สสส.โชว์ผลงาน 1 ทศวรรษ ความเป็นธรรมทางสุขภาพ สร้างสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ ยกระดับคุณภาพชีวิต 8 กลุ่ม "คนพิการ-ไร้บ้าน-ผู้สูงอายุ-ผู้หญิง-ผู้ต้องขัง-แรงงาน-ผู้มีปัญหาสถานะบุคคล/ประชากรข้ามชาติ-มุสลิม" รวมพลังคนทำงานด้านสังคมกว่า 2 พันคน ปลุกคนไทยใช้หัวใจฟังเสียงที่ไม่ได้ยิน
เมื่อวันที่ 12 มิ.ย.62 ที่ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับภาคีเครือข่าย จัดงานประชุมวิชาการและแลกเปลี่ยนเรียนรู้เสียงที่คนอื่นไม่ได้ยิน : ประชากรกลุ่มเฉพาะ "Voice of the voiceless : the vulnerable populations" เพื่อลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำของประชากรทุกกลุ่ม โดยแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ บูรณาการทำงานร่วมกัน และต่อยอดกระบวนการทำงาน เพื่อเสริมพลังการขับเคลื่อนการสร้างเสริมสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ ให้เกิดความเท่าเทียมทางสังคม โดยมีผู้เข้าร่วมประชุม 2,300 คน จากผู้เชี่ยวชาญ นักวิชาการ หน่วยงานภาครัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มหาวิทยาลัย ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และประชากรกลุ่มเฉพาะต่างๆ
...
โดย นพ.วีระพันธ์ สุพรรณไชยมาตย์ รองประธานกรรมการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพคนที่ 2 ประธานในพิธี กล่าวว่า สสส.ให้ความสำคัญกับการทำงานสร้างเสริมสุขภาวะภายใต้วิสัยทัศน์ "ทุกคนบนแผ่นดินไทยมีขีดความสามารถ สังคม สิ่งแวดล้อม ที่เอื้อต่อสุขภาวะ" ดังนั้นทุกคนบนแผ่นดินไทยจึงหมายรวมถึง "ประชากรกลุ่มเฉพาะ" ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีความเปราะบาง และมีข้อจำกัดในการดำเนินชีวิตสถานการณ์ที่คนกลุ่มนี้ต้องเผชิญร่วมกันคือ 1. ไร้ตัวตน ถูกมองข้าม 2. ถูกผลักภาระ 3. มีความเสี่ยงสูง 4. ถูกกีดกันออกจากนโยบาย และ 5. มีจิตสำนึกจำยอม หรือยอมจำนน การทำงานเพื่อลดช่องว่างของปัญหาเหล่านี้ สสส.ต้องหากลไกที่แตกต่างที่สอดคล้องกับวิถีการดำรงชีวิต ถือเป็นความท้าทายของการทำงานให้บรรลุความเป็นธรรมทางสุขภาพ คือ ลดความเหลื่อมล้ำผ่านปัจจัยทางสังคม สร้างการเปลี่ยนแปลงทั้งในระดับวิธีคิดและเชิงโครงสร้างโดยอาศัยยุทธศาสตร์การสร้างแนวร่วมสนับสนุนจากทุกภาคส่วนของสังคม ทั้งภาคประชาสัมคม ภาครัฐ และภาคเอกชน
ด้าน ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า สสส.ใช้ยุทธศาสตร์ไตรพลังในการขับเคลื่อนงานสร้างเสริมสุขภาพ คือ พัฒนาองค์ความรู้ ขับเคลื่อนนโยบาย และสร้างเครือข่ายการพัฒนาศักยภาพ ซึ่งหนึ่งในนโยบายการทำงานที่ สสส. ให้ความสำคัญ คือ การลดความเหลื่อมล้ำทางสุขภาพ สร้างความเท่าเทียม ยุติธรรม ไม่แบ่งแยก ซึ่งประเทศไทยและนานาประเทศให้ความสำคัญต่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals–SDGs) ที่มีเป้าหมายร่วมกันคือการสร้างความเป็นธรรมทางสุขภาพและสังคมให้ปรากฏขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมในทุกมิติ สสส.ได้สร้างพื้นที่ต้นแบบการทำงานลดความเหลื่อมล้ำของประชากรกลุ่มเปราะบาง 4 ด้าน คือ 1. พัฒนาสิทธิและการพิสูจน์สิทธิของประชากรเพื่อการเข้าถึงบริการทางสุขภาพ หรือสวัสดิการสังคมตามสิทธิที่พึงมีพึงได้ 2. พัฒนากลไกการสร้างเสริมสุขภาพ สิทธิประโยชน์ ระบบบริการที่เหมาะสมกับบริบทที่แตกต่างกันของแต่ละกลุ่มประชากร 3. พัฒนากลไกเสริมเพื่อการเข้าถึงความเป็นธรรมทางสุขภาพ และ 4. สื่อสารเพื่อการสร้างความเข้าใจการสร้างเสริมสุขภาวะของประชากรกลุ่มเฉพาะ
ด้าน นางภรณี ภู่ประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ สสส. กล่าวว่า สสส. เข้าใจบริบทสถานการณ์ทางด้านสุขภาพของคนในสังคมที่มีความแตกต่างกันของ "ประชากรกลุ่มเฉพาะ" ตลอด 10 ปีที่ผ่านมา สสส. ได้ร่วมกับภาคีเครือข่าย มุ่งเน้นการลดความเหลื่อมล้ำ และสร้างความเป็นธรรมทางสุขภาพใน 8 กลุ่ม ได้แก่ คนพิการ 2.04 ล้านคน คนไร้บ้าน 1,518 คน ผู้สูงอายุ 13.3 ล้านคน ผู้หญิง 37.7 ล้านคน ผู้ต้องขังหญิง 1.5 แสนคน แรงงานนอกระบบ 21.19 ล้านคน ผู้มีปัญหาสถานะบุคคล/ประชากรข้ามชาติ 3.1 ล้านคน และมุสลิม 3.2 ล้านคน ซึ่งได้รับผลกระทบจากความไม่เป็นธรรมทางสุขภาพ ทั้งการสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาองค์ความรู้ เพื่อนำไปสู่การพัฒนาข้อเสนอเชิงนโยบายที่ครอบคลุมและมีประสิทธิภาพ การพัฒนาระบบกลไกเพื่อขับเคลื่อนนโยบายทั้งในระดับประเทศและระดับพื้นที่ การพัฒนาศักยภาพภาคีเครือข่าย รวมถึงการสร้างสรรค์นวัตกรรมต่างๆ ให้เกิดการสร้างเสริมสุขภาวะที่ดีในประชากรกลุ่มเฉพาะ ซึ่งมีผลงานเชิงประจักษ์ในหลายประเด็นที่สามารถนำไปสู่การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างคนทำงาน จนถึงภาคีเครือข่าย องค์กรที่เกี่ยวข้องได้
...
"ผลงานรูปธรรมในการทำงานที่ประสบความสำเร็จ เช่น สสส.สนับสนุนนวัตกรรมการจ้างงานพิการตั้งแต่ปี 2558 ตอนนี้เราจ้างงานได้ 15,000 อัตรา เกิดต้นแบบศูนย์บริการคนพิการแบบครบวงจร 2 แห่ง คือ มูลนิธิพิทักษ์ดวงตาลำปาง และศูนย์บริการคนพิการ จ.สระบุรี การแก้ไขปัญหาการคุกคามทางเพศ ผ่านแคมเปญ ถึงเวลา "เผือก" เพื่อเปลี่ยนพลังเงียบให้ลุกขึ้นมาจัดการและไม่นิ่งเฉยต่อความรุนแรงทางเพศ พัฒนาข้อเสนอเชิงนโยบายและขับเคลื่อนการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุภายใต้ระเบียบวาระแห่งชาติ เรื่องสังคมผู้สูงอายุ เป็นต้น ที่สำคัญการประชุมครั้งนี้ เป็นการแลกเปลี่ยนประสบการณ์กันระหว่างเครือข่ายคนทำงาน และประชากรกลุ่มเฉพาะได้รับการพูดคุย เยียวยา ฟังเสียงด้วยหัวใจ ฟื้นฟูให้กำลังใจกัน สร้างแรงบันดาลใจต่อกัน เริ่มจากทำให้เห็นคุณค่าในตัวเองก่อน เพื่อมีพลังในการช่วยเหลือคนอื่นต่อไป" นางภรณี กล่าว
ทั้งนี้ภายในงานมีการปาฐกถา เสวนาวิชาการ กิจกรรมการแสดงจากภาคีเครือข่ายในส่วนเวทีคู่ขนาน การจัดแสดงนิทรรศการงานของ สสส. ผลงานภาคีเครือข่ายทั้งนวัตกรรม องค์ความรู้ และผลิตภัณฑ์ของภาคีเครือข่ายประชากรกลุ่มเฉพาะ