กลุ่มผู้ประกอบการกิจการโทรคมนาคม เรียกร้องให้นายกฯ พิจารณาสั่งกทม.หยุดให้เอกชน มีสิทธิผูกขาดท่อร้อยสายสื่อสาร เพียงรายเดียว

วันที่ 27 มิ.ย. นายวีรวัฒน์ เกียรติพงษ์ถาวร หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านธุรกิจ สัมพันธ์และองค์กร บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด ( มหาชน) พร้อมตัวแทนผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคม 6 ราย ยื่นหนังสือถึง พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีตรวจสอบและพิจารณา กรณีที่ บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด ซึ่งกรุงเทพมหานครถือหุ้นร้อยละ 99.98 ดำเนิน “โครงการนำสายสื่อสารลงใต้ดินในพื้นที่กรุงเทพมหานคร” ระยะทาง 2,450 กิโลเมตร

ต่อมา ปรากฏว่า บริษัทกรุงเทพธนาคม ซึ่งเป็นผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมให้บริการท่อร้อยสายจากคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ไม่ได้ดำเนินการเองโดยตรง แต่คัดเลือกเอกชนโดยให้ยื่นข้อเสนอ ซึ่งมีผู้ยื่นข้อเสนอเพียงรายเดียวและเอกชนรายนั้นได้รับมอบสิทธิการดำเนินการไป ทำให้เอกชนรายดังกล่าวแสวงหาประโยชน์จากท่อร้อยสายอันเป็นทรัพย์สินของรัฐและเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน ได้ถึงร้อยละ 80 มีสิทธิเรียกเก็บค่าตอบแทนเป็นเวลาถึง 30 ปี ทำให้ผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคมรายอื่นต้องมาขอใช้ท่อร้อยสายและชำระค่าตอบแทนให้เอกชนที่ได้รับสัมปทานอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เนื่องจากรัฐบาลมีนโยบายให้นำสายสื่อสารที่พาดตามเสาลงใต้ดิน

บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด, บริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด บริษัท ทริปเปิลที บรอดแบนด์ จำกัด (มหาชน), บริษัท อินเตอร์ลิ้งค์ เทเลคอม จำกัด (มหาชน), บริษัท ยูไนเต็ด อินฟอร์เมชั่น ไฮเวย์ จำกัด, และบริษัท เอแอลที เทเลคอม จำกัด (มหาชน) มีความเห็นว่ากรุงเทพมหานครโดยกรุงเทพธนาคม ในฐานะหน่วยงานของรัฐควรให้ผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคมทุกราย เข้าถึงบริการท่อร้อยสายของรัฐจากหน่วยงานของรัฐโดยตรงตามหลักเกณฑ์ของ กสทช. ไม่ควรมอบสิทธิผูกขาดให้แก่เอกชนรายใดรายหนึ่ง จากเหตุผลสำคัญที่กล่าวไปข้างต้น ประกอบกับพระราชบัญญัติการประกอบกิจการโทรคมนาคม และประกาศ กสทช. เรื่อง แนวทางปฏิบัติในการใช้ การลงทุน และการสร้างท่อร้อยสายสื่อสารใต้ดินหรือกับโครงสร้างพื้นฐานหน่วยงานของรัฐเพื่อให้บริการโทรคมนาคม ซึ่งข้อ 4 กำหนดว่า “ผู้รับใบอนุญาตที่มีท่อร้อยสายสื่อสาร (หมายถึงบริษัทกรุงเทพธนาคม) ต้องยินยอมให้ผู้รับใบอนุญาตรายอื่นใช้ท่อร้อยสายของตน ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการกำหนดในประกาศนี้” กล่าวคือ บริษัทกรุงเทพธนาคมในฐานะผู้รับใบอนุญาตต้องจัดทำ “ข้อเสนออ้างอิงการใช้ท่อร้อยสาย” ให้ กสทช. เห็นชอบ ก่อนเพื่อความโปร่งใสและเพื่อเป็นกรอบให้ผู้รับใบอนุญาตรายอื่นสามารถรู้รายละเอียดเส้นทาง อัตราค่าบริการ เทคโนโลยีต่างๆ และขอใช้ได้อย่างเท่าเทียมกัน ซึ่งหมายถึงว่าตามกฎหมายแล้ว บริษัทกรุงเทพธนาคมไม่สามารถดำเนินการไปในทางอื่น รวมทั้งเห็นว่าการดำเนินการดังกล่าวเป็นทำลายการแข่งขันที่เป็นธรรม และไม่มีหลักประกันใดให้แก่ ผู้บริโภค ผู้ผูกขาดจะอยู่ในฐานะที่สามารถหากำไรส่วนเกินในระยะยาว หากต้นทุนของผู้ประกอบการสูงขึ้น ค่าบริการก็จะสูงขึ้น ขณะนี้ กลุ่มผู้ประกอบการโทรคมนาคมได้เข้าร่วมศึกษาหาแนวทางการจัดระเบียบสายสื่อสารให้เป็นระเบียบร่วมกัน ซึ่งคาดว่าจะได้รูปแบบทดลองจัดระเบียบที่ชัดเจนในการจัดระเบียบประมาณเดือนสิงหาคมนี้

...

จากเหตุผลดังกล่าว กลุ่มผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคม จึงขอให้นายกฯ สั่งการให้ทบทวนมติหรือคำสั่งหรือการดำเนินการของหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง รวมถึงยับยั้งการดำเนินการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องไว้ก่อน เพื่อให้หน่วยงานของรัฐ หารือกับประกอบกิจการโทรคมนาคมที่เกี่ยวข้องทั้งหมด เพื่อให้ได้ข้อสรุปที่เป็นธรรมต่อทุกฝ่ายและให้คณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติจัดทำข้อเสนอประกอบความเห็นของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเพื่อนำเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณา

โดยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทบทวนแนวทางการจัดระเบียบสายสื่อสาร เพื่อเปรียบเทียบความเหมาะสมของแต่ละวิธีการในแต่ละเส้นทาง เพื่อมิให้เกิดภาระค่าใช้จ่ายเกินสมควรแก่ผู้ใช้บริการโทรคมนาคม ในกรณีที่จำเป็นที่จะต้องปลดสายสื่อสารเพื่อนำลงใต้ดินตามท่อร้อยสายก็ให้จัดทำเฉพาะเส้นทางเท่าที่จำเป็นเท่านั้นและดำเนินการในระยะเวลาที่เหมาะสม เพื่อมิให้เกิดความสิ้นเปลืองทรัพยากรโดยไม่จำเป็นและลดภาระค่าใช้จ่าย

นอกจากนี้ ยังเสนอให้ผู้ขอใช้ท่อร้อยสายทุกรายสามารถเข้าถึงบริการท่อร้อยสายของหน่วยงานของรัฐได้โดยตรงโดยเท่าเทียมกันโดยไม่ต้องผ่านเอกชนรายใด และในการให้บริการท่อร้อยสาย ให้หน่วยงานของรัฐต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ ของประกาศกสทช. เรื่อง แนวทางปฏิบัติในการใช้ การลงทุน และการสร้างท่อร้อยสายสื่อสาร หรือกับโครงสร้างพื้นฐานหน่วยงานของรัฐ เพื่อให้บริการโทรคมนาคม โดยเคร่งครัด

กลุ่มผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคม ยังขอให้นายกฯ สั่งการให้ชะลอการดำเนินการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับโครงการนำสายสื่อสารลงใต้ดินในพื้นที่กรุงเทพมหานครไว้ก่อนจนกว่าการดำเนินการในเรื่องต่างๆ จะแล้วเสร็จ ทั้งนี้เพื่อให้เกิดการดำเนินการในเรื่องนี้อย่างบูรณาการเป็นเอกภาพในองค์รวม เพื่อประโยชน์ของประชาชน

“เรื่องนี้เป็นเรื่องด่วนเพราะบริษัทกรุงเทพธนาคมได้คัดเลือกเอกชนให้ดำเนินโครงการแล้วและอยู่ในระหว่างการลงนามสัญญาในเร็วๆ นี้ เพื่อมิให้เกิดความเสียหายต่อรัฐและประชาชน กลุ่มผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคม จึงขอความกรุณาจาก ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี ได้โปรดพิจารณาเรื่องนี้เป็นการด่วน” นายวีรวัฒน์ กล่าว...