ผมเขียนต้นฉบับวันนี้ในวันอาทิตย์ที่ 18 สิงหาคม ซึ่งเป็น “วันสุกดิบ” ก่อนงานเฉลิมฉลองบุคคลสำคัญของโลก สำหรับ ผอ.กำพล วัชรพล จะเริ่มขึ้นหนึ่งวัน
ในฐานะเจ้าหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้ต้อนรับแขกเหรื่อที่จะมาในงานนี้ ผมจำเป็นต้องแวะเข้ามาดูการจัดที่นั่ง และสถานที่ต้อนรับตลอดจนสถานที่ที่จะเชิญแขกผู้ใหญ่ไปนั่งพักผ่อนก่อนเข้าประจำที่...เพื่อความเรียบร้อยในวันงาน
พิธีอ่านประกาศเกียรติคุณของท่าน ผอ.กำพล วัชรพล จะเริ่มขึ้น ณ ห้องโถงชั้นล่างของอาคาร 1 หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ อาคารหลังแรก เมื่อตอนที่หนังสือพิมพ์ไทยรัฐโยกย้ายสำนักงานใหญ่มาจากซอยวรพงษ์ สู่ ถนนวิภาวดีฯ ซึ่งสมัยโน้นยังเรียกกันว่า ถนน ซุปเปอร์ไฮเวย์
เมื่อเดินเข้าประตูอาคารเข้าไปทางด้านขวามือ จะเป็นห้องรับรองสำหรับแขกผู้ใหญ่ที่จะมาเป็นเกียรติแก่ท่าน ผอ.ในวันเฉลิมฉลอง
ผมเดินเข้าไปดูความเรียบร้อยในห้องนี้ก่อนอื่น...พร้อมกับมองไป ตรงจุดกลางสุด ซึ่งในอดีตเคยเป็นที่ตั้งของโต๊ะกลมตัวหนึ่ง
อดมิได้ที่จะนึกถึงวันแรกที่ผมมารายงานตัวเป็นนักเขียนคอลัมน์คนใหม่ของหนังสือพิมพ์ไทยรัฐเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2515
หัวหน้ากองบรรณาธิการ พี่ สมิต มานัสฤดี นัดให้ผมมาพบก่อนเที่ยงวัน และพอเที่ยงเป๊ะท่านก็พาผมเดินเข้ามาในห้องนี้
กลางห้องมีโต๊ะกลมตัวที่ผมกำลังนึกถึงอยู่นี้ตั้งอยู่ กลางโต๊ะ มีอาหารวางอยู่เต็ม นี่คือโต๊ะกินข้าวกลางวันของท่าน ผอ.และขุนพลของท่าน ซึ่งขณะที่ผมเดินเข้าไปนั้นมีคนนั่งอยู่แล้วเกือบเต็มโต๊ะ
คนที่นั่งหันหลังไปทางทิศเหนือและเป็นจุดเด่นที่สุดคือท่าน ผอ.กำพล วัชรพล และขวามือของท่านคือ พี่ อุทธรณ์ พลกุล เจ้าของนามปากกา “งาแซง” อันเลื่องชื่อใน พ.ศ.โน้น
ซ้ายมือท่านผิวค่อนข้างคลํ้า ผมสีดอกเลา เห็นปุ๊บก็รู้เพราะปรากฏโฉมในหน้า 4 บ่อยๆเวลามีงานสำคัญได้แก่บรรณาธิการ ทองทศ ไวทยานนท์
คนอื่นๆซ้ายบ้าง ขวาบ้าง มี “ลุงวิมล” วิมล ยิ้มละมัย พี่ชายของท่าน ผอ.กำพล ซึ่งดำรงตำแหน่งหัวหน้ากองการเงิน หรือขุนคลังของ นสพ.ไทยรัฐในยุคนั้น...มีพี่ เลิศ อัศเวศน์ ผู้ชักชวน ผอ.กำพลเข้าสู่วงการหนังสือพิมพ์และยืนหยัดเคียงคู่ ผอ.มาตั้งแต่ยุคข่าวภาพ
มีเฮีย สุรพล พรทวีวัฒน์ ผู้จัดการฝ่ายตลาดคนใหม่ที่เข้ามาแทนคนเก่าที่ลาออกไปอยู่หนังสือพิมพ์ใหม่
มีพี่ เฉลิมชัย ทรงสุข หัวหน้าข่าวภูมิภาค
มีพี่ มานิจ สุขสมจิตร หัวหน้าข่าวการเมืองเก่าที่ขึ้นไปทำหน้าที่รองหัวหน้ากองบรรณาธิการ และมีพี่ สมบูรณ์ วรพงษ์ อดีตหัวหน้าข่าวการเมืองอีกท่านนั่งอยู่เคียงกัน
ผมมองไปรอบๆแล้วก็รู้สึกตื่นเต้นและประหม่าอย่างเห็นได้ชัด
ทุกท่านล้วนเป็นเพื่อนรักและขุนพลเคียงบ่าเคียงไหล่ของ ผอ.กำพล วัชรพล ที่ยืนหยัดต่อสู้ระบอบเผด็จการมาด้วยกัน ฝ่าฟันยุคทมิฬที่สุดของวิชาชีพสื่อในสมัย จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ มาด้วยกัน
รวมทั้งเป็นกำลังหลักในการนำไทยรัฐขึ้นเป็นหมายเลข 1 ของประเทศมาด้วยกัน
ผมเป็นหนึ่งในขุมกำลังใหม่ที่พี่สมิตไปดึงตัวมาจาก พิมพ์ไทย และนำมา “คารวะ” ท่าน ผอ.กับขุนพลของท่าน ณ โต๊ะกินข้าว ซึ่งเสมือนโต๊ะบัญชาการอย่างไม่เป็นทางการของไทยรัฐ เมื่อ พ.ศ.2515 และยังเป็นต่อมาอีกหลายปี
เราผ่านเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ที่โต๊ะนี้ เราสร้างประวัติศาสตร์ ใช้เครื่องบินขนฟิล์มการชก “ไอ้แสบ” แสนศักดิ์ เมืองสุรินทร์ มาจากเชียงใหม่ที่โต๊ะนี้
เราผ่านความทุกข์ในยุค “รัฐบาลหอย” มาด้วยโต๊ะนี้ และเราทำยอด พิมพ์ขึ้นไปถึงหลัก 7 แสนต่อวัน ด้วยนิยายกำลังภายใน “อินทรีผงาดฟ้า” ของ น.นพรัตน์ ก็จากโต๊ะนี้
เราผ่านหลักล้านฉบับต่อวัน ด้วยการหันมาพิมพ์ระบบ 4 สี เต็มรูปแบบก็จากโต๊ะนี้
ความคิดในการตั้ง มูลนิธิไทยรัฐ และในการสร้าง โรงเรียนไทยรัฐวิทยา หลังต่างๆก็เริ่มจากโต๊ะนี้
โต๊ะที่มีท่าน ผอ.กำพล วัชรพล นั่งกินข้าวกลางวันรวมกับขุนพลซ้ายขวาของท่านพูดคุยเรื่องโน้นเรื่องนี้สารพัดรวมทั้งเรื่องงาน
บัดนี้ไม่มีโต๊ะอยู่กลางห้องแล้ว เพราะได้รับการดัดแปลงให้เป็นเก้าอี้รับแขกสบายๆหลายๆชุดกระจัดกระจายกัน
พรุ่งนี้ (ผมเขียนวันอาทิตย์ที่ 18) เราจะฉลองการประกาศบุคคลสำคัญของโลกให้ ผอ.กำพล แต่สำหรับผมจะแอบดื่มฉลองให้แก่โต๊ะนี้ในอดีตด้วย ในฐานะโต๊ะคู่บารมีของท่าน ผอ.กำพล.
“ซูม”