ภายหลังพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ในหลวงรัชกาลที่1 เสด็จสวรรคต ต่อมา พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย พระราชโอรสพระองค์ที่ 4 เสวยราชสมบัติขณะมีพระชนมพรรษาได้ 42 พรรษา ขึ้นครองราชย์ในวันที่ 8 กันยายน พ.ศ. 2352 พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย หรือในหลวง รัชกาลที่ 2 มีพระนามเต็มเมื่อทรงรับการบรมราชาภิเษกแล้วว่า...

"พระบาทสมเด็จพระบรมราชาธิราชรามาธิบดี ศรีสินทรบรมมหาจักรพรรดิราชาธิบดินทร์ ธรณินทราธิราช รัตนากาศภาสกรวงศ์ องค์ปรมาธิเบศ ตรีภูวเนตรวรนายก ดิลกรัตนราชชาติอาชาวศรัย สมุทัยดโรมนต์ สากลจักรวาฬาธิเบนทร สุริเยนทราธิบดินทร์ หริหรินทรา ธาดาธิบดี ศรีวิบูลยคุณอกนิษฐ ฤทธิราเมศวรมหันต บรมธรรมิกราชาธิราชเดโชชัย พรหมเทพาดิเทพนฤบดินทร์ ภูมิทรปรมาธิเบศ โลกเชษฐวิสุทธิ รัตนมกุฎประกาศ คตามหาพุทธางกูรบรมบพิตร พระพุทธเจ้าอยู่หัว"

"ทีมข่าวเจาะประเด็นไทยรัฐออนไลน์" พาท่านผู้อ่านเข้าสู่การปกครองบ้านเมืองรัชสมัยรัชกาลที่ 2 ภายหลังรัชกาลที่ 1 ทรงดูแลปกปักรักษาประเทศชาติทำสงครามกับไพร่พลประเทศพม่า ด้วยยุทธวิธีอันชาญฉลาด จนสามารถยึดเมืองคืนกลับมาเป็นของประเทศไทยได้หลายพื้นที่ โดยรัชกาลที่ 2 ทรงดูแลประเทศไทยในช่วงรัตนโกสินทร์ ตอนต้น ขณะนั้นสงครามสงบลง ไม่ค่อยมีการสู้รบเหมือนครั้งสมัยรัชกาลที่ 1 ลูกขุนนางอยุธยา รบชนะพม่าทุกศึก "รัชกาลที่1" ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี

...

เสด็จพระราชสมภพ ณ อัมพวา จ.สมุทรสงคราม

พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เสด็จพระราชสมภพ เมื่อวันพุธที่ 24 กุมภาพันธ์ พุทธศักราช 2310 นิวาสถานเดิมอยู่ย่านริมแม่น้ำแม่กลอง ต.อัมพวา อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม ซึ่งในขณะนั้นพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช สมเด็จพระบรมชนกนาถ (รัชกาลที่ 1) ทรงดำรงตำแหน่งยกกระบัตรเมืองราชบุรี พระองค์มี พระราชมารดาพระนามเดิมว่า "นาก" ต่อมาทรงได้รับการสถาปนาเฉลิมพระเกียรติยศขึ้นเป็นสมเด็จพระอมรินทราบรมราชินี รัชกาลที่ 2 มีพระนามเดิมว่า "ฉิม"

เมื่อสมเด็จพระบรมชนกนาถ เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติเป็นปฐมกษัตริย์แห่งพระบรมราชวงศ์จักรี ในพุทธศักราช 2325 ทรงได้รับการสถาปนาพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร เมื่อสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท เสด็จทิวงคต พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งพิธีอุปราชาภิเษกสถาปนาพระอิสริยยศขึ้นเป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคลที่พระมหาอุปราช ทรงได้รับการอัญเชิญผ่านพิภพ ทรงครองสิริราชสมบัติเมื่อสมเด็จพระบรมชนกนาถเสด็จสวรรคตในวันที่ 7 กันยายน พุทธศักราช 2352 

การพระราชพิธีบรมราชาภิเษกจัดขึ้นในวันที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2352 ณ พระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน หลังจากเสร็จพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระองค์จึงเสด็จเลียบพระนครโดยกระบวนพยุหยาตราตามโบราณราชประเพณี

ห้ามสูบซื้อขายฝิ่น กำหนดบทลงโทษอย่างหนัก

รัชกาลที่ 2 ทรงตรากฎหมายห้ามสูบซื้อขายฝิ่นใน พ.ศ. 2354 และ พ.ศ. 2362 โดยกำหนดบทลงโทษแก่ผู้สูบฝิ่นไว้อย่างหนัก ทรงปรับปรุงกฎหมายพระราชกำหนดสักเลกเมื่อ พ.ศ. 2353 เพื่อเรียกเกณฑ์ไพร่พลเข้ารับราชการ โดยลดเวลาให้ไพร่มารับราชการเพียง 3 เดือน ทำให้ไพร่มีเวลาทำมาหากินส่วนตัวมากขึ้น

นอกจากนี้ ทางด้านสังคมและวัฒนธรรม ยังโปรดเกล้าฯ ให้มีการบูรณปฏิสังขรณ์วัดแจ้งด้วยการสถาปนาโบสถ์และวิหารใหม่ เสริมพระปรางค์องค์เดิมให้ใหญ่ขึ้น และพระราชทานนามใหม่ว่า "วัดอรุณราชวราราม" ทรงให้แปลบทสวดมนต์จากภาษาบาลีเป็นภาษาไทย เพื่อให้คนทั่วไปเข้าใจคำสอนต่างๆ ได้ง่ายขึ้น และได้ฟื้นฟูพระราชพิธีวิสาขบูชาขึ้นมาใหม่เมื่อ พ.ศ. 2360 ตามที่เคยปฏิบัติกันมาในสมัยสุโขทัย

ปกป้อง พระราชอาณาจักร

...

พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทรงมีประสบการณ์ในการรบมาตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ เพราะเสด็จฯ พร้อมพระราชบิดา ในงานศึกสงครามเป็นประจำ เมื่อครองสิริราชสมบัติ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย จึงทรงเตรียมการรับศึกไว้ทุกด้านตามที่ทรงคาดการณ์ เช่น ด้านพม่า ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เตรียมพร้อมรับทัพพม่าโดยไม่ประมาท ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ ยกกำลังไปขัดตาทัพด้านเมืองกาญจนบุรี เมื่อ พ.ศ. 2362 เป็นต้น

ทางด้านตะวันออก ซึ่งอาจมีปัญหากับญวนและเขมร ทรงใช้นโยบายประนีประนอมในระยะแรก ภายหลังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้รักษาเมืองพระตะบอง เป็นฐานที่มั่น หากมีศึกสงครามกับญวน ทั้งยังเตรียมการรุกรานทางทะเล สร้างเมืองหน้าด่านขึ้นที่ปากลัด พระราชทานนามว่า "เมืองนครเขื่อนขันธ์" และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เสริมสร้างเมืองสมุทรปราการที่ปากอ่าวไทย เป็นเมืองป้อมปราการรับข้าศึกที่อาจจะยกเข้ามาทางทะเล มิให้เข้าถึงพระนครได้โดยง่าย เตรียมพร้อมตั้งรับหากข้าศึกเข้ามาโจมตี

คัดเลือกคนให้เหมาะกับงาน ชำระทำเนียบข้าราชการในหัวเมือง

การบริหารราชการแผ่นดิน ทรงแก้ไขปรับปรุงให้เป็นแบบแผน หลังจากบ้านเมืองเสียหายเมื่อครั้งเสียกรุง ซึ่งในรัชกาลที่ 2 ได้ทรงรับพระราชภาระสืบสานต่อให้เป็นระเบียบ และเกิดความมั่นคง เช่น การบริหารราชการในส่วนกลาง ทรงพระราชดำริริเริ่มให้เจ้านายที่มีความรู้ความสามารถไปกำกับหน่วยราชการต่างพระเนตรพระกรรณ โดยทรงคัดเลือกบุคคลให้เหมาะสมกับภารกิจและหน้าที่ด้วยพระองค์เอง

...

ทั้งนี้การปกครองหัวเมือง โปรดให้ชำระทำเนียบข้าราชการในหัวเมือง โดยเฉพาะในหัวเมืองทางใต้ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้มีเจ้าเมืองกรมการครบตามตำแหน่ง และทรงพระราชดำริให้หัวเมืองสำคัญมีหน้าที่ปกครองเมืองเล็กและให้มีการแยกการควบคุมที่ชัดเจน เช่น ให้ขึ้นกับนครศรีธรรมราชบ้าง ขึ้นกับสงขลาบ้าง และขึ้นตรงต่อกรุงเทพฯบ้าง ทำให้บ้านเมืองเจริญมั่นคง

นอกจากนี้ ยังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ยกเมืองเชียงใหม่ ลำปาง ลำพูน ขึ้นเป็นเมืองประเทศราช มีเจ้านายปกครองเช่นเดียวกับเมืองน่าน ทำให้เกิดความจงรักภักดี ไม่ฝักฝ่ายกับพม่าเช่นแต่ก่อน พระบรมราโชบายในการปกครองเช่นนี้ ทำให้บ้านเมืองเป็นระเบียบและเกิดความเจริญก้าวหน้าตลอดรัชสมัย

ยุคทองของวรรณคดี

ได้รับการยกย่องว่าเป็นยุคทองของวรรณคดี ด้านกาพย์กลอน นำมาสู่คำกล่าวที่ว่า “ในรัชกาลที่ 2 นั้น ใครเป็นกวีก็เป็นคนโปรด” สำหรับ กวีที่มีชื่อเสียงนอกจากพระองค์เองแล้ว ยังมีกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ (รัชกาลที่ 3) สมเด็จกรมพระปรมานุชิตชิโนรส สุนทรภู่ พระยาตรังและนายนรินทรธิเบศร์ (อิน) ในยุคนั้นพระราชนิพนธ์บทกลอนมากมาย ที่ส่งผลให้เป็นยอดกวีด้านการแต่งบทละคร ทั้งละครในและละครนอก มีหลายเรื่องที่มีอยู่เดิมและทรงนำมาแต่งใหม่เพื่อให้ใช้ในการแสดงได้ เช่น รามเกียรติ์ อุณรุท และอิเหนา ที่ถือเป็นเรื่องที่ยาวที่สุดของพระองค์

...

เป็นที่ทราบกันดีว่า วรรณคดีสโมสรได้ยกย่องให้เป็นยอดบทละครรำที่แต่งดี ยอดเยี่ยมทั้งเนื้อความ ทำนองกลอนและกระบวนการเล่นทั้งร้องและรำ นอกจากนี้ ยังมีละครนอกอื่นๆ เช่น ไกรทอง สังข์ทอง ไชยเชษฐ์ หลวิชัยคาวี มณีพิชัย สังข์ศิลป์ชัย ได้ทรงเลือกเอาของเก่ามาทรงพระราชนิพนธ์ขึ้นใหม่บางตอน และยังทรงพระราชนิพนธ์บทพากย์โขนอีกหลายชุด เช่น ชุดนางลอย ชุดนาคบาศ และชุดพรหมาสตร์

นอกจากนี้ พระองค์ยังทรงปรับปรุงท่ารำต่าง ๆ ทั้งโขนและละคร ซึ่งกลายเป็นต้นแบบมาถึงปัจจุบัน ทรงพระราชนิพนธ์เพลง "บุหลันลอยเลื่อน" หรือ "บุหลันลอยฟ้า" รวมไปถึงทรงแกะสลักบานประตูวิหารพระศรีศากยมุนี ที่วัดสุทัศนเทพวราราม ปัจจุบันเก็บรักษาไว้ ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ซึ่งก็ถือเป็นพระอัจฉริยภาพของพระองค์ด้วย

เปิดการค้ากับต่างชาติ คนไทยมีกินมีใช้ 

พระองค์ทรงมีพระบรมราโชบายสนับสนุนการค้ากับต่างประเทศ เปิดให้ชาวชาติต่างภาษาเดินทางเข้ามาค้าขายในพระนคร ทั้งชาวจีน แขก และฝรั่งชาติตะวันตก มีชาติอังกฤษและโปรตุเกส ที่สำคัญคือการค้าของหลวง ซึ่งทรงส่งเสริมให้เจ้านายขุนนางส่งเรือไปค้าขายต่างประเทศ การค้าในรัชสมัยรัชกาลที่ 2 จึงมีความก้าวหน้า ได้กำไร เป็นรายได้ของแผ่นดิน ขณะที่พระเจ้าลูกยาเธอกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ ทรงกำกับราชการกรมท่า และทรงแต่งสำเภาหลวงออกไปค้ากับเมืองจีนด้วย

การค้าสำเภา เชื่อมไปถึงเมืองท่าต่าง ๆได้แก่ กึงตั๋ง ไหหลำ ฮกเกี้ยน ปเตเวีย มะละกา เกาะหมาก สิงคโปร์ และเมืองญวน เรือสำเภาของไทยที่ออกไปค้าขายนี้ ยังทรงโปรดเกล้าฯ ให้มีธงชาติประจำเรือ เช่นเดียวกับเรือของชาติอื่นๆ ลักษณะเป็นธงพื้นแดง มีรูปช้างสีขาวอยู่ในผืนธง เนื่องจากมีช้างเผือกมาสู่พระบารมีในรัชกาล 3 ช้าง เรียกกันว่า ธงช้างเผือก

ทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา รักษาอุโบสถศีล ห้ามฆ่าสัตว์

ทรงบำเพ็ญพระองค์เป็นแบบอย่าง เช่น ทรงพระผนวชตั้งแต่เมื่อยังทรงดำรงพระอิสริยยศสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เมื่อเสด็จขึ้นครองราชสมบัติแล้ว พระราชานุกิจที่ทรงปฏิบัติเป็นประจำทุกเช้า คือ การถวายภัตตาหารแด่พระภิกษุสงฆ์ที่้เข้ามารับบิณฑบาตในพระบรมมหาราชวัง และทรงสนทนาธรรมกับพระสงฆ์เป็นนิตย์ การบำรุงพระสงฆ์และการส่งเสริมให้ราษฎรได้เข้าใจหลักธรรมคำสอนได้ดีขึ้น ได้ทรงพระราชดำริให้แก้ไขการศึกษาพระปริยัติธรรมจาก 3 ประโยค เพิ่มเป็น 9 ประโยค และทรงริเริ่มให้แปลบทสวดมนต์จากภาษาบาลีเป็นภาษาไทยโดยสวดเป็นทำนองเสนาะด้วย

นอกจากนี้ ยังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ฟื้นฟูวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา คือวันที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าประสูติ ตรัสรู้ และเสด็จดับขันธปรินิพพาน ณ วันเพ็ญเดือนหก ขึ้นสิบห้าค่ำ เป็นวันพิธีวิสาขบูชา เพราะในครั้งนั้นได้มีพระราชกำหนดให้พลเมืองทำวิสาขบูชา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงรักษาอุโบสถศีล ปฏิบัติพระสงฆ์สามวัน ห้ามฆ่าสัตว์ และเสพสุราเมรัย และให้จัดประทีปโคมแขวนถวายเป็นเครื่องสักการบูชาในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เป็นธรรมเนียมแบบแผนสืบมา

มหัศจรรย์งานฝีมือ พระปรีชาสามารถละครและฟ้อนรำ

วัฒนธรรมต่างๆ ได้รับการฟื้นฟูกลับคืนสู่สภาพปกติ บ่งบอกถึงความรุ่งเรืองของบ้านเมืองอีกครั้ง เช่น งานสถาปัตยกรรม พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ส่งเสริมให้พระพุทธศาสนาเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจของราษฎร งานก่อสร้างในแผ่นดินจึงเป็นงานพุทธศิลป์ที่เป็นงานช่างฝีมือชั้นสูง เกิดเป็นสกุลช่างสมัยรัชกาลที่ 2 เช่น พระพุทธปรางค์ขนาดใหญ่ที่วัดอรุณราชวราราม พระสมุทรเจดีย์ ที่ปากน้ำเจ้าพระยา ซึ่งชนต่างชาติต่างภาษาที่เดินทางเข้ามาถึงพระราชอาณาจักร เกิดความประทับใจว่าแผ่นดินนี้เป็นดินแดนที่พระพุทธศาสนาเจริญรุ่งเรืองมาช้านาน

งานสถาปัตยกรรมที่เลื่องลือว่าสวยงามมหัศจรรย์อย่างยิ่ง คือ พระราชดำริในการสร้างสวนขวา ในพระบรมมหาราชวัง เพื่อทะนุบำรุงฝีมือช่างให้ได้ไว้ฝีมือเป็นเกียรติยศในแผ่นดิน

นอกจากนี้ พระองค์ยังมีความสามารถด้านการละครและฟ้อนรำ เครื่องดนตรีที่ทรงถนัดและโปรดคือ ซอสามสาย ซึ่งซอคู่พระหัตถ์ที่สำคัญได้พระราชทานนามว่า "ซอสายฟ้าฟาด" และเพลงพระราชนิพนธ์ที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันดีคือ "เพลงบุหลันลอยเลื่อน" หรือ "บุหลัน (เลื่อน) ลอยฟ้า" แต่ต่อมามักจะเรียกว่า "เพลงทรงพระสุบิน" เพราะเพลงมีนี้มีกำเนิดมาจากพระสุบิน (ฝัน) ของพระองค์เอง

เล่ากันว่าคืนหนึ่งหลังจากได้ทรงซอสามสายจนดึก ก็เสด็จเข้าที่บรรทมแล้วทรงพระสุบินว่า ได้เสด็จฯ ไปยังดินแดนที่สวยงามดุจสวรรค์ ณ ที่นั่น มีพระจันทร์อันกระจ่างได้ลอยมาใกล้พระองค์ พร้อมกับมีเสียงทิพยดนตรีอันไพเราะยิ่ง ประทับแน่นในพระราชหฤทัย ครั้นทรงตื่นบรรทมก็ยังทรงจดจำเพลงนั้นได้ จึงได้เรียกพนักงานดนตรีมาต่อเพลงนั้นไว้ และทรงอนุญาตให้นำออกเผยแพร่ได้ เพลงนี้จึงเป็นที่แพร่หลายและรู้จักกันกว้างขวางมาจนทุกวันนี้

เปลี่ยนธงประจำชาติ

กรุงสยามมีการเปลี่ยนธงประจำชาติ จากธงแดง เป็นธงช้าง มีลักษณะพื้นสีแดง ตรงกลางเป็นวงกลมสีขาว มีรูปช้างเผือกสีขาวภายในวงกลม แต่เมื่อจะใช้ชักเป็นธงบนเรือสินค้า ให้งดวงกลมออกเสีย เหลือแต่รูปช้างเผือกสีขาวเท่านั้น ดังนั้น บันทึกที่พบในต่างประเทศจึงระบุว่ากรุงสยาม ใช้ธงประจำชาติเป็นรูปช้างเผือกสีขาวบนพื้นแดง

พระราชโอรส พระราชธิดา รวมทั้งสิ้น 73 พระองค์

พระองค์มีพระราชโอรสและพระราชธิดารวมทั้งสิ้น 73 พระองค์ โดยประสูติเมื่อครั้งยังดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร 47 พระองค์ ประสูติเมื่อดำรงพระอิสริยยศเป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคล 4 พระองค์ และประสูติภายหลังบรมราชาภิเษกแล้ว 22 พระองค์

 24 กุมภาพันธ์  วันศิลปินแห่งชาติ

24 กุมภาพันธ์ ตรงกับวันคล้ายวันพระราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 แห่งราชวงศ์จักรี ผู้เป็นพระปฐมบรมศิลปินแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ด้วยทรงพระปรีชาสามารถในศิลปกรรมด้านต่าง ๆ หลายสาขา ไม่ว่าจะเป็นด้านกวีนิพนธ์ ด้านประติมากรรม และด้านดนตรี ดังนั้น เพื่อเป็นการน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณอันยิ่งใหญ่


ศิลปะชั้นเลิศ มักถูกถ่ายทอดจากความรู้สึกนึกคิด และความสามารถของผู้ที่เป็น "ศิลปินชั้นเอก" ซึ่งในปัจจุบันมีศิลปินสาขาต่าง ๆ มากมาย ที่สร้างผลงานน่าประทับใจ และเป็นประโยชน์ต่อสังคม ด้วยเหตุนี้ ประเทศไทยจึงกำหนดให้มี วันศิลปินแห่งชาติ และจัดให้มีการประกาศยกย่องเชิดชูเกียรติ "ศิลปินแห่งชาติ" เป็นประจำทุกปี

เสด็จสวรรคต

ทรงพระประชวรด้วยโรคพิษไข้ ทรงไม่รู้สึกพระองค์เป็นเวลา 8 วัน พระอาการประชวรก็ได้ทรุดลงตามลำดับ และเสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2367 สิริพระชนมพรรษาได้ 57 พรรษา และครองราชสมบัติได้ 15 ปี

วัดแจ้ง วัดโบราณ สร้างในสมัยอยุธยา

วัดอรุณราชวรารามวรมหาวิหาร หรือ วัดแจ้ง เป็นวัดโบราณ จากหลักฐานเชื่อว่าสร้างในสมัยอยุธยา เดิมเรียกว่า วัดมะกอกนอก ต่อมาในสมัยรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 4 โปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญพระบรมราชสรีรางคารของรัชกาลที่ 2 มาบรรจุที่พุทธอาสน์ของพระพุทธธรรมมิศรราชโลกธาตุดิลก พระประธานในอุโบสถ วัดอรุณฯ ได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์ใหม่ทั้งพระอาราม โดยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เมื่อเสด็จขึ้นครองราชสมบัติ

จากนั้นได้โปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระอุโบสถและพระวิหารต่อจนแล้วเสร็จ พร้อมทั้งทรงปั้นหุ่นพระพุทธรูปด้วยฝีพระหัตถ์ของพระองค์เอง และโปรดให้หล่อขึ้นประดิษฐานเป็นพระประธานในพระอุโบสถ และพระราชทานนามวัดใหม่ว่า วัดอรุณราชธาราม ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 3 ได้มีการก่อสร้างพระปรางค์องค์ใหญ่ ซึ่งมีความสูง 82 เมตร กว้าง 234 เมตร แต่มาเสร็จสมบูรณ์ ในสมัยรัชกาลที่ 4 และได้เปลี่ยนชื่อเป็น “วัดอรุณราชวราราม”

ในหลวง ร.10 เสด็จ ณ ณ วัดอัมพวันเจติยาราม 

ย้อนกลับไปในวันนี้เมื่อ 42 ปีที่แล้ว สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ขณะทรงดำรงพระราชอิสริยยศ สมเด็จพระบรม โอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ได้เสด็จฯ ไปทรงประกอบพิธีเปิดพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ณ วัดอัมพวันเจติยาราม อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม ซึ่งวัดแห่งนี้สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 1 และเป็นสถานที่พระราชสมภพของรัชกาลที่ 2 ต่อมาได้รับการบูรณะปฏิสังขรณ์ในสมัยรัชกาลที่ 3 รัชกาลที่ 4 และรัชกาลที่ 5

พระอารามหลวงชั้นโทที่มีนามพระราชทานว่า วัดอัมพวันเจติยาราม นี้มีความหมายว่า วัดที่มีเจดีย์และสวนมะม่วงเป็นที่รื่นรมย์และเกษมสำราญน่าเคารพบูชา

พิพิธภัณฑ์มรดกทางวัฒนธรรมอัมพวา

อุทยานพระบรมราชานุสรณ์ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย หรือชื่อย่อ "อุทยาน ร.2" หนึ่งในสถานที่ท่องเที่ยวของอัมพวา อุทยาน ร.2 เป็นโครงการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ของมูลนิธิพระบรมราชานุสรณ์พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยในพระบรมราชูปถัมภ์ เพื่อเป็นการสนองพระมหากรุณาธิคุณที่ได้พระราชทานศิลปวัฒนธรรมอันงดงามไว้เป็นมรดกแก่ชาติ จนได้รับยกย่องให้เป็นบุคคลสำคัญของโลกจากองค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO)

บริเวณที่ก่อสร้างอุทยานพระบรมราชานุสรณ์นี้ พระราชสมุทรเมธี เจ้าอาวาสวัดอัมพวันเจติยารามเป็นผู้น้อมเกล้าฯ ถวาย มีพื้นที่ประมาณ 11 ไร่ พื้นที่บริเวณนี้มีความสำคัญเพราะเป็นสถานที่พระราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย และเป็นเรือนไม้โบราณอายุกว่า 100 ปี อยู่ด้านหน้าอุทยาน ร.2 ภายในมีขนมไทยโบราณให้ชม เช่น ข้าวต้มมัด ขนมถ้วย น้ำแข็งไส ขนมประเภทหม้อดิน ขนมในขวดโหล โดยจำลองบรรยากาศในอดีต ใช้ภาชนะ-ของใช้สมัยก่อน ถ้วยชามสังกะสี โหลแก้ว กระต่ายขูดมะพร้าว มีมุมถ่ายรูปสวยๆ เช่นหาบขนม เรือขายก๋วยเตี๋ยว รถถีบขายขนม

ที่นี่เปิดให้เข้าชมในเวลาทำการทุกวัน ไม่มีวันหยุด ตั้งแต่เวลา 8.30-17.00 น. ค่าเข้าชม ผู้ใหญ่ 30 บาท เด็ก 10 บาท ราคาเดียวทั้งคนไทยและต่างชาติ ตั้งอยู่ที่ ตำบลอัมพวา อำเภออัมพวา สมุทรสงคราม 75110

โรงพยาบาลประจำจังหวัดสมุทรสงคราม

โรงพยาบาลสมเด็จพระพุทธเลิศหล้า หรือโรงพยาบาลสมุทรสงคราม แต่เดิมเป็นสุขศาลา ของกรมสาธารณสุข กระทรวงมหาดไทย เปิดดำเนินการตั้งแต่ปี พ.ศ.2476 สมัยพระนิกรบดี (จ.สาริกานนท์) เป็นผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นเรือนไม้ชั้นเดียว แต่เดิมเป็นที่ทำการของกองทหารเรือแม่กลอง (ทร.4) มีสภาพทรุดโทรม เมื่อแรกเปิดบริการใช้เป็นที่รักษาผู้ป่วยนอก โดยมีนายแพทย์ไสว มังคะลี เป็นแพทย์ประจำสุขศาลาจังหวัด

ต่อมา คุณแม่อ้น อุ่นสุวรรณ ได้บริจาคเงินส่วนตัวเพื่อสร้างสุขศาลาใหม่แทนสุขศาลาเก่าที่มีสภาพทรุดโทรม ในปี พ.ศ.2479 ขุนและนาง อัครพงศ์พาณิชย์ ได้มีจิตศรัทธาบริจาคเงินสร้างเรือนคนไข้ 1 หลัง แบ่งเป็นห้องพิเศษ 4 เตียง คนไข้สามัญ 8 เตียง ได้ทำพิธีเปิดสุขศาลาและเรือนคนไข้อย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2479 ให้ชื่อว่า "สุขศาลาอ้น อุ่นสุวรรณ" เรือนคนไข้ให้ชื่อว่า "เรือนคนไข้อัครพงศ์"

ในปี พ.ศ.2492 กรมการแพทย์ได้รับโอนกิจการสุขศาลามาดำเนินการเป็นโรงพยาบาล ในสังกัดกรมการแพทย์ และในปีนี้เองคุณแม่ทับทิม จั่นบุญมี บริจาคเงินสร้างตึกสูติกรรมอีก 1 หลัง ทำพิธีเปิดอย่างเป็นทางการในวันที่ 15 มิถุนายน 2493 ในเวลาต่อมาจำนวนผู้ป่วยที่มารับบริการเพิ่มขึ้น ทำให้อาคารที่มีอยู่ไม่เพียงพอแก่การให้บริการ โดยเนื้อที่ของโรงพยาบาล ซึ่งเดิมเป็นสนามหญ้าหน้าศาลากลางจังหวัดที่ทางจังหวัดยกให้มีเพียง 8 ไร่

15 พฤศจิกายน 2538 โรงพยาบาลสมุทรสงคราม ได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาต พระราชทานพระปรมาภิไธยของรัชกาลที่ 2 ให้ใช้ชื่อของโรงพยาบาลเป็น โรงพยาบาลสมเด็จพระพุทธเลิศหล้า เพื่อเป็นสิริมงคลแก่เจ้าหน้าที่และประชาชนจังหวัดสมุทรสงคราม
ปี พ.ศ.2539 โรงพยาบาลได้ดำเนินการก่อสร้างอาคารสูง 6 ชั้น ใช้เป็นสถานที่ให้บริการแผนกอุบัติเหตุฉุกเฉิน หอผู้ป่วยหนักอายุกรรม หอผู้ป่วยพิเศษ หอผู้ป่วยศัลยกรรมกระดูก กายภาพบำบัด ทันตกรรมและแผนกผู้ป่วยนอก ทำให้โรงพยาบาลมีขีดความสามารถที่จะรับผู้ป่วยเพิ่มขึ้น

เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2541 เป็นอาคารในโครงการเฉลิมพระเกียรติ เนื่องในโอกาสที่ในหลวง รัชกาลที่ 9 ทรงครองราชย์ครบ 50 ปี จึงตั้งชื่ออาคารนี้ว่า "อาคารกาญจนาภิเษก" โดยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดอาคารกาญจนาภิเษก เมื่อวันที่ 31 มกราคม 2541

**เรื่องราวของในหลวงรัชกาลที่ 2 ถูกกล่าวขานขนานนามจากปวงชนชาวไทย ยกย่องให้เป็นยุคทองของวรรณคดี มีเรื่องเล่า ละคร ที่สืบสานต่อๆกันมาหลายสมัย บ้างก็เอาไปดัดแปลงบทใหม่ ซึ่งก็อยู่ในเคล้าโครงเดิม โดยมีจุดเริ่มต้นมาจากในหลวงรัชกาลที่2 เกือบทั้งสิ้น ส่งเสริมให้เด็กๆในหลายยุคสมัยได้อ่านมาจวบจนวันนี้ และในตอนต่อไป เข้าสู่เรื่องราวของราชวงศ์จักรีในหลวงรัชกาลที่ 3 พระองค์จะมีประวัติความเป็นมาอย่างไร ติดตามได้จากทีมข่าวเจาะประเด็นไทยรัฐออนไลน์ เร็วๆนี้ค่ะ 


(อ้างอิงข้อมูลจาก หอจดหมายเหตุ, เว็บ sea, อุทยาน ร.2 ฯลฯ) ขอบพระคุณข้อมูลจาก สำนักเลขาธิการ สำนักพระราชวัง