อธิบดีกรมการแพทย์ เผยพบผู้ป่วยใช้น้ำมันกัญชาหยดใต้ลิ้นและสูบ เกิดผลกระทบต่อร่างกาย ต้องหามส่งโรงพยาบาลแล้ว 7 ราย เฉพาะ โรงพยาบาลนพรัตน์เท่านั้น ยังมีแห่งอื่นๆอีกหลายเคสส่วนใหญ่เกิดอาการเวียนหัว คลื่นไส้ อาเจียน เตือนกัญชาไม่เหมาะสำหรับทุกคน เพราะแต่ละคนมีปฏิกิริยาไวต่อน้ำมันกัญชาไม่เหมือนกัน อีกทั้งไม่ใช่ทางเลือกแรกในการรักษา ที่สำคัญอย่าหลงเชื่อข้อมูลตามโซเชียลมีเดียที่อ้างว่า น้ำมันกัญชารักษาสารพัดโรคได้ย้ำชัดอนุญาตให้ใช้รักษาเพียง 4 กลุ่มโรค เท่านั้น ขณะที่สาวที่ได้รับผลกระทบจากการใช้น้ำมันกัญชา โวยประกันสังคมให้จ่ายค่ารักษาเอง รพ.อ้างเจ็บป่วยจากใช้น้ำมันกัญชาไม่ครอบคลุม ส่วนผู้ใช้บัตรทองไม่มีปัญหา เลื่อนตีทะเบียนน้ำมันกัญชาสูตร อ.เดชา ไปเป็นวันที่ 12 มิ.ย.นี้
เมื่อวันที่ 24 พ.ค. ที่โรงแรมรามาการ์เด้นส์ นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ แถลงข่าวความต้องการกัญชาทางการแพทย์ การนำมาใช้ และวิธีการดูแลผู้ป่วยอย่างเหมาะสมว่า ได้รับรายงานจาก รพ.นพรัตนราชธานีว่า ช่วงเดือนครึ่งที่ผ่านมา พบมีผู้ป่วยได้รับผลกระทบจากการใช้น้ำมันกัญชา ทั้งแบบหยดใต้ลิ้นและสูบจำนวน 7 ราย รายแรก เป็นเพศชาย อายุ 20 กว่าปี มีอาการปวดท้องเรื้อรัง จึงใช้น้ำมันกัญชา 1-2 ครั้ง มีอาการคลื่นไส้ อาเจียน รายที่ 2 เป็นหญิง อายุ 35 ปี เป็นโรคความดันโลหิตสูง นำน้ำมันกัญชามาหยดใต้ลิ้นหยดแรกแล้วรู้สึกว่าติดที่ริมฝีปาก จึงหยดเพิ่มอีก 1 หยด หลังจากนั้น 4 ชั่วโมง มีอาการบ้านหมุน คลื่นไส้ อาเจียน รายที่ 3 ไม่มีโรคประจำตัว เป็นผู้สูบกัญชาค่อนข้างประจำ มีอาการปวดท้อง คลื่นไส้
...
อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า รายที่ 4 เป็นพระ อายุ 60 ปี ไม่มีโรคประจำตัว ใช้น้ำมันกัญชา รักษาอาการปวดเมื่อย พอหยดไป 1 คืน เกิดอาการเวียนศีรษะ คาดว่าอาจมาจากโรคความดันสูง ที่ผู้ป่วยไม่รู้มาก่อน มีอาการสโตรกและเป็นอัมพาตไปครึ่งซีก ไม่แน่ชัดว่ากัญชามีส่วนหรือไม่ รายที่ 5 ชาย อายุ 45 ปี เคยผ่าตัดหัวใจ และเป็นความดันโลหิตสูง ใช้น้ำมันกัญชาไป 1 ครั้ง วันรุ่งขึ้นเกิดเวียนศีรษะและอาเจียน ส่วนรายที่ 6 อายุ 75 ปี เป็นมะเร็งและนอนติดเตียง หลานนำน้ำมันกัญชามาลองหยดให้ ปรากฏว่ามีภาวะซึมจนต้องนอนให้น้ำเกลือใน รพ. 2-3 วันถึงกลับบ้านได้ แต่อาการโรคมะเร็งดีขึ้น และรายสุดท้ายเป็นผู้หญิง อายุ 35-40 ปี ไม่มีโรคประจำตัว แต่มีอาการเครียด ใช้น้ำมันกัญชาหยดวันละ 3-4 ครั้ง วันเกิดเหตุดื่มเบียร์ 2 กระป๋อง เกิดอาการคลื่นไส้อาเจียน ทั้งหมดนี้เป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบที่เข้ามารักษาที่ รพ.นพรัตนราชธานี เพียงแห่งเดียวเท่านั้น แต่ยังมีเคสอื่นๆอีกมาก
นพ.สมศักดิ์กล่าวต่อว่า น่าสังเกตว่า น้ำมันกัญชามีประโยชน์ในการรักษาอาการคลื่นไส้อาเจียน ในผู้ป่วยที่รับเคมีบำบัด แต่กลับพบว่า ผู้ป่วยที่เข้ามารักษาใน รพ.กลับมาด้วยอาการคลื่นไส้อาเจียน หมายความว่า น้ำมันกัญชาไม่ได้เหมาะสำหรับทุกคน ปฏิกิริยาไวต่อน้ำมันกัญชาแตกต่างกัน ยังพบข้อมูลอีกว่า ผู้ป่วยที่หาน้ำมันกัญชามาใช้มักซื้อจากผู้ขายรายเดียว รอบแรกใช้แล้วไม่เป็นไร รอบหลังกลับเกิดปัญหา สะท้อนให้เห็นว่าน้ำมันกัญชาไม่มีมาตรฐาน มีคนกำลังหลอกผู้ป่วยหรือไม่ เพราะขณะนี้มีการแชร์ทางโซเชียลว่า น้ำมันกัญชารักษาได้สารพัดโรคซึ่งไม่จริง ขณะนี้อนุญาตให้ใช้เพียง 4 กลุ่มโรค 1.ภาวะคลื่นไส้อาเจียนในผู้ป่วยที่ได้รับเคมีบำบัด 2.โรคลมชักที่รักษายาก หรือที่ดื้อต่อยารักษา 3.ภาวะกล้ามเนื้อหดเกร็ง ในผู้ป่วยปลอกประสาทเสื่อม และ 4.ภาวะปวดประสาทที่ใช้วิธีรักษาอื่นไม่ได้ผล ขอย้ำว่ากัญชาไม่ใช่ทางเลือกแรกในการรักษา การใช้ต้องเป็นไปตามข้อบ่งชี้ ดังนั้นผู้ป่วยจะต้องมาพบแพทย์ตรวจว่ามีข้อบ่งชี้ในเรื่องการใช้น้ำมันกัญชาเพื่อรักษาหรือไม่
สำหรับการอบรมผู้ใช้กัญชาทางการแพทย์เปิดไปแล้ว 6 รุ่นและเต็มหมดแล้ว แต่ยังจะเปิดรุ่นพิเศษให้แพทย์และเภสัชกรใน รพ.ประมาณ 100 กว่าแห่ง ในวันที่ 17-18 มิ.ย.จำนวน 250 ราย อบรมแพทย์ที่ดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคอง 180 ราย ในวันที่ 30-31 ก.ค.นี้ และอบรมหลักสูตรบริหารจัดการการใช้กัญชาทางการแพทย์ให้กับนายแพทย์สาธารณสุข จังหวัด และ ผอ.รพ.ศูนย์/รพ.ทั่วไป
ด้านนายอภิวัฒน์ เฟื่องฟู หัวหน้าศูนย์สาร–สนเทศ จุฬาฯ กล่าวว่า จากการสรุปข้อมูลผู้ที่มาลงทะเบียนผู้แจ้งครอบครองกัญชา ผ่านเว็บไซต์มีผู้เข้าชมเว็บไซต์ 139,977 ราย แต่มีผู้ลงทะเบียนสำเร็จ 31,177 ราย กระจายครบทั้ง 77 จังหวัด โดยมี 5 จังหวัดที่มีผู้ลงทะเบียนมากสุด คือ กรุงเทพฯ 8,726 ราย นนทบุรี 1,400 ราย นครราชสีมา 1,205 ราย เชียงใหม่ 1,203 ราย และปทุมธานี 1,145 ราย จำแนกกลุ่มโรคที่ใช้มากสุดอันดับ 1 คือ โรคมะเร็ง และอาการที่เกี่ยวข้องกับโรคมะเร็ง อันดับ 2 คือโรคไบโพลาร์ อันดับ 3 โรคซึมเศร้า และอันดับที่ 4 โรคอัลไซเมอร์ ขณะที่ นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา อาจารย์คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ และกรรมการปฏิรูปประเทศ ด้านสาธารณสุข กล่าวว่า ยารักษาโรคทุกตัวหากใช้ถูกก็เป็นประโยชน์ หากใช้ไม่ถูกต้องก็เป็นอันตราย กัญชาก็เช่นกัน ซึ่งกัญชาจะไปเพิ่มฤทธิ์ของยานอนหลับ อาจจะทำให้ซึม ซึมเศร้า หดหู่ การใช้ต้องระวัง ต้องทราบว่าจะใช้อย่างไร ที่สำคัญต้อง ไม่มีการฉวยโอกาสของกลุ่มคน
ในส่วนของผู้ที่ได้รับผลข้างเคียงการใช้น้ำมันกัญชานั้น น.ส.หนิง (นามสมมติ) กล่าวว่า ได้รับข้อมูลทางโซเชียลมีเดีย และคำแนะนำจากเพื่อนว่า น้ำมันกัญชารักษาโรคที่เกี่ยวกับมะเร็ง ตั้งใจว่าจะนำไปให้แม่ที่เป็นมะเร็งระยะสุดท้าย ซึ่งแพทย์รักษาไม่ได้แล้ว คิดว่าไม่มีอะไรเสีย โดยซื้อมาในราคา 700 บาท แต่กังวลว่าจะมีผลกระทบกับแม่ เพราะร่างกายไม่แข็งแรง จึงนำมาทดลองกับตัวเองก่อน ซึ่งตนเป็นโรคไทรอยด์และภูมิแพ้อยู่ก่อนแล้ว
นำมาหยดใต้ลิ้น 1 หยดแล้วหลับไป แต่ตื่นมาประมาณตี 1 หัวใจเต้นเร็วมาก รู้สึกตัว แต่ขยับตัวไม่ได้ ลิ้นแข็ง ปากชา เหมือนเป็นอัมพาต จนเช้าหลานพาไปพบแพทย์ที่ รพ.เอกชนแห่งหนึ่งซึ่งเป็น รพ.ตามสิทธิประกันสังคม แต่ รพ.แจ้งว่า กรณีที่เจ็บป่วยจากการใช้น้ำมันกัญชา ประกันสังคมยังไม่ครอบคลุม ต้องจ่ายค่ารักษาเอง ต้องเสียเงินค่ารักษาไป 1,300 บาท
...
นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า สำหรับผู้ป่วยสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือสิทธิบัตรทอง เบื้องต้นหากได้รับผลกระทบจากการใช้น้ำมันกัญชานั้น หากเป็นการรักษาพยาบาลตามสิทธิก็ไม่มีปัญหาอะไร เพราะเป็นเรื่องของสิทธิการรักษาพยาบาลอยู่แล้ว
เย็นวันเดียวกันนี้ ที่สถาบันการแพทย์แผนไทยฯ มีการประชุมคณะกรรมการด้านการประเมินรับรองตำรับยาแผนไทยที่มีกัญชาและกระท่อม และการใช้ยาแผนไทยที่มีกัญชาและกระท่อมปรุงผสมอยู่ หลังประชุมเสร็จสิ้น นพ.ขวัญชัย วิศิษฐานนท์ ผอ.สถาบันการแพทย์แผนไทย ในฐานะประธานคณะกรรมการฯ กล่าวว่า จากการพิจารณาตำรับยาสมุนไพรที่มีกัญชาเป็นส่วนประกอบหนึ่งในนั้นมีสูตรน้ำมันกัญชาของนายเดชา ศิริภัทร มูลนิธิ
ข้าวขวัญ แต่เพราะเวลาน้อย จึงยังไม่ได้พิจารณา แต่เบื้องต้นไม่น่าจะมีปัญหาและเข้าหลักเกณฑ์การพิจารณา โดยเท่าที่พิจารณายังขาดข้อมูลบางอย่างเกี่ยวกับการสกัดสารสำคัญของกัญชา ดังนั้นได้ประสานผู้เกี่ยวข้องให้ส่งข้อมูลเพิ่มเติมมาให้ในวันที่ 10 มิ.ย. และจะพิจารณาอีกครั้งในวันที่ 12 มิ.ย.นี้