อธิบดีกรมการข้าว หวั่นพายุมูนเข้าไทยทำให้เกิดฝนตกหนัก อาจเกิดความเสียหายกับนาข้าวได้ จึงได้สั่งกำชับเจ้าหน้าที่ดูแลชาวนาอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะบริเวณที่จะได้รับผลกระทบจากพายุ พร้อมขอรับคำแนะนำการฟื้นฟูนาข้าวได้จากศูนย์วิจัยข้าว ศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าว สำนักงานเกษตรอำเภอ และสำนักงานเกษตรจังหวัด...


เมื่อวันที่ 3 ก.ค.62 นายประสงค์ ประไพตระกูล อธิบดีกรมการข้าว เปิดเผยว่า หลังจากกรมอุตุนิยมวิทยามีประกาศเตือน เรื่อง พายุ "มูน" (Mun) บริเวณทะเลจีนใต้ตอนบน ซึ่งคาดว่าพายุนี้จะเคลื่อนขึ้นฝั่งระหว่างประเทศเวียดนามตอนบนและประเทศจีน ในช่วงวันที่ 3 - 4 ก.ค.นี้ ทำให้ประเทศไทยมีฝนตกหนักถึงหนักมาก บางแห่งมีลมแรง โดยเฉพาะบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้

"จึงอยากให้พี่น้องชาวนาบริเวณดังกล่าว ระวังอันตรายจากฝนที่ตกสะสมไว้ด้วย ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และอาจเกิดความเสียหายกับนาข้าวได้ กรมการข้าวจึงได้มอบหมายให้ศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าว และศูนย์วิจัยข้าวในพื้นที่ ดูแลเฝ้าระวังสถานการณ์อย่างใกล้ชิด พร้อมเข้าช่วยเหลือเป็นการเร่งด่วน และประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้กับชาวนาได้อย่างทันท่วงที" อธิบดีกรมการข้าวกล่าว

...



นายประสงค์ กล่าวต่อว่า การฟื้นฟูนาข้าวที่อาจได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม มีวิธีดูแล ดังนี้ กรณีที่ 1 สำหรับแปลงนาที่น้ำท่วมขังไม่นาน น้ำสูงไม่ถึงยอดข้าวและต้นข้าวยังไม่ตาย ให้รีบระบายน้ำออกจากแปลงนา ให้เหลือ 5-10 เซนติเมตร และให้เกษตรกรพิจารณาฟื้นฟูนาข้าวหลังจากน้ำลด หากต้นข้าวยังเขียวอยู่เกิน 3 วัน มีสีเขียวมาก มีการฟื้นตัวงอกงามขึ้น ไม่แสดงอาการขาดปุ๋ย เกษตรกรไม่ต้องใส่ปุ๋ย ให้ดูแลโรคและแมลงไม่ให้รบกวนเท่านั้น แต่ถ้าต้นข้าวเริ่มมีสีเหลืองที่ใบ ไม่งอกงาม ให้ใส่ปุ๋ยยูเรีย อัตรา 3-5 กิโลกรัมต่อไร่ หรือแอมโมเนียมซัลเฟต ไร่ละ 5-10 กิโลกรัม หลังจากนั้นอีก 15-20 วัน ต้นข้าวยังไม่งอกงามเท่าที่ควร ให้หว่านปุ๋ยสูตรเดิมอีกในปริมาณที่ลดลง แต่ถ้าใส่ปุ๋ยไปครั้งเดียวต้นข้าวงอกงามดีแล้ว ก็ไม่ต้องใส่ปุ๋ยอีก เพราะปุ๋ยที่มากเกินไป จะทำให้เกิดโรคแมลงรบกวนหรือต้นล้ม

กรณีที่ 2 สำหรับแปลงนาที่ข้าวออกรวงแล้วใกล้สุกแก่ ให้เร่งระบายน้ำจนแห้งและไม่ต้องใส่ปุ๋ยเพราะต้นข้าวไม่ต้องการปุ๋ยสำหรับการเจริญเติบโตและสร้างรวงแล้ว เกษตรกรควรเฝ้าระวังโรคแมลงรบกวนเท่านั้น กรณีที่ 3 สำหรับเกษตรกรที่เก็บเกี่ยวข้าวระยะสุกเต็มที่เพื่อหนีน้ำ ให้นำข้าวที่เก็บเกี่ยวไปตากเพื่อลดความชื้นโดยเร็ว กรณีที่ 4 เพื่อป้องกันหนอนกระทู้คอรวง หนอนกระทู้กล้า โรคไหม้ และโรคขอบใบแห้งระบาดหลังน้ำลด เกษตรกรควรกำจัดวัชพืชบริเวณพื้นที่นาและคันนาโดยรอบให้สะอาด กรณีที่ 5 ในพื้นที่ที่มีปัญหาน้ำท่วมฉับพลันอยู่เป็นประจำ ให้ชาวนาพิจารณาใช้พันธุ์ข้าวทนน้ำท่วมฉับพลันปลูก เช่น พันธุ์ กข59, กข55, ปทุมธานี 1 และ กข49 เป็นต้น

ทั้งนี้ ชาวนาที่นาข้าวของตนได้รับผลกระทบจากปัญหาน้ำท่วม สามารถขอรับคำแนะนำการฟื้นฟูนาข้าวได้จากศูนย์วิจัยข้าว ศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าว สำนักงานเกษตรอำเภอ และสำนักงานเกษตรจังหวัด ในพื้นที่ใกล้บ้านท่าน.