แรงงานข้ามชาติ โดยเฉพาะแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้าน มีบทบาทต่อการพัฒนาเศรษฐกิจไทย ซึ่งไทยแลนด์แดนสวรรค์ได้กลายเป็นขุมทองคำของแรงงานข้ามชาติ อพยพเข้ามาทำมาหากินในหัวเมืองหลัก โดยเฉพาะพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล
ในภาคเกษตรกรรม ภาคประมง ภาคอุตสาหกรรมที่มีความต้องเร่งเพิ่มผลผลิตทันต่อการส่งออก แต่งานแบบนี้คนไทยมองว่าเป็นอาชีพมีความเสี่ยง ลำบาก สกปรก...ในโรงงานอุตสาหกรรมหลายประเภท ซึ่งหาแรงงานคนไทยทำได้ยาก เปิดโอกาสให้แรงงานประเทศเพื่อนบ้านเข้ามาทำงานอย่างถูกต้องตามกฎหมาย
ประเด็นน่าสนใจมีว่า...เมื่อถึงวันหยุดงานปลายสัปดาห์ หรือวันหยุดวันหยุดนักขัตฤกษ์ แรงงานต่างชาติทั้งหญิงชาย มีวาระนัดพบปะสังสรรค์กันพักผ่อน ปูเสื่อซื้ออาหารนั่งเล่น นอนเล่นพักผ่อนหย่อนใจอยู่ตามร่มต้นไม้ ตามสวนสาธารณะใหญ่ๆ...มาทั้งแบบครอบครัว คู่บ่าวสาว กลุ่มเพื่อนฝูง เพราะมีกิจกรรมให้เลือกทำกันตามอัธยาศัย ไม่ว่าจะเป็นการเดิน วิ่ง หรือปั่นจักรยาน ที่แทบจะไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ
ปัจจุบันในพื้นที่กรุงเทพฯ มีสวนสาธารณะ 37 แห่ง และสวนสาธารณะรอง 60 แห่ง แต่มีสวนสาธารณะ 5 แห่ง ที่ประชาชนทั้งคนไทยและต่างชาตินิยมมาใช้มากที่สุด ได้แก่ 1.สวนลุมพินี มีผู้ใช้ในวันธรรมดา 11,833 ราย วันหยุดราชการ 13,500 ราย 2.สวนวชิรเบญจทัศ (สวนรถไฟ)
วันธรรมดามีผู้ใช้ 7,083 ราย วันหยุดราชการ 17,083 ราย 3.สวนสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ วันธรรมดามีผู้ใช้ 11,462 ราย วันหยุดราชการ 10,853 ราย 4.สวนจตุจักร วันธรรมดามีผู้ใช้ 4,463 ราย วันหยุดราชการ 13,955 ราย
และ 5.สวนหลวง ร.9 มีผู้ใช้วันธรรมดา 4,835 ราย วันหยุดราชการ 8,260 ราย
แต่ทว่า...มีปัญหาเกิดขึ้นจากแรงงานข้ามชาติชายกลุ่มเล็กๆบางกลุ่มเท่านั้น นัดรวมกลุ่มกันจัดปาร์ตี้ ร่ำสุรา เบียร์ อยู่ตามร้านค้าริมรั้วสวนรถไฟ ถนนกำแพงเพชร 3 บ้างก็นั่งตั้งก๊งกันตามริมฟุตปาทอย่างโจ๋งครึ่ม เมาสุรา ส่งเสียงดังสร้างความรำคาญหวาดกลัวให้กับผู้มาสวนสาธารณะ บางครั้งรุนแรงถึงขั้นทะเลาะวิวาทกับแรงงานต่างกลุ่มอีก กลายเป็น “ปลาเน่าตัวเดียวเหม็นทั้งข้อง” ทำให้คนไทย รวมถึงนักท่องเที่ยวต่างชาติ รู้สึกไม่ปลอดภัย เริ่มเบนหน้าหนี...ลดน้อยลงทุกที ไม่กล้าที่จะเข้ามาพักผ่อนที่สวนรถไฟ หรือสวนจตุจักร
...
เจ้าหน้าที่ รปภ.สวนรถไฟบอกว่า ในวันเสาร์-อาทิตย์ แรงงานต่างด้าวชาวเมียนมา กัมพูชา ลาว นิยมมาพบปะสังสรรค์กัน มีทั้งมาแบบเป็นคู่รัก ครอบครัว พบปะซื้ออาหาร ขนมมานั่งคุยกันอย่างมีความสุขสนุกสนาน แต่มีกลุ่มผู้ชายบางคนเข้ามาเที่ยวมีพฤติกรรมไม่เหมาะสม ส่วนใหญ่เป็นขาประจำที่คุ้นเคยและเคยมาบ่อยครั้ง พอมีความรู้กฎหมายไทย และรู้เรื่องกฎระเบียบของหน่วยงานภาครัฐ กลายเป็น “พวกหัวหมอรู้มาก” ผันตัวเองเป็นขาใหญ่ ตั้งกลุ่มเป็นแก๊ง นัดใส่เสื้อผ้าเป็นทีมเดียวกัน เข้ามาสร้างความหนักใจให้กับเจ้าหน้าที่ รปภ.
ยกตัวอย่างเช่น การดื่มสุรา พวกนี้จะรู้ว่าในสวนจตุจักรห้ามดื่มสุราของมึนเมา ก็จะหลีกเลี่ยงนั่งดื่มสุราอยู่ตามร้านขายอาหารที่มีสุรา เบียร์ จำหน่ายอยู่ตามรั้วสวนสาธารณะ หรือนั่งดื่มสุราตามริมฟุตปาทข้างริมรั้วสวนจตุจักร แต่ รปภ.ห้ามปรามไม่ได้ เพราะอยู่นอกพื้นที่สวนสาธารณะ จึงได้แต่สังเกตการณ์เท่านั้น เพราะเคยเข้าไปตักเตือนห้ามดื่มสุรา แต่พวกนี้จะอ้างว่าไม่ได้เข้าไปกินในสวนสาธารณะ ไม่ผิดกฎหมายหรือระเบียบอะไร
รปภ.คนเดิมบอกต่ออีกว่า พอแอลกอฮอล์เริ่มออกฤทธิ์ ก็ยกพวกกันเข้าไปในสวนจตุจักร หรือสวนรถไฟ นั่งเล่นกีตาร์ร้องเพลงส่งเสียงดัง และมีพฤติกรรมก่อกวนแรงงานกลุ่มอื่น โดยเฉพาะหญิงสาวพวกนี้จะพูดจาส่งเสียงแซวแทะโลมด้วยถ้อยคำสองแง่สองง่าม ก่อความวุ่นวาย
เมื่อ รปภ.เข้าไปตักเตือนก็จะเงียบลง หรือเชิญตัวออกไป จะย้ายไปจุดอื่นเช่นเดิม เพราะพื้นที่สวนรถไฟ...สวนจตุจักรทั้งกว้าง และใหญ่ ขณะที่ รปภ.มีไม่กี่คน ทำให้การดูแลไม่ทั่วถึง บ่อยครั้งแรงงานต่างด้าวเขม่นกลุ่มอื่นจนเกิดการทะเลาะวิวาทวิ่งไล่ตีกัน เมื่อปลายปี 2561 กลุ่มแรงงานเมียนมายกพวกตีกับกลุ่มแรงงานไทใหญ่ที่ลานจอดรถสวนจตุจักร มีผู้ได้รับบาดเจ็บถูกมีดฟันศีรษะ 1 ราย
ปรีชา จิตตวานิช อายุ 75 ปี ที่มาออกกำลังกายในสวนรถไฟ บอกว่า ยอมรับว่าคนไทยไม่ค่อยมาสวนรถไฟและสวนจตุจักร เพราะแรงงานเพื่อนบ้าน เข้ามาเที่ยวเยอะมาก โดยเฉพาะวันหยุดนักขัตฤกษ์ กลายเป็นแหล่งชุมนุมของแรงงานต่างชาติยึดสวนสาธารณะ แต่ไม่ใช่ว่าจะกล่าวหาว่าพวกเขาเป็นคนไม่ดี ส่วนใหญ่จะมานั่งคุยกันอย่างสงบเงียบ แต่ปัญหาที่เกิดจากเพียงบางคน มีพฤติกรรมไม่เหมาะสม
คิดว่าตัวเองเป็นเจ้าพ่อใหญ่ และพบบ่อยครั้งทะเลาะวิวาทกัน
เมื่อ 2 ปีก่อนหน้านี้ แรงงานเพื่อนบ้านกะเหรี่ยงและแรงงานไทใหญ่ ยกพวกตีกัน มีแรงงานไทใหญ่ถูกมีดฟันแขนขาด 1 ราย และมีผู้ได้รับบาดเจ็บอีกหลายคน จากนั้น รปภ.ตั้งจุดตรวจอาวุธประตูทางเข้าสวนรถไฟ และเจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.บางซื่อ เข้ามาตรวจปราบไม่ให้ก่อเหตุได้อีก แต่สวนรถไฟ มีเนื้อที่ 375 ไร่ ไม่มีรั้วกั้น ทำให้แอบนำอาวุธเข้ามาก่อเหตุตีกันประจำ กลายเป็นว่าคนไทยคิดว่าสวนสาธารณะไม่ปลอดภัย เกรงว่าจะถูกทำร้าย
เช่นเดียวกับ น.ส.พัดชา คนอมงาม ชาวปทุมธานี ที่รู้สึกไม่ปลอดภัย เคยทราบข่าวมาบ่อยครั้ง สวนรถไฟและสวนจตุจักรกลายเป็นสนามประลองพลังกัน ทุกครั้งเข้ามาเที่ยวพักผ่อนสวนรถไฟหรือสวนจตุจักร ต้องคอยระวังตัวอยู่ตามจุดที่มีคนพลุกพล่าน หลีกเลี่ยงจุดที่มีแรงงานเพื่อนบ้านชายรวมกลุ่มกัน จะทำให้เรามีความปลอดภัย
“ยอมรับว่าสวนรถไฟและสวนจตุจักรเป็นสวนสาธารณะที่มีชื่อเสียงระดับต้นๆของประเทศไทย ด้วยต้นไม้เยอะ มีร่มไม้ พื้นที่กว้างขวาง เหมาะกับการพักผ่อน มีกิจกรรมให้ทำหลากหลาย เป็นที่ชื่นชอบของครอบครัวที่สามารถมารับประทานอาหาร ปั่นจักรยานเล่นได้อย่างปลอดภัย หากไม่มีความปลอดภัยก็ไม่มีใครอยากจะมาใช้บริการ จึงอยากให้หน่วยงานรับผิดชอบเพิ่มเจ้าหน้าที่ รปภ.ตามจุดต่างๆให้ทั่วถึง หากเกิดเหตุอะไรสามารถขอความช่วยเหลือทันท่วงทีได้” น.ส.พัดชา ทิ้งท้าย
...
อย่างไรก็ตาม ทางกรุงเทพมหานคร หน่วยงานรับผิดชอบโดยตรงในการดูแลบำรุงรักษาอาคารและอุปกรณ์ต่างๆสวนสาธารณะ รวมถึงการดูแลความปลอดภัยให้กับผู้เข้ามาใช้บริการในสวนสาธารณะ จักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าฯ กทม. ยืนยันถึงมาตรการว่า กรุงเทพมหานครมีสวนสาธารณะต้องดูแลรับผิดชอบ 7,967 แห่ง แต่มีสวนสาธารณะขนาดใหญ่ มีพื้นที่ตั้งแต่ 10 ไร่ขึ้นไป ประมาณ 37 แห่ง ประชาชนเข้าพักผ่อนหย่อนใจ ใช้บริการออกกำลังกายในวันจันทร์-ศุกร์ จำนวน 80,000 คน วันหยุดราชการ 100,000 คน
สำหรับบุคคลที่เข้ามาใช้บริการ หรือเข้ามากระทำผิดกฎหมาย ก่อความวุ่นวายรำคาญ ไม่สามารถสกรีนบุคคลได้เพราะเป็นพื้นที่สาธารณะ แต่เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยจากองค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก (อผศ.) 507 คน รวมถึงเจ้าหน้าที่เทศกิจ ทำหน้าที่ดูแลความปลอดภัย เดินตรวจจุดเสี่ยง จุดอับ สอดส่องพฤติกรรมของผู้ที่มาใช้บริการสวนสาธารณะห้ามกระทำผิดตามระเบียบการใช้สวนสาธารณะ เช่น ดื่มสุรา ไม่ก่อเหตุวิวาท หรือการทำอนาจารในสวนสาธารณะ
“หากพบว่าบุคคลมีพฤติกรรมสุ่มเสี่ยงก่อความวุ่นวายไม่พึงประสงค์ หรือก่อเหตุไม่ปลอดภัยกับบุคคลอื่น ตั้งแต่จับกลุ่มเกินกว่าที่จะเป็น มีพฤติกรรมก่อความรุนแรง หรือเมาสุราจากภายนอกเข้ามาในสวนสาธารณะ เจ้าหน้าที่จะต้องเข้าเชิญออกนอกพื้นที่ แต่หากมีความรุนแรงเกินกว่าเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยควบคุมได้ จะต้องแจ้งสถานีตำรวจพื้นที่เข้ามาระงับควบคุมสถานการณ์ทันที”
การทะเลาะวิวาทของแรงงานต่างด้าวที่ใช้สวนสาธารณะเป็นสนามประลองพลัง หลายคนอาจมองว่าเป็นเพียงปัญหาเล็กๆน้อยๆ แต่หากปล่อยไว้อาจเป็นรอยร้าว ไม่แน่ว่านานวันเข้าอาจจะเป็นปัญหาใหญ่เกี่ยวกับ “ความมั่นคง” ในอนาคต.