิด “พิพิธภัณฑ์ กำพล วัชรพล” โดยมีบุคคลสำคัญในแวดวง ต่างๆของเมืองไทยร่วมเป็นสักขีพยาน ด้าน “วิษณุ เครืองาม” ชี้ เพราะคุณธรรมสำคัญ 7 ประการ ทำให้ “กำพล วัชรพล” เป็นดั่งพญาอินทรี ผู้ยิ่งใหญ่ในวงการการศึกษาและสื่อสารมวลชน และได้รับการยกย่องจากยูเนสโกบุคคลสำคัญของโลกในปี 2562 เป็นคนที่ 28 ของไทย

ที่สำนักงานหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ถนนวิภาวดีรังสิต เขตจตุจักร กทม. เมื่อวันที่ 19 ส.ค.เวลา 16.00 น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ องคมนตรี รักษาการประธาน องคมนตรี เป็นผู้แทนพระองค์ ในงานประกาศเกียรติคุณบุคคลสำคัญของโลก 100 ปี ชาตกาล กำพล วัชรพล และเปิด “พิพิธภัณฑ์ กำพล วัชรพล” โดยมีคุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ คุณหญิงประณีตศิลป์ วัชรพล ประธานกรรมการบริษัท วัชรพล จำกัด พร้อมครอบครัววัชรพล และนายชิเงรุ อาโอยากิ ผู้อำนวยการสำนักงานยูเนสโก ประจำกรุงเทพมหานคร ร่วมต้อนรับ

คนสำคัญร่วมเป็นสักขีพยาน

ทั้งนี้ ภายในงานยังมีบุคคลสำคัญในแวดวงการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม เดินทางมาร่วมเป็นสักขีพยานอย่างคับคั่ง อาทิ นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร นายไสลเกษ วัฒนพันธุ์ ประธานศาลฎีกา นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี นายวีระ โรจน์พจนรัตน์ อดีต รมว.วัฒนธรรม นายฐาปน สิริวัฒนภักดี นายอัยยวัฒน์ ศรีวัฒนประภา นายศุภชัย เจียรวนนท์ นายประวิทย์ มาลีนนท์ นายสมชัย เลิศสุทธิวงศ์ นายเอนก พนาอภิชน นายวัฒนชัย วิไลลักษณ์ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกฤษณ์ ณรงค์เดช นางมณีสุดา ศิลาอ่อน นางชฎาทิพย์ จูตระกูล นายชัช ชลวร นางนวลพรรณ ล่ำซำ นางอภัสรา หงสกุล นายสุทธิเกียรติ จิราธิวัฒน์ นายวิโรจน์ เลาหพันธุ์ พล.ต.อ.เฉลิมเกียรติ ศรีวรขาน รอง ผบ.ตร.

ทูลเกล้าฯ ถวายหนังสือ-แสตมป์ที่ระลึก

จากนั้น นายวัชร วัชรพล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายงานสนับสนุนธุรกิจ บริษัท วัชรพล จำกัด ได้มอบเงินเพื่อนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย พระบาทสมเด็จ พระเจ้าอยู่หัว โดยเสด็จพระราชกุศลตามพระราชอัธยาศัย นางยิ่งลักษณ์ วัชรพล ประธานกรรมการบริหารบริษัท วัชรพล จำกัด มอบหนังสือที่ระลึกจำนวน 4 เล่ม และแสตมป์ที่ระลึก 1 ชุด เพื่อนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

ยูเนสโกฉลองบุคคลสำคัญของโลก

นางสาวจิตสุภา วัชรพล ประธานเจ้าหน้าที่สายงานกลยุทธ์ บริษัท วัชรพล จำกัด กล่าวรายงานการจัดงานจากการที่นายกำพล วัชรพล อดีตผู้อำนวยการหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ได้รับการประกาศให้เป็นบุคคลสำคัญของโลก ผู้มีผลงานดีเด่นด้านการศึกษาและ สื่อสารมวลชน ในการประชุมสมัยสามัญครั้งที่ 19 ขององค์การศึกษาวิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) ณ กรุงปารีส สาธารณรัฐฝรั่งเศส จากการเสนอของคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ กระทรวงศึกษาธิการ ด้วยการสนับสนุนของประเทศมาเลเซีย เกาหลีใต้ และเวียดนาม และต่อมาเมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2560 ได้มีมติประกาศยกย่องนายกำพล วัชรพล ให้เป็นบุคคลสำคัญของโลก พร้อมด้วยบุคคลและสถาบันสำคัญของประเทศอื่น จำนวน 48 คน/สถาบัน ให้ UNESCO ร่วมเฉลิมฉลองระหว่างปี 2561-2562 นับเป็นความภาคภูมิใจแก่หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ และเป็นเกียรติแก่วงศ์ตระกูล วงการสื่อสารมวลชนไทย และประเทศชาติ

ประกาศเกียรติคุณ “กำพล วัชรพล”

ลำดับต่อมา คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ผู้แทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ในฐานะประธานคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ กล่าวประกาศเกียรติคุณบุคคลสำคัญของโลก นายกำพล วัชรพล เป็นนักหนังสือพิมพ์ที่มีส่วนสำคัญในการส่งเสริมการใช้สื่อ เพื่อการเผยแพร่การศึกษาต่างๆ ได้อย่างรวดเร็ว เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูล ความรู้ผ่านสื่อหนังสือพิมพ์ และยังเป็นผู้ที่มีบทบาทส่งเสริมผลงานต่างๆ ที่ได้ดำเนินการมาตลอดชีวิตเป็นอเนกอนันต์ มีความสอดคล้องกับภารกิจขององค์การศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือยูเนสโก ในสาขาการศึกษาและการสื่อสารมวลชน โดยในด้านการศึกษา นายกำพล วัชรพล ได้นำเงินรายได้จากการจำหน่ายหนังสือพิมพ์ ไม่น้อยกว่า 500 ล้านบาท ไปสร้างโรงเรียนในถิ่นทุรกันดาร กว่า 100 แห่ง เพื่อให้โอกาสแก่เยาวชนของชาติ แม้ว่าโรงเรียนเหล่านี้เมื่อสร้างเสร็จแล้วได้มอบให้เป็นโรงเรียนของรัฐ แต่มูลนิธิไทยรัฐยังได้ให้การสนับสนุนด้วยดีมาอย่างต่อเนื่อง รวมถึงบริจาคเงินซื้ออุปกรณ์การเรียนการสอนให้มหาวิทยาลัยต่างๆ และการประกวดวิทยานิพนธ์ระดับบัณฑิตศึกษาเพื่อยกระดับวิทยานิพนธ์

ผู้บุกเบิกนวัตกรรมสื่อ–ปกป้องชาติ

คุณหญิงกัลยากล่าวอีกว่า ด้านสื่อสารมวลชน นายกำพล วัชรพล ได้ดำเนินการตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ได้สร้างให้หนังสือพิมพ์ไทยรัฐทำหน้าที่สื่อสารมวลชนอย่างสมบูรณ์แบบในการเสนอข้อมูลข่าวสาร ปกป้องผลประโยชน์ของประชาชนและประเทศชาติ นอกจากนี้ยังมีส่วนสนับสนุนให้วงการสื่อมวลชนเรียกร้องสิทธิเสรีภาพในการเสนอข่าวสารข้อมูล และการแสดงความคิดเห็นต่างๆ อย่างเสรี ตลอดจนเป็นผู้บุกเบิกนวัตกรรมใหม่ในวงการสื่อสิ่งพิมพ์หลายประการ อาทิ เป็นผู้นำระบบการ เรียงพิมพ์ด้วยแสง การพิมพ์ระบบคอมพิวเตอร์ และการนำเข้าเครื่องพิมพ์ที่ทันสมัยที่สุดมาใช้ในการผลิตหนังสือพิมพ์รายวัน เพื่อให้ไปถึงผู้รับข่าวสารให้เร็วที่สุด ผลงานของนายกำพล วัชรพล มีคุณูปการอย่างใหญ่หลวงต่อการพัฒนาการศึกษาและสื่อมวลชนของประเทศไทย สอดคล้องกับแนวคิดขององค์การยูเนสโก และในโอกาสที่องค์การยูเนสโกได้ประกาศยกย่องให้นายกำพล วัชรพล เป็นบุคคลสำคัญทางประวัติศาสตร์ และร่วมเฉลิมฉลองวันครบรอบ 100 ปีชาตกาล ในปีนี้ จึงนับว่าเป็นการเชิดชูเกียรตินายกำพล วัชรพล และยังเป็นโอกาสให้มูลนิธิไทยรัฐได้สืบสานปณิธานของนายกำพล วัชรพล ทั้งด้านการพัฒนาการศึกษาและการสื่อสารมวลชนอีกด้วย

ผอ.ยูเนสโกในไทยกล่าวสดุดี

ด้านนายชิเงรุ อาโอยากิ ผู้อำนวยการยูเนสโกประจำกรุงเทพมหานคร กล่าวสดุดีนายกำพล วัชรพล เป็นชาวไทยเพียงคนเดียวที่ได้รับการสดุดีจากยูเนสโกเป็นบุคคลสำคัญของโลก ในการประชุมใหญ่ของยูเนสโกเมื่อปี 2560 ในฐานะเป็นผู้อุทิศตนสนับสนุนด้านการศึกษาและด้านการสื่อสารมวลชน ซึ่งวันที่ 27 ธันวาคมปีนี้ เป็นวาระครบรอบ 100 ปีชาตกาล นายกำพล วัชรพล คือตัวอย่างที่แท้จริงของบุคคลที่มีวิธีคิดเป็นบวก มีวิสัยทัศน์ยาวไกล และอุทิศตนอย่างไม่หยุดยั้ง ทั้งยังเป็นผู้มุ่งมั่นที่จะให้บรรลุเป้าหมายอย่างคุ้มค่า และเป็นผู้อุทิศชีวิตของตนในการพัฒนาสังคมและประเทศชาติ รวมถึงตระหนักถึงความสำคัญของการศึกษา จึงได้อุทิศเวลาและทรัพยากรของตน ขยายโอกาสในการเข้าถึงการศึกษาของเด็กๆในพื้นที่ชนบททั่วประเทศไทย สะท้อนให้เห็นถึงหนึ่งในหลักการสำคัญที่ชี้นำชีวิตในการตอบแทนสังคม นี่คือจุดกำเนิดของเครือข่ายโรงเรียนไทยรัฐวิทยา ซึ่งขยายตัวจนมีโรงเรียนไทยรัฐวิทยาถึง 111 แห่ง ในช่วงเวลา 5 ทศวรรษ นับตั้งแต่เริ่มก่อตั้งโรงเรียนไทยรัฐวิทยาแห่งแรกใน พ.ศ.2512

ขณะที่ด้านบทบาทนักหนังสือพิมพ์ นายกำพลได้เพิ่มอำนาจให้แก่ประชาชนด้วยข้อมูลข่าวสาร และในบทบาทผู้ประกอบการธุรกิจสื่อมวลชน นายกำพลได้เพิ่มอำนาจแก่เพื่อนร่วมวิชาชีพสื่อมวลชนและสาธารณชนด้วยการปกป้องเสรีภาพสื่อมวลชนและส่งเสริมการเรียนรู้ของสื่อมวลชน ทำให้เกิด “โครงการส่งเสริมการใช้หนังสือพิมพ์เพื่อการศึกษาของไทยรัฐ” เพื่อให้นักเรียนวัยเยาว์สามารถใช้หนังสือพิมพ์เป็นเครื่องมือในการศึกษาเรียนรู้ มรดกทางปัญญาของนายกำพลนั้นยังช่วยสนับสนุนความพยายามระดับโลกในปัจจุบันที่จะบรรลุเป้าหมาย “นโยบายการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ.2030” โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขั้นที่ 4 ด้านการศึกษา ผลงานอันเป็นอเนกอนันต์ของนายกำพลยังช่วยรับประกันการศึกษาที่มีคุณภาพทั่วถึงและเท่าเทียมโดยตรง และส่งเสริมโอกาสในการเรียนรู้ตลอดชีวิตให้กับผู้คนโดยถ้วนหน้า ไม่ใช่เฉพาะในประเทศไทยเท่านั้น แต่รวมถึงเอเชียอาคเนย์ด้วย ท่ามกลางภัยคุกคามจากระบอบเผด็จการในยุคศตวรรษ 1960 ยังช่วยส่งเสริมเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น และเสรีภาพของข้อมูลข่าวสาร ซึ่งเสรีภาพ 2 ประการนี้ เป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้เลยต่อความสำเร็จของแผนการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ.2030 เพื่อสร้างสังคมที่สันติยุติธรรมและทั่วถึง

เปิดพิพิธภัณฑ์ กำพล วัชรพล

หลังจากเสร็จสิ้นการประกาศเกียรติคุณบุคคลสำคัญของโลก นายกำพล วัชรพล แล้ว พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ องคมนตรี รักษาการประธานองคมนตรี ผู้แทนพระองค์ เป็นประธานเปิดพิพิธภัณฑ์ กำพล วัชรพล ที่ชั้น 3 อาคารพิพิธภัณฑ์ พร้อมเดินชมพิพิธภัณฑ์ และลงนามสมุดที่ระลึก จากนั้นเดินทางกลับ

“วิษณุ” ชี้เหตุผลยูเนสโกยกย่อง

ต่อมาเวลา 17.00 น. นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ได้แสดงปาฐกถาเรื่อง “ชีวิตและผลงาน นายกำพล วัชรพล” สรุปความได้ว่า ยูเนสโกมีหน้าที่ส่งเสริมการศึกษา ส่งเสริมวิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรม แก่บรรดาประเทศทั้งหลาย โดยเสาะแสวงหายกย่องคนดี คนเด่น คนสำคัญและยิ่งใหญ่ในสาขาทั้ง 3 นี้ จากประเทศต่างๆ เพื่อเป็นขวัญกำลังใจแก่คนที่ทำภารกิจด้านนี้ ที่สำคัญคือการถ่ายทอดองค์ความรู้ที่มีบุคคลต่างๆในอดีตกาลได้เคยทำไว้ เพื่อให้คนรุ่นต่อไปได้สืบสาน

และเมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา ได้ทราบจากคนในยูเนสโก กรุงปารีส ว่า ไทยกำลังจะมีบุคคลสำคัญของโลก โดยบุคคลดังกล่าวเป็นคนที่แสนจะธรรมดา เป็นนักหนังสือพิมพ์ เป็นนักธุรกิจ แต่ไม่ได้ระบุชื่อว่าเป็นใคร กระทั่งมีการประกาศอย่างเป็นทางการคือ นายกำพล วัชรพล ซึ่งสิ่งที่น่าสนใจคือสิ่งที่ทำให้ยูเนสโกหยิบยก กำพล วัชรพล ขึ้นมาเป็นบุคคลสำคัญของโลกในปี 2562 เป็นคนที่ 28 ของไทย แน่นอนว่าไม่ใช่เพราะความเป็นคนธรรมดา ไม่ใช่เพราะเป็นนักหนังสือ– พิมพ์ และไม่ได้ยกย่องเพราะเป็นนักธุรกิจ โดยนายกำพลเป็นคนธรรมดาสามัญ เกิดในครอบครัวธรรมดาและยากจนในกระท่อมหลังคามุงจาก หลังวัดดอนไก่ดี ซึ่งปัจจุบันอยู่ใน อ.กระทุ่มแบน จ.สมุทรสาคร บิดามารดาเป็นพ่อค้าแม่ค้าเรือเร่ ล่องไปตามคลองภาษีเจริญ เรียนจบ ป.4 จึงสมัครเป็นพนักงานเก็บตั๋วโดยสารเรือเมล์ แต่เพราะนายกำพลมีเป้าหมายในชีวิต หัดเรียนวิชานายท้ายเรือจนได้ใบประกอบอาชีพ อายุ 21 ปี สมัครเป็นทหารเรือ ใช้ชีวิตทหารจนมียศจ่าโทจึงลาออก ตอนอายุ 28 ปี ไปทำอาชีพผู้สื่อข่าวในหนังสือพิมพ์หลักไทย ขยับขึ้นมาออกหนังสือพิมพ์ของตัวเองเป็นหนังสือเล็กๆ จนในปี 2505 จึงจดทะเบียนจัดตั้งหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ จนถึงปัจจุบันนี้เป็นปีที่ 57

ยอมรับให้ความสำคัญการศึกษา

นายวิษณุกล่าวอีกว่า ความยิ่งใหญ่ของกำพล วัชรพล ที่ยูเนสโกยอมรับและยกย่อง เป็นสิ่งที่น่าภาคภูมิใจสำหรับชาวไทยรัฐ โดยเฉพาะการสร้างโรงเรียนไทยรัฐวิทยาในทุกที่ ใส่ใจแม้กระทั่งเลือกสถานที่ จะสร้างแบบไหนอย่างไร กำหนดสเปกเป็นโรงเรียนประถม สร้างแล้วยกให้รัฐบาลแล้วติดตามดูแลครู นักเรียน หลักสูตรการศึกษา ให้สามารถเดินหน้าไปได้จนปี 2539 จึงสร้างครบในทุกจังหวัดรวม 101 โรงเรียน ถึงวันนี้สร้างเพิ่มขึ้นอีกจนครบ 111 โรงเรียน เป็นการสร้างอย่างเป็นระบบ มีเป้าหมาย ครอบคลุมทุกพื้นที่ แล้วติดตามดูแลต่อเนื่อง โดยมูลนิธิไทยรัฐกำหนดให้โรงเรียนทุกแห่งต้องสอนวิชาหน้าที่พลเมือง และวิชาความรู้เกี่ยวกับสื่อสารมวลชน เน้นการรู้เท่าทันสื่อสิ่งพิมพ์ สื่อออนไลน์ และโซเชียล ไทยรัฐวิทยาทำมาก่อน ซึ่งถือว่าเป็นหัวข้อหนึ่งในแผนปฏิรูปประเทศด้านการสื่อสารมวลชน การที่ กำพล วัชรพล และครอบครัว ทำอย่างนี้อย่างต่อเนื่อง และเหนียวแน่น เป็นสิ่งที่ยูเนสโกจับตาดูมาหลายปี และไม่รีรอที่จะยกขึ้นเป็นบุคคลสำคัญของโลก

7 คุณธรรมทำให้เป็นพญาอินทรี

“ชีวิตของกำพล วัชรพล มีคุณธรรมสำคัญ 7 ประการ คือ รู้จักผูกใจ มีวิสัยทัศน์ ขยัน อดทน ซื่อสัตย์ ประหยัด กตัญญู รู้จักผูกใจมิตร ผูกใจผู้ใต้บังคับบัญชา ซื่อสัตย์ต่ออาชีพ มีความกตัญญูต่อประชาชนคนไทย จึงยอมสร้างโรงเรียนถึง 111 โรงเรียน อนุสาวรีย์ของบุรุษที่ชื่อกำพล วัชรพล ไม่ใช่รูปปั้น แต่เป็นหนังสือพิมพ์ไทยรัฐที่อยู่บนแผงทุกแผง ทุกพื้นที่ในประเทศไทย โรงเรียนไทยรัฐวิทยา 111 แห่ง และชื่อที่จารึกไว้ที่องค์การยูเนสโก กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ซึ่งไม่ใช่แค่เป็นเกียรติและความภาคภูมิใจของชาวไทยรัฐเท่านั้น แต่เป็นเกียรติยศแก่ประเทศไทยและของโลก ท่านชอบเพลง “นกขมิ้น” เป็นเพลงโปรด เพราะเหมือนชีวิตของตัวเองช่วงยังเด็ก แต่วันนี้นายกำพลไม่ใช่นกขมิ้น แต่เป็นพญาอินทรี ผู้ยิ่งใหญ่ในวงการการศึกษาและสื่อสารมวลชน” นายวิษณุกล่าว

ศิลปินแห่งชาติร่วมรำลึก “กำพล วัชรพล”

ทั้งนี้ หลังนายวิษณุกล่าวปาฐกถาจบ นายเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ศิลปินแห่งชาติ สมาชิกวุฒิสภา ได้อ่านบทกวีนิพนธ์สดุดีนายกำพล วัชรพล โดยมีนายธนิสร์ ศรีกลิ่นดี ศิลปินแห่งชาติ เป่าขลุ่ย และนายธานินทร์ อินทรเทพ ศิลปินอาวุโส นักร้องรางวัลแผ่นเสียงทองคำพระราชทาน ขับร้องเพลง “นกขมิ้น” ซึ่งเป็นเพลงที่นายกำพล วัชรพล ชื่นชอบ เพื่อเป็นการรำลึกถึงนายกำพล วัชรพล ด้วย