นับเป็นกำเนิดใหม่ของราชอาณาจักรสยาม ภายใต้การปกครองแห่ง “ราชวงศ์จักรี” ใต้ร่มพระบารมีพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ในหลวงรัชกาลที่ 1 โปรดเกล้าฯ ให้สร้างแผ่นดินสยามให้ฟื้นคืนเป็นปึกแผ่น ด้วยพระราชปณิธานตั้งมั่นที่ว่า "ตั้งใจจะอุปถัมภก ยอยกพระพุทธศาสนา ป้องกันขอบขัณฑสีมา รักษาประชาชนและมนตรี"
"ทีมข่าวเจาะประเด็นไทยรัฐออนไลน์" นำเสนอเรื่องราวพระราชประวัติของ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี ด้วยคำจารึกในหน้าประวัติศาสตร์ และคำบอกเล่าของคนในยุคโบราณ ถึงความที่พระองค์มุ่งหมายที่ จะสถาปนาราชธานีใหม่ ให้เจริญรุ่งเรืองทัดเทียมกรุงศรีอยุธยา ภายหลังทรงขึ้นครองราชย์
...
เป็นลูกขุนนางในวัง เกิดที่พระนครศรีอยุธยา
นายอิทธิพันธ์ ขาวละมัย กรรมการสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยว จ.พระนครศรีอยุธยา นักวิชาการอิสระ เล่าให้เราฟังว่า พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ในหลวงรัชกาลที่ 1 เดิมอยู่ที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ในส่วนของ "วัดสุวรรณารามราชวรวิหาร" หรือเรียกสั้นๆ ว่า วัดสุวรรณาราม หรือ วัดทอง ยาวไปถึงป้อมเพชร ตั้งอยู่ในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เคยเป็นบ้านเกิดของในหลวงรัชกาลที่ 1 ซึ่งพระองค์ท่านเกิดในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย พื้นที่ดังกล่าวเป็นย่านชาวจีน พระบิดาของพระองค์ทรงเป็นขุนนางในวัง และครอบครัวก็อาศัยอยู่ในย่านการค้าของชาวจีน
"กระทั่งต่อมา เมื่อพระองค์ขึ้นครองราชย์ โปรดเกล้าฯ ให้บูรณะ วัดสุวรรณารามราชวรวิหาร จัดสร้างเป็นเจย์ดีเพื่อระลึกถึง รูปแบบการก่อสร้างคงรูปแบบเดิมของกรุงศรีอยุธยา ในประวัติศาสตร์ยังระบุด้วยว่า รัชกาลที่ 2 - รัชกาลที่ 10 ทรงร่วมกันทำนุบำรุง ร่วมกันบูรณะจวบจนปัจจุบัน จึงเป็นโบราณสถานที่คนรุ่นหลังในจังหวัดพระนครศรีอยุธยาต่างรักษาหวงแหน”
รัชกาลที่ 2 และ รัชกาลที่ 3 โปรดเกล้าฯ ให้สร้างศาลาการเปรียญ รัชกาลที่ 4 โปรดเกล้าฯ ให้สร้างวิหารเพื่อบำเพ็ญบุญ รัชกาลที่ 5 ทรงร่วมบูรณะวัด เปลี่ยนหลังคากระเบื้อง รัชกาลที่ 6 ทรงร่วมบูรณะเช่นกัน ส่วนรัชกาลที่ 7 โปรดเกล้าฯ ให้วาดภาพพระประวัติของพระสมเด็จพระนเรศวรขึ้นในปี 2474 ช่างศิลปะที่ลงมือวาดคือ คุณตาแท้ๆของอดีตนายกฯ สมัคร สุนทรเวช ซึ่งวัดดังกล่าวมีอายุกว่า 200 ปี
"กล่าวได้ว่าในทุกรัชกาล ทรงให้งบประมาณในการบูรณะวัดนี้ และได้ถวายเทียนพรรษา และกฐินพระราชทานสืบต่อกันมา นอกจากนี้ ยังมีเจดีย์เก็บอัฐิของพระบิดาในหลวงรัชกาลที่ 1 ด้วย ปัจจุบันพื้นที่โดยรอบแห่งนี้ได้แปรสภาพเป็นที่อยู่อาศัยของประชาชน"
...
ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี ต้นกำเนิดพระบรมมหาราชวัง
"ด้วง" หรือ "ทองด้วง” คือชื่อเดิมของ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ในหลวงรัชกาลที่ 1 เสด็จเข้าถวายตัวเป็นมหาดเล็กในเจ้าฟ้าอุทุมพร กรมขุนพรพินิต ต่อมาได้เข้ารับราชการในสมัยพระเจ้าเอกทัศ ตำแหน่งหลวงยกกระบัตรประจำเมืองราชบุรี และปฏิบัติราชการที่เมืองราชบุรี จนกรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่า เมื่อ พ.ศ. 2310 ในสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช หลวงยกกระบัตรได้รับราชการอย่างแข็งขัน และมีพระปรีชาสามารถโดยเฉพาะด้านการสงคราม ต่อมาได้เกิดเรื่องราวขึ้นมากมาย กระทั่งพระองค์ทรงขึ้นครองราชย์ เมื่อวันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2325 - 7 กันยายน พ.ศ. 2352 และเข้ารับการราชาภิเษก 13 มิถุนายน พ.ศ. 2325
ณ พระราชวังหลวง ต่อจาก "สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี" (พระเจ้าตากสิน)
ในหลวงรัชกาลที่ 1 ทรงเริ่มต้นจากการย้ายราชธานี จากฝั่งตะวันตกมายังฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา ณ ตำบลบางกอก และก่อร่างสร้างพระนคร รวมไปถึงกำหนดตำแหน่งที่ตั้งพระบรมมหาราชวัง (วัดพระแก้ว) รวมถึง พุทธสถาน ป้อมปราการ ให้สอดคล้องต้องตามตำราพิชัยสงคราม สมัยกรุงศรีอยุธยา อย่างเคร่งครัด พร้อมกันนี้ได้ ฟื้นฟูศาสนา สร้างสมวัฒนธรรมและอารยธรรมของประเทศ ประชาราษฎรสงบสุขร่มเย็นที่สั่งสมผ่านการเวลากว่า 2 ศตวรรษ สืบเนื่องมาถึงปัจจุบัน โบราณสถานเก่าแก่หลายแห่งในกรุงเทพมหานคร จึงก่อกำเนิดมาจากความคิดริเริ่มของในหลวงรัชกาลที่ 1
...
พระราชกรณียกิจสร้างชาติ การเมืองการปกครอง
นอกจากในหลวงรัชกาลที่ 1 จะทรงสถาปนาราชวงศ์จักรี และกรุงรัตนโกสินทร์ ให้เป็นราชธานีแห่งใหม่ โดยทรงย้ายราชธานีจากกรุงธนบุรีมาอยู่ที่กรุงเทพมหานครแล้ว ยังโปรดเกล้าฯ สั่งชำระกฎหมายให้ถูกต้องยุติธรรม เรียกว่า "กฎหมายตราสามดวง" เพราะประทับตราสำคัญ 3 ดวง ได้แก่ ตราราชสีห์ของสมุหนายก ตราคชสีห์ของสมุหพระกลาโหม และตราบัวแก้วของกรมท่า
นอกจากนี้ยังทรงให้ขุดคลองรอบกรุง เช่น คลองบางลำพูทางตะวันออก คลองโอ่งอ่างทางใต้ ทำให้กรุงรัตนโกสินทร์ เป็นเหมือนเกาะ ที่มีแม่น้ำล้อมรอบเหมือกับกรุงศรีอยุธยา รวมทั้งสร้างกำแพงพระนครและป้อมปราการไว้โดยรอบ ปัจจุบันคงเหลือเพียงป้อมพระสุเมรุ และป้อมมหากาฬที่สะพานผ่านฟ้าลีลาศ รวมไปถึงทรงเป็นจอมทัพในการทำสงครามกับรัฐเพื่อนบ้าน สงครามครั้งสำคัญ คือ "สงครามเก้าทัพกับพม่า"
ต้นความคิด "สร้างวังรอบพระนคร ป้องกันกรุง"
ภายหลังการสถาปนากรุงเทพมหานคร ทางฝั่งตะวันออก รัชกาลที่ 1 โปรดเกล้าฯ ให้สร้างวังหลวง, วังหน้า, วังหลัง จากนั้นได้แบ่งปันหน้าที่รับผิดชอบดูแลรักษาพระนคร ตามยุทธศาสตร์ที่วางไว้ ทางด้าน "ทิศเหนือ" มีวังริมป้อมพระสุเมรุ เป็นที่ประทับของ สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงจักรเจษฎา ยังเหลือร่องรอยประตูวังมาจนปัจจุบัน
...
ด้านทิศใต้ วังป้อมจักรเพชร เป็นที่ประทับของ สมเด็จพระสัมพันธวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงเทพหริรักษ์ ด้านใต้กำแพงพระบรมมหาราชวัง เป็นที่ประทับของ กรมหมื่นนรินทรพิทักษ์ รักษาพื้นที่ริมคูคลองเดิมด้านเหนือ อยู่ที่ปากคลองวัดชนะสงคราม ส่วนกรมพระราชวังบวรสถานมงคล พระราชทานให้เป็นที่ประทับของกรมขุนสุนทรภูเบศร์ข้าหลวงเดิม ในเวลาต่อมา ทรงมีพระราชดำริให้สร้างวังใกล้พระบรมมหาราชวัง ดุจปราการพระนครชั้นใน ได้แก่ พื้นที่ตรงข้ามพระบรมมหาราชวัง ด้านเหนือ โปรดให้สร้างวังเจ้านาย 3 วัง เรียงกันจากแม่น้ำเจ้าพระยา คือ
วังถนนหน้าพระลาน วังตะวันตก หรือ วังท่าพระ เป็นที่ประทับของ สมเด็จพระเจ้าหลานเธอ เจ้าฟ้าธรรมาธิเบศร์ กรมขุนกษัตรานุชิต หรือ เจ้าฟ้าเหม็น ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของมหาวิทยาลัยศิลปากร
วังถนนหน้าพระลาน วังกลาง พระราชทานให้แก่พระองค์เจ้าอรุโณทัย
ส่วน วังตะวันออก เป็นที่ประทับของ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงเทพพลภักดิ์
ขณะเดียวกัน พื้นที่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ตั้งแต่ใต้ตำหนักแพ หรือท่าราชวรดิฐ ไปจนถึงท่าเตียน เป็นที่ประทับของสมเด็จพระสัมพันธวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงพิทักษมนตรี และวังสมเด็จพระเจ้าหลานเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนอิศรานุรักษ์ ปัจจุบันไม่มีวังหลงเหลืออยู่แล้ว
ในครานั้น ทางฟากตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา โปรดให้สร้างวัง พระราชทานเจ้านาย เรียงรายกัน 3 วัง ประกอบไปด้วย "วังบ้านปูน วังสวนมังคุด และ วังสวนลิ้นจี่" เป็นวังของกรมพระราชวังหลัง วังเจ้านายสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ รายรอบพระนคร เสมือนป้อมปราการที่แข็งแรงมั่นคง เพื่อให้เจ้าของวังได้ปันหน้าที่กันรักษาวังพระนคร เสริมกับยุทธศาสตร์ที่ทรงมอบให้ พระบรมวงศานุวงศ์ ไปช่วยทำศึกสงคราม นับเป็นพระอัจฉริยภาพ ผู้ทรงเป็นทัพกรำศึกด้วยพระองค์เอง
เปิดค้าขายกับจีน เศรษฐกิจดีขึ้นชาติพัฒนา
หากย้อนกลับไปในตอนต้น ข้อมูลทางประวัติศาสตร์ได้ระบุไว้ว่า เศรษฐกิจช่วงนั้นยังไม่ดี เพราะมีการทำสงครามกับพม่าหลายครั้ง จนติดต่อค้าขายกับต่างประเทศก็ลดลง กระทั่งในปลายรัชกาลที่ 1 บ้านเมืองปลอดสงคราม ประชาชนมีเวลาประกอบอาชีพ และได้เปิดให้มีการค้าขายกับจีนเพิ่มมากขึ้น ส่งผลเศรษฐกิจดี มีเงินทำนุบำรุงบ้านเมือง สร้างพระนคร สร้างและบูรณปฏิสังขรณ์วัด สั่งซื้อและสร้างอาวุธเพื่อใช้ป้องกันพระราชอาณาเขต ทำให้บ้านเมืองและราษฎรเกิดความมั่นคงและมั่งคั่ง
สร้างวัด จัดระเบียบพระสงฆ์ ยึดเหนี่ยวใจคน
การสร้างพระราชวังและวัดในสมัยรัชกาลที่ 1 มุ่งเน้นให้มีรูปแบบเหมือนสมัยอยุธยา วัตถุประสงค์สร้างขวัญกำลังใจปวงชน เนื่องจากสมัยกรุงศรีอยุธยาบ้านเมืองเจริญรุ่งเรือง โปรดเกล้าฯ ให้ถอดแบบพระที่นั่งสรรเพชญปราสาทขึ้นมาใหม่ และพระราชทานนามว่า "พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท" และยังโปรดเกล้าฯ ให้สร้างวัดพระศรีรัตนศาสดาราม หรือ "วัดพระแก้ว" ไว้ในเขตพระบรมมหาราชวัง เพื่อใช้ในการประกอบพิธีทางพระพุทธศาสนา เช่นเดียวกับวัดพระศรีสรรเพชญ ในสมัยอยุธยา
นอกจากนี้ ยังทรงทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา ออกแบบกฎหมายคณะสงฆ์ เพื่อให้พระสงฆ์อยู่ในพระธรรมวินัย สังคายนาพระไตรปิฎกให้มีความถูกต้องสมบูรณ์ และสร้างวัด บูรณปฏิสังขรณ์วัดวาอารามต่างๆ เช่น วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม (วัดโพธิ์) วัดสุทัศนเทพวราราม วัดสระเกศ วัดระฆังโฆสิตาราม วัดสุวรรณดาราราม ตลอดจนบูรณปฏิสังขรณ์พระพุทธรูปที่ถูกทิ้งร้างตามหัวเมืองต่างๆ แล้วนำมาประดิษฐานไว้ตามวัดวาอารามที่สร้างขึ้นใหม่ เช่น อัญเชิญพระศรีศากยมุนี จากวิหารหลวงวัดมหาธาตุ จังหวัดสุโขทัย มาประดิษฐานที่วัดสุทัศนเทพวราราม เป็นต้น
ฟื้นฟูพระราชพิธี และประเพณีสำคัญสมัยอยุธยา
รัชกาลที่ 1 โปรดเกล้าฯ ให้มีพระราชพิธีบรมราชาภิเษกและพระราชพิธีสมโภชพระนคร แสดงจุดยืนความมั่นคงกอบกู้ราชธานี สร้างขวัญกำลังใจราษฎร พร้อมสืบต่อการรักษาพระราชพิธีโบราณ และทรงส่งเสริมงานวรรณกรรม โดยพระราชนิพนธ์วรรณคดีหลายเรื่อง เช่น รามเกียรติ์ เพลงยาวรบพม่าที่ท่าดินแดง นอกจากนี้พระองค์ยังโปรดเกล้าฯ ให้แปลหนังสือจีนเป็นภาษาไทย เช่น สามก๊ก ราชาธิราช แปลโดยเจ้าพระยาพระคลัง (หน) ซึ่งวรรณคดีเหล่านี้ยังเป็นที่นิยมมาถึงปัจจุบัน
ทรงพระปรีชาสามารถในการรบ นำทัพทำสงครามกับพม่า 7 ครั้ง
สงครามครั้งที่ 1 ได้รับชัยชนะตลอดทุกทัพตั้งแต่เหนือจรดใต้
เมื่อ พ.ศ. 2327 ถือเป็นสงครามครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดระหว่างไทยกับพม่า คือ สงครามเก้าทัพ เนื่องด้วย "พระเจ้าปดุง" แห่งราชวงศ์อลองพญา พม่า มีพระประสงค์จะเพิ่มพูนพระเกียรติยศและชื่อเสียงให้ขจรขจายด้วยการกำราบอาณาจักรสยาม จึงรวบรวมไพร่พลถึง 144,000 คน กรีธาทัพจะเข้าตีกรุงรัตนโกสินทร์ โดยแบ่งเป็น 9 ทัพใหญ่ เข้าตีจากรอบทิศทาง ส่วนทัพของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช มีกำลังเพียงครึ่งหนึ่งของทหารพม่า คือมีเพียง 70,000 คนเศษเท่านั้น
ด้วยพระปรีชาสามารถในการทำสงคราม ได้ทรงให้ทัพของสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาทไปสกัดทัพพม่าที่บริเวณทุ่งลาดหญ้า ทำให้พม่าต้องชะงักติดอยู่บริเวณช่องเขา แล้วทรงสั่งให้จัดทัพแบบกองโจรออกปล้นสะดม จนทัพพม่าขัดสนเสบียงอาหาร เมื่อทัพพม่าบริเวณทุ่งลาดหญ้าแตกพ่ายไปแล้ว สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท จึงยกทัพไปช่วยทางอื่น และได้รับชัยชนะตลอดทุกทัพตั้งแต่เหนือจรดใต้
สงครามครั้งที่ 2 พ.ศ. 2329 สงครามท่าดินแดงและสามสบ
ในสงครามครั้งนี้ ทัพพม่าเตรียมเสบียงอาหารและเส้นทางเดินทัพอย่างดีที่สุด โดยแก้ไขข้อผิดพลาดต่างๆ จากศึกครั้งก่อน และยกทัพเข้ามาทางด่านเจดีย์สามองค์ ตั้งค่ายอยู่ที่ท่าดินแดงและสามสบ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงยกทัพหลวงเข้าตีพม่าที่ค่ายท่าดินแดง พร้อมกับให้ทัพของสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท เข้าตีค่ายพม่าที่สามสบ
หลังจากรบกันได้ 3 วัน ค่ายพม่าก็แตกพ่ายไปทุกค่าย และพระองค์ยังได้ทำสงครามขับไล่อิทธิพลของพม่าได้โดยเด็ดขาด และตีหัวเมืองต่างๆ ขยายอาณาเขต ทำให้ราชอาณาจักรสยามมีอาณาเขตกว้างใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ ตั้งแต่ดินแดนล้านนา ไทใหญ่ สิบสองปันนา หลวงพระบาง เวียงจันทน์ เขมร และด้านทิศใต้ไปจนถึงเมืองกลันตัน ตรังกานู ไทรบุรี ปะลิส และเปรัก
สงครามครั้งที่ 3 พ.ศ. 2330 ตีเมืองลำปาง - เมืองป่าซาง
หลังจากที่พม่าพ่ายแพ้แก่สยาม ก็ส่งผลทำให้เมืองขึ้นทั้งหลายของพม่า เช่น เมืองเชียงรุ้งและเชียงตุง เกิดกระด้างกระเดื่อง ตั้งตนเป็นอิสระ พระเจ้าปดุงจึงสั่งให้ยกทัพมาปราบปราม รวมถึงเข้าตีลำปางและป่าซาง เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทราบเรื่องจึงสั่งให้สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาทคุมไพร่พล 6,000 นาย มาช่วยเหลือและขับไล่พม่าไปเป็นผลสำเร็จ
สงครามครั้งที่ 4 พ.ศ. 2330 ตีเมืองทวาย
ทรงโปรดเกล้า โปรดกระหม่อม ให้เกณฑ์ไพร่พล 20,000 นาย ยกทัพไปตีเมืองทวาย แต่สงครามครั้งนี้ไม่มีการรบพุ่ง เพราะต่างฝ่ายต่างก็ขาดแคลนเสบียงอาหาร ไพร่พลบาดเจ็บ จึงโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้ถอยทัพกลับกรุงเทพ
สงครามครั้งที่ 5 พ.ศ. 2336 ตีเมืองพม่า
ในครั้งนั้นเมืองทวาย ตะนาวศรี และมะริด ได้เข้ามาขอสวามิภักดิ์ต่อไทย พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชจึงโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้ยกทัพไปช่วยป้องกันเมือง แต่เมื่อพระเจ้าปดุงยกทัพมาปราบปรามเมืองทั้งสามก็หันกลับเข้ากับทางพม่าอีก พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชจึงโปรดเกล้าฯ ให้ถอยทัพกลับกรุงเทพฯ
สงครามครั้งที่ 6 พ.ศ. 2340 พม่าพ่ายซ้ำที่เมืองเชียงใหม่
เนื่องจากสงครามในครั้งก่อนๆ พระเจ้าปดุง แห่งพม่า ไม่สามารถตีหัวเมืองล้านนาได้ จึงรับสั่งให้ไพร่พล 55,000 นาย ยกทัพมาอีกครั้ง โดยแบ่งเป็น 7 ทัพ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช จึงโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาทคุมไพร่พล 20,000 นาย ขึ้นไปรวมไพร่พลกับทางเหนือเป็น 40,000 นาย ระดมตีค่ายพม่าเพียงวันเดียวเท่านั้น ทัพพม่าก็แตกพ่ายยับเยิน
สงครามครั้งที่ 7 พ.ศ. 2346 ไทยชนะพม่าอีกครั้งที่เมืองเชียงใหม่
ในครั้งนั้นพระเจ้ากาวิละได้ยกทัพไปตีเมืองสาด หัวเมืองขึ้นของพม่า พระเจ้าปดุงจึงยกทัพลงมาตีเมืองเชียงใหม่เพื่อแก้แค้น เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงทราบ จึงโปรดเกล้าฯ ให้ส่งกองทัพไปช่วยเหลือ และสงครามครั้งนี้ก็จบลงด้วยชัยชนะของฝ่ายไทย
วัดประจำรัชกาลที่ 1
ตามหน้าประวัติศาสตร์ ระบุไว้ว่า "วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร" หรือ วัดโพธิ์ ท่าเตียน เป็นวัดสำคัญแห่งหนึ่งของประเทศไทย และเป็นวัดประจำรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เปรียบเสมือนเป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกของประเทศด้วย เนื่องจากเป็นที่รวมจารึกสรรพวิชาหลายแขนง นอกจากนี้ ทางยูเนสโกได้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกความทรงจำโลกของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก เมื่อมีนาคม พ.ศ. 2551 อีกด้วย
ศิลาจารึก ปรากฎ หลังจากที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงสถาปนาพระบรมมหาราชวังแล้ว ทรงมีพระราชดำริว่า มีวัดเก่าขนาบพระบรมมหาราชวัง 2 วัด ด้านเหนือ คือ วัดสลัก (วัดมหาธาตุฯ) ด้านใต้คือ วัดโพธาราม จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ขุนนางเจ้ากรมช่างสิบหมู่อำนวยการบูรณปฏิสังขรณ์ เริ่มเมื่อปี พ.ศ. 2331 ใช้เวลา 7 ปี 5 เดือน 28 วัน จึงแล้วเสร็จ และโปรดเกล้าฯ ให้มีการฉลองเมื่อ พ.ศ. 2344 พระราชทานนามใหม่ว่า วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาวาศ
นอกจากนี้ที่ใต้พระแท่นประดิษฐานพระพุทธเทวปฏิมากร พระประธานในพระอุโบสถเป็นที่บรรจุพระบรมอัฐิของพระองค์ท่านไว้ด้วย ต่อมา รัชกาลที่ 4 โปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนท้ายนามวัดเป็น “วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม”
พระบรมราชานุสาวรีย์
พระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช อำเภอเมืองบุรีรัมย์ทางไปอำเภอประโคนชัย สร้างในปี พ.ศ. 2539 เพื่อเฉลิมพระเกียรติรัชกาลที่ 1 ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี ผู้ทรงก่อตั้งเมืองบุรีรัมย์ เมื่อครั้งยังทรงเป็นสมเด็จพระยามหากษัตริย์ศึก พระบรมราชานุสาวรีย์มีขนาดเท่าครึ่งของพระองค์จริง หล่อด้วยโลหะสัมฤทธิ์ ฉลองพระองค์แบบนักรบตามขัตติยราชประเพณีโบราณ ประทับบนช้างศึก
จากจดหมายเหตุประชุมพงศาวดาร ภาคที่ 7 กล่าวว่า ใน พ.ศ. 2321 สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี โปรดให้สมเด็จพระยามหากษัตริย์ศึกยกทัพไปปราบพระยานางรองซึ่งคบคิดกับเจ้าโอ เจ้าอินแห่งจำปาศักดิ์
ขณะเดินทัพพบเมืองร้างอยู่ที่ลุ่มน้ำห้วยจระเข้มาก มีชัยภูมิดีแต่ไข้ป่าชุกชุม ชาวเขมรป่าดงไม่กล้าเข้ามาอยู่อาศัย แต่ตั้งบ้านเรือนอยู่โดยรอบ จึงรวบรวมผู้คนตั้งเป็นเมืองแปะ และให้บุตรเจ้าเมืองพุทไธสมันซึ่งติดตามมาด้วยเป็นเจ้าเมือง ได้รับบรรดาศักดิ์เป็นพระยานครภักดี ต่อมาจึงเปลี่ยนชื่อเป็น เมืองบุรีรัมย์
เสด็จสวรรคต ด้วยพระโรคชรา
หลังจากพระองค์สร้างและวางรากฐานให้ประเทศชาติไว้ได้อย่างรัดกุม เมื่อผ่านพ้นการฉลองวัดพระแก้ว ต่อมาก็ทรงป่วยด้วยพระโรคชรา มีพระอาการทรุดลงไปเรื่อยๆ จนกระทั่ง เสด็จสวรรคต เมื่อวันที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2352 ณ พระที่นั่งไพศาลทักษิณ รวมพระชนมายุได้ 73 พรรษา ครองราชสมบัติ 27 ปี
พระบรมศพถูกเชิญลงสู่พระลองเงิน ประกอบด้วย พระโกศทองใหญ่แล้วเชิญไปประดิษฐานไว้ ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ภายใต้พระมหาเศวตฉัตร ตั้งเครื่องสูงและเครื่องราชูปโภคเฉลิมพระเกียรติยศตามโบราณราชประเพณี พระสงฆ์สวดพระอภิธรรม โคมกลองชนะตามเวลา ดังเช่นงานพระบรมศพพระเจ้าแผ่นดินสมัยกรุงศรีอยุธยาทุกประการ
ต่อมา พ.ศ. 2354 พระเมรุมาศ ซึ่งสร้างตามแบบพระเมรุมาศสำหรับพระเจ้าแผ่นดินสมัยกรุงศรีอยุธยา ได้สร้างแล้วเสร็จ จึงเชิญพระบรมโกศจากพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทขึ้นประดิษฐาน ณ พระเมรุมาศ แล้วจัดให้มีการสมโภชพระบรมศพเป็นเวลา 7 วัน 7 คืน จึงถวายพระเพลิงพระบรมศพ หลังจากนั้นมีการสมโภชพระบรมอัฐิและบำเพ็ญพระราชกุศล เมื่อแล้วเสร็จจึงเชิญพระบรมอัฐิประดิษฐาน ณ หอพระธาตุมณเฑียร ภายในพระบรมมหาราชวัง ส่วนพระบรมราชสรีรางคารเชิญไปลอยบริเวณหน้าวัดปทุมคงคาราชวรวิหาร
***รัชกาลที่ 1 พระองค์ทรงแสดงจุดยืนความมั่นคงกอบกู้ราชธานี ทรงสร้างขวัญกำลังใจราษฎร รวมทั้งโปรดเกล้าฯ ให้สร้างโบราณสถานสำคัญที่มีอายุความเป็นมากว่า 200 ปี และสืบต่อการรักษาพระราชพิธีโบราณ ส่งเสริมงานวรรณกรรมต่าง ทำแผ่นดินสยามให้ก้าวพัฒนาส่งต่อการปกครองสู่สมัยรัชกาลที่ 2 พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทางทีมข่าวเจาะประเด็น ไทยรัฐออนไลน์ จะนำมาเรียบเรียงถ่ายทอดให้ทราบในตอนต่อไป
(ขอบพระคุณข้อมูลจาก สำนักเลขาธิการ สำนักพระราชวัง, ข้อมูลจากประชาชนในพื้นที่ และแหล่งความรู้จากหอสมุดแห่งชาติ และวิกิพีเดีย)
ขอบพระคุณภาพจาก "คุณสุกัญญา บิลภัทร New Deligh"