แน่นอนว่าหลายคนรู้จักชื่อเสียงของ "วังสระปทุม" ตามคำบอกเล่าของญาติผู้ใหญ่ รวมไปถึงเนื้อหาความรู้ที่ถูกบรรจุอยู่ในการเรียนการสอนต่อๆ กันมาหลายยุคสมัย กระทั่งจวบจนปัจจุบัน "วังสระปทุม" ยังถือเป็นโบราณสถานที่มีชีวิตชีวา เนื่องจากเป็นสถานที่สำคัญของเจ้านายชั้นสูงหลายพระองค์ ปลูกสร้างกลางใจเมือง บริเวณถนนพระรามที่ 1 และถนนพญาไท แขวงปทุมวัน เขตปทุมวัน
"วังสระปทุม" นอกจากจะเป็นศูนย์รวมให้ความรู้ด้านประวัติศาสตร์แล้ว ยังเป็นวังที่มีสถาปัตยกรรมงดงาม มีตำนานที่มาเป็นลายลักษณ์อักษร ซึ่งทางทีมข่าวเจาะประเด็นไทยรัฐออนไลน์ จะนำข้อมูลความรู้เหล่านั้นมาเรียบเรียงถ่ายทอดสู่ประชาชนคนไทยอีกครั้ง
บ้านหลังแรก
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงรักและผูกพันกับวังสระปทุม เนื่องจากเป็นที่ประทับแห่งแรกในประเทศไทย หลังจากเสด็จนิวัตกลับประเทศไทย พร้อมด้วยสมเด็จพระบรมราชชนก สมเด็จพระบรมราชชนนี พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล และสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ ณ ขณะนั้นทรงมีพระชนมพรรษาเพียง 1 พรรษาเท่านั้น
กระทั่งเมื่อพระองค์มีพระชนมพรรษา 2 พรรษา สมเด็จพระบรมราชชนกสิ้นพระชนม์ ทรงได้รับการอภิบาลจากสมเด็จพระบรมราชชนนี และสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ทั้งด้านการศึกษาและการอบรมให้มีพระอุปนิสัย และพระราชจริยวัตรอันงดงาม ตราบเมื่อทรงเจริญพระชนมพรรษา และทรงครองสิริราชสมบัติ
...
วังแห่งความรัก สถานที่อภิเษกสมรส
สถานที่แห่งนี้ เคยใช้ในการจัดพิธีอภิเษกสมรสระหว่าง สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ามหิดลอดุลยเดช กรมขุนสงขลานครินทร์ และสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี เมื่อวันที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2463 ซึ่งในคราวนั้น พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 เสด็จพระราชดำเนินมาเป็นประธาน
อีกทั้งยังเป็นสถานที่จัดพระราชพิธีราชาภิเษกสมรส ระหว่าง พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ โดยมีสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าทรงเป็นประธาน เมื่อวันที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2493
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงลงพระปรมาภิไธยในทะเบียนสมรส และโปรดให้สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ลงพระนามด้วยเช่นกัน พร้อมทั้งพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ราชสักขีพยานลงนามในทะเบียนด้วย หลังจากนั้นสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าเสด็จออกในพระราชพิธีถวายน้ำพระพุทธมนต์เทพมนต์ แด่ทั้ง 2 พระองค์ และพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช โปรดเกล้าฯ ให้อาลักษณ์อ่านประกาศสถาปนาหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากร ขึ้นเป็น สมเด็จพระราชินี พระยศของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ณ สถานที่แห่งนี้อีกด้วย
ปัจจุบันตั้งอยู่ใจกลางเมืองหลวง ย่านเศรษฐกิจของไทย
"วังสระปทุม" ตั้งอยู่บริเวณเขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร ทางด้านทิศเหนือติดคลองแสนแสบ ทิศตะวันออกติดคลองอรชร ริมวัดปทุมวนารามราชวรวิหาร ทิศใต้ติดถนนพระรามที่ 1 และทิศตะวันตกติดถนนพญาไท ปัจจุบันพื้นที่ของวังแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ซึ่งส่วนแรกเป็นพื้นที่ประทับของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ส่วนที่ 2 เป็นพื้นที่ให้เช่าสร้างศูนย์การค้าและห้างสรรพสินค้ากลุ่มวันสยาม ได้แก่ สยามดิสคัฟเวอรี สยามเซ็นเตอร์ และสยามพารากอน ซึ่งทั้งสามห้างนี้ดำเนินงานโดย บริษัท สยามพิวรรธน์ จำกัด และอยู่ด้านหน้าวังสระปทุม ติดกับถนนพระรามที่ 1 และอยู่ด้านตรงข้ามกับสยามสแควร์
เดิมทีวังนี้สร้างไว้ให้ สมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลอดุลยเดช กรมขุนสงขลานครินทร์
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 พระราชทานที่ดินบริเวณถนนปทุมวันถึงคลองแสนแสบ ให้สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหิดลอดุลยเดช กรมขุนสงขลานครินทร์ พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ในการสร้างวัง แต่ยังไม่ทันได้ดำเนินการ สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหิดลอดุลยเดช กรมขุนสงขลานครินทร์ เสด็จฯ ไปศึกษาต่อที่ประเทศสหรัฐอเมริกาเสียก่อน ดังนั้นการสร้างวังจึงถูกพักไว้
...
ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เสด็จสวรรคต พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ก็ทรงสานต่อพระราชประสงค์ของรัชกาลที่ 5 โดยพระราชทานสิทธิ์ในที่ดินบริเวณนั้นให้เป็นของ สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ามหิดลอดุลยเดช กรมขุนสงขลานครินทร์ ในเวลาต่อมา
สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ได้เสด็จออกจากพระบรมมหาราชวัง และเสด็จไปประทับ ณ พลับพลาไม้ริมคลองแสนแสบ ในช่วงระหว่างดำเนินการก่อสร้างวังบนที่ดินพระราชทานเป็นการชั่วคราว สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ทรงวางผังในการสร้างพระตำหนักด้วยพระองค์เอง ให้ถูกต้องตามฤดูกาลและทิศทางลม เนื่องจากพระองค์ทรงมีพระอัจฉริยภาพทางด้านนี้เป็นอย่างมาก หลังจากการสร้างพระตำหนักแล้วเสร็จ พระองค์ก็เสด็จฯ มาประทับอยู่เป็นการถาวร
...
ที่ประทับสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
เมื่อสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ามหิดลอดุลยเดช กรมขุนสงขลานครินทร์ เสด็จฯ กลับไทยแล้ว สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า จึงโปรดให้สร้างพระตำหนักขึ้นอีกหลัง เพื่อใช้เป็นที่ประทับของพระราชโอรส ต่อมาสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ามหิดลอดุลยเดช กรมขุนสงขลานครินทร์ เสด็จสวรรคต ปี พ.ศ. 2472 วังสระปทุมแห่งนี้ก็ยังใช้เป็นที่ประทับของ พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า และสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี จนกระทั่ง ปี พ.ศ. 2498 พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า เสด็จสวรรคต และต่อมาในปี พ.ศ. 2538 สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี เสด็จสวรรคต หลังจากนั้น พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานวังสระปทุมแห่งนี้ให้เป็นที่ประทับของ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มาจนถึงปัจจุบัน
สำหรับมุมโปรดภายในวังสระปทุม ในหลวง ร.9 ทรงโปรดทุกมุม เพราะวังสระปทุมแห่งนี้ คือบ้านที่เต็มไปด้วยความรัก ความอบอุ่น และความทรงจำที่งดงามของพระองค์เสมอ
3 พระตำหนัก 1 เรือนพักข้าราชบริพาร
การออกแบบและก่อสร้างวังโดย "เปาโล ปิอาชินี" สถาปนิกชาวอิตาเลียน โครงสร้างหลักรูปทรงแบบยุโรป ตกแต่งอาคารด้วยการทาสีสว่าง ภายในวังสระปทุม ประกอบด้วย พระตำหนักทั้งหมด 3 แห่ง และเรือนข้าราชบริพารอีก 1 แห่ง
- พระตำหนักใหญ่
เป็นพระตำหนักใหญ่ที่ตั้งอยู่เกือบใจกลางของวังสระปทุม ซึ่งสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ทรงใช้เป็นตำหนักที่ประทับ ลักษณะโครงสร้างเป็นสไตล์ยุโรป รูปแบบอาคาร 2 ชั้น ตกแต่งอาคารพระตำหนักด้วยสีเหลืองเข้ม ภายในถูกแบ่งออกเป็นห้องและพื้นที่ต่างๆ ตกแต่งด้วยเฟอร์นิเจอร์และของตกแต่งชั้นเยี่ยมจากต่างประเทศส่วนใหญ่ ความพิเศษของการออกแบบนั่นก็คือ สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ทรงออกแบบผังภายในอาคารให้สามารถรับลมและแสงได้อย่างเหมาะสม จนทำให้มีอากาศถ่ายเทสะดวก อีกทั้งพระตำหนักแห่งนี้ยังเคยเป็นที่รับรองพระราชอาคันตุกะสำคัญ
...
ซึ่งปัจจุบัน สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงจัดตั้งให้เป็น “พิพิธภัณฑ์สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า” เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ตามพระราชปรารภของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช
- พระตำหนักเขียว
ตั้งอยู่บริเวณริมคลองแสนแสบ และเป็นพระตำหนักที่สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า รับสั่งให้สร้างขึ้นเป็นแห่งแรก เพื่อใช้เป็นที่ประทับภายในวังสระปทุม ลักษณะของพระตำหนักเขียว เป็นอาคารที่ก่ออิฐถือปูน ตกแต่งตัวอาคารด้วยสีเขียว และเคยใช้เป็นที่ประทับของพระบรมวงศานุวงศ์หลายพระองค์
- พระตำหนักใหม่
พระตำหนักแห่งนี้ถูกสร้างขึ้นใหม่หลังจากที่ สมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลอดุลยเดช กรมขุนสงขลานครินทร์ ทรงสำเร็จการศึกษาและเสด็จกลับไทย โดยให้ หม่อมเจ้าอิทธิเทพสรรค์ กฤดากร เป็นสถาปนิกผู้ออกแบบและดำเนินการก่อสร้าง มีลักษณะอาคารที่เป็นแบบอังกฤษ ต่อมาชาววังได้ขนานนามพระตำหนักแห่งนี้ว่า “พระตำหนักใหม่” นั่นเอง
- เรือนข้าราชบริพาร
มีการก่อสร้างถึง 2 ครั้งด้วยกัน ในครั้งแรกนั้นสร้างขึ้นพร้อมพระตำหนักใหญ่ เป็นเรือนไม้ชั้นเดียว ตกแต่งด้วยสีเขียว มีการฉลุขอบเชิงชายและช่องลมให้เป็นจุดเด่น และในครั้งที่ 2 สร้างขึ้นพร้อมพระตำหนักใหม่ ด้วยการก่ออิฐถือปูนให้เป็นอาคาร 2 ชั้น
พิพิธภัณฑ์สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า
หลังจาก สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จประทับ ณ วังสระปทุมแล้ว พระองค์ทรงระลึกถึงพระราชปรารภแห่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ที่ทรงพระราชดำริว่าวังสระปทุมเป็นสถานที่สำคัญแห่งพระราชวงศ์และชาติ สมควรที่จะจัดตั้งเป็นพิพิธภัณฑ์ขึ้นเพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า
สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จึงทรงจัดตั้ง "พิพิธภัณฑ์สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า" ขึ้นภายในวังสระปทุม เพื่อเป็นแหล่งศึกษาพระราชกรณียกิจของสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า อย่างถูกต้องและครบถ้วน โดยทรงใช้พระตำหนักใหญ่ที่ประทับของสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า เป็นสถานที่ตั้งของพิพิธภัณฑ์ การเข้าชมต้องโทรมาจองล่วงหน้าก่อนทุกครั้ง
เปิดเพียงปีละ 3 ครั้ง ต้องโทรมาจอง
วังสระปทุม จะเปิดให้ประชาชนทั่วไปเข้าชมได้เฉพาะส่วนของพิพิธภัณฑ์สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าเท่านั้น และเปิดเพียงปีละ 3 ครั้ง ค่าเข้าชมสำหรับผู้ใหญ่ 150 บาท และนักเรียน-นักศึกษา 50 บาท หากใครสนใจสามารถสอบถามรายละเอียด และจองล่วงหน้าได้ที่เบอร์โทรศัพท์ 02-252-1965-7 ที่อยู่ เลขที่ 195 ถนนพญาไท แขวงปทุมวัน เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ 10330
ข้อมูลและรูปภาพจาก
www.queensavang.org
www.facebook.com/queensavangmuseum
ชมนิทรรศการ “บรมกษัตริยาธิราช”