จากกรณีแอร์โฮสเตสสาววัย 25 ปี เสียชีวิตด้วยโรคไข้เลือดออก โดยผู้ใกล้ชิดของผู้เสียชีวิต ระบุว่า เวลาเพียงสามวัน ไข้เลือดออกได้พรากชีวิตน้องแนน ลูกสาวอดีตกำนันตำบลกลางเวียง จ.น่าน ไปอย่างไม่มีวันกลับ ซึ่งเวลา 3 วัน เชื้อได้เข้าสู่กระแสเลือด ติดเชื้อ อวัยวะภายในถูกทำลาย และห้องแอร์มิใช่ว่าจะปลอดภัยเสมอไป

ล่าสุด ทีมข่าวเจาะประเด็นไทยรัฐออนไลน์ มีโอกาสพูดคุยกับ นพ.ธนรักษ์ ผลิพัฒน์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค และ นพ.ธนรักษ์ ได้ให้ความรู้เกี่ยวกับ “ไข้เลือดออก” ไว้อย่างน่าสนใจ ทีมข่าวไล่เรียงให้อ่านง่ายๆ ดังต่อไปนี้

  • สาเหตุที่ผู้ป่วยจะมีอาการรุนแรง และเสียชีวิตด้วยโรคไข้เลือดออกนั้น มักมาจากปัจจัยสำคัญ 2 ประการ คือ
    1. ช่วงที่ 3-5 วัน หลังไข้ลง จะเป็นช่วงที่วิกฤติที่สุด เพราะเลือดมีความเข้มข้นมากขึ้น (มีการรั่วของพลาสมาออกจากหลอดเลือด) จึงมีความเสี่ยงที่คนไข้จะเกิดอาการช็อก และเสียชีวิตได้
    2. เกล็ดเลือดต่ำ ทำให้เลือดออก ซึ่งในช่วงนี้ หากมีบาดแผลตามร่างกาย จะทำให้เลือดหยุดไหลค่อนข้างยาก
    3. เมื่อพบว่าเลือดมีความเข้มข้นมากขึ้น ต้องรีบให้น้ำเกลืออย่างรวดเร็ว ในบางรายอาจให้นำ้เกลือไม่ทัน หากให้นำ้เกลือไม่ทันคนไข้มีโอกาสที่จะเกิดภาวะแทรกซ้อน และถึงขั้นเสียชีวิต

หมายเหตุ : อย่างไรก็ดี การให้น้ำเกลือจะต้องให้ในปริมาณที่พอเหมาะ และอยู่ในการควบคุมดูแลจากแพทย์ เพราะการได้รับน้ำเกลือมากเกินไปอาจจะเกิดน้ำท่วมปอด

...

  • อาการ
    - ผู้ป่วยโรคไข้เลือดออก จะมีอาการคล้ายไข้หวัดทั่วไป-ในระยะแรกจะเป็นไข้สูงประมาณ 3 วัน
    - เบื่ออาหาร
    - ส่วนมากไม่มีน้ำมูก ไม่ไอ อาจมีจุดเลือดออกเล็ก ๆ กระจายตามแขน ขา และลำตัว
    - หาก 2 วันแล้วอาการไม่ดีขึ้น มีไข้สูง อ่อนเพลีย ซึมลง ไข้ลด แต่อาการแย่ลง ให้รีบพบแพทย์ที่โรงพยาบาลใกล้บ้านทันที
    หมายเหตุ : ห้ามใช้ยาแอสไพรินและยาแก้ปวดลดไข้กลุ่มเอ็นเสด

“การติดเชื้อที่ทำให้อาการรุนแรง คือ การติดเชื้อครั้งหลัง หรือเป็นไข้เลือดออกครั้งที่ 2 เนื่องจากการติดเชื้อครั้งแรก ร่างกายของเราจะมีภูมิต้านทาน แต่ภูมิต้านทานสามารถป้องกันได้เพียงสายพันธุ์ที่เคยติดมาแล้ว เมื่อสายพันธุ์อื่นเข้ามาสู่ร่างกาย จะไปกระตุ้นทำให้เกิดอาการรุนแรงขึ้น” นพ.ธนรักษ์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าว

...

  • การป้องกัน
    - พยายามอย่าให้ผู้ป่วยไข้เลือดออกที่กลับมาพักฟื้นที่บ้าน โดนยุงกัดในระยะเวลา 5 วันแรก เพราะระยะนี้ผู้ป่วยจะยังมีเชื้อไวรัสไข้เลือดออกหลงเหลืออยู่ หากผู้ป่วยถูกยุงกัด เชื้อจะติดไปกับยุงและอาจแพร่กระจายสู่คนในบ้านได้
    - ทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย
    - เก็บกวาดบ้านให้สะอาด โปร่ง โล่ง ไม่ให้มีมุมอับเป็นที่พักของยุง
    - ฉีดยากันยุง หรือพ่นยากันยุง ก็สามารถช่วยระงับการแพร่กระจายของเชื้อไข้เลือดออกได้.