“ที่ดินโรงงานมักกะสัน” เปิดดำเนินงานควบคู่กับการรถไฟแห่งประเทศไทย เคียงข้างวิถีชีวิตคนไทยมายาวนาน กำลังกลายเป็นกระแส...ถูกยกขึ้นมาพูดคุยเป็นประเด็นอีกครั้งในเรื่องทิศทางการพัฒนาพื้นที่ 497 ไร่ นำไปสู่การใช้ประโยชน์...พัฒนาเชิงพาณิชย์...ให้เกิดความคุ้มค่า

จากการนำพื้นที่มักกะสัน 150 ไร่ และพื้นที่โดยรอบสถานีศรีราชา 25 ไร่ ผนวกเข้ากับการพัฒนาพื้นที่สนับสนุนการพัฒนารถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน คือ สนามบินดอนเมือง สุวรรณภูมิ และอู่ตะเภา หนึ่งในแผนพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก อีอีซี

ทว่ากว่าล้อเหล็กหมุนเคลื่อนตัวกระทบรางเหล็ก...ไปตามเส้นทางกระจายทุกพื้นที่ภูมิภาคของประเทศ เพื่อตอบสนองภาคคมนาคมการขนส่งให้ประชาชนเดินทางสะดวกนั้น...ไม่ใช่เรื่องง่าย!

เห็นได้จาก “ขบวนรถไฟ” เคยเป็น “กรมรถไฟ” เดินทางยาวนาน...มาถึงวันนี้เป็น “การรถไฟแห่งประเทศไทย”...ใกล้เข้าสู่ครบรอบ 122 ปี ในวันที่ 26 มิถุนายน 2562

เมื่อมองย้อนไปในปี 2433 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนากรมรถไฟขึ้นเป็นครั้งแรก ในสังกัดกระทรวงโยธาธิการ และเริ่มก่อสร้างทางรถไฟเส้นทางสายแรกของประเทศสยาม สายกรุงเทพฯ–นครราชสีมา

ต่อมาวันที่ 26 มีนาคม 2434 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินประกอบพระราชพิธีกระทำพระฤกษ์ เริ่มการก่อสร้างทางรถไฟหลวงในราชอาณาจักรไทย ที่ปะรำพิธีฝั่งคลองผดุงกรุงเกษม ตรงข้ามวัดเทพศิรินทราวาส นั่นก็คือ...ที่ทำการรถไฟแห่งประเทศไทยในปัจจุบันนี้

นับจากจุดเริ่มต้น “กรมรถไฟ” กลายมาเป็น “กรมรถไฟหลวง” มีการเริ่มขยายความรุ่งเรืองของกิจการรถไฟ ด้วยการสร้างสถานีรถไฟกรุงเทพใหม่ เพื่อเป็นสถานีศูนย์กลางของรถไฟสายสำคัญทุกสาย ที่มีการเปิดเดินรถไฟไปยังภูมิภาคต่างๆของประเทศ และเชื่อมต่อเส้นทางคมนาคมได้สะดวกมากขึ้นกว่าเดิม

...

หากกลับมาพูดถึง “โรงงานมักกะสัน” ต่างเต็มไปด้วยเรื่องราว เรื่องเล่า และกลิ่นอายของ “ความเป็นประวัติศาสตร์ ต้นกำเนิด...ความรุ่งเรืองของกิจการรถไฟ” ถูกถ่ายทอดอยู่เบื้องหลังกำแพงล้อมรอบบนพื้นที่ใจกลางเมืองกรุงเทพฯ และกำลังจะถูกลบออกจากความทรงจำของสังคมไทย...

นำไปสู่...ความเจริญเชิงพาณิชย์จากนักธุรกิจ

ย้อนประวัติถึงการก่อกำเนิดเกิดขึ้น ในปี 2453 สาระสำคัญคือกรมรถไฟหาพื้นที่สร้างโรงงานรถไฟแห่งใหม่ รองรับโรงงานซ่อมรถจักร และรถพ่วง...แทนสถานีรถไฟกรุงเทพหัวลำโพงที่ถูกรื้อลง

กระทั่งปี 2481 มีการออกพระราชกฤษฎีกา และพระราชบัญญัติหลายฉบับ เพื่อการเวนคืนที่ดินขยายโรงงานมักกะสัน สร้างโรงซ่อมเครื่องไฟฟ้าใหม่ และโรงงานเพิ่มเติมอีกมากมาย และสร้างโรงเรียนวิศวกรรมรถไฟ บ้านพักคนงาน และบ้านเจ้าหน้าที่ในโรงงานมักกะสัน

เมื่อการดำเนินงานก่อสร้างโรงงานนี้เสร็จสิ้นลง...ต้องมาพบเจอกับ “สงครามมหาเอเชียบูรพา” และโรงงานมักกะสันถูกทิ้งระเบิดทางอากาศ 4 ครั้ง ทำให้อาคารโรงงานและสิ่งปลูกสร้างหลายอย่างเสียหาย

ในยุค 2494 รัฐบาลสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม เริ่มบูรณะกิจการรถไฟให้กลับเข้าสภาพใช้การได้ดีอย่างเดิม และติดตั้งเครื่องจักร เครื่องมือกลใหม่ อาทิ โรงล้อ โรงซ่อมรถจักรดีเซล และเครื่องมือกลรถโดยสาร โรงซ่อมรถบรรทุก 1 และ 2 และเครื่องมือกลรถบรรทุกโรงหล่อและกระสวนโรงช่างไม้ โรงเลื่อย โรงบุหนัง

เปลี่ยนสถานะของ “กรมรถไฟหลวง” เป็นรัฐวิสาหกิจภายใต้ชื่อ “การรถไฟแห่งประเทศไทย”

เวลาผ่านไปนับร้อยปี...ปัจจุบัน “โรงงานมักกะสัน” มีหน้าที่หลัก คือ งานซ่อมหนักรถจักรดีเซล รถดีเซล รางรถโดยสาร การซ่อมดัดแปลงล้อเลื่อนและอุปกรณ์ต่างๆ ผลิตอุปกรณ์ส่วนประกอบบางชนิด และสนับสนุนงานซ่อมบำรุงในส่วนภูมิภาค รวมถึงรับผิดชอบงานด้านบริหารบุคคลจัดสวัสดิการ

ตามข้อมูลของสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ เคยสำรวจอาคารที่มีคุณค่าควรแก่การอนุรักษ์ในพื้นที่ย่านโรงงานมักกะสันพบสิ่งก่อสร้างมีคุณค่าพิเศษคู่ควรอนุรักษ์ อาทิ อาคาร 2465 คลังพัสดุโรงงาน อาคารโรงงานซ่อมรถจักร อาคารโรงหล่อและกระสวน อาคารสถานีรถไฟมักกะสัน บ้านพักไม้ในพื้นที่นิคมรถไฟมักกะสัน และโรงพยาบาลบุรฉัตร–ไชยากร

สิ่งก่อสร้างนี้มีความสำคัญเชิงหลักฐานทางประวัติศาสตร์ บ่งชี้ถึง “ยุคเฟื่องฟู...กิจการรถไฟ” ตลอดระยะเวลาการดำเนินงานของโรงงานมักกะสัน 109 ปี สามารถผลิตรถไฟใช้ในประเทศ ก่อนมาถึงยุคนี้...ที่การเดินทางสะดวกมากกว่าเดิม จนถูกลดทอนบทบาทลงอย่างต่อเนื่อง

อินทร์ แย้มบริบูรณ์ พนักงานเทคนิค 6 โรงงานมักกะสัน เล่าให้ฟังว่า ที่ดินมักกะสัน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ได้พระราชทานที่ดินแห่งนี้เพื่อเป็นโรงงานซ่อมบำรุงหัวจักรไอน้ำ พื้นที่แห่งนี้ในอดีตเป็นโรงงานรถไฟขนาดใหญ่ และสำคัญยิ่งแห่งหนึ่งของประเทศไทย

สถานที่แห่งนี้สมัยก่อนเป็นอุตสาหกรรมโรงงานเครื่องจักรครบวงจร มีศักยภาพสร้างได้ทุกอย่าง ทั้งมีโรงล้อ โรงยาง อุปกรณ์นำเข้าจากประเทศยุโรปทั้งหมด เมื่อครั้งปี 2480 เคยเป็นเมืองอุตสาหกรรมเครื่องจักรใหญ่ที่สุดของเอเชีย และประเทศในแถบอาเซียนต้องมาดูงานที่โรงงานมักกะสัน

แม้แต่ประเทศเกาหลียังเคยสั่งซื้อเครื่องห้ามล้อรถไฟของประเทศไทย

ภายในยังมีโรงงานยุคเก่าทั้งตัวสถาปัตยกรรมของอาคาร รวมถึงการตกแต่งด้านในคงรูปแบบเดิมไว้หลายอย่าง ไม่ว่า...จะเป็นอาคารเก่าแก่ที่สุด คือ อาคาร ร.ฟ.ผ.๒๔๖๕ โรงซ่อมรถจักรไอน้ำ หรือโรงซ่อมรถดีเซลรางรถปรับอากาศ ที่มีเครื่องมือเก่าใช้กันทั่วโลก รวมถึงโรงเก็บไม้ 1 และ 2 โครงสร้างทำด้วยไม้เนื้อแข็งทั้งหลัง อาทิ ไม้สัก ไม้พะยูง ไม้เต็งไม้ประดู่ และไม้ตะเคียน

...

ทั้งหมดมีความสำคัญหลายด้าน ในด้านประวัติศาสตร์ เกี่ยวกับการพัฒนาเมืองและประเทศ ด้านสถาปัตยกรรม มีอาคาร...สิ่งปลูกสร้างที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ถือว่ามีความสำคัญเป็นแหล่งมรดกทางอุตสาหกรรม

แต่ในอนาคตกำลังจะถูกพัฒนาที่ดินมักกะสันไปในเชิงพาณิชย์...ตามที่การรถไฟฯ เปิดให้ภาคเอกชนยื่นข้อเสนอร่วมลงทุน (ทีโออาร์) โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ในแผนโครงการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ อีอีซี และกำหนดให้ที่ดินมักกะสันเป็นจุดศูนย์กลางเชื่อมต่อรถไฟฟ้าความเร็วสูง

มีการ “มอบสิทธิ์การเช่าที่ดิน” ของการรถไฟฯ ให้กับ “เอกชนผู้ชนะการประมูล” ก่อสร้างโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน เป็นระยะเวลา 50 ปี ประกอบด้วย ที่ดินศรีราชา 25 ไร่ และที่ดินมักกะสัน 150 ไร่ ในการ “พัฒนาที่ดินในเชิงพาณิชย์” โดยที่ดินมักกะสันกำหนดในโซนเอ เป็นส่วนโรงงานซ่อมรถไฟ ที่ใช้ทำสับเปลี่ยนลำเลียงรถจักร และรถพ่วง เข้ามาซ่อมในโรงงานมักกะสัน...

ข้อกังวลมีว่าหากมีการส่งมอบพื้นที่แปลงโซนเอ ให้กับทางเอกชน... อาจจะเกิดผลกระทบต่อระบบซ่อมบำรุงรถจักร รถดีเซลราง รถพ่วง ทำให้เกิดปัญหาในการส่งรถเข้าซ่อมในงานสนับสนุนด้านการขนส่งพัสดุ...อะไหล่

สิ่งสำคัญคือ อาจทำลายความเป็นมรดกทางอุตสาหกรรม หลักฐานวัฒนธรรมที่มีคุณค่าทางด้านประวัติศาสตร์ ทางเทคโนโลยี สังคม ทั้งอาคาร เครื่องจักรกล ที่ต้องได้รับการเก็บข้อมูลให้เป็นมรดก

ถือว่าเป็นสิ่งล้ำค่า...ทางจิตใจที่ไม่สามารถประเมินได้ และยังเป็นอีกความภูมิใจของ “คนการรถไฟ” และ “คนไทย” ทั้งชาติ ที่ควรหวงแหน อนุรักษ์...เก็บรักษาไว้ให้เป็นมรดกตกทอดสู่ลูกหลาน

กลายเป็นแหล่งเรียนรู้ทางประวัติศาสตร์อันมีคุณค่า...ผ่านสถานที่นี้ ที่มีเรื่องราวสำคัญของ “การรถไฟแห่งประเทศไทย” ซึ่งคนส่วนใหญ่อาจไม่เคยทราบเรื่องราวนี้เลยด้วยซ้ำ.

...