กรมการข้าวหนุนข้าวพันธุ์ใหม่ กข43 เผยค่าดัชนีน้ำตาลระดับต่ำถึงปานกลาง ถูกใจคนรักสุขภาพ หุงสุกนุ่ม เหนียว กลิ่นหอมคล้ายข้าวหอมมะลิ เกษตรกรขายได้ราคาดี
ข้าว กข43 เป็นข้าวพันธุ์ใหม่ที่น่าสนใจ ได้รับการตอบรับที่ดีจากเกษตรกรในการทดลองปลูกในปี 2561 ที่ผ่านมา ปัจจุบันจะพบแหล่งปลูกอยู่ในพื้นที่จ.ชัยนาท พระนครศรีอยุธยา และสุพรรณบุรีเป็นส่วนใหญ่ เนื่องจากข้าว กข43 ควรปลูกในพื้นที่นาชลประทาน พื้นที่ที่มีน้ำท่วมขังเป็นเวลานาน หรือพื้นที่ที่เกษตรกรมีเวลาทำนาน้อยกว่าพื้นที่ปลูกข้าวอื่น ๆ รวมไปถึงในพื้นที่ที่มีปัญหาวัชพืชระบาดในนาข้าวก็เหมาะจะปลูกด้วยเช่นกัน เพราะข้าว กข43 มีอายุสั้นเพียง 95 วัน ทนทานต่อโรคใบไหม้และเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล เป็นข้าวเจ้าที่ผสมระหว่างข้าวสุพรรณบุรี กับสุพรรณบุรี 1 มีการรับรองพันธุ์ มีการปลูกกันมากที่จ.สุพรรณบุรี คุณสมบัติพิเศษคือ ปริมาณดัชนีน้ำตาลต่ำ ถึงปานกลาง
นายประสงค์ ประไพตระกูล อธิบดีกรมการข้าว กล่าวว่า ข้าวพันธุ์ กข43 เป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์ของนาแปลงใหญ่ หรือ โครงการระบบส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ ภายใต้แผนการผลิตและการตลาดข้าวครบวงจร ที่มุ่งเน้นให้เกษตรกรได้รวมกลุ่มกันผลิต และยกระดับให้เป็นสินค้าตลาดเฉพาะของกลุ่มคนรักสุขภาพ การผลิตข้าวเพื่อสุขภาพ กข43 ให้มีคุณภาพ ต้องมีการควบคุมการผลิตตลอดห่วงโซ่อุปทาน ตั้งแต่กระบวนการเพาะปลูกจนกระทั่งแปรรูป กรมการข้าวจึงรับสมัครและคัดเลือกเกษตรกรเข้าร่วมโครงการนาแปลงใหญ่ เพื่อผลิตข้าวตามมาตรฐาน GAP และสีแปรเป็นข้าวสารโดยโรงสีข้าวที่ผ่านการรับรองมาตรฐาน GMP เท่านั้น จึงจะได้ข้าวสารที่ผ่านการรับรองมาตรฐาน Q เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในคุณภาพของสินค้า นาแปลงใหญ่เดิมบาง อ.เดิมบางนางบวช จ.สุพรรณบุรี เป็นหนึ่งกลุ่มเกษตรกร ที่สามารถผลิตข้าว กข43 ได้ตามมาตรฐาน GAP ปลอดภัย ไร้สารตกค้าง
...
จะเห็นว่าคนไทย ห่วงใยและใส่ใจสุขภาพกันมากยิ่งขึ้น นอกจากจะให้ความสำคัญกับเรื่องของการออกกำลังกายแล้ว เรื่องของการเลือกรับประทานข้าว ก็เป็นส่วนสำคัญ เนื่องจากข้าวเป็นอาหารหลักที่เราต้องรับประทานอยู่เป็นประจำ ซึ่งข้าว กข43 ในข้าวขัดขาวนั้น มีค่าดัชนีน้ำตาลอยู่ที่ 57.5 ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับที่ต่ำ ถึงปานกลาง และนอกจากคุณค่าทางโภชนาการที่เป็นที่ถูกอกถูกใจคนรักสุขภาพแล้ว ข้าว กข43 เมื่อหุงสุกแล้วยังเป็นข้าวที่ให้ความนุ่ม เหนียว มีกลิ่นหอมอ่อน ๆ คล้ายกับข้าวหอมมะลิอีกด้วย
ปัจจุบันเกษตรกรมีการพัฒนาด้านการตลาดอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากว่าโรงสีข้าวเอกชนมีการประกันราคาข้าว กข43 อยู่ที่ 12,500 บาทต่อตัน ต้นทุนการผลิตอยู่ที่ 3,200-3,500 บาทต่อไร่ อายุการเก็บเกี่ยวสั้นลง ต่างจากข้าวหอมปทุมหรือปทุมธานี 1 ซึ่งมีราคาการรับซื้ออยู่ที่ 8,000-9,000 บาท/ตัน ต้นทุนการผลิตอยู่ที่ 3,000-4,000 บาทต่อไร่ อายุการเก็บเกี่ยวนานกว่าข้าว กข43
นอกจากนี้เกษตรกรยังมีการพัฒนาตลาดข้าว กข43 โดยการรวมกลุ่มแปรรูปผลิตภัณฑ์เป็นข้าวสารอัดสุญญากาศในรูปแบบหลากหลาย ทั้งในแบบ 1 กิโลกรัม 50 บาท , 5 กิโลกรัม 200 บาท , 15 กิโลกรัม 600 บาท และแบบกระสอบใหญ่ 2,000 บาท จำหน่ายในชุมชน งานจัดแสดงและจำหน่ายสินค้าทางการเกษตร และผู้บริโภคที่มีการสั่งซื้อล่วงหน้า สร้างรายได้ให้กับเกษตรกรไม่น้อยกว่า 20,000 – 30,000 บาท ส่งผลให้เกษตรกรหันมาปลูกข้าว กข43 และมีแนวโน้มมากยิ่งขึ้น.