“รายงานวันจันทร์”-รื้อระบบสูบน้ำ-เลิกใช้คนใช้เทคโนโลยี
แต่ไหนแต่ไรมากรุงเทพฯฝนตกทีไร จะต้องน้ำท่วมรถติด จนกลายเป็นปัญหาซ้ำซาก ที่ผ่านมาทางกรุงเทพมหานครได้พยายามหาแนวทางแก้ไขมาโดยตลอด แต่ได้ผลหรือไม่ เราคงทราบคำตอบกันดี
“รายงานวันจันทร์” วันนี้ ขอนำเสนอมุมมองนักวิชาการถึงสาเหตุและปัญหาน้ำท่วมซ้ำซากเกิดจากอะไรกันแน่ โดย ศ.ดร. สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ นายกสภาวิศวกร และอธิการบดีสถาบันเทคโนโลยี พระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง
------------------------------------
ถาม-สาเหตุของน้ำท่วมกรุงเทพฯเกิดจากอะไร
ศ.ดร.สุชัชวีร์–คนส่วนใหญ่คิดว่า เพราะกรุงเทพฯมีปัญหาดินทรุดตัว เวลาฝนตก ทำให้เกิดน้ำขัง นั่นอาจเป็นการเข้าใจผิด เพราะกรุงเทพฯ พื้นที่ใจกลางเมืองตํ่ากว่าระดับน้ำเจ้าพระยา 2 เมตร เช่น ย่านสุขุมวิท รามคำแหง เวลาฝนตกจะต้องใช้วิธีสูบน้ำ เพื่อหนีแรงโน้มถ่วงของโลกจากถนน ตรอก ซอก ซอย ลงคลอง และแม่น้ำเจ้าพระยาเพื่อระบายลงสู่ทะเล กรณีน้ำท่วมในซอยไม่ใช่เกิดจากน้ำฝนอย่างเดียว แต่เกิดจากน้ำทะลักจากถนนซึ่งสูงกว่าซอยไหลลงมา พอฝนตกน้ำไหลลงซอยทันที ดังนั้น การสูบน้ำกรุงเทพฯต้องทั่วถึง
...
นอกจากทั่วถึงแล้ว จะสังเกตว่าเราใช้แรงงานคนเป็นหลัก พอฝนตกเครื่องสูบน้ำเสียไม่ว่าจะเป็นปัญหาคนไม่มาทำงาน ฟิวส์เสีย แบบนี้ไม่ได้ ต้องใช้เทคโนโลยีนำระบบควบคุมเครื่องสูบน้ำอัตโนมัติใช้แทนคนทั้งหมด ตั้งแต่ตรวจสอบเครื่องสูบน้ำสมบูรณ์หรือไม่ ทำงานสอดประสานกันหรือไม่ เครื่องสูบน้ำในซอยต้องตัวเล็ก ค่อยๆสูบทีละทอดจนถึงเครื่องสูบขนาดใหญ่
ส่วนอุโมงค์ยักษ์เป็นวิธีแก้ปัญหาที่ดี เพื่อเพิ่มพื้นที่ระบายน้ำใต้ดิน แต่ปากปล่องอุโมงค์ยักษ์น้ำแห้ง เพราะระบบสูบน้ำจากพื้นที่จุดต่ำไม่สมบูรณ์ น้ำจึงไหลมาไม่ถึงปากอุโมงค์ ระบบจึงทำงานไม่ต่อเนื่องและใช้งานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ
ถาม-การก่อสร้างอาคารสูง การขยายตัวของเมือง ทำให้ดินทรุดตัวใช่หรือไม่
ศ.ดร.สุชัชวีร์–กรุงเทพฯมีปัญหาดินทรุดตัว เกิดจากการสูบน้ำบาดาล ซึ่งปัจจุบันมีกฎหมายห้าม ทว่าพื้นฐานจริงๆคือ กรุงเทพฯเป็นแอ่งกระทะ และอยู่ต่ำกว่าระดับน้ำเจ้าพระยา ส่วนการก่อสร้างอาคารสูง จะใช้วิธีเข็มเจาะแทนการตอก
เพื่อลดแรงสั่นสะเทือน ความลึกอยู่ที่ 50 เมตร และตัวอาคารจะวางบนเสาเข็มจึงไม่ใช่สาเหตุทำให้ดินทรุด
ยกตัวอย่างที่เมืองโตเกียว ญี่ปุ่น มีการพัฒนาด้านอุตสาหกรรม มีปัญหาฝนตกน้ำท่วม บางครั้งโดนมรสุม มีปัญหาน้ำท่วมซ้ำซากเช่นกัน และแต่ละครั้งมีคนตายจำนวนมาก เดิมใช้วิธีการสูบน้ำระบายลงทะเลเช่นกัน แต่เมืองโตเกียว มีพื้นที่ต่ำกว่าระดับน้ำถึง 3 เมตร จึงมีการปรับแนวคิดแก้ปัญหาโดยใช้หลักธรรมชาติ ทำแก้มลิงเก็บกักน้ำในช่วงฤดูฝน เมื่อฝนหยุดตกแล้วค่อยสูบระบายออกลงแม่น้ำซึ่งประสบผลสำเร็จสามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างดี
ถาม-แนวทางแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืนทำอย่างไร
ศ.ดร.สุชัชวีร์–การขยายตัวของเมืองในกรุงเทพฯทำให้พื้นที่แก้มลิงหายไป ดังนั้น จึงควรจะทำแก้มลิง ตามแนวพระ-ราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ 9 ในใต้ดินแทน โดยพื้นที่ที่มีปัญหา เช่น ถนนสุขุมวิท เพลินจิต อโศก ทำ แก้มลิงใต้บึงโรงงาน ยาสูบ ความลึกราว 15–20 เมตร เสร็จแล้วก็ปรับพื้นที่คืนสภาพเดิมใช้งานตามปกติ
วิธีการรับน้ำจะใช้หลักการแรงโน้มถ่วงของโลกโดยทำปากปล่องรับน้ำจากถนนพระราม 4 อโศก ไหลลงแก้มลิงใต้ดิน จุดไหนไกลออกไปก็อาจจะใช้เครื่องสูบน้ำช่วยด้วย อีกจุดที่ถนนวิภาวดี พื้นที่ทำแก้มลิงใต้สวนจตุจักร รับน้ำจากลาดพร้าว บางซื่อ วิภาวดี รัชดาภิเษก แต่ละพื้นที่ควรจุน้ำได้ 1 แสนลูกบาศก์เมตร
นอกจากนี้บริเวณซอยเล็กที่มีปัญหาน้ำท่วม สามารถทำแก้มลิงใต้ดินบริเวณปากซอย กว้าง 6 เมตร ยาว 4 เมตร ลึก 2 เมตร รับน้ำได้ประมาณ 500-600 ลูกบาศก์เมตร ส่วนเรื่องงบ ประมาณการก่อสร้างใช้ไม่มาก และหลายองค์กรเช่น ABD, JICA ยินดีที่จะปล่อยกู้มาดำเนินการ.