กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ตีมึนเดินหน้าใช้สารเคมีอันตราย 3 ชนิด “พาราควอต-ไกลโฟเซต-คลอร์ไพริฟอส” โดยของบประมาณ 98 ล้านบาทจัดอบรมวิธีการใช้ให้เกษตรกร 1.5 ล้านครอบครัว พร้อมเร่งควบคุมให้ทันก่อน 20 ตุลาคมนี้ ตามประกาศคณะกรรมการวัตถุอันตรายให้จำกัดการใช้สารเคมี มีผลบังคับใช้ใน 180 วัน นับจากวันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา

ผู้สื่อข่าวรายงานเมื่อวันที่ 16 มิ.ย. หลังได้รับการเปิดเผยจากนายอนันต์ สุวรรณรัตน์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ออกประกาศเกี่ยวกับการจำกัดการใช้สารเคมีเกษตร พาราควอต ไกลโฟเซต หรือสารกำจัดวัชพืช และคลอร์ไพริฟอส หรือสารกำจัดแมลงศัตรูพืช ลงวันที่ 5 เมษายน 2562 ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา วันที่ 23 เมษายน 2562 ตามที่คณะกรรมการวัตถุอันตรายเห็นชอบให้ดำเนินการตามมาตรการจำกัดการใช้สารเคมี โดยจะมีผลบังคับใช้ 180 วันนับจากวันประกาศฯ ซึ่งคือวันที่ 20 ตุลาคม 2562 เป็นต้นไป โดยมีเกษตรกรผู้ใช้สารที่ขึ้นทะเบียนไว้จำนวน 1.5 ล้านครอบครัว จะต้องเข้าอบรม หากไม่ผ่านจะไม่มีสิทธิ์ซื้อสารเคมีดังกล่าวมาใช้ หรือมีไว้ในครอบครองไม่ได้

ปลัดกระทรวงเกษตรฯกล่าวอีกว่า นอกจากนี้ ผู้รับจ้างพ่นจะต้องผ่านการอบรมด้วยเพื่อให้สามารถใช้สารเคมีอย่างถูกต้องและปลอดภัย โดยมีกรมส่งเสริมการเกษตรจะอบรมและทดสอบให้กับเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลัง ข้าวโพด ปาล์มน้ำมัน ไม้ผล พืชไร่ และไม้ดอก ที่ขึ้นทะเบียนกับกรมส่งเสริมการเกษตร ส่วนการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) จะอบรมและทดสอบให้กับผู้ปลูกยางพารา และสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย จะอบรมและทดสอบผู้ปลูกอ้อย โดยกรมวิชาการเกษตรจะทำหน้าที่อบรมเจ้าหน้าที่วิทยากรไปอบรมเกษตรกร และเป็นผู้อบรมให้กับผู้รับจ้างพ่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และปลัด อบต.

...

ปลัดกระทรวงเกษตรฯกล่าวว่า สำหรับการเริ่มอบรม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมวิชาการเกษตร ได้ของบประมาณจากสำนักงบประมาณ 98 ล้านบาท เพื่อมาใช้จ่ายในการอบรมเกษตรกร 1.5 ล้าน ครอบครัว ที่จะได้เพียงครอบครัวละ 1 ใบอนุญาต เมื่อผ่านการอบรมจะสามารถใช้เลขที่บัตรประชาชน ไปแจ้งขอซื้อสารเคมีดังกล่าวได้ที่ร้านค้า หากไม่ผ่านการอบรมจะไม่มีสิทธิ์ซื้อ ส่วนผู้รับจ้างพ่นสารเคมี หากไม่ผ่านจะพ่นสารไม่ได้ โดยร้านค้าที่จำหน่ายจะต้องให้มีการอบรมวิธีการเก็บสารเคมี และการจำหน่ายให้กับผู้ใช้อย่างถูกต้อง หากกระทำผิดจะมีโทษตามกฎหมายทั้งจำและปรับ

ด้านนายสำราญ สาราบรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวเพิ่มเติมว่า เกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนกับกรมส่งเสริมการเกษตร มีพื้นที่ปลูกพืช มันสำปะหลัง ข้าวโพด ปาล์มน้ำมัน ไม้ผล พืชไร่ และไม้ดอก มีความประสงค์ใช้สาร 3 ชนิด สามารถมาขึ้นทะเบียนกับกรมส่งเสริมการเกษตรได้ โดยคุณสมบัติของเกษตรกรจะต้องมีอายุ 18 ปีขึ้นไป มีสัญชาติไทย และเป็นเกษตรกรที่ปลูกพืชนั้นจริงไม่น้อยกว่า 15-60 วัน เงื่อนไขตามแต่ละชนิดพืช และเข้าสู่ขั้นตอนการลงพื้นที่ตรวจสอบแปลงและวาดแปลง

จากนั้นสมัครขอรับสิทธิ์ซื้อสารเคมี 3 ชนิด ได้ที่ “ระบบจำกัดการใช้สารเคมี 3 ชนิด” http://chem.doae.go.th หรือแอปพลิเคชัน “FARMBOOK” สามารถดาวน์โหลดได้ทั้ง Android และ iOS ได้ทันที การอบรมแบ่งเป็น 3 รูปแบบ โดยวิทยากรครู แบบที่สองเรียนรู้ผ่านระบบ e-Learning เว็บไซต์ http://elearning.doae.go.th และสมัครเข้ารับการทดสอบได้เลย โดยเลือกสถานที่สอบ วันที่และช่วงเวลาที่ต้องการสอบได้ตามความสมัครใจ การทดสอบจะเริ่มตั้งแต่ 1 ก.ค.2562 เป็นต้นไป กรณีไม่ผ่านการทดสอบ สามารถเลือกสอบได้อีก 1 รอบ หากยังไม่ผ่านอีกจะต้องสมัครเข้าไปในระบบอีกครั้ง

ทั้งนี้ ตั้งแต่ปี 2560 ภาครัฐ โดยกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงมหาดไทย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพาณิชย์ และกระทรวง อุตสาหกรรม มีมติออกประกาศยกเลิกการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืช 2 ชนิด ได้แก่ พาราควอต และคลอร์ไพริฟอส ในวันที่ 1 ธ.ค.2562 โดยภายในวันที่ 1 ธ.ค.2560 ต้องยุติการนำเข้าสารเคมีทั้งสองตัว และยุติการใช้ทั้งหมดภายในวันที่ 1 ธ.ค.2562 แต่ต่อมาเมื่อ พ.ค.2561 คณะกรรมการวัตถุอันตราย กลับมีมติยังไม่มีการยกเลิกใช้สารเคมีทั้งสอง รวมถึงไกลโฟเซต รวมเป็น 3 ชนิด เพราะให้ใช้เฉพาะพืช 6 ชนิด ได้แก่ ยางพารา ปาล์ม มันสำปะหลัง อ้อย ข้าวโพดและไม้ผลที่ขึ้นทะเบียนเท่านั้น ทั้งที่ปัจจุบัน 53 ประเทศทั่วโลก ยกเลิกการใช้แล้ว เนื่องจากพาราควอต จัดเป็นยาพิษที่มีความรุนแรง มีพิษเฉียบพลันแม้ได้รับเพียงเล็กน้อย 1-2 ช้อนชา ก็อาจถึงแก่ชีวิต ส่วนคลอร์ไพริฟอสทำให้เกิดความผิดปกติด้านพัฒนาสมอง ไอคิวเด็กลดลง สมาธิสั้น มีผลกระทบต่อระบบต่อมไร้ท่อ การเจริญเติบโต และเสี่ยงเป็นโรคพาร์กินสัน ขณะที่ ไกลโฟเซต เป็นสารพิษที่ International Agency for Research on cancer ได้จัดเป็นกลุ่มที่อาจก่อให้เกิดมะเร็ง