กสทช.ยันราคาคลื่น 700 เท่าเดิม 17,584 ล้านบาท เหตุคำนวณมาดีแล้ว ให้แบ่งจ่าย 10 ปี เท่ากับคลื่น 900 มั่นใจไม่มีคลื่นรบกวน
เมื่อวันที่ 31 พ.ค.62 นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผยว่า ในวันที่ 6 มิ.ย.นี้ จะเสนอนำร่างประกาศหลักเกณฑ์การจัดสรรคลื่นความถี่ย่าน 700 เมกะเฮิรตซ์ ไปประกาศในราชกิจจานุเบกษา พร้อมกับร่างประกาศการแผนการใช้คลื่นความถี่ย่าน 510-790 เมกะเฮิรตซ์ โดยร่างแผนการใช้คลื่นความถี่ดังกล่าว ต้องเสนอบอร์ด กสทช.พิจารณาอนุมัติในวันที่ 4 มิ.ย.นี้ ขณะที่ร่างประกาศจัดสรรคลื่น 700 เมกะเฮิรตซ์ เป็นอำนาจของเลขาธิการ กสทช.ตามคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) หรือ ม.44 ตามประกาศเรื่องมาตรการแก้ไขปัญหา ผู้ประกอบการโทรคมนาคมและทีวีดิจิทัล แต่จำเป็นต้องเสนอประกาศในราชกิจจาในคราวเดียวกัน จึงต้องรอบอร์ด กสทช.อนุมัติก่อน
อย่างไรก็ตามร่างประกาศการจัดสรรคลื่นความถี่ 700 เมกะเฮิรตซ์ หลังรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ (ประชาพิจารณ์) แล้วเสร็จ กสทช.มีปรับแก้ไขเพียงเล็กน้อย โดยราคาการจัดสรรคลื่น 700 เมกะเฮิรตซ์ ยังคงเดิมไม่เปลี่ยนแปลงที่ราคา 17,584 ล้านบาท ต่อ 10 เมกะเฮิรตซ์ 1 ใบอนุญาต ซึ่งในครั้งนี้นำมาจัดสรรทั้งหมด 3 ใบอนุญาต และมั่นใจว่าทั้ง 3 ค่ายมือถือ จะมายื่นเอกสารการประมูล ในวันที่ 19 มิ.ย.62 อย่างแน่นอน ขณะที่เงื่อนไขการชำระเงินแบ่งเป็น 10 งวด อายุใบอนุญาต 15 ปี ก็ไม่เปลี่ยนแปลงเช่นกัน
ส่วนเงื่อนไขที่เปลี่ยนแปลง คือ กรณีค่ายมือถือยื่นเอกสารการใช้คลื่นความถี่ชุดเดียวกัน จากเดิมจะจับสลากเปลี่ยนเป็นรายใดเสนอผลประโยชน์ให้ กสทช.เพิ่มเติมจากราคาเร่ิมต้น ก็รับชุดคลื่นที่ต้องการได้ทันที ขณะเดียวกันได้ขยายระยะเวลาการแจ้่งล่วงหน้า กรณีนำเงินค่าประมูลมาชำระ จากเดิมกำหนดไว้ 30 วัน เปลี่ยนเป็น 90 วัน โดยค่ายมือถือที่รับจัดสรรคลื่น 700 เมกะเฮิรตซ์ จะต่้องนำเงินมาชำระงวดแรกในวันที่ 1 ต.ค.63 ซึ่งค่ายมือถือรายใด ท่ีเข้าร่วมจัดสรรคลื่น 700 เมกะเฮิรตซ์ในครั้ง ก็จะได้รับสิทธิ์การขยายระยะเวลาการชำระเงินค่าประมูล 900 เมกะเฮิตรซ์ จากเดิม 4 งวด เป็น 10 งวดด้วยเช่นกัน
...
สำหรับประเด็นคลื่นรบกวนนั้น กสทช.มั่นใจว่า ไม่มีสัญญาณคลื่นรบกวนแน่นอน เนื่องจากได้แบ่งคลื่นไว้ 9 เมกะเฮิรตซ์แล้ว เพื่อกั้นหรือเรียกว่า การ์ดแบน มิให้คลื่นรบกวนกับคลื่นที่จัดสรรให้ค่ายมือถือ หากสัญญาณรบกวนอย่างรุนแรง กสทช.จะใช้เงินจากกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.) เพื่อสร้างระบบป้องกันมิให้เกิดสัญญาณคลื่นรบกวนกัน
สำหรับคลื่น 2600 เมกะเฮิรตซ์ ขณะนี้ได้ว่าจ้างจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาแห่งประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ทำการศึกษาประเมินราคาเรียบร้อยแล้ว คาดว่าจะใช้เวลาศึกษาราว 90 วัน หลังจากนั้นก็จะนำไปเสนอบอร์ด กสทช.เห็นชอบ และนำไปรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ (ประชาพิจารณ์) คาดว่าจะเปิดประมูลได้ราวปลายปี 62 หรือต้นปี 63