บนผืนแผ่นดินไทย ตลอดการดูแลปกครองประเทศของ "ราชวงศ์จักรี" พระมหากษัตริย์ผู้ทรงเปี่ยมล้นไปด้วยพระบารมี สร้างคุณงามความดีเพื่อประเทศชาติ "ในหลวง รัชกาลที่ 5" หรือ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว กับปรากฏการณ์เปลี่ยนแปลงประเทศครั้งใหญ่ในหลายๆ ด้าน โดยเฉพาะการประกาศยกเลิกขนบธรรมเนียมและข้อปฏิบัติต่างๆ เพื่อความเจริญรุ่งเรืองก้าวหน้าของบ้านเมือง 

ทีมข่าวเจาะประเด็นไทยรัฐออนไลน์ เรียบเรียง พระราชประวัติกษัตริย์ แห่งราชวงศ์จักรี มาถึงรัชกาลที่ 5 วัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลความรู้ทางด้านประวัติศาสตร์ให้คนรุ่นใหม่ได้รับทราบถึงพระอัจฉริยภาพ และการพัฒนาบ้านเมืองเพื่อพี่น้องปวงชนชาวไทยให้อาศัยอยู่ในผืนแผ่นดินที่อุดมสมบูรณ์ด้วยความมั่นคง มั่งคั่ง ส่งต่อมรดกตกทอดมายังรุ่นลูกรุ่นหลานจวบจนปัจจุบันนี้ 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง 

เห็นพ้องต้องกัน ร.5 เหมาะสมขึ้นครองราชย์ต่อจากพระบิดา 

...

"พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว" รัชกาลที่ 5 เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันอังคารที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2396  เดือน 10 แรม 3 ค่ำ ปีฉลู เป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในหลวง รัชกาลที่ 4  ที่ประสูติแต่พระนางเธอ สมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี  ขึ้นเสวยราชสมบัติ เมื่อวันพฤหัสบดี เดือน 11 ขึ้น 15 ค่ำ ปีมะโรง พ.ศ. 2411 ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2411 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่4  เสด็จสวรรคตภายหลังเสด็จออกทอดพระเนตรสุริยุปราคา 18 สิงหาคม พ.ศ. 2411 ก่อนที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจะสวรรคตนั้น ได้มีพระราชหัตถเลขาไว้ว่า

"พระราชดำริทรงเห็นว่า เจ้านายซึ่งจะสืบพระราชวงศ์ต่อไปภายหน้า พระเจ้าน้องยาเธอก็ได้ พระเจ้าลูกยาเธอก็ได้ พระเจ้าหลานเธอก็ได้ ให้ท่านผู้หลักผู้ใหญ่ปรึกษากันจงพร้อม สุดแล้วแต่จะเห็นดีพร้อมกันเถิด ท่านผู้ใดมีปรีชาควรจะรักษาแผ่นดินได้ก็ให้เลือกดูตามสมควร"

ดังนั้น เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 เสด็จสวรรคต จึงได้มีการประชุมปรึกษาเรื่องการถวายสิริราชสมบัติแด่พระเจ้าแผ่นดินพระองค์ใหม่ ซึ่งในที่ประชุมนั้นประกอบด้วยพระบรมวงศานุวงศ์ ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ และพระสงฆ์ โดยพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงเทเวศร์วัชรินทร์ ได้เสนอสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ กรมขุนพินิตประชานาถ พระราชโอรสพระองค์ใหญ่ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวขึ้นเป็นพระเจ้าแผ่นดิน ซึ่งที่ประชุมนั้นมีความเห็นพ้องเป็นเอกฉันท์ ดังนั้น พระองค์จึงได้รับการทูลเชิญให้ขึ้นครองราชสมบัติต่อจากสมเด็จพระราชบิดา

ในขณะนั้น มีพระชนมพรรษาเพียง 15 พรรษา ดังนั้น จึงได้แต่งตั้งสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ จนกว่าพระองค์จะมีพระชนมพรรษาครบ 20 พรรษา โดยทรงประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกครั้งแรก เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2411 โดยได้รับการเฉลิมพระปรมาภิไธยว่า พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ฯ พระจุฬาลงกรณ์เกล้าเจ้าอยู่หัว หรือ "พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว"

พระองค์มีพระขนิษฐาและพระอนุชาร่วมพระมารดารวม 3 พระองค์ ได้แก่ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจันทรมณฑล โสภณภควดี กรมหลวงวิสุทธิกระษัตริย์, สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจาตุรนต์รัศมี กรมพระจักรพรรดิพงษ์ และสมเด็จพระราชปิตุลาบรมพงศาภิมุข เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช

พระองค์ทรงเป็นที่รักยิ่งของพระบิดา ตั้งแต่ครั้งทรงพระเยาว์

เมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (ในหลวง รัชกาลที่ 4)  เสด็จฯ ไปทรงเยือนเมืองสมุทรสงคราม และเมืองราชบุรี ครั้งนั้น "เจ้าฟ้าชายใหญ่” (ในหลวง รัชกาลที่ 5) มีพระชนมพรรษา 4 พรรษา ได้โดยเสด็จตามไปด้วย ในหลวง รัชกาลที่ 4 โปรดให้เจ้าฟ้าชายใหญ่ถวายผ้ากฐิน มีขบวนแห่นำพระเกียรติยศสุดยิ่งใหญ่ .. ในครานั้นเป็นที่ทราบกันดีว่า "เจ้าฟ้าชายใหญ่" ทรงเป็นพระโอรสที่ท่านพ่อรักยิ่ง โดยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงอบรมอภิบาลอย่างใกล้ชิดมาแต่ทรงพระเยาว์ และทรงเล่าเรียนวิชาอันสมควรแก่ราชกุมารในด้านต่างๆ โดยเฉพาะภาษาอังกฤษ ทรงศึกษาจนแตกฉาน ในขณะเดียวกันในด้านประวัติศาสตร์โบราณคดี และการบริหารราชการแผ่นดิน ซึ่งในหลวงรัชกาลที่ 4 พระราชทานการสอนด้วยพระองค์เอง

...

เมื่อเจริญพระชนมพรรษาได้ 8 พรรษา ในหลวง รัชกาลที่ 4 โปรดเสด็จให้ทรงกรม เป็นเจ้าฟ้าต่างกรมฝ่ายหน้า มีพระราชพิธีพระราชทานพระสุพรรณบัฏ มีเฉลิมพระนามว่า "สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ กรมหมื่นพิฆเนศวรสุรสังกาศ" ต่อมาใน พ.ศ.2410 ทรงได้รับการสถาปนาเลื่อนเป็น สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ กรมขุนพินิตประชานาถ ทรงปฏิบัติพระราชกิจบัญชาการกรมมหาดเล็ก และกรมพระคลังมหาสมบัติ จนปรากฏพระนามเป็นที่ยกย่องชื่นชมในหมู่นานาประเทศ 

เดือนสิงหาคมปีถัดมา พระองค์เสด็จพร้อมพระบิดา (ในหลวง รัชกาลที่ 4) ไปเพื่อทอดพระเนตรสุริยุปราคาเต็มดวง ที่พระบิดาทรงคำนวณได้อย่างถูกต้อง ณ ตำบลหว้ากอ เมืองประจวบคีรีขันธ์ และครั้งนั้นถือเป็นการตามเสด็จเป็นครั้งสุดท้าย หลังจากเสด็จกลับจากตำบลหว้ากอ พระบิดาได้ทรงพระประชวรและเสด็จสวรรคต กระทั่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นครองราชย์ เป็นพระมหากษัตย์รัชกาลที่ 5 แห่งราชวงศ์จักรีในเวลาต่อมา 

ยกเลิกประเพณี ขนบธรรมเนียมโบราณ 

ด้วยพระปรีชาสามารถและสายพระเนตรที่ยาวไกล พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงยกเลิกขนบธรรมเนียมและข้อปฏิบัติต่างๆ 5 อย่าง ที่ทำให้ประเทศสยามเจริญรุ่งเรืองมาจนถึงทุกวันนี้

...

เลิกทาส

"พระราชบัญญัติพิกัดเกษียณลูกทาสลูกไทย" เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2417 แก้พิกัดค่าตัวทาสใหม่ โดยให้ลดค่าตัวทาสลงตั้งแต่อายุ 8 ขวบ จนกระทั่งหมดค่าตัวเมื่ออายุได้ 20 ปี เมื่ออายุได้ 21 ปี ผู้นั้นก็จะเป็นอิสระ มีผลกับทาสที่เกิดตั้งแต่ปี พ.ศ. 2411 เป็นต้นมา และห้ามมิให้มีการซื้อขายบุคคลที่มีอายุมากกว่า 20 ปีเป็นทาสอีก

ใน พ.ศ. 2448 "พระราชบัญญัติเลิกทาส ร.ศ. 124" ให้ลูกทาสทุกคนเป็นไทเมื่อวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2448 ส่วนทาสประเภทอื่นที่มิใช่ทาสในเรือนเบี้ย ทรงให้ลดค่าตัวเดือนละ 4 บาท นับตั้งแต่เดือนเมษายน พ.ศ. 2448 เป็นต้นไป นอกจากนี้ยังมีบทบัญญัติป้องกันมิให้คนที่เป็นไทแล้วกลับไปเป็นทาสอีก และเมื่อทาสจะเปลี่ยนเจ้าเงินใหม่ ห้ามมิให้ขึ้นค่าตัว

เลิกไพร่

เพราะการยกเลิกขนบไพร่เป็นการปลดทุกข์ของราษฎรทุกตำบลทั่วราชอาณาจักร จึงมีความเห็นว่าการยกเลิกขนบไพร่สำคัญยิ่งกว่าการยกเลิกขนบทาส เพราะราษฎรได้รับการส่งเสริมฐานะทางเศรษฐกิจ มีเวลาทำมาหากินได้เต็มที่ โดยขนบไพร่บังคับให้ราษฎรอายุตั้งแต่ 15-16 ปี จนถึง 70 ปี ต้องทำงานรับใช้หรือส่งส่วยให้แก่ชนชั้นปกครอง แบ่งออกเป็นไพร่หลวง ไพร่สมและไพร่ส่วย ไพร่มีกำหนดรับราชการเดือนเว้นเดือน ในสมัยอยุธยา ปีละ 6 เดือน ลดลงมาเหลือปีละ 4 เดือนในสมัยรัชกาลที่ 1 และเหลือ 3 เดือนในรัชกาลที่ 2 หากไม่อยากรับราชการก็ต้องจ่าย "ค่าราชการ" เดือนละ 6 บาท

...

เลิกประเพณีหมอบคลานเข้าเฝ้า

ทรงเลิกประเพณีหมอบคลานเข้าเฝ้ามาเป็น ยืนเฝ้า หรือนั่งเก้าอี้แทน และถวายความเคารพด้วยการคำนับแทนการหมอบกราบ แต่ข้าราชการฝ่ายในยังใช้การเข้าเฝ้าแบบประเพณีหมอบคลานเข้าเฝ้าอยู่ และปัจจุบันยังมีเนื่องจากประชาชนชาวไทยมีความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ ต้องการจะให้เป็นไปตามประเพณีเดิม

เลิกการโกนผมไว้ทุกข์

การโกนผม เป็นการไว้ทุกข์ตามโบราณราชประเพณีเพื่อแสดงความเคารพอาลัย ในอดีตผู้ที่จะโกนผมจะต้องอยู่ในสังกัดมูลนายที่เสียชีวิต ยกเว้นแต่เพียงการสวรรคตของพระมหากษัตริย์เท่านั้นที่ทุกคนต้องโกนผม ดังนั้นการโกนผมไว้ทุกข์ได้ถูกยกเลิกไป เนื่องจากพระราชดำริของพระชนกนาถ (พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว) ไม่ทรงมีพระราชประสงค์สร้างความเดือดร้อนแก่ราษฎรจากธรรมเนียมนี้ในเวลาที่ราษฎรต้องโศกเศร้าเมื่อพระมหากษัตริย์สวรรคต

"ตามโบราณราชประเพณีในเวลาเมื่อพระเจ้าแผ่นดินสวรรคต พระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการราษฎรทั้งหลายต้องโกนผมแทนการไว้ทุกข์ทั่วทั้งพระราชอาณาจักร แต่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกนาถได้มีพระราชดำรัสสั่งไว้ว่า การไว้ทุกข์เช่นที่กล่าวมาแล้วนั้น ย่อมเป็นเครื่องเดือดร้อนอยู่เป็นอันมาก ให้ยกเลิกเสียทีเดียว"

เลิกการปกครองแบบจตุสดมภ์

ทรงได้เห็นความเจริญของประเทศต่างๆ ทั้งในทวีปเอเชียและยุโรป นำสู่การปฏิรูปการปกครองเสียใหม่ ทรงประกาศเลิกการปกครองแบบจตุสดมภ์ เปลี่ยนการบริหารมาเป็นกระทรวงต่างๆ เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2435 โดยจัดแบ่งอำนาจหน้าที่ของแต่ละกระทรวงอย่างชัดเจนไม่ซ้ำซ้อนกัน

โรงพยาบาลศิริราช ที่มาพระราชกรณียกิจด้านการพยาบาลและสาธารณสุข

พระองค์ทรงสร้างโรงพยาบาลเพื่อรักษาประชาชนด้วยวิธีการแพทย์แผนใหม่ เนื่องจากการรักษาแบบเดิมนั้นล้าสมัย ไม่สามารถช่วยคนได้อย่างทันท่วงที ทำให้มีผู้เสียชีวิตมากมายเมื่อเกิดโรคระบาด พระองค์จึงทรงจัดสร้างโรงพยาบาลขึ้นบริเวณริมคลองบางกอกน้อย อันเป็นที่ตั้งของพระราชวังบวรสถานพิมุข หรือวังหลัง ทั้งนี้ยังได้พระราชทานทรัพย์สินส่วนพระองค์จำนวน 16,000 บาท เป็นทุนเริ่มแรกในการสร้างโรงพยาบาล ให้ใช้ชื่อว่า โรงพยาบาลวังหลัง เปิดทำการรักษาแก่ประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2431

ต่อมาพระองค์ได้พระราชทานนามโรงพยาบาลแห่งนี้ใหม่ว่า "โรงพยาบาลศิริราช" เพื่อเป็นการระลึกถึงสมเด็จพระนางเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้าศิริราชกกุธภัณฑ์ พระราชโอรสที่ประสูติในสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนาถ ที่สิ้นพระชนม์ พระชนมายุเพียง 1 ปี 7 เดือน

ทั้งยังได้พระราชทานพระเมรุ พร้อมกับเครื่องใช้ เช่น เตียง เก้าอี้ ตู้ โต๊ะ ฯลฯ ในงานพระศพให้กับโรงพยาบาลเพื่อใช้ประโยชน์ รวมทั้งพระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์ของสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าศิริราชกกุธภัณฑ์ จำนวน 56,000 บาท ให้กับโรงพยาบาลเป็นทุนในการใช้จ่าย

 ไฟฟ้าเป็นพลังงานสำคัญ สร้างคุณประโยชน์แก่ชาติ 

พระองค์ทรงเล็งเห็นว่า ไฟฟ้าเป็นพลังงานที่สำคัญและมีประโยชน์อย่างมาก เพราะทรงได้ทอดพระเนตรกิจการไฟฟ้า และทรงเห็นถึงประโยชน์มหาศาล ในประเทศไทยจึงริเริ่มในการจ่ายกระแสไฟฟ้าขึ้นในปี พ.ศ.2433 โดยในปีเดียวกัน ยังได้ก่อตั้งโรงไฟฟ้าที่วัดเลียบ หรือวัดราชบูรณะ จนกระทั่งถึง พ.ศ. 2436 ไม่นานนักกิจการไฟฟ้าก้าวหน้ายิ่งขึ้น รัฐบาลได้โอนกิจการให้ผู้ชำนาญ คือบริษัทอเมริกัน ชื่อ แบงค็อค อิเลคตริกซิตี้ ซิดิแคท เข้ามาดำเนินงานต่อ 

กระทั่งในปี พ.ศ. 2437 บริษัทเดนมาร์ก ได้เข้ามาตั้งโรงงานผลิตพลังงานไฟฟ้า เพื่อใช้ในการเดินรถราง ที่บริษัทได้รับสัมปทานการเดินรถในเขตพระนคร กระทั่งทั้ง 2 บริษัทร่วมมือกันรับช่วงงานจากกรมหมื่นไวยวรนาถ และก่อตั้งเป็นบริษัทไฟฟ้าสยาม ขึ้นในปี พ.ศ.2444 

กฎหมายล้าหลัง ต่างชาติเอาเปรียบ สู่การจัดตั้งโรงเรียนกฎหมายแห่งแรก

เนื่องจากในสมัยนั้น กฎหมายมีความล้าสมัยอย่างมาก เพราะเริ่มใช้มาตั้งแต่รัชกาลที่ 1 ทำให้ต่างชาติใช้เป็นข้ออ้างในการเอาเปรียบไทยเรื่องการทำสนธิสัญญาเกี่ยวกับการขึ้นศาลตัดสินคดีที่ไม่ให้ชาวต่างชาติขึ้นศาลไทย โดยตั้งศาลกงสุลพิจารณาคดีคนในบังคับต่างชาติเอง แม้ว่าจะมีคดีความกับชาวไทยก็ตาม

พระองค์โปรดเกล้าฯ สร้างประมวลกฎหมายอาญา เพื่อให้ทันสมัยทัดเทียมกับอารยประเทศ ในปี พ.ศ.2440 และได้มีการให้จัดตั้งโรงเรียนกฎหมายแห่งแรกของประเทศไทย เพื่อเป็นสถานที่สำคัญที่ผลิตนักกฎหมายที่มีความรู้ความสามารถ กระทั่งต่อมาในปี พ.ศ.2451 โปรดเกล้าฯ ให้ตรากฎหมายลักษณะอาญา ร.ศ.127 อันเป็นลักษณะกฎหมายอาญาฉบับแรกที่นำขึ้นมาใช้ อีกทั้งยังโปรดเกล้าฯ ให้มีการตั้งกรรมการขึ้นมาชุดหนึ่ง พิจารณาทำกฎหมายประมวลอาญาแผ่นดินและการพาณิชย์ ประมวลกฎหมายว่าด้วยพิจารณาความแพ่ง และพระธรรมนูญแห่งศาลยุติธรรม (แต่ยังไม่ทันสำเร็จดีก็สิ้นรัชกาลเสียก่อน)  เมื่อสร้างประมวลกฎหมายขึ้นมาใช้แล้ว บทลงโทษแบบจารีตดั้งเดิมจึงถูกยกเลิกไปในรัชกาลของพระองค์เอง เพราะมีกฎหมายใหม่เป็นบทลงโทษ ที่เป็นหลักการพิจารณาที่ดีและทันสมัยกว่าเดิมด้วย

"โรงเรียนวัดมหรรณพาราม" โรงเรียนหลวงแห่งแรก 

พระองค์ทรงสนพระราชหฤทัยในการศึกษารูปแบบใหม่ และจัดตั้งให้มีการตั้งโรงเรียนขึ้นเพื่อให้ประชาชนได้รับการศึกษา เนื่องจากการศึกษาสมัยนั้นส่วนใหญ่ยังศึกษาอยู่ในวัด เมื่อมีการสร้างโรงเรียนและการศึกษาเจริญก้าวหน้าขึ้นเท่ากับเป็นการบ่งบอกถึงความเจริญทางด้านวัฒนธรรมอย่างหนึ่ง จึงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างโรงเรียนหลวงแห่งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2444

และโปรดเกล้าฯ ให้มีการสอบไล่สามัญศึกษาขึ้นอีกด้วย เพื่อเป็นการทดสอบความรู้ที่ได้ศึกษาเล่าเรียนมา นอกจากนี้พระองค์ยังโปรดเกล้าฯ ให้จัดสร้างโรงเรียนหลวงขึ้นอีกหลายแห่ง กระจัดกระจายไปตามวัดต่าง ๆ ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค โรงเรียนหลวงแห่งแรกที่สร้างขึ้นในวัด คือ โรงเรียนวัดมหรรณพาราม โรงเรียนหลวงที่ตั้งขึ้นมานี้เพื่อให้บุตรหลานของประชาชนทั่วไปได้มีโอกาสศึกษาหาความรู้กัน

การศึกษาขยายตัวเจริญขึ้นตามลำดับด้วยความสนใจของประชาชนที่ต้องการมีความรู้มากขึ้น จึงโปรดเกล้าฯ ให้โอนโรงเรียนเหล่านี้อยู่ภายใต้การควบคุมของกระทรวงศึกษาธิการ มีการพิมพ์ตำราพระราชทาน เพื่อเป็นตำราในการเรียนการสอนด้วย

ผลิตธนบัตรรุ่นแรกออกมา 5 ชนิด 

ในปี พ.ศ. 2417 ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ทำธนบัตรขึ้นเรียกว่า "อัฐ" เป็นกระดาษมีมูลค่าเท่ากับเหรียญทองแดง 1 อัฐ แต่ใช้ได้เพียง 1 ปีก็เลิกไป เพราะประชาชนไม่นิยมใช้ ต่อมาทรงตั้งกรมธนบัตรขึ้นมา เพื่อจัดทำเป็นตั๋วสัญญาขึ้นใช้แทนเงินกรมธนบัตรได้เริ่มใช้ตั๋วสัญญาเมื่อวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2445 เป็นครั้งแรก เนื่องในโอกาสเฉลิมพระชนมพรรษาของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

ในปี พ.ศ. 2441 ได้มีการผลิตธนบัตรรุ่นแรกออกมา 5 ชนิด คือ 1,000 บาท 100 บาท 20 บาท 10 บาท 5 บาท ภายหลังมีธนบัตรใบละ 1 บาท ออกมาด้วย รวมถึงพระองค์โปรดเกล้าฯ ให้กำหนดหน่วยเงินตรา โดยให้หน่วยทศนิยมเรียกว่า สตางค์ กำหนดให้ 100 สตางค์ เท่ากับ 1 บาท พร้อมกับผลิตเหรียญสตางค์ขึ้นมาใช้เป็นครั้งแรกเรียกว่าเบี้ยสตางค์ มีอยู่ด้วยกัน 5 ชนิด คือ ราคา 20 สตางค์ 10 สตางค์ 4 สตางค์ 2 สตางค์ครึ่ง ใช้ปนกับเหรียญเสี้ยว และอัฐ

พ.ศ.2451 ทรงออกประกาศยกเลิกใช้เงินพดด้วงและทรงออกพระราชบัญญัติมาตราทองคำ ร.ศ.127 ประกาศใช้เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ.2451 ว่าด้วยเรื่องให้ใช้แร่ทองคำเป็นมาตรฐานเงินตราแทนแร่เงิน เพื่อให้เสถียรภาพเงินตราของไทยสอดคล้องกับหลักสากล และในปีต่อมาทรงออกประกาศเลิกใช้เหรียญเฟื้อง และเบี้ยทองแดง

สร้างทางรถไฟจากกรุงเทพฯ - เชียงใหม่

ในปี พ.ศ. 2431 โปรดเกล้าฯ ให้คณะเสนาบดีและกรมโยธาธิการสำรวจเส้นทาง เพื่อวางรากฐานการสร้างทางรถไฟจากกรุงเทพฯ - เชียงใหม่ มีการวางแผนให้ทางรถไฟสายนี้ตัดเข้าเมืองใหญ่ๆ ในบริเวณภาคกลางของประเทศแล้วแยกเป็นชุมสายตัดเข้าสู่จังหวัดใหญ่ทางแถบภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เนื่องจากเป็นหัวลำโพงเมืองที่เป็นศูนย์กลางธุรกิจการค้า

การสำรวจเส้นทางในการวางเส้นทางรถไฟนี้เสร็จสิ้นเมื่อปี พ.ศ.2434 และในวันที่ 9 มีนาคม พ.ศ.2434 พระองค์ได้เสด็จพระราชดำเนินทรงขุดดินก่อพระฤกษ์ เพื่อสร้างทางรถไฟครั้งแรกที่เกิดขึ้นในประเทศไทย โดยโปรดเกล้าฯ ให้ทางรถไฟสายนี้เป็นรถไฟหลวงแห่งแรกของไทย

ไปรษณีย์ไทย สู่อนาคตการเชื่อมต่อ 

พระองค์โปรดเกล้าฯ ให้กระทรวงกลาโหมดำเนินการก่อสร้างวางสายโทรเลขสำหรับสายโทรเลขสายแรกของประเทศเริ่มก่อสร้างในปี พ.ศ.2418 จากกรุงเทพฯ - สมุทรปราการ ระยะทาง 55 กิโลเมตร และได้วางสายใต้น้ำต่อยาวออกไปจนถึงประภาคารที่ปากแม่น้ำเจ้าพระยาสำหรับบอกข่าวเรือเข้า - ออก ต่อมาได้วางสายโทรเลขขึ้นอีกสายหนึ่งจากกรุงเทพฯ - บางปะอิน และขยายไปอย่างทั่วถึง

กิจการไปรษณีย์ จัดตั้งขึ้นเป็นครั้งแรกในวันที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ.2424 มีที่ทำการเรียกว่าไปรษณีย์อาคาร ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา และเปิดดำเนินการอย่างเป็นทางการครั้งแรกในวันที่ 4 สิงหาคม พ.ศ.2426 หลังจากนั้นจึงโปรดเกล้าฯ ให้กรมโทรเลขรวมเข้ากับกรมไปรษณีย์ชื่อว่า กรมไปรษณีย์โทรเลข ทดลองใช้เป็นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2424 จากกรุงเทพฯ - สมุทรปราการ ได้นำโทรศัพท์อันเป็นวิทยาการในการสื่อสารที่ทันสมัยเข้ามาทดลองใช้เป็นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2424 จากกรุงเทพฯ - สมุทรปราการ เพื่อแจ้งข่าวเรือเข้า - ออกที่ปากน้ำ ต่อมากรมโทรเลขได้มารับช่วงต่อในการวางสายโทรศัพท์ภายในกรุงเทพฯ ซึ่งใช้เวลา 3 ปีจึงแล้วเสร็จพร้อมเปิดให้บริการกับประชาชน และพัฒนามาจนกระทั่งทุกวันนี้

ส่งเสริมการศึกษาพระราชโอรสเพื่อทำงานของบ้านเมือง

ในพระราชประวัติระบุว่า ในหลวง รัชกาลที่ 5 มีพระราชสันตติวงศ์ (ลูกๆ) หลายพระองค์ และทรงส่งเสริมเอาพระราชหฤทัยใส่ในการศึกษาของทุกๆ คน โดยเฉพาะ เมื่อบรรดาพระเจ้าลูกยาเธอทั้ง 19 พระองค์ ได้ถูกส่งไปศึกษาวิชาการในต่างประเทศ กระทั่งได้สําเร็จกลับมารับราชการ จากนั้นก็ทรงแยกย้ายกันรับใช้บ้านเมืองอย่างเต็มพระสติกําลังและความสามารถ 

1. พระองค์เจ้ากิติยากรวรลักษณ์ กรมพระจันทบุรีนฤนาถ (พ.ศ. 2417-74) ทรงศึกษาวิชาเศรษฐกิจการคลังที่อังกฤษ (น่าจะเป็นที่มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์) กลับมารับราชการในตําแหน่งเสนาบดี กระทรวงพระคลังฯ และเสนาบดีกระทรวงพาณิชย์, อีกทั้งทรงเป็นนายกแห่งสภาการคลัง และเป็นประธานอภิรัฐมนตรี (ในรัชกาลที่ 7)

2. พระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ (พ.ศ. 2417-63) ทรงศึกษาวิชากฎหมายที่มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด ประเทศอังกฤษ และได้รับปริญญา บี.เอ. กลับมารับราชการ ในตําแหน่งเสนาบดีกระทรวงยุติธรรม และเสนาบดีกระทรวงเกษตราธิการ

3. พระองค์เจ้าประวิตรวัฒโนดม กรมหลวงปราจิณกิติบดี (พ.ศ.2418-62) ทรงศึกษา (น่าจะเป็นทางอักษรศาสตร์) ที่อังกฤษ และฝรั่งเศส กลับมารับราชการในตําแหน่งราชเลขานุการฝ่ายต่างประเทศ และเสนาบดีตําแหน่งราชเลขาธิการ

4. พระองค์เจ้าจิรประวัติวรเดช กรมหลวงนครไชยศรีสุรเดช (พ.ศ. 2419-56) ทรงศึกษาวิชาสามัญในอังกฤษและศึกษาวิชาทหารบกในประเทศเดนมาร์ก กลับมารับราชการในตําแหน่งเสนาบดีกระทรวงกลาโหม และดํารงพระยศเป็นจอมพล

5. พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ กรมหลวงชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ (พ.ศ. 2423-66) ทรงศึกษาวิชาทหารเรือที่อังกฤษ และกลับมารับราชการในกองทัพเรือ ได้รับยศเป็นพลเรือเอก ตําแหน่งเสนาธิการทหารเรือและเสนาบดีกระทรวงทหารเรือ

6. สมเด็จเจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ คือพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (พ.ศ.2424-68) ทรงศึกษาวิชาทหารบกที่นายร้อยแซนด์เฮิร์สต์และวิชาประวัติศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด ประเทศอังกฤษ

7. สมเด็จเจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต (พ.ศ. 2424-87) ทรงศึกษาวิชาสามัญที่อังกฤษ แล้วไป ศึกษาวิชาทหารบกที่เยอรมนี กลับมารับราชการ ได้รับพระราชทาน ยศเป็นจอมพลเรือ และจอมพล ดํารงตําแหน่งเสนาบดีกระทรวง ทหารเรือ, เสนาธิการทหารบก, เสนาบดีกระทรวงกลาโหม และเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย

8. พระองค์เจ้าบุรฉัตรไชยากร กรมพระกําแพงเพ็ชรอัครโยธิน (พ.ศ. 2425-97) ทรงศึกษาที่โรงเรียนมัธยมแฮร์โรว์และมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ก่อนที่จะศึกษาวิชาทหารช่างในอังกฤษ เมื่อกลับมารับราชการได้ทรงดํารงตําแหน่งแม่ทัพน้อย, จเรทหารช่าง, ผู้บัญชาการกรมรถไฟหลวง และเสนาบดีกระทรวงพาณิชย์และคมนาคม ทรงได้รับยศพลเอก

9. พระองค์เจ้าเพ็ญพัฒนพงศ์ กรมหมื่นพิไชยมหินทโรดม (พ.ศ. 2425-52) ทรงศึกษาในประเทศอังกฤษ และกลับมารับราชการเป็นผู้ช่วยปลัดทูลฉลอง กระทรวงเกษตราธิการ.

10. สมเด็จเจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ (พ.ศ. 2426-2463) ทรงศึกษาวิชาสามัญในประเทศอังกฤษ แล้วไปศึกษาวิชาทหารบกที่ประเทศรัสเซีย กลับมารับราชการในตําแหน่งเสนาธิการทหารบก ได้รับยศเป็นจอมพล,

11. สมเด็จเจ้าฟ้ายุคลฑิฆัมพร กรมหลวงลพบุรีราเมศวร์ (พ.ศ. 2426-75) ทรงศึกษาที่โรงเรียนมัธยมแฮร์โรว์ และสําเร็จ ได้รับปริญญา บี.เอ. จากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ในประเทศอังกฤษ กลับมารับราชการในตําแหน่งอุปราชมณฑลปักษ์ใต้ และเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย

12. พระองค์เจ้าวุฒิไชยเฉลิมลาภ กรมหลวงสิงหวิกรมเกรียงไกร (พ.ศ. 2426-90) ทรงศึกษาวิชาทหารเรือ ณ ประเทศอังกฤษ กลับมารับราชการในกองทัพเรือ ได้รับยศเป็นพลเรือเอก ตําแหน่ง เสนาธิการทหารเรือ และเสนาบดีกระทรวงกลาโหม

13. พระองค์เจ้าดิลกนพรัฐ กรมหมื่นสรรควิสัยนรบดี (พ.ศ.2427-55) ทรงศึกษาวิชาสามัญที่อังกฤษ ก่อนที่จะเสด็จไปศึกษาต่อที่เยอรมนี จนกระทั่งสําเร็จจากมหาวิทยาลัยทึบบิงเงน ได้รับปริญญาดุษฎีบัณฑิตทางเศรษฐศาสตร์ “ดอกเตอร์วิทสตาตส์ วิส เจนจัฟท์” กลับมารับราชการในตําแหน่งเจ้ากรมพลําภัง (กรมการปกครอง) กระทรวงมหาดไทย

14. พระองค์เจ้าสุริยงประยุรพันธ์ กรมหมื่นไชยาศรีสุริโยภาส (พ.ศ. 2427-63) ทรงศึกษา ณ มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ประเทศอังกฤษ กลับมารับราชการในตําแหน่งอธิบดีโรงกระษาปณ์ฯ, ผู้ตรวจการกรมศิลปากร, และผู้ช่วยปลัดทูลฉลองกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ

15. พระองค์เจ้ารังสิตประยุรศักดิ์ สมเด็จกรมพระยาชัยนาทนเรนทร (พ.ศ.2424-94) ทรงศึกษาวิชาสามัญในอังกฤษ และเยอรมนี และต่อมาได้ศึกษาวิชาครู ณ มหาวิทยาลัยไฮเต็ลแบร์ก เยอรมนี เมื่อสําเร็จการศึกษาได้กลับมารับราชการในตําแหน่งอธิบดี กรมสาธารณสุข อธิบดีกรมมหาวิทยาลัย, ผู้ช่วยปลัดทูลฉลอง กระทรวงธรรมการ, ประธานคณะผู้สําเร็จราชการแทนพระองค์, ผู้สําเร็จราชการแทนพระองค์, และประธานองคมนตรี

16. สมเด็จเจ้าฟ้าอัษฎางค์เดชาวุธ กรมหลวงนครราชสีมา (พ.ศ.2432-64) ทรงศึกษาวิชาทหารที่อังกฤษระยะสั้น และกลับมารับราชการตําแหน่งผู้บัญชาการกองพล ยศพลตรี แล้วไปดํารงตําแหน่งผู้สําเร็จราชการกระทรวงทหารเรือ ยศพลเรือเอก

17. สมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลอดุลยเดช กรมหลวงสงขลานครินทร (สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก) (พ.ศ. 2434-72) ทรงศึกษาวิชาสามัญที่โรงเรียนมัธยมแฮร์โรว์ ในอังกฤษ แล้วเสด็จไปศึกษาวิชาทหารบกและวิชาทหารเรือที่เยอรมนี และต่อมาได้ไปศึกษาวิชาสาธารณสุขศาสตร์และวิชาแพทยศาสตร์ ณ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด สหรัฐอเมริกา

23 ตุลาคม พ.ศ. 2453 เสด็จสวรรคต 

เมื่อวันที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2453 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคตด้วยโรคพระวักกะ (ไต) เวลา 2.45 นาฬิกา ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต สิริพระชนพรรษาได้ 57 พรรษา แพทย์วิบูล วิจิตรวาทการ นักเขียนเชิงประวัติศาสตร์ ได้ให้ความเห็นระบุโรคที่เป็นไปได้ คือ โรคนิ่วในไต, โรคไตอักเสบ จากการติดเชื้อ และโรคไตชนิด Chronic Glomerulonephritis อันเกิดจากต่อมทอนซิลอักเสบฉับพลัน อย่างไรก็ตาม ไม่สามารถระบุได้ชัดเจนว่าเป็นโรคไตชนิดใด

ก่อนสวรรคตเคยมีพระราชกระแสรับสั่ง ในพระราชหัตถเลขาว่า ให้ยกเลิกการพระเมรุใหญ่เสีย ปลูกแต่ที่เผาพอสมควรในท้องสนามหลวงแล้วแต่จะเห็นสมควร พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเคารพต่อพระราชประสงค์ จึงโปรดให้จัดการตามพระราชดำรินั้น ทั้งนี้ รัฐบาลไทยได้จัดให้วันที่ 23 ตุลาคม ของทุกปี เป็นวันปิยมหาราชและเป็นวันหยุดราชการ

วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม ราชวรวิหาร วัดประจำรัชกาลที่ 5

วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม เป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดราชวรวิหาร ที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 โปรดให้สร้างขึ้นเพื่อเป็นวัดประจำรัชกาลของพระองค์ เมื่อ พ.ศ.2412 และนับเป็นพระอารามหลวงสุดท้าย ที่พระมหากษัตริย์ทรงสร้างตามโบราณราชประเพณีที่มีการสร้างวัดประจำรัชกาล และเมื่อสร้างแล้วเสร็จในปี พ.ศ.2413 ได้นิมนต์พระสงฆ์จากวัดโสมนัสวรวิหารมาจำพรรษา พร้อมกับอัญเชิญพระพุทธนิรันตรายมาประดิษฐานไว้ในพระอุโบสถ

ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามว่า "วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม" หมายถึง วัดที่พระมหากษัตริย์ทรงสร้าง มีมหาสีมาอันเป็นเสาศิลาจำหลักยอดเป็นรูปเสมาธรรมจักร 8 เสา ตั้งเป็นสีมาที่กำแพง 8 ทิศ มีพระมหาเจดีย์เป็นศูนย์กลางของวัด ส่วนพระอุโบสถ พระวิหารตั้งอยู่รอบข้าง เชื่อมถึงกันด้วยระเบียงคดรอบพระเจดีย์ ทุกอาคารประดับด้วยกระเบื้องเคลือบเบญจรงค์ ภายในพระอุโบสถและพระวิหารประดับตกแต่งตามแบบสถาปัตยกรรมแบบไทยผสมตะวันตก

ที่มาพระบรมรูปทรงม้า 

จากข้อมูลหลักฐานทางประวัติศาสตร์ จารึกไว้ว่า ที่มาของ "พระบรมรูปทรงม้า” พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ได้เสด็จฯ ไปตกลงและเลือกชนิดโลหะด้วยพระองค์เอง อีกทั้งยังเสด็จไปประทับเป็นแบบให้นายช่างปั้นหุ่น ขณะเสด็จประทับอยู่ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ซึ่งพระรูปมีขนาดโตเท่าพระองค์จริง เสด็จประทับอยู่บนหลังม้าพระที่นั่ง โดยม้าพระที่นั่งนั้นมิใช่ปั้นจากแบบม้าพระที่นั่งจริง แต่เป็นม้าที่บริษัทได้ปั้นเป็นแบบเตรียมไว้เรียบร้อยแล้ว

อย่างไรก็ตาม พระองค์เสด็จประทับ ให้ช่างปั้นชื่อ จอร์จ เซาโล (Georges Saulo) ปั้น เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2450 พระบรมรูปสำเร็จเรียบร้อยส่งเข้ามาถึงกรุงเทพฯ เมื่อวันพุธที่ 11 พฤศจิกายน 2451 อันเป็นเวลาพอดีกับงานพระราชพิธีรัชมังคลาภิเษก เนื่องในโอกาสเถลิงถวัลยราชสมบัติ 40 ปี เจ้าพนักงานได้อัญเชิญพระบรมรูปทรงม้าขึ้นประดิษฐานบนแท่นรองหน้าพระราชวังดุสิต โดยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จไปทรงทำพิธีเปิดด้วยพระองค์เอง

พระบรมรูปทรงม้าหล่อด้วยโลหะทองบรอนซ์ ยึดติดกับแท่นทองบรอนซ์ เป็นที่ม้ายืน หนาประมาณ 25 เซนติเมตร ประดิษฐานบนแท่นรอง ทำด้วยหินอ่อน สูง 6 เมตร กว้าง 2 เมตร ยาว 5 เมตร ห่างจากฐานของแท่นออกมา มีโซ่ขึงล้อมรอบกว้าง 9 เมตร ยาว 11 เมตร ตรงฐานด้านขวามีอักษรโรมัน ภาษาฝรั่งเศสจารึกชื่อช่างปั้นและช่างหล่อไว้ว่า C.MASSON SEULP 1908 และ G.Paupg Statuare และด้านซ้ายเป็นชื่อบริษัทที่ทำการหล่อพระบรมรูปทรงม้าว่า SUSSE Fres FONDEURS. PARIS สำหรับแท่นศิลาอ่อนด้านหน้า มีแผ่นโลหะจารึกอักษรไทย ติดประดับแสดงพระบรมราชประวัติและพระเกียรติคุณ ลงท้ายด้วยคำถวายพระพรให้ทรงดำรงราชสมบัติอยู่ยืนนาน

**พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นผู้นำราชอาณาจักรสยามสู่ความก้าวหน้า พัฒนาบ้านเมืองผสมผสาน เปิดรับปรับใช้วัฒนธรรมตะวันตกสร้างความเจริญรุ่งเรือง เรียกได้ว่าเป็นการพลิกแผ่นดินให้เจริญขึ้น ประชาชนมีกินมีใช้ สร้างโบราณสถานมากมายที่กลายเป็นมรดกตกทอดมาให้ลูกหลานไทยได้หวนนึกถึงพระบารมีแผ่ไพศาลในอดีตมาจนปัจจุบัน ก่อนจะส่งมอบประเทศชาติ และประชาชนอันเป็นที่รักยิ่งของพระองค์ ให้กับ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ในหลวงรัชกาลที่ 6 ทายาทโดยสายเลือดได้ดูแลสืบต่อไป ทีมข่าวเจาะประเด็นไทยรัฐออนไลน์ จะได้นำเสนอเรื่องราวของรัชกาลที่ 6 ในตอนหน้า 

เรื่องราวที่เกี่ยวข้อง

(ขอบพระคุณข้อมูลจาก สำนักราชเลขาธิการ สำนักราชวัง, ศิลปวัฒธรรม , chaoprayanews, วิกิพีเดีย)