เมื่อรัชกาลที่ 3 พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จสวรรคต เมื่อ 2 เมษายน พ.ศ.2394 รวมพระชนมายุได้ 64 พรรษา ดำรงอยู่ในราชสมบัติ 27 ปี เนื่องจากมีอาการป่วยมาต่อเนื่อง ถึงเวลาที่ "พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว" รัชกาลที่ 4 (น้องชายรัชกาลที่ 3 ลูกชายรัชกาลที่ 2) ขึ้นครองราชย์ เมื่อวันที่ 4 เมษายน พุทธศักราช 2394 เรียกขานในหมู่ชาวต่างชาติว่า "คิงมงกุฎ" ขณะที่พระองค์ขึ้นเสวย สิริราชสมบัตินั้น พระชนมายุ 37 พรรษา  

ทีมข่าวเจาะประเด็นไทยรัฐออนไลน์ เรียบเรียงเรื่องราวมาถึงยุคสมัยของ "พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว" รัชกาลที่ 4 ทรงขึ้นครองราชย์ปกครองประเทศ  รัชกาลที่ 4 เป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 กับสมเด็จพระศรีสุริเยนทรา บรมราชินี กับเรื่องราวคุณงามความดีที่พระองค์ได้ก่อร่างสร้างชาติบ้านเมืองให้เป็นปึกแผ่น รักษาประเทศชาติส่งต่อมายังลูกหลานให้ได้มีผืนแผ่นดินอยู่จวบจนทุกวันนี้ 

เรื่องราวที่เกี่ยวข้อง

...

"คิงมงกุฎ" ขึ้นเสวยสิริราชสมบัติ 

รัชกาลที่ 4 ประสูติเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 18 ตุลาคม พ.ศ.2347 ตรงกับปีชวด มีพระนามเดิมว่า มีพระนามเดิมว่า "เจ้าฟ้ามงกุฎ" เสด็จพระราชสมภพ ณ พระราชวังเดิม ขณะนั้นพระราชบิดายังดำรงพระยศเป็นเจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร เมื่อทรงพระเยาว์ได้ทรงศึกษาอักขระสมัยกับสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ เมื่อพระชนมายุได้ 9 พรรษา ได้รับสถาปนาเป็นเจ้าฟ้ามงกุฎ มีพระราชอนุชาร่วมพระราชมารดา คือ เจ้าฟ้าจุธามณี ซึ่งต่อมาเจ้าฟ้าจุธามณี ได้รับสถาปนาเป็น "พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว" (ทำให้หลายคนเข้าใจกันว่า ในยุครัชกาลที่ 4 เรามีพระมหากษัตริย์ถึง 2 พระองค์) 

เมื่อพระชนมายุได้ 9 พรรษา สมเด็จพระบรมชนกนาถก็โปรดฯให้มีการพระราชพิธีลงสรง (พ.ศ.2355) เป็นครั้งแรกที่กระทําขึ้นในกรุงรัตนโกสินทร์ ได้รับพระราชทานนามจารึกในพระสุพรรณบัฏว่า "สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้ามงกุฎสมมุติเทววงศ์พงศ์อิสรค์กษัตริย์ ขัตติยราชกุมาร" "สมเด็จเจ้าฟ้ามงกุฎฯ" ได้เสด็จขึ้นครองราชย์เมื่อวันที่ 4 เมษายน พุทธศักราช 2394 ทรงพระนามว่า "พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว" เรียกขานในหมู่ชาวต่างชาติว่า "คิงมงกุฎ"

ทำไมคนไทยเข้าใจว่า รัชกาลที่ 4 มีพระเจ้าอยู่หัว 2 พระองค์ 

อย่างที่เกริ่นไว้ข้างต้น เมื่อรัชกาลที่ 4 ได้เสด็จขึ้นครองราชย์แล้ว ยังโปรดเกล้าฯ สถาปนาสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอเจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์ (พระนามเดิมเจ้าฟ้าจุธามณี โอรสองค์ที่ 50 ของสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย) ขึ้นเป็น "สมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว" ทรงมีฐานะเสมือนพระเจ้าแผ่นดินอีกพระองค์หนึ่ง เนื่องจากพระองค์ทรงมีพระอัจฉริยภาพในหลายๆ ด้าน ที่จะขึ้นปกครองประเทศเคียงข้างกันไป  

เมื่อพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ใกล้สวรรคต เจ้าพระยาพระคลัง (ดิศ บุนนาค) เดินทางไปเข้าเฝ้าฯสมเด็จเจ้าฟ้ามงกุฎซึ่งทรงผนวชอยู่วัดบวรนิเวศวิหาร กราบทูลว่าจะเชิญเสด็จขึ้นครองราชย์ สมเด็จเจ้าฟ้ามงกุฎตรัสว่า ท่านฟากข้างโน้น (หมายถึงเจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์) มีพระชะตาแรงต้องเป็นพระเจ้าแผ่นดิน ให้ถวายราชสมบัติแก่ท่านนั้นด้วย เพราะหากพระองค์รับราชสมบัติเพียงพระองค์เดียวจะดูไม่ดีนัก และไม่ต้องการที่จะไปกีดกันบารมีของสมเด็จพระอนุชา ถ้ามีพระเจ้าแผ่นดินสองพระองค์เหมือนอย่างสมเด็จพระนเรศวรสถาปนาสมเด็จพระเอกาทศรถเป็นพระเจ้าแผ่นดินด้วยก็จะพ้นจากอัปมงคล

เจ้าพระยาพระคลังจึงไปเข้าเฝ้าเจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์ ณ พระราชวังเดิมตามรับสั่ง เมื่อพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 เสด็จสวรรคต ในขณะนั้นสมเด็จพระอนุชาธิราชเจ้าทั้ง 2 พระองค์ได้เสด็จยังพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เหล่าขุนนางมาประชุมพร้อมกันแล้วกราบทูลเชิญทั้งสองพระองค์เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ 

ต่อมา "พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว" จึงมีพระราชดำริว่า สมเด็จพระอนุชาธิราช เจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์ ก็ทรงพระปรีชารอบรู้กิจการ มีผู้ใหญ่ผู้น้อยนิยมนับถือมาก สมควรที่จะพระราชทานยศใหญ่กว่ากรมพระราชวังบวรสถานมงคลแต่ก่อน จึงสถาปนาเป็นเจ้าฟ้ามงกุฎ มีพระราชอนุชาร่วมพระราชมารดา คือ เจ้าฟ้าจุธามณี ซึ่งต่อมาเจ้าฟ้าจุธามณีได้รับสถาปนาเป็น "พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว" ซึ่งทีมข่าวเจาะประเด็นไทยรัฐออนไลน์ จะมาติดตามเรื่องราวของ พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ในตอนต่อไป

...

รัชกาลที่ 4 ทรงพอพระราชหฤทัย ขอครองผ้ากาสาวพัสตร์ 24 ปี

เมื่อครั้งรัชกาลที่ 4 ทรงเจริญพระชนมายุได้ 9 ชันษา สมเด็จพระบรมชนกนาถ (รัชกาลที่ 2 ซึ่งเป็นพระบิดา) โปรดให้ตั้งการพระราชพิธีลงสรงตั้งพระนามเป็น "สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้ามงกุฎสมมติวงศ์ฯ" ทรงศึกษาวิชาสำหรับขัตติยะราชกุมาร เช่น อักษรสยาม วิชาคชกรรม และการใช้อาวุธทั้งปวง กระทั่งเมื่อมีพระชนมายุ 13 พรรษา โปรดให้ตั้งการพระราชพิธีโสกันต์ แล้วทรงบรรพชาเป็นสามเณร ต่อมาในพุทธศักราช 2367 โปรดให้อุปสมบท ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม เสด็จจำพรรษา ณ วัดสมอราย ได้เพียง 15 วัน สมเด็จพระบรมชนกนาถ เสด็จสวรรคต พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระบรมเชษฐาธิราช เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ เป็น พระมหากษัตริย์ รัชกาลที่ 3 แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ เจ้าฟ้าพระมงกุฎ จึงพอพระราชหฤทัยที่จะขอครองผ้ากาสาวพัสตร์ตลอดจนสิ้นรัชกาลที่ 3

พระอุตสาหะศึกษาพระพุทธวจนะ ทรงพบหลักฐานทางประวัติศาสตร์

ในปีพุทธศักราช 2368 พระองค์ทรงตั้งพระราชหฤทัยเรื่องพระพุทธศาสนาที่จะศึกษาให้รอบรู้อย่างถ่องแท้ ซึ่งเป็นรากฐานในการนำพาประเทศชาติสู่ความเจริญรุ่งเรือง ทัดเทียมอารยประเทศ ช่วงเวลาที่ทรงอยู่ในสมณเพศ ทรงพระอุตสาหะศึกษาพระพุทธวจนะ พระปริยัติธรรมจนแตกฉาน ทรงเสด็จจาริกไปนมัสการเจดียสถานที่รกร้างอยู่ในบ้านเมืองโบราณ ทรงพบหลักฐานทางประวัติศาสตร์และโบราณคดี นั้นคือ "พระแท่นมนังคศิลา และจารึกสุโขทัย 2 หลัก"

...

ทรงพากเพียรอ่านจนได้ความรู้เรื่องกรุงสุโขทัย และการประดิษฐ์อักษรไทย ตัวเลขไทย ซึ่งมีมานานกว่า 700 ปี และสิ่งซึ่งเป็นประโยชน์แก่ราชการบ้านเมืองเป็นอย่างยิ่ง คือ "ทรงมีโอกาสได้ทอดพระเนตรชีวิตความเป็นอยู่ของราษฎรด้วยพระองค์เอง" อีกทั้งยังทรงเอาพระทัยใส่ศึกษาภาษาต่างประเทศ และศิลปะวิทยาการสมัยใหม่ที่เกิดขึ้นในโลกตะวันตก โดยเฉพาะวิชาดาราศาสตร์ กล่าวได้ว่าการที่ทรงพากเพียรเรียนรู้ทั้งทางโลกและทางธรรมอย่างรอบด้านตลอด 27 ปี ที่ทรงครองผ้ากาสาวพัสตร์นั้นเป็นคุณยิ่งแก่บ้านเมือง

เป็นกษัตริย์ไทยพระองค์แรกที่ สเตรทส์ ไทม์ส ของสิงคโปร์ลงข่าวการเสด็จขึ้นครองราชย์ 

เมื่อทรงรับพระราชภาระเสด็จขึ้นครองราชสมบัติ ทรงได้นำสยามประเทศเข้าสู่สังคมยุคใหม่ ด้วยความพร้อมทั้งบุคคล และวิชาความรู้ดังที่หนังสือพิมพ์ สเตรทส์ ไทม์ส (Straits Times) ของสิงคโปร์ลงข่าวการเสด็จขึ้นครองราชย์ของคิงมงกุฎ คือ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ให้ความหวังอันยิ่งใหญ่แก่ประชาชนชาวสยาม และเป็นที่น่าสนใจแก่ประเทศชาติภายนอก

...

รู้กิจ สุข ทุกข์ ของไพร่ฟ้าข้าแผ่นดิน เสด็จฯขึ้นเหนือลงใต้ 

ในช่วงที่ผนวชอยู่ ได้ทรงพระอุตสาหะเสด็จฯธุดงค์ขึ้นไปเมืองเหนือ ได้ทรงทราบตระหนักในพระราชหฤทัยว่าการที่เสด็จประพาสถึงอยู่ไกลเช่นนั้น ในทรงรู้กิจ สุข ทุกข์ ของไพร่ฟ้าข้าแผ่นดิน เป็นประโยชน์แก่การปกครองพระราชอาณาจักรอย่างยิ่ง เพราะฉะนั้นต่อมาเมื่อได้เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติจึงเสด็จประพาสตามหัวเมืองอย่างน้อย 1 เดือน จนตลอดรัชกาล เพื่อวินิจฉัยของ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพ นี้เป็นจริงอย่างยิ่ง

เพราะช่วงรัชสมัย 17 ปีของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จฯไปทอดพระเนตรความเป็นอยู่ของราษฎรตามความที่โปรดฯให้ประกาศว่า แต่ก่อนแล้วเล่าลือว่าในหลวงย่อมอยู่ในกำแพงขัง มีเวลาจะได้ออกประพาสปีละครั้ง แต่หน้าฤดูกาลครั้งนั้นได้เสด็จฯไปถึงหัวหมื่นใกล้ไกล เช่น นครปฐม เหนือสุดถึงเมืองพิษณุโลก ตะวันตกถึงเมืองราชบุรี เพชรบุรี กาญจนบุรี ส่วนทางทะเลนั้น เสด็จฯเมืองชายทะเลด้านตะวันออก หัวเมือตะวันตก สุดถึงหัวเมืองปักษ์ใต้ที่ สงขลา และเมืองปัตตานี พระราชกรณียกิจ เนื่องด้วยการเสด็จประพาสนั้นโปรดการเสด็จฯไปทรงบำเพ็ญพระราชกุศลที่กรุงเก่าอยู่บ่อยครั้ง ถวายผ้าพระกฐินบ้าน ทรงบูรณปฏิสังขรณ์พระอารามเก่าบ้าง วัดร้างตั้งแต่ครั้งเสียกรุง

มอบหมายหน้าที่ให้ช่วยกำกับดูแลตามพระเนตรพระกรรณ

ในหลวง รัชกาลที่ 4 นี้เป็นการสุขุมต้องทรงตริตรองโดยพระปรีชาญาณ และโดยพระอุตสาหะอันยิ่งใหญ่มิได้หยุดหย่อน ความไปที่เทศนาพระราชประวัติพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ตอนนี้เป็นที่ประจักษ์ชัดถึงความสำเร็จของพระบรมราโชบายในการปกครองที่เกิดความเป็นเอกภาพภายในการป้องกันภัยจากภายนอก และปกป้องอาณาประชาราษฎร์ให้อยู่เย็นเป็นสุขโดยทั่วกัน เอกภาพในการปกครองที่ทรงเอาพระทัยใส่แต่แรกเสด็จขึ้นครองราชย์ คือ ทรงสร้างความสมัครสมานสามัคคีในหมู่เจ้านาย ด้วยการยกย่องให้มีพระเกียรติยศตามประเพณี จากนั้นจึงทรงมอบหมายหน้าที่ให้ช่วยกำกับดูแลตามพระเนตรพระกรรณ เช่น 

- กรมหลวงวงศาธิราชสนิท กำกับราชการมหาดไทย พระคลังสินค้า และเป็นที่ปรึกษาราชการแผ่นดิน สมเด็จเจ้าฟ้ามหามาลากรมหมื่นปราบปรปักษ์ ดูแลกรมวัง กรมพระคชบาล และกรมสังฆการีธรรมการ (ในปัจจุบันคือกรมการศาสนา) ในส่วนข้าราชการก็ไม่ได้ทรงละเลย ทั้งข้าราชการในส่วนกลาง และหัวเมือง ทรงตั้งขุนนางให้มีตำแหน่งหน้าที่สำคัญ เช่น โปรดฯให้เจ้าพระยาพระคลังว่าที่สมุหพระกลาโหม เป็น สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ (ดิศ บุนนาค) สำเร็จราชการทั่วทั้งพระราชอาณาจักร สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิชัยญาติ (ทัต บุนนาค) เป็น สมุหนายกกำกับฝ่ายพลเรือน และหัวเมืองเหนือ เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) กำกับฝ่ายกลาโหมหัวเมืองฝ่ายใต้ และชายทะเล

นอกจากนี้ ยังทรงยกย่องผู้ครองเมืองประเทศราชขึ้นเป็นเจ้าหลายเมือง เช่น พระยาวิเชียรปราการ เมืองเชียงใหม่ เลื่อนเป็น พระเจ้าโมโหตรประเทศฯ, พระยาน่าน เจ้าเมืองน่าน เลื่อนเป็น เจ้าอนันตวรฤทธิเดชฯ และพระยาละครเมืองนครลำปาง เลื่อนเป็น เจ้าวรญาณรังสีฯ เป็นต้น

นำอารยธรรมของประเทศตะวันตกปรับปรุงประเทศ จัดหายุทโธปกรณ์สมัยใหม่

ด้านการป้องกันภัยจากภายนอกแม้จะไม่ได้มีการทำศึกสงครามเช่นที่เคยมีในสมัยต้นกรุง และก็ไม่ได้ทรงละเลยการเตรียมพร้อม ทรงมีพระราชดำริว่า “ป้อมที่เมืองสมุทรปราการ เมืองนครเขื่อนขันธ์นั้นมีความมั่นคงอยู่บ้างแล้วแต่ที่กรุงเทพฯ ยังหาเป็นที่มั่นคงจะสู้รบข้าศึกศัตรูอันจะเกิดขึ้นชั้นใน” จึงโปรดฯให้ขุดคลองผดุงกรุงเกษมเป็นคูเมืองพระนคร โดยมีป้อมรายเรียงเป็นระยะๆ ส่วนความพร้อมด้านกำลังพลนั้นมีพระราชดำริตั้งแต่ปีแรกในรัชกาลให้รวบรวมไพร่พลมาฝึกหัดการทหารให้เข้มแข็ง และโปรดฯให้จัดหายุทโธปกรณ์สมัยใหม่ให้เพียงพอที่จะรักษาพระนคร เช่น ปืนใหญ่ และปืนประเภทต่างๆ รวมถึงเรือสำปั้นใบ เรือกำปั่นรบกลไฟ และเรือการ Boat การปกครองราชการบ้านเมืองในแผ่นดินสมัยรัชกาลที่ 4 จึงมีเอกภาพและมีความมั่นคงตลอด 17 ปี แห่งการกรอกบ้านเป็นรากฐานแห่งการปฏิรูปบ้านเมืองในรัชกาลต่อมา

ปีพุทธศักราช 2395 ประเทศเพื่อนบ้านกำลังถูกชาติตะวันตกคุกคามถึงความล้าสมัยพระองค์ทรงเป็นพระประมุขพระองค์เดียวที่ชมว่าประเทศในทวีปเอเชียจะคงอยู่ได้ต้องยอมรับ และนำอารยธรรมของประเทศตะวันตกมาปรับปรุงประเทศของตนให้ทันสมัยทำให้ประเทศไทยจึงไม่ถูกคุกคาม

5 ปี มีเหรียญกษาปณ์ ออกใช้พอเพียงหลายราคา

เมื่อรัฐอนุญาตให้ส่งออกสินค้าต้องห้าม คือ ข้าว ได้โดยเสรี ยกเว้นปีที่ขาดแคลน โปรดฯให้ประกาศเรือนราษฎรรู้ล่วงหน้าเป็นระยะๆ ให้ทราบถึงผลกระทบของการทำสนธิสัญญาฉบับนี้ โดยเฉพาะปัญหาข้าว เช่น ให้ซื้อข้าวไว้แต่เมื่อยังมีราคาถูก จะได้ขายมีกำไร เมื่อขายข้าวออกต่างประเทศ หรือหากปีใดถ้ามีราคาสูงขึ้น ก็ซื้อไว้เสียก่อน จะได้มีเพียงพอบริโภค การอนุญาตให้ส่งข้าวออกได้อย่างนี้ทำให้สยามเป็นผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่ของโลก มีลูกค้าวาณิชพากันเข้ามาค้าขายจำนวนมาก

และเพื่อความคล่องตัวในการแลกเปลี่ยนซื้อขายจึงมีพระบรมราชานุญาตให้ใช้เงินเหรียญนอกได้ ทรงมีพระราชดำริเห็นว่า “เงินเข้ามาในบ้านในเมืองก็มีคุณกับแผ่นดินเป็นอันมาก ด้วยราษฎรจะได้มั่งมีทรัพย์สินเงินทองบริบูรณ์ขึ้น ลูกค้าชาวยุโรปค้าขายถึงก็ได้ใช้เงินเหรียญกันทั่วไปแล้ว แลที่กรุงเทพฯ ทุกวันนี้ควรที่จะขอให้ใช้เงินเหรียญกันได้แล้ว ให้ประกาศลูกค้าพาณิชย์ ราษฎร รู้จงทั่วว่าตามใจ จะใช้เงินเหรียญกันเทอญ”

ในที่สุดมีพระราชดำริให้ผลิตเงินเหรียญขึ้นใช้เอง คณะราชทูตไทยที่เดินทางไปเจริญพระราชไมตรีกับราชสำนักอังกฤษ ในพุทธศักราช 2400 จึงได้รับพระราชหัตถเลขาทรงสันทัดไปว่า “ข้าพเจ้าจะใคร่ได้เครื่องมือที่จะทำเงินเหรียญตามอย่างตราไทยที่ให้อย่างไปขอท่านทูตานุทูตจงเอาใจใส่ในการนี้”

ภายในเวลา 5 ปี ได้มีเหรียญกษาปณ์ออกใช้พอเพียงหลายราคา ทั้งเงินเหรียญ ดีบุก ทองคำ และทองแดง ด้านหนึ่งเป็นตราพระราชลัญจกรประจำพระองค์ รูปพระมหาพิชัยมงกุฎ มีฉัตรเคียนสองข้าง อีกด้านหนึ่งเป็นตราแผ่นดินรูปจักรและรูปช้างอยู่ภายใน ที่รอบวงจักรมีข้อความบอกราคาของเหรียญ ระบบเศรษฐกิจที่ก้าวหน้า และระบบเงินตราอย่างใหม่ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เป็นมาตรฐานทัดเทียมกับนานาประเทศมาจนทุกวันนี้

การสร้างพระราชวังสำหรับเสด็จแปรพระราชฐาน

นอกจากทอดพระเนตรถิ่นฐานชุมชนบ้านเรือนของราษฎรแล้ว ปัญหาการปักปันเขตแดนตามหลักวิชาการของชาติตะวันตก ซึ่งใช้แม่น้ำภูเขาเป็นแนวเขตทรงคาดการณ์ว่าอาจเป็นปัญหาด้านความมั่นคง เพราะมีความไม่แน่ชัด จึงเสด็จฯไปหัวเมืองตะวันตกถึงเมืองกาญจนบุรี ในปี 2407 เพื่อดูความพลัดพร้อมหากมีเหตุคับขันเกิดขึ้น โดยในปีพุทธศักราช 2402 โปรดฯให้สร้างพระนครคีรีที่จังหวัดเพชรบุรี พระราชนิยมการเสด็จประพาสหัวเมือง มีที่มาของการสร้างพระราชวังสำหรับเสด็จแปรพระราชฐานด้วย เช่น พระราชวังท้ายพิกุล ที่พระพุทธบาทสระบุรี พระราชวังที่ลพบุรี ณ พระที่นั่งเก่า

ครั้งสมเด็จพระนารายณ์มหาราช พระที่นั่งใหม่ มีพระที่นั่งพิมานมงกุฎ เป็นพระวิมานพระที่นั่งสุดที่วินิจฉัยเป็นท้องพระโรง พระราชทานนามว่า พระนารายณ์ราชนิเวศน์ วังจันทรเกษม ที่พระนครศรีอยุธยา ให้บูรณะวังขึ้นใหม่ มีท้องพระโรง พระที่นั่งฝ่ายหน้า พระตำหนักเรือหลวงของฝ่ายใน และหอดูดาว พระราชทานนามว่า พระราชวังจันทรเกษม

ส่วนพระนครคีรี ที่เมืองเพชรบุรี เป็นพระราชวังบนเขา เสด็จฯไปประทับแรมเป็นประจำทุกปี ด้วยเพราะทรงคุ้นเคยกับชาวเมืองเพชรมาตั้งแต่ผนวช เพราะเป็นที่ประทับสบายและอากาศดี การเสด็จประพาสหัวเมืองได้เป็นแบบอย่างแก่พระมหากษัตริย์ในรัชกาลต่อๆ มา

สร้างเส้นทางการคมนาคมในไทย เจริญรุ่งเรือง 

ปีพุทธศักราช 2440 พัฒนาการคมนาคมโดยโปรดฯให้สร้าง ถนนเจริญกรุง ด้วยพระปรีชาสามารถของพระองค์ทำให้ประเทศสยามก้าวสู่ความเจริญรุ่งเรืองในหลายๆ ด้าน และเป็นรากฐานของการพัฒนาประเทศ สะอาดไปทุกบ้านทุกเมือง บ้านเมืองของเรามีแต่รกเลี้ยวตรอกเล็กซอกน้อย หนทางก็เปรอะเปื้อน ไม่เป็นที่เจริญหูเจริญตา ดูเป็นที่อัปยศแก่ชาวนานาประเทศ จึงโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ทำทางต่อถนน ตามพระราชดำรินี้พระราชทานนามว่า ถนนเจริญกรุง ถนนบำรุงเมือง และถนนเฟื่องนคร เชื่อกันว่าทำพร้อมกัน แต่ลงมือสร้างทีละตอน

เมื่อแล้วเสร็จเป็นที่พอพระราชหฤทัยมาก โปรดฯให้มีการฉลอง มีงานมหรสพหน้าพระที่นั่งไชยชุมพล แล้วเสด็จประพาสถนนที่สร้างใหม่ทุกสาย จนถึงวันนี้ลำคลองถนนสายต่างๆ ทั้งในพระนครและหัวเมืองที่โปรดฯให้ขุดและตัดขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีอายุกว่า 100 ปีแล้ว แต่ยังคงมีประโยชน์ในการสัญจรโดยสะดวกสมกับความหมายอันเป็นมงคลนามที่พระราชทานไว้ทุกประการ

นักดาราศาสตร์ไทย สนใจด้านโหราศาสตร์

พระบรมรูปประดิษฐาน ณ อาคารอุทยานวิทยาศาสตร์พระจอมเกล้า จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเป็นนักดาราศาสตร์ไทย ทรงคำนวณการเกิดสุริยุปราคาเต็มดวงได้อย่างแม่นยำในวันที่ 18 สิงหาคม พ.ศ.2411 ล่วงหน้า 2 ปี และได้เสด็จพระราชดำเนินพร้อมเชิญทูตฝรั่งเศสและสิงคโปร์ทอดพระเนตรสุริยุปราคาครั้งนั้น

นอกจากนี้ พระปรีชาสามารถของพระองค์ในด้านวิทยาศาสตร์นั้น ยังทำให้พระองค์ได้รับการยกย่องเป็นสมาชิกกิตติมศักดิ์ของสัตววิทยาสมาคมแห่งสหราชาอาณาจักรอีกด้วย โดยวันที่ 14 เมษายน พ.ศ.2525 รัฐบาลพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ประกาศยกย่องพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็น "พระบิดาแห่งวิทยาศาสตร์ไทย" และอนุมัติให้วันที่ 18 สิงหาคมของทุกปีเป็นวันวิทยาศาสตร์แห่งชาติ

นอกจากนี้แล้ว ยังทรงเป็นนักโหราศาสตร์อีกด้วย ทรงแต่งตำราทางโหราศาสตร์ที่เรียกว่า "เศษพระจอมเกล้า" ซึ่งเป็นอีกหนึ่งตำราที่ได้รับการยอมรับว่าแม่นยำ และทรงได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติว่าทรงเป็น "พระบิดาแห่งโหราศาสตร์ไทย"

เชี่ยวชาญด้านกฎหมาย

ในรัชสมัยของพระองค์ มีการลดภาษีอากร ลดหย่อนค่านา ยกเลิกการเก็บอากรตลาด เปลี่ยนเป็นเก็บภาษีโรงร้านเรือนแพจากผู้ค้าขายรายใหม่ ประกาศมิให้ตกข้าวแก่ชาวนา ออกพระราชบัญญัติกำหนดใช้ค่าที่ดินให้ราษฎรเมื่อมีการเวนคืน ออกประกาศเตือนราษฎรให้รอบคอบในการทำนิติกรรม ยังมีการออกกฎหมายสำคัญ คือกำหนดลักษณะของผู้ที่จะถูกขายเป็นทาสให้เป็นธรรมยิ่งขึ้น โปรดเกล้าฯ ให้ยกเลิกกฎหมายเดิมที่ให้สิทธิบิดา มารดา และสามีในการขายบุตรและภรรยา และตราพระราชบัญญัติใหม่ให้การซื้อขายทาส เป็นไปด้วยความยินยอมของเจ้าตัวที่จะถูกขายเป็นทาสเท่านั้น 

สนับสนุนโรงเรียนของหมอสอนศาสนาในไทย 

ทรงใส่พระทัยกวดขันคนไทยให้ใช้ภาษาไทยให้ถูกต้อง ทรงสนับสนุนโรงเรียนของหมอสอนศาสนาที่เข้ามาเปิดกิจการในประเทศไทยเพื่อให้คนไทยได้เรียนรู้ภาษา อรรถคดี และวิทยาการของชาติตะวันตก ทรงพระกรุณาส่งข้าราชการระดับบริหารไปศึกษางานที่จำเป็น สำหรับราชการไทย ณ ต่างประเทศ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ จัดตั้งโรงอักษรพิมพการขึ้นในพระบรมมหาราชวัง ผลิตข่าวสารของทางราชการเผยแพร่ให้ราษฎรได้ทราบทั่วถึงกัน ใช้ชื่อว่า ราชกิจจานุเบกษา ซึ่งยังคงพิมพ์มาจนถึงปัจจุบัน

วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร

วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร เป็นวัดประจำรัชกาลที่ 4 ตั้งอยู่ข้างสวนสราญรมย์ เป็นวัดที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสละทรัพย์ส่วนพระองค์สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ.2407 เพื่อเป็นวัดธรรมยุตินิกาย เพื่อให้เจ้านายและข้าราชการทั้งฝ่ายนอกและฝ่ายในได้บำเพ็ญกุศลกันได้สะดวกขึ้น เนื่องจากตั้งอยู่ใกล้พระบรมมหาราชวัง และทรงพระราชทานนามว่า วัดราชประดิษฐ์สถิตธรรมยุติการาม ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็น วัดราชประดิษฐ์สถิตมหาสีมาราม

เสด็จสวรรคต ท่ามกลางความโศกเศร้าของราษฎร

ปีพุทธศักราช 2441 ตรงกับวันพฤหัสบดีที่ 1 เดือนตุลาคม พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จสวรรคต ท่ามกลางความโศกเศร้าของราษฎร หลังเสด็จฯกลับจากการสังเกตการณ์การเกิดสุริยุปราคา รวมพระชนมายุ 64 พรรษา ตลอด 17 ปี ที่พระองค์เสด็จขึ้นครองราชย์นั้นประเทศสยามมีความเจริญรุ่งเรืองอุดมสมบูรณ์ไปด้วยความสุขและสันติ ครั้งหนึ่งมีรากฐานการพัฒนาประเทศมากมาย ดังเห็นได้จากในยุคของพระราชโอรสองค์ใหญ่ของพระองค์ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ขึ้นครองราชย์เป็นรัชกาลที่ 5

พระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

พระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ประดิษฐานอยู่ในพระที่นั่งเวชยันต์วิเชียรปราสาท ซึ่งตั้งอยู่บนยอดเขาทางทิศตะวันตกของพระนครคีรี (เขาวัง) จ.เพชรบุรี มีความสำคัญของพระบรมรูปองค์นี้คือเป็นพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวในชุดฉลองพระองค์ ที่รัชกาลที่ 4 มีพระราชดำริสร้างขึ้นเป็นแบบใหม่ และเครื่องทรงชุดนี้ได้เคยฉลองพระองค์เสด็จออกรับทูตานุทูตมาแล้ว

กล่าวคือ เครื่องแต่งกายประกอบด้วยทรงพระมาลา (หมวก) ทรงหม้อตาล ฉลองพระองค์เสื้อเยียรบับ ชายฉลองพระองค์ตัดเป็นกลีบอย่างเสื้อลายสก๊อต มีตรามหาอุณาโลมพระภูษา (ผ้านุ่ง) โจงขอบเชิง ทรงฉลองพระบาท พระราชอิริยาบถยืนตรงโดยพระเพลา (ขา) ขวาก้าวออกมาด้านหน้า ขณะที่ลักษณะของพระพักตร์ตอบ ทำให้เห็นรอยพระสิรัฐิ (กะโหลกศีรษะ) และเห็นรอยโหนกปราง พระหัตถ์ขวาทรงพระแสงดาบปลายพระแสงดาบลงพื้น พระหัตถ์ซ้ายทรงหนังสือ ประทับยืนอยู่ในใต้นพปฏลมหาเศวตฉัตร (ฉัตรเก้าชั้น) มุมพระโอษฐ์ขวาตกลงมามีรอยย่นระหว่างพระปราง (แก้ม) และพระโอษฐ์ อย่างไรก็ตามต้นแบบของพระบรมรูปรัชกาลที่ 4 บนพระนครคีรีนั้นได้ถอดแบบมาจากพระบรมรูปรัชกาลที่ 4 ที่ประดิษฐานอยู่ที่พระตำหนักเพ็ชร วัดบวรนิเวศ กรุงเทพฯ โดยการหล่อจำลองมาประดิษฐาน ณ เวชยันต์วิเชียรปราสาทนับตั้งแต่ พ.ศ.2503 เป็นต้นมา

**และทั้งหมดนี้เป็นเป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งของพระราชกรณียกิจ ในหลวง รัชกาลที่ 4 ได้สร้างไว้ให้กับประชาชนชาวไทย ก่อนจะส่งมอบแผ่นดินนี้สู่ "พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว" ในหลวง รัชกาลที่ 5 ซึ่งถือว่าเป็นสายเลือดโดยตรงเนื่องจาก เป็นพระราชโอรสพระองค์ที่ 4 ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 4

ก่อนที่เราจะไปติดตามเรื่องราวของในหลวง รัชกาลที่ 5 นั้น ตอนต่อไป ทางทีมข่าวเจาะประเด็นไทยรัฐออนไลน์ จะนำเสนอเรื่องราวของ "พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว" ตามข้อมูลทางประวัติศาสตร์ ที่คนไทยต่างพากันสงสัย และสับสนว่า เหตุใด ภายใต้การปกครองบ้านเมืองของในหลวง รัชกาลที่ 4 จึงมีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวถึง 2 พระองค์ด้วยกัน   

 (ขอบพระคุณข้อมูลจาก KingofThailand, สำนักงานเสริมสร้างเอกลักษณ์ของชาติ สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี, สำนักเลขาธิการ สำนักพระราชวัง ขอบพระคุณภาพและข้อมูลบางส่วนจาก "คุณสุกัญญา บิลภัทร New Deligh" เว็บไซต์ สถานที่ท่องเที่ยว ในกรุงเทพมหานคร )

อ่านเรื่องราวที่เกี่ยวข้องย้อนหลัง