ก่อนจะวาดฝันถึงสถาปัตยกรรม พระราชวังเก่าแก่ที่สวยสดงดงามในอเมริกา ยุโรป หรือมุมไหนของโลก ลองสำรวจตัวเองดูว่าที่ผ่านมา เที่ยวในประเทศไทยทั่วหรือยัง? โดยเฉพาะ "พระราชวัง" ในตำนาน ที่มีอยู่เกือบทั่วประเทศ อายุเก่าแก่เกิน 100 ปี สถาปัตยกรรมสวยสดงาม เด่นตระหง่าน เคียงคู่ประเทศชาติมาตั้งแต่เริ่มก่อร่างสร้างกรุง
ทีมข่าวเจาะประเด็นไทยรัฐออนไลน์ ย้อนประวัติความเป็นมาของ "วังบางขุนพรหม" หนึ่งในโบราณสถานที่อยู่เคียงคู่กับประเทศชาติมากว่า 100 ปี ซึ่งวังแห่งนี้ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) โปรดเกล้าฯ ให้รวบรวมจัดซื้อที่ดินพระราชทานแด่ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต เมื่อ พ.ศ. 2442 ในสมัยรัชกาลที่ 5 มีชื่อเรียกกันว่า "บางขุนพรหมยูนิเวอร์ซิตี้" ปัจจุบัน ตั้งอยู่เลขที่ 273 ถนนสามเสน แขวงวัดสามพระยา เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร
ต้นราชสกุลบริพัตร
ย้อนไปเมื่อ 120 ปีก่อน "วังบางขุนพรหม" ถูกสร้างขึ้นมาให้เป็นที่ประทับของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต ต้นราชสกุลบริพัตร และสมเด็จพระนางเจ้าสุขุมาลมารศรี พระอัครราชเทวี พระมารดา วังบางขุนพรหมอยู่ในเนื้อที่ 33 ไร่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ทางทิศใต้ของวังเทวะเวสม์ ภายในมีเพียง 2 ตำหนัก ได้แก่ ตำหนักใหญ่ และตำหนักสมเด็จ โดยตำหนักใหญ่ ก่อสร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2444 โดยการออกแบบของคาร์ล ซันเดรสกี สถาปนิกชาวเยอรมัน แต่ไม่แล้วเสร็จ จึงได้มารีโอ ตามัญโญ สถาปนิกที่มีชื่อเสียงชาวอิตาลี มาดำเนินการออกแบบจนแล้วเสร็จ ส่วนตำหนักสมเด็จ เป็นตำหนักที่เพิ่มเติมติดกับตำหนักใหญ่ ได้รับการออกแบบโดยคาร์ล เดอห์ริง สถาปนิกชาวเยอรมัน ในปี พ.ศ. 2454
...
ที่ประทับของเจ้านายชั้นเจ้าฟ้า ใหญ่โต โอ่อ่าที่สุด
ในสมัยก่อน "วังบางขุนพรหม" แห่งนี้ เป็นวังที่ประทับของเจ้านายชั้นเจ้าฟ้า ที่ถือว่าใหญ่โตที่สุด โอ่อ่าที่สุด โดยมี "เจ้าฟ้าวังบางขุนพรหม" หรือ "จอมพลบางขุนพรหม" เป็นเจ้าของวัง กระทั่งต่อมาภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง จากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เป็นระบอบประชาธิปไตย "เจ้าฟ้าวังบางขุนพรหม" ได้ย้ายออกจากวังบางขุนพรหม เสด็จฯ ไปประทับอยู่ที่ตำหนักประเสบัน เกาะชวา ประเทศอินโดนีเซีย อย่างกะทันหัน และประทับอยู่ที่นั่นจนสิ้นพระชนม์
ต่อมาวังบางขุนพรหม ได้ใช้เป็นที่ตั้งของกรมยุวชนทหาร สภาวัฒนธรรมแห่งชาติ และหน่วยงานราชการอีกหลายแห่ง กระทั่ง พ.ศ. 2488 ธนาคารแห่งประเทศไทย ได้เช่าวังบางขุนพรหมเป็นที่ทำการธนาคารจากกรมธนารักษ์ จากนั้นใน พ.ศ. 2502 จึงได้จัดซื้อที่ดินและสิ่งปลูกสร้างทั้งหมด โดยแลกกับบ้านมนังคศิลา ในราคา 39.185 ล้านบาท
ประวัติศาสตร์ทางการเมือง
เหตุการณ์ เกิดขึ้นในเช้าตรู่วันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 เมื่อคณะผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองนำกำลังทหารมาตั้งที่ลานพระบรมรูปทรงม้าและใช้พระที่นั่งอนันตสมาคมเป็นที่ตั้งศูนย์บัญชาการนั้น ทางคณะผู้ก่อการฯ ได้ส่งนายทหารมาที่วังบางขุนพรหม เพื่อควบคุมตัวสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต ซึ่งขณะนั้นเป็นผู้มีอำนาจมาก และเป็นผู้สำเร็จราชการรักษาพระนคร เนื่องจากพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว แปรพระราชฐานไปประทับที่หัวหิน ดังมีบันทึกเรื่องราวเอาไว้
ทว่า วังบางขุนพรหมนั้นก็เป็นที่รู้จักกันดีว่าเป็นวังที่มีรั้วรอบขอบชิดที่มีความมั่นคงมาก “กำแพงวังเป็นคอนกรีตและรั้วเหล็กแข็งกล้า” ทั้งที่หน้าวังก็ยังมีทหารรักษาการณ์ประจำอยู่ และมีสถานีตำรวจที่หน้าวังอีกด้วย
“...ในขณะนั้น ข้าพเจ้าคิดว่า วังสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์ฯ นี้มีรั้วเหล็กรอบขอบชิด ยากนักที่จะเข้าไปได้..สถานีตำรวจบางขุนพรหมผู้รักษาวังนั่นเองก็จะเป็นผู้เปิดวังให้แก่ข้าพเจ้าเพราะตำรวจวังต้องฟังคำสั่งนายสถานีตำรวจรักษาวังนั้น ข้าพเจ้าจะไปจับผู้บังคับกองตำรวจนั่นเองไปเปิดวังบางขุนพรหมให้ข้าพเจ้า...ข้าพเจ้าขอพบผู้บังคับกองตำรวจทันที นายร้อยตำรวจโทหนุ่มผู้หนึ่งออกมาพบเราในตำแหน่งผู้บังคับการ ข้าพเจ้าขอเชิญขึ้นรถกับพวกทันที” นี่เป็นคำบอกเล่าของพระประศาสน์พิทยายุทธ ที่ถูกบันทึกไว้
...
ช่อง 4 บางขุนพรหม
ย้อนกลับไปปี พ.ศ. 2496 มีการจัดตั้งสถานีโทรทัศน์เป็นครั้งแรกในประเทศไทย สำนักงาน บริษัท ไทยโทรทัศน์ จำกัด และทำการถ่ายทอดจากที่วังบางขุนพรหมแห่งนี้ กระทั่งเมื่อปี พ.ศ. 2498 ถูกเรียกว่า สถานีโทรทัศน์ ไทยทีวี "ช่อง 4 บางขุนพรหม" จากนั้นย้ายออกไปใน พ.ศ. 2520 ได้เปลี่ยนชื่อเป็น ช่อง 9 อ.ส.ม.ท. และโมเดิร์นไนน์ ทีวี ตามลำดับ
วังทรุดโทรม หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง
หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ชะตากรรมวังบางขุนพรหม ถูกเปลี่ยนมือมาโดยตลอด มีส่วนราชการผลัดกันมาใช้ตำหนักทั้งสองเป็นที่ทำการไม่ต่ำกว่า 5 หน่วยงาน กระทั่งธนาคารแห่งประเทศไทยเข้ามาใช้พื้นที่ตั้งแต่ปี 2488 เรื่อยมา จนถึงช่วงที่มีแผนบูรณะใหญ่ จึงได้ย้ายสำนักงานไปยังอาคารใหม่และมีการสำรวจสภาพอาคารอย่างจริงจังในปี 2531
พื้นที่วังบางขุนพรหม จากหรูหราสวยงามค่อยๆ เสื่อมสภาพลงไปตามกาลเวลา เพราะไม่มีงบในการดูแลรักษาอนุรักษ์ให้เป็นมรดกเคียงคู่ประเทศ เห็นได้ชัดจากโครงสร้างอาคาร หลังคามีน้ำรั่วซึม ลายปูนปั้นตามผนังหลุดลอกไปตามอายุ สิ่งของตกแต่งดั้งเดิมภายในวังทั้งโคมไฟ พรมเปอร์เซีย เครื่องกระเบื้อง เครื่องเรือนนำเข้าจากต่างประเทศสูญหายไปหมด เหลือเพียงแต่โต๊ะ เก้าอี้ และอุปกรณ์สำนักงาน เพดานที่เคยประดับประดาด้วยโคมไฟแก้วก้านทองเหลืองและลายปูนปั้นอ่อนช้อยสไตล์โรโกโก ถูกแทนที่ด้วยแผงไฟนีออนคู่และพัดลมแขวนเพดาน สไตล์เดียวกันกับโรงเรียนประถมในสังกัดกรุงเทพมหานคร
นอกจากนี้ บริเวณที่ว่างระหว่างตำหนักใหญ่และตำหนักสมเด็จยังมีการต่อเติมอาคารเพิ่มขึ้นมาเพื่อใช้เป็นห้องมั่นคงหรือตู้เซฟ สำหรับเก็บธนบัตรและเอกสารสำคัญของแบงก์ชาติ ทำให้ภาพรวมของวังบางขุนพรหมยิ่งดูแออัด หมดความสง่างามอย่างเช่นในอดีต
...
งบประมาณการซ่อมแซมบูรณะประเมินสูง 46 ล้านบาท
คุณบุญเลิศ ตระกูลขจรศักดิ์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารอาคาร ธนาคารแห่งประเทศไทย เล่าให้ฟังว่า “มีผู้ใหญ่ที่เป็นนักเศรษฐศาสตร์คิดจะรื้อทิ้งเลย ถ้าตอนนั้นตัดสินใจแบบนั้นก็ไปเลย พอคิดถึงความคุ้มค่าในแง่เศรษฐกิจแล้วมันไม่ใช่ ก็ยังดีที่มีคนพยายามให้ความสำคัญว่า ต่อไปนี่คือสมบัติของชาติ”
แบงก์ชาติได้เชิญกรมศิลปากรและผู้เชี่ยวชาญในด้านต่างๆ มาเป็นที่ปรึกษา เพื่อให้การบูรณะถูกต้องตามประวัติศาสตร์มากที่สุด ตลอด 50 กว่าปีที่ผ่านมา อาคารถูกทาสีทับไม่รู้กี่ชั้น ทีมบูรณะต้องหาสีดั้งเดิมด้วยการใช้ความร้อนจากไดร์เป่าผมค่อยๆ ลอกสีออกทีละชั้นจนเห็นสีจริง จากนั้นจึงผสมสีใหม่แล้วนำไปทาเทียบกันให้ใกล้เคียงของจริงมากที่สุด สำหรับวังที่แทบไม่เหลืออะไรที่เป็นของเดิมอยู่เลย เฟอร์นิเจอร์และการตกแต่งภายในต่างๆ ทั้งผ้าม่านและพรม ต้องจำลองขึ้นมาใหม่จากการเทียบเคียงกับรูปภาพและตำหนักที่สร้างในยุคเดียวกัน เช่นเดียวกับลายปูนปั้นที่ต้องแกะลายขึ้นมาใหม่โดยเทียบเคียงกับศิลปะในยุคสมัยนั้น
...
โจทย์สำคัญของการบูรณะใหญ่ในครั้งนั้น คือการฟื้นคืนความสง่างามของวังเดิมให้กลับมาอย่างสมพระเกียรติ เพื่อรับกับบทบาทใหม่ในการเป็นพิพิธภัณฑ์และศูนย์การเรียนรู้ การบูรณะจึงไม่ใช่การมุ่งไปหาวัสดุเดิม แต่มีการผสมผสานวัสดุและเทคโนโลยีการก่อสร้างสมัยใหม่เข้ามาเพื่อช่วยให้แข็งแรงคงทน อย่างเช่นกระเบื้องมุงหลังคาแบบใหม่ที่เข้ามาทดแทนของเดิมซึ่งหาไม่ได้แล้ว หรือการเสริมคานเหล็กรับน้ำหนักเข้าไปในส่วนที่มีการทรุด
แบงก์ชาติปรับปรุงดูแลอย่างดี
หลังจากการฟื้นฟูวังบางขุนพรหม จากนั้นก็ได้ดูแลรักษาคงสภาพให้สวยงามยาวนานมาจวบจนทุกวันนี้ รูปแบบทางสถาปัตยกรรมของทั้งสองตำหนักที่ผสมผสานกันหลายยุคหลายสมัยและเป็นจุดเด่นที่ ผศ. ดร.พีรศรี โพวาทอง อาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มองว่าเหมาะเป็นอย่างยิ่งสำหรับการเป็นแหล่งเรียนรู้ทางประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรม ที่นิสิตนักศึกษามหาวิทยาลัยต่างๆ แวะเวียนมาศึกษาดูงานอย่างต่อเนื่อง
ประชาชนทั่วไปเข้าชมได้
วังบางขุนพรหม โดดเด่นด้วยสถาปัตยกรรมอาคารที่สวยงามด้วยลวดลายปูนปั้น ที่ผสมผสานระหว่างศิลปะเรเนซองส์ (Renaissance) และศิลปะที่ได้รับอิทธิพลจากยุคบารอค (Baroque) และโรโกโก (Rococo) ภายในจัดแสดงเรื่องราวเกี่ยวกับประวัติและการดำเนินงานของธนาคารแห่งประเทศไทย พระประวัติของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต ผู้ประทานกำเนิดวังบางขุนพรหม และห้องสำคัญต่าง ๆ เช่น "ห้องสีชมพู" ห้องที่สวยที่สุดของวังบางขุนพรหม "ห้องวิวัฒนไชยานุสรณ์" ห้องทำงานของผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยคนแรก จนถึงผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยคนที่ 10 เป็นต้น
นักท่องเที่ยวทั่วไปที่เข้าชมวังบางขุนพรหม โปรดแต่งกายด้วยชุดสุภาพ และงดกางเกงขาสั้น กระโปรงสั้นเหนือเข่า เสื้อแขนกุด และรองเท้าแตะ รวมถึงปฏิบัติตามระเบียบการเข้าชมต่าง ๆ อย่างเคร่งครัด เช่น ไม่ส่งเสียงดังในระหว่างการเข้าชม, ห้ามนำอาหารและเครื่องดื่มเข้าในพิพิธภัณฑ์, ห้ามสูบบุหรี่ และห้ามถ่ายภาพภายในอาคารตำหนักวังบางขุนพรหม เป็นต้น
นักท่องเที่ยวคนไหนที่สนใจอยากเข้าเที่ยวชมวังบางขุนพรหม สามารถดูรายละเอียดต่าง ๆ เพิ่มเติมได้ที่ เฟซบุ๊ก ธนาคารแห่งประเทศไทย - Bank of Thailand หรือเว็บไซต์ bot.or.th หรือ โทรศัพท์ 02 283 5353
(ขอบพระคุณข้อมูลจาก สถาบันพระปกเกล้า, The Cloud, ธนาคารแห่งประเทศไทย)