คนรุ่นหลัง เด็กรุ่นใหม่อาจจะไม่คุ้นชินกับพระนามของ "สมเด็จพระราชปิตุลาบรมพงศาภิมุข เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช" ทว่าย้อนกลับไปเมื่อเกือบ 100 ปีก่อน พระบารมีคุณงามความดีที่พระองค์ทรงสร้างไว้ น้ําพระราชหฤทัย แผ่ไพศาล เป็นที่ซาบซึ้งกันดีของบรรพบุรุษไทยเราแต่โบราณ

ในสมัยนั้น คนทั้งประเทศเรียกท่านว่า "หลักเมือง" เพราะท่านเป็นหลักของพระบรมวงศานุวงศ์ และเป็นหลักสำคัญของประเทศ พระเกียรติคุณไพศาล ถือว่าเป็นเจ้านายสำคัญที่พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 6 และรัชกาลที่ 7 ทรงเคารพนับถือ เนื่องจากเป็นพระเจ้าอา หรือ "พระราชปิตุลา" เพราะพระองค์ทรงมีศักดิ์เป็น น้องชายแท้ๆ ของรัชกาลที่ 5 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

ภาพดังกล่าว หม่อมเจ้าประภาพันธุ์ ภาณุพันธุ์
ภาพดังกล่าว หม่อมเจ้าประภาพันธุ์ ภาณุพันธุ์" ได้ประทานให้ ทางทีมข่าวเจาะประเด็น นำมาเผยแพร่

...

เรื่องราวย้อนหลังที่เกี่ยวข้อง 

"สมเด็จวังบูรพา" บุตรชายคนสุดท้องของรัชกาลที่ 4

"สมเด็จพระราชปิตุลาบรมพงศาภิมุข เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช" หรือชาวบ้านเรียกว่า "สมเด็จวังบูรพา" ในขณะที่คนทั้งประเทศยกให้ท่านเป็นเสมือนเสาหลักเมืองปกป้องคุ้มครองปวงชนในเวลานั้น สมเด็จวังบูรพา เป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4) ที่ประสูติแต่สมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี พระองค์ประสูติเมื่อวันพุธที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2402 ณ พระบรมมหาราชวัง สมเด็จพระบรมชนกนาถทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดการสมโภชขึ้นเมื่อพระชันษาได้ 3 วัน และสมโภชเดือน ตามลำดับ

พระองค์มีพระพี่น้องร่วมพระมารดา 3 พระองค์ ได้แก่ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5, สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจันทรมณฑล กรมหลวงวิสุทธิกระษัตริย์ และสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจาตุรนต์รัศมี กรมพระจักรพรรดิพงษ์ เมื่อสมเด็จวังบูรพา พระชันษาได้ 2 ปี พระมารดาเสด็จสวรรคต ต่อมาพระบิดาเสด็จสวรรคตขณะพระชันษาได้ 10 ปี พระองค์เป็นผู้โปรยข้าวตอกในกระบวนแห่พระบรมศพพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4) โดยมีสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระจักรพรรดิพงษ์เป็นผู้โยง

เมื่อพระชันษาได้ 12 ปี พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) สมเด็จพระบรมเชษฐาธิราชทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีการแห่รับพระสุพรรณบัฏเป็น สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ และโปรดเกล้าฯ ให้มีพระราชพิธีโสกันต์ ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท

ภาพดังกล่าว หม่อมเจ้าประภาพันธุ์ ภาณุพันธุ์
ภาพดังกล่าว หม่อมเจ้าประภาพันธุ์ ภาณุพันธุ์" ได้ประทานให้ ทางทีมข่าวเจาะประเด็น นำมาเผยแพร่

ทรงเป็นผู้นำปกป้องดูแล "รัชกาลที่ 5" ครั้งขึ้นครองราชย์

เมื่อรัชกาลที่ 5 ขึ้นครองราชย์นั้นบรรยากาศบ้านเมืองไม่ค่อยจะเรียบร้อยนัก โดยเฉพาะกลุ่มผู้มีอำนาจซึ่งมีอยู่หลายกลุ่ม ทำให้เกิดการหวาดวิตกกังวลกันว่า พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 ท่านจะดำรงพระชนม์ ต่อไปได้หรือไม่ประการใด จะมีผู้ใดคิดการใหญ่ คิดการร้าย หรือแม้แต่สุขภาพพระองค์เองนั้นจะทรุดโทรมลงหรือไม่ รวมความแล้วคือมีคลื่นใต้น้ำอยู่ในตอนต้นของรัชกาลที่ 5 ดังนั้นจึงมีการตั้งกลุ่มองครักษ์พิทักษ์รัชกาลที่ 5 แสดงความจงรักภักดี สืบราชการลับว่ามีใครคิดร้ายต่อรัชกาลที่ 5 อย่างไร และคนที่เป็นหัวหน้าแกนนำของกลุ่มองครักษ์ดังกล่าว คือน้องชายรัชกาลที่ 5 องค์สุดท้อง “สมเด็จวังบูรพา”

...

ความยิ่งใหญ่ของ “สมเด็จวังบูรพา” มิได้มีเพียงเท่านั้น เพราะในสมัยรัชกาลที่ 5 เคยเป็นผู้แทนพระองค์เสด็จไปประเทศต่างๆ ไปเยี่ยมเยียนเจ้านายในต่างประเทศจึงได้เป็นที่รู้จักมักคุ้นทั่วไปทั่วโลกโดยเฉพาะในยุโรป และญี่ปุ่น “สมเด็จวังบูรพา” ทรงเป็นน้องที่ รัชกาลที่ 5 รักและไว้วางใจมากที่สุดในบรรดาพี่น้องทั้ง 4 พระองค์

ภาพดังกล่าว หม่อมเจ้าประภาพันธุ์ ภาณุพันธุ์
ภาพดังกล่าว หม่อมเจ้าประภาพันธุ์ ภาณุพันธุ์" ได้ประทานให้ ทางทีมข่าวเจาะประเด็น นำมาเผยแพร่

พระบิดาแห่งไปรษณีย์ไทย

ย้อนไปเมื่อช่วงตอนปลาย รัชสมัยรัชกาลที่ 4 สยามได้มีการติดต่อค้าขายกับต่างประเทศมากขึ้น มีสถานกงสุลต่างประเทศเข้ามาตั้งอยู่ในกรุงเทพฯ หลายแห่ง กงสุลอังกฤษจึงได้เปิดรับจดหมาย ที่ส่งไปติดต่อกับต่างประเทศ โดยใช้ตราไปรษณียากรของสหพันธรัฐมลายาและอินเดีย แล้วส่งไปประทับตราวันที่ที่สิงคโปร์ โดยฝากไปกับเรือสินค้าของอังกฤษ ในปี 2418

...

ต่อมา สมเด็จเจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ หรือ "สมเด็จวังบูรพา" ทรงจัดทำหนังสือพิมพ์ข่าวรายวันชื่อว่า “หนังสือค๊อตข่าวราชการ” หรือ “COURT” มีการจัดส่งหนังสือให้แก่สมาชิกทุกเช้า เมื่อไปส่งหนังสือให้สมาชิกคน สมาชิกเหล่านั้นก็จะสามารถฝากจดหมายกับคนส่งหนังสือพิมพ์ เพื่อส่งไปหาสมาชิกคนอื่นๆ ได้ โดยจะติดแสตมป์และเขียนชื่อที่อยู่ผู้รับ-ผู้ส่งให้เรียบร้อย คนส่งหนังสือข่าวราชการจึงนับเป็น “บุรุษไปรษณีย์ คนแรก” และเริ่มมีการติดแสตมป์บนจดหมาย

ต่อมารัชกาลที่ 5 ได้มีพระราชประสงค์ให้มีการไปรษณีย์และโทรเลขขึ้นในประเทศไทย เพราะทรงเห็นว่า “สมเด็จวังบูรพา" ทรงมีพระทัยใส่ในเรื่องการไปรษณีย์ จึงมีพระราชดำรัสสั่งให้สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดชร่วมกับเจ้าหมื่นเสมอใจราช จัดตั้ง กรมไปรษณีย์ และกรมโทรเลข ขึ้นเมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2426 โดยทรงดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมไปรษณีย์และกรมโทรเลขพระองค์แรก

ต่อมาในปี 2441 ได้ยุบทั้ง 2 กรมรวมเป็นกรมเดียวกันชื่อว่า “กรมไปรษณีย์โทรเลข” นับว่า "สมเด็จวังบูรพา” ทรงเป็นผู้บุกเบิกกิจการไปรษณีย์ในประเทศไทย ภายหลังทรงได้รับการยกย่องให้เป็น “พระบิดาแห่งการไปรษณีย์ไทย”

(ข้อมูลจากโรงเรียนไปรษณีย์ไทย)

ภาพดังกล่าว หม่อมเจ้าประภาพันธุ์ ภาณุพันธุ์
ภาพดังกล่าว หม่อมเจ้าประภาพันธุ์ ภาณุพันธุ์" ได้ประทานให้ ทางทีมข่าวเจาะประเด็น นำมาเผยแพร่

...

"สมเด็จวังบูรพา” เจ้านายที่มีเกียรติยศยิ่งใหญ่ที่สุดในรัชกาลที่ 7

เนื่องจากสมเด็จวังบูรพา เป็นน้องชายคนเดียวของรัชกาลที่ 5 ที่ยังมีชีวิตอยู่ และยังเป็นเสด็จอาแท้ๆ ของรัชกาลที่ 6 และ รัชกาลที่ 7 ต่อมารัชกาลที่ 7 จึงได้สถาปนา สมเด็จวังบูรพา ขึ้นเป็น "สมเด็จพระราชปิตุลาบรมพงศาภิมุข” หรือเป็น “อาของพระเจ้าแผ่นดินผู้เป็นหัวหน้าของพระบรมวงศานุวงศ์” นอกจากนี้ในสมัยรัชกาลที่ 7 ยังมีการตั้งอภิรัฐมนตรีขึ้น 5 พระองค์ เป็นที่ปรึกษาราชการ ซึ่งอภิรัฐมนตรี นั้นมีบทบาทมาตลอดในสมัยรัชกาลที่ 7 ซึ่งสมเด็จบูรพา ทรงเป็นหนึ่งใน 5 อภิรัฐมนตรี เปรียบเสมือนหัวหน้าคณะดังกล่าว

ขณะที่บรรดาเจ้านายเหล่าขุนนางจะถวายราชสมบัติให้แก่ รัชกาลที่ 7 พระองค์ยังทรงบ่ายเบี่ยงว่า พระเจ้าอาของพระองค์ คือสมเด็จวังบูรพา มีพระยศที่ยิ่งใหญ่มากและพระองค์ทรงนับถือ จึงควรถวายราชสมบัติสมเด็จวังบูรพา เป็นรัชกาลที่ 7 แต่สมเด็จวังบูรพา ทรงปฏิเสธ ไม่ทรงรับ จึงเป็นเหตุให้ในเวลาต่อมา ราชสมบัติจึงเป็นของรัชกาลที่ 7 โดยที่ไม่อาจจะทรงปฏิเสธได้ กระทั่ง ในปี 2471 ต้นรัชกาลที่ 7 “สมเด็จวังบูรพา” สิ้นพระชนม์

**คุณงามความดีที่สมเด็จวังบูรพาได้ทำไว้เพื่อผืนแผ่นดินไทย มิใช่มีเพียงเท่านี้ หากทว่าพระองค์ ยังทรงเป็นตำนานที่ควรจารึกไว้ในประวัติศาสตร์ชาติไทย รวมไปถึง ทรงเป็นเจ้าของ “วังบูรพาภิรมย์” ซึ่งเป็นที่มาของชื่อ “ทูลกระหม่อมสมเด็จวังบูรพา” เรื่องราวของพระองค์ จะดำเนินอย่างไรต่อไป ติดตามได้ใน EP.2 ค่ะ

(ผู้เขียนขอขอบพระคุณข้อมูลบางส่วนจาก ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายกฎหมาย)