เรื่องราวของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ายุคลทิฆัมพร กรมหลวงลพบุรีราเมศวร์ อุปราชมณฑลปักษ์ใต้ ที่สร้างคุณงามความดีพัฒนาหัวเมืองหลักในหลายจังหวัดของภาคใต้ตลอดระยะเวลา 15 ปี ทว่าพระองค์ยังทรงปกป้องคุ้มครองผืนแผ่นดินไทยให้รอดพ้นจากชาวต่างชาติที่จะฉวยโอกาสเข้ามาคุกคาม
ข้อมูลที่เกี่ยวข้อง กรมหลวงลพบุรีราเมศวร์ Ep.1 ปกป้อง มณฑลปักษ์ใต้ พ้นภัยคุกคามอังกฤษ
พระตำหนักเขาน้อย สถานที่ประทับของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ายุคลฑิฆัมพร กรมหลวงลพบุรีราเมศวร์ เมื่อครั้งเสด็จมาดำรงตำแหน่งสมุหเทศาภิบาล มณฑลนครศรีธรรมราช (พ.ศ.2453-2458) และต่อมาดำรงตำแหน่งสมเด็จอุปราชมณฑลปักษ์ใต้ (พ.ศ.2458-2468) ซึ่งพระตำหนักเขาน้อย จังหวัดสงขลาแห่งนี้ มีเรื่องราวประวัตศาสตร์ จารึกไว้มากมาย ที่ อ.สืบสกุล ศรีสุข ผู้อำนวยการภาคีคนรักเมืองสงขลาสมาคม อดีตอาจารย์โรงเรียนวรนารีเฉลิม และโรงเรียนมหาวชิราวุธ จ.สงขลา ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการถ่ายทอดให้ทีมข่าวเจาะประเด็นไทยรัฐออนไลน์ นำเผยแพร่ต่อ
...
สร้างโดยพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ งบ 4,000 บาท
พระตำหนักเขาน้อย จังหวัดสงขลา ลักษณะเป็นตึกทรงยุโรป 2 ชั้นครึ่ง ควบคุมการก่อสร้างด้วยนายช่างชาวอิตาลี การสร้างพระตำหนักเขาน้อยใช้เวลาเพียง 8 เดือน และใช้เงินส่วนพระองค์ไปประมาณ 4,000 บาท ภายในตำหนักตกแต่งด้วยเฟอร์นิเจอร์แบบอังกฤษ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้ากรมหลวงลพบุรีราเมศว์ เสด็จประทับ ณ ตำหนักเขาน้อย ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2455 เป็นต้นมา รวมระยะเวลากว่า 15 ปี
"จนถึงปลายเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2468 พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาวชิราวุธฯ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 เสด็จสวรรคต ณ พระที่นั่งจักพรรดิพิมาน กรมหลวงลพบุรีราเมศวร์ ได้เสด็จกลับไปยังเมืองหลวง เพื่อร่วมในพระราชพิธีพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว หลังจากเสด็จกลับไปครั้งนั้นแล้ว พระองค์ได้ประทับและทรงดำรงตำแหน่งทางราชการในกรุงเทพมหานครตั้งแต่บัดนั้น โดยมิได้เสด็จกลับมาประทับ ณ เมืองสงขลาอีกเลย"
สถานที่ประทับ รัชกาลที่ 7 สู่บ้านพักผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา
พระตำหนักเขาน้อย ก็ได้ใช้เป็นที่ประทับของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยในครั้งแรก พระองค์เสด็จประพาสเมืองสงขลา และทรงเป็นประธานในพระราชพิธีถือน้ำพิพัฒน์สัตยาเสือป่ามณฑลนครศรีธรรมราช ระหว่าง 13-19 มิถุนายน พ.ศ.2458 และอีกครั้ง พ.ศ.2460 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินมาทรงเป็นประธานพิธี วิสาขบูชาที่วัดพระบรมธาตุ นครศรีธรรมราช หลังจากปีพ.ศ. 2502 ตำหนักเขาน้อยที่อยู่ในความดูแลของจังหวัดสงขลาก็ไม่มีผู้ใดเข้าพักอาศัย
"จนกระทั่งปี พ.ศ.2507 ทางจังหวัดได้มีการปรับปรุงบูรณะให้เป็นจวนที่พักของผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา โดยมีหม่อมเจ้าทองคำเปลว ทองใหญ่ ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา (1 กรกฎาคม 2507-30 กันยายน 2515) ท่านเข้าพักเป็นคนแรก และตำหนักนี้ก็ถูกใช้เป็นบ้านพักของผู้ว่าราชการจังหวัดตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา"
รัชกาลที่ 7 ลี้ภัย "กบฏบวรเดช" หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง
กบฏบวรเดช เกิดขึ้นเมื่อ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2476 นับเป็นการกบฏครั้งแรกในประวัติศาสตร์ไทย หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี พ.ศ. 2475 สาเหตุมาจากความขัดแย้งระหว่างระบอบเก่า กับระบอบใหม่ จากข้อโต้แย้งในเรื่องเค้าโครงเศรษฐกิจที่ "นายปรีดี พนมยงค์" เป็นผู้เสนอ และถูกมองว่าเป็น "คอมมิวนิสต์" สำคัญที่สุดคือข้อโต้แย้งในเรื่องพระเกียรติยศและพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ในระบอบใหม่ เป็นผลนำไปสู่การนำกำลังทหารก่อกบฏ โดยพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดช อันเป็นที่มาของชื่อ "กบฏบวรเดช" โดยในที่สุดฝ่ายรัฐบาลสามารถปราบปรามคณะกบฏลงได้ ส่วนพระองค์เจ้าบวรเดช หัวหน้าคณะกบฏและพระชายาได้หนีไปยังประเทศกัมพูชา
และในขณะที่เกิดการกบฏบวรเดช (11-24 ตุลาคม 2475) รัชกาลที่ 7 มีพระราชประสงค์ที่จะไม่ให้ผู้ใดแอบอ้างว่าทำอะไรเพื่อราชบัลลังก์ กระทั่งราชเลขาฯ (ม.จ.วิบูลย์สวัสดิ์วงศ์ สวัสดิวัตน์) กราบบังคมทูลให้แปรพระราชฐานไปประทับที่บางปะอิน ขณะที่หลวงพิบูลสงครามก็จะส่งรถไฟมาทูลเชิญเสด็จกลับกรุงเทพฯ จึงรับสั่งให้หลวงศรสุรการไปแจ้งว่า "พระองค์ไม่ทรงยอมเข้ากับใครทั้งสองข้างไม่ว่าข้างไหน จะเป็นกลางอยู่เฉยๆ"
...
ประทับเรือลี้ภัย มุ่งหน้าลงใต้
ขณะเดียวกัน ทางกรุงเทพฯ ได้ส่งเรือหลวงสุโขทัยมาที่พระตำหนักฯ ที่หัวหินด้วย ก็ทรงเกรงว่าจะมาจับเป็นองค์ประกันเหมือนครั้งที่เปลี่ยนแปลงการปกครอง จึงตัดสินพระราชหฤทัยเสด็จฯ ประทับเรือยนต์หลวง มุ่งไปทางใต้..
ขณะที่ "พระราชดำรัสสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี" ที่พระราชทานข้อมูลแก่คณะกรรมการสมาคมนักข่าวแห่งประเทศไทย ว่า "ตอนนั้นเรามีเรือยนต์พระที่นั่งอยู่ขนาดเล็ก ตกลงออกเรือกันตอนกลางคืน มีทหารรักษาวังไปด้วย ส่วนข้าราชบริพารตอนนั้นเท่าที่จำได้ก็มีอย่างท่านประสบศรี (พันตรีหม่อมเจ้าประสบศรี จิรประวัติ ราชองครักษ์ ท.บ.) ท่านครรชิต (นาวาเอกหม่อมเจ้าครรชิตพล อาภากร ราชองครักษ์ ท.ร.) มีพ่อมีแม่ฉัน (สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระสวัสดิวัดนวิศิษฎ์ และพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าหญิงอาภาพรรณี) แล้วก็มีน้องชายอีกคน มีท่านกมลีสาน (หม่อมเจ้ากมลีสาน ชุมพล) หม่อมราชวงศ์สมัครสมาน กฤดากร...
สำหรับเจ้านายพระองค์อื่นๆ ที่ตามเสด็จฯ ไปประทับแรมที่หัวหิน ในเวลานั้น พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ได้โปรดเกล้าฯ ให้หม่อมเจ้าศุภสวัสดิ์วงศ์สนิท สวัสดิวัตน์ เป็นหัวหน้าดูแล ติดต่อหาทางนำเสด็จโดยรถไฟตามไปเฝ้าฯ ที่จังหวัดสงขลา..
ตำหนักเขาน้อย จังหวัดสงขลา ที่พึ่งลี้ภัยของรัชกาลที่ 7 และพระบรมวงศานุวงศ์
วันที่ 23 ตุลาคม 2476 เพื่อความปลอดภัย ข้าราชบริพารพร้อมใจกันพารัชกาลที่ 7 ระหกระเหิน โดยเรือศรวรุณ พร้อมด้วยพระบรมวงศานุวงศ์ ท่ามกลางสภาวะอากาศเลวร้ายในทะเล ใช้เวลากว่าสองวันจึงถึงจังหวัดสงขลา ไปประทับ ณ ตำหนักเขาน้อย จังหวัดสงขลา
ขณะที่ หม่อมเจ้ารัสสาทิศ กฤดากร ผู้ทรงอยู่ร่วมในเหตุการณ์เวลานั้นได้ทรงเล่าว่า..."ในรถไฟขบวนนั้น จำได้ว่ามีสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยานริศรานุวัติวงศ์ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ หม่อมเจ้าศุภสวัสดิ์วงศ์สนิท และหม่อมเสมอ รวมทั้งพระธิดา
...
"รถไฟไปถึงสงขลาประมาณ 08.00 นาฬิกา ของวันรุ่งขึ้น เมื่อบรรดาเจ้านายเสด็จไปถึงพระตำหนักเขาน้อย ของสมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงลพบุรีราเมศร์ ก็พากันทรงวิตกไปตามๆ เพราะพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และสำหรับชีวิตส่วนพระองค์นั้น พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวกับสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ยังเดินทางมาไม่ถึง จวบจนกระทั่งถึงตอนเย็นวันนั้น จึงได้เสด็จฯ มาถึงและประทับแรมอยู่ที่พระตำหนัก โดยประทับอยู่ที่ชั้น 2 ของพระตำหนัก ส่วนเจ้านายฝ่ายในอื่นๆ ประทับอยู่บนชั้น 3 ซึ่งใช้เวลาประทับอยู่ที่พระตำหนักเขาน้อยเกือบสองเดือน จึงได้เสด็จพระราชดำเนินกลับพระนครโดยทางเรือ"
...
(ข้อมูลอ้างอิงจากหนังสือ :: "สมเด็จพระบรมราชินีกับการเปลี่ยนแปลงการปกครอง")
พระตำหนักเขาน้อย ที่ประทับในหลวง ร.9
พระตำหนักเขาน้อย ตั้งอยู่เชิงเขาน้อยทางทิศใต้ ถนนสะเดา อำเภอเมือง เคยใช้เป็นที่ประทับของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระนางฯ เจ้าพระบรมราชินีนาถ (พระยศ ณ ขณะนั้น) ในคราวเสด็จฯ ไปทรงเยี่ยมราษฎรในจังหวัดภาคใต้ เมื่อเดือนมีนาคม 2502 ปัจจุบันใช้เป็นจวนผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา
ปัจจุบัน พื้นที่บางส่วนเปิดให้ประชาชนเข้าชมได้
ตำหนักเขาน้อยมีตัวอาคารเป็นแบบยุโรป สูง 3 ชั้น ชั้นล่างประตูทางเข้าเป็นประตูโค้ง (Arch) มีลวดลายปูนปั้นประดับเหนือวงโค้งประกอบด้วย 6 ห้อง คือ ห้องโถง ห้องรับแขก ห้องอาหาร ห้องกระจก ห้องครัว ห้องเก็บของ ชั้นที่ 2 ประกอบด้วย 9 ห้อง คือ ห้องนอน 2 ห้อง ห้องแต่งตัว 2 ห้อง ห้องคนใช้ ห้องสมุด ห้องเลขาฯ ส่วนตัว และห้องน้ำ 2 ห้อง ชั้นที่ 3 ประกอบด้วย ห้องนอน 3 ห้อง ทางทิศตะวันตกมีหอคอย ซึ่งทำหลังคาโค้ง ภายในตัวตำหนักตกแต่งด้วยเครื่องเรือนไม้แบบอังกฤษ
กรมศิลปากร ประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานของชาติในหนังสือราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 111 ตอนที่ 20 วันที่ 10 มีนาคม 2537 การเดินทางสู่พระตำหนักเขาน้อย ตั้งอยู่ใจกลางเมือง ถนนสะเดา ตำบลบ่อยาง อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา เปิดให้เข้าชมได้ในบางส่วน เนื่องจากปัจจุบันเป็นจวนผู้ว่าราชการจังหวัด
**ประวัติศาสตร์ชาติไทย ไม่ว่าจะเป็นโบราณสถาน โบราณวัตถุ และเรื่องราวข้อเท็จจริงที่ถูกถ่ายทอดจากบุคคลในยุคดังกล่าว ส่งผลให้จังหวัดสงขลา มีประวัติความเป็นมาที่น่าสนใจ มีนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกเดินทางมาเยี่ยมชมความงาม รวมไปถึงรายละเอียดอีกมากมายที่เราจะติดตามต่อไปในตอนสุดท้าย Ep.3 จากข้อมูลของ อ.สืบสกุล ศรีสุข ผู้อำนวยการภาคีคนรักเมืองสงขลาสมาคม