กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ เดินหน้าให้ความรู้แก่เกษตรกร ให้รู้จักการทำบัญชีรายรับ-รายจ่าย บัญชีต้นทุนอาชีพ เพื่อวางแผนการผลิต ส่งเสริมรายได้ ชีวิตความเป็นอยู่มั่นคง


โดยตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ดำเนินนโยบายโครงการบริหารจัดการวิสาหกิจเกษตรแปลงใหญ่ (Mega Farm Enterprise) เพื่อเพิ่มพูนรายได้ให้เกษตรกร โดยเริ่มตั้งแต่การผลิตและจำหน่ายออกสู่ตลาดให้มีศักยภาพ สามารถแข่งขันในตลาดโลกได้ ตามนโยบาย "การตลาดนำการผลิต" ภายใต้แนวทาง "การจัดทำแผนการผลิตภาคการเกษตร" (Agricultural Production Plan) และ"โครงการเกษตรแปลงใหญ่" (Mega Farm Project) เพื่อสนับสนุนให้มีการพัฒนาระบบเกษตรกรรมของไทย สามารถลดต้นทุนการผลิตและมีผลผลิตต่อหน่วยเพิ่มขึ้นและมีคุณภาพได้มาตรฐาน โดยมีเป้าหมายแปลงใหญ่ไม่น้อยกว่า 1 แปลงใหญ่ ต่อ 1 ภูมิภาค พื้นที่ติดกันรวมกันไม่น้อยกว่า 1,000 ไร่ ขึ้นไป เพื่อก่อให้เกิดการประหยัดต่อขนาด (Economy of Scale) จากการผลิต ทำให้ต้นทุนการทำเกษตรกรรมลดลง โดยคัดเลือกจากพื้นที่ อาทิ พื้นที่ สปก.ที่มอบให้เกษตรกร พื้นที่ตามโครงการจัดทำที่ดินทำกินแห่งชาติ (คทช.) พื้นที่ซึ่งเกษตรกรได้รวมตัวกันจัดตั้งเป็นสหกรณ์การเกษตรหรือวิสาหกิจชุมชน พื้นที่ที่ทำการเกษตรแปลงใหญ่อยู่แล้วรวมกันอยู่หลายๆ แปลง

...

ทั้งนี้ กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ได้ร่วมบูรณาการขับเคลื่อนการนำระบบบัญชีไปวางรากฐานในการสร้างความเข้มแข็งให้แก่เกษตรกรและสถาบันเกษตรกร เพื่อเพิ่มพูนรายได้เกษตรกรในระดับพื้นที่ เกษตรกรสามารถจัดทำบัญชีรับ-จ่าย ในครัวเรือน และบัญชีต้นทุนอาชีพ และนำข้อมูลทางบัญชีไปใช้วิเคราะห์อย่างเป็นระบบ สามารถวางแผนการผลิตและการตลาดให้ตรงตามช่วงเวลาที่เหมาะสม ผลผลิตมีปริมาณและคุณภาพตรงกับความต้องการของตลาด

นายโอภาส ทองยงค์ อธิบดีกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ เปิดเผยว่า กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ ได้นำองค์ความรู้ด้านบัญชีเผยแพร่แก่เกษตรกรให้มีความรู้ความเข้าใจในการจัดทำบัญชี สามารถนำข้อมูลทางบัญชีและหลักวิชาการมาใช้วางแผนการประกอบอาชีพ วางแผนกิจกรรมทางการเกษตร มีความรู้และเข้าใจในการนำระบบบัญชีไปใช้ในการบริหารจัดการภาคการเกษตรได้ รู้รายรับ รายจ่าย รู้เวลาที่เหมาะสม สนับสนุนให้เกิดกลไกการรวมกลุ่มเกษตรกรเพื่อจำหน่ายผลผลิตออกสู่ตลาด สร้างเสริมให้เกษตรกรไทยพร้อมก้าวทันต่อความเปลี่ยนแปลง และสามารถแข่งขันในตลาดโลกได้ ทั้งนี้ เกษตรกรจำเป็นต้องรู้จักจุดแข็ง จุดอ่อน รู้ถึงขีดความสามารถของตนเอง ซึ่งหากเกษตรกรมีการบันทึกบัญชีเป็นประจำจะรู้ว่าสิ่งใดมีความจำเป็นหรือไม่จำเป็น วิเคราะห์ได้ว่าอาชีพที่ทำอยู่นั้น มีโอกาสยั่งยืนหรือไม่ มีต้นทุนที่คุ้มค่ากับผลตอบแทนที่ได้รับและมีความเสี่ยงด้านการตลาดเพียงใด สิ่งเหล่านี้ถ้าไม่มีการจดบันทึก ก็เป็นการทำแบบเลื่อนลอยโดยไม่มีข้อมูลเปรียบเทียบ

"บัญชีครัวเรือน หรือ บัญชีต้นทุนอาชีพ เป็นเพียงปัจจัยสนับสนุนที่ใช้ประกอบในการตัดสินใจของพี่น้องเกษตรกรเท่านั้น แต่การที่จะทำให้เกษตรกรประสบความสำเร็จได้ ต้องมีความรู้ด้านวิชาการอื่นๆ เพิ่มเติมด้วย เพราะทุกอย่างคือต้นทุน ถ้าผลตอบแทนไม่คุ้มค่าก็ควรปรับเปลี่ยนให้เหมาะสม ซึ่งสิ่งเหล่านี้การบันทึกข้อมูลทางบัญชีจะช่วยได้ ซึ่งกรมฯ ได้สนับสนุนองค์ความรู้ทางบัญชีแก่เกษตรกรสนองตามนโยบาย Mega Farm Enterprise ที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์กำหนด"อธิบดีกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ กล่าว.