"แอร์พอร์ต เรล ลิงก์" ยันจะมุ่งมั่นพัฒนานโยบาย รองรับการเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยโดยสมบูรณ์ โดยเร่งจัดอำนวยความสะดวกแก่ผู้โดยสารสูงอายุ ตลอดจนผู้ทุพพลภาพ รวมทั้งอัตราค่าบัตรโดยสาร และให้ทุกสถานีมีห้องพยาบาล เตียง ยาสามัญ อุปกรณ์ปฐมพยาบาลเบื้องต้น เพราะประเทศไทยกำลังอยู่ในช่วงการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์...
เมื่อวันที่ 29 เม.ย.62 นายสุเทพ พันธุ์เพ็ง กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท จำกัด ผู้ดูแลรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ เผยว่า บริษัทได้มีนโยบายคุ้มครองและอำนวยความสะดวกแก่ผู้โดยสารสูงอายุในการใช้ขนส่งสาธารณะแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ อย่างปลอดภัยและสะดวกสบาย โดยมีการบรรจุนโยบายผู้โดยสารสูงอายุ เพื่อให้พนักงานและเจ้าหน้าที่ทุกคนตระหนักถึงการอำนวยความสะดวกแก่ผู้โดยสารสูงอายุ ตลอดจนผู้ทุพพลภาพอยู่เสมอ โดยเป็นนโยบายที่ตั้งต้นมาตั้งแต่กระทรวงคมนาคมให้มีขั้นตอนการดำเนินงานหรือสิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อให้ผู้โดยสารสูงอายุและผู้โดยสารที่ทุพพลภาพได้มาใช้บริการได้อย่างสะดวกสบาย เริ่มตั้งแต่อัตราค่าบัตรโดยสาร โดยมีบริการบัตรสำหรับผู้โดยสารสูงอายุ ซึ่งมีค่าโดยสารต่ำกว่าบุคคลทั่วไปถึง 50% รวมถึงสิ่งอำนวยความสะดวกพื้นฐานต่างๆ อาทิ ทางลาดตั้งแต่ระดับถนนจนมาถึงลิฟต์โดยสาร ซึ่งจะมีพนักงานคอยอำนวยความสะดวกช่วยเหลือ มีห้องน้ำบริการอยู่ในทุกสถานี มีปุ่มกดเรียกพนักงานในเวลาเกิดเหตุฉุกเฉิน ตลอดจนที่นั่งสำหรับผู้โดยสารสูงอายุบริเวณชานชาลา โดยบริเวณช่องว่างระหว่างขบวนรถไฟกับชานชาลา (Gap) จะมีทางพาดหรือ Portable Ramp สำหรับรถ Wheelchair ให้ผู้โดยสารสามารถเดินผ่านหรือเข็นรถผ่านตรงช่องว่างได้โดยไม่ต้องกลัวการตกหล่นหรือติดขัด ซึ่งไม่ได้เจาะจงว่าต้องเป็นผู้โดยสารสูงอายุเท่านั้น แต่ครอบคลุมถึงกรณีที่มีผู้เจ็บป่วย โดยทุกสถานีจะมีห้องพยาบาล เตียง ยาสามัญ อุปกรณ์ปฐมพยาบาลเบื้องต้น ตลอดจนเปลเคลื่อนย้ายผู้ป่วย ซึ่งทางองค์กรมีการฝึกอบรมเจ้าหน้าที่สถานีทุกคนเกี่ยวกับการปฐมพยาบาลให้สามารถช่วยเหลือผู้โดยสารในเบื้องต้นได้
...
นอกเหนือจากนโยบายและแผนการทำงานเพื่ออำนวยความสะดวกผู้โดยสารสูงอายุที่มีอยู่ในปัจจุบันแล้ว เรายังมีการวัดผลและประเมินผู้โดยสารสูงอายุอยู่เสมอถึงความต้องการเพิ่มเติมในด้านอื่นๆ โดยปัจจุบัน มีโครงการที่อยู่ระหว่างการพัฒนาอยู่ทั้งสิ้น 3 โครงการ ได้แก่ 1. การทำ Platform Gap filler หรือยางปิดรูช่องว่างระหว่างขบวนรถไฟกับชานชาลาเพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุของผู้โดยสาร 2. การเพิ่มบันไดบริเวณสถานีพญาไท เพื่อรองรับปริมาณผู้โดยสารที่มีมากขึ้น และ 3.การติดพัดลมไอน้ำที่สถานีและชานชาลา เพื่อช่วยลดอุณหภูมิในช่วงที่ผู้โดยสารแออัดจำนวนมาก และช่วยให้ผู้โดยสารสูงอายุตลอดจนผู้โดยสารทั่วไปสามารถใช้บริการรถไฟฟ้า แอร์พอร์ต เรล ลิงก์ได้อย่างสะดวกสบายยิ่งขึ้น
“เรายังคงมุ่งมั่นที่จะพัฒนาแผนงานและนโยบายเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้โดยสารสูงอายุที่มาใช้บริการ ให้สามารถดำเนินกิจกรรมในชีวิตประจำวันและเดินทางสัญจรโดยการใช้ขนส่งสาธารณะได้อย่างปลอดภัยและสะดวกสบายที่สุดต่อไป เพื่อรองรับการก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ (Aged Society) ของประเทศไทย” นายสุเทพ กล่าว
ทั้งนี้ ประเทศไทยกำลังอยู่ในช่วงการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ (Aged Society) โดยจากข้อมูลของ United Nations World Population Ageing พบว่า หลังจากปี พ.ศ. 2552 ประชากรที่อยู่ในวัยพึ่งพิงได้แก่ เด็กและผู้สูงอายุมีจำนวนมากกว่าประชากรในวัยแรงงาน และในปี พ.ศ. 2562 มีแนวโน้มว่าจะเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่ประชากรเด็กจะมีจำนวนน้อยกว่าประชากรผู้สูงอายุ สถานการณ์นี้เป็นผลมาจากการลดภาวะการเจริญพันธุ์อย่างรวดเร็ว และการลดลงอย่างต่อเนื่องของระดับการตายของประชากร ทำให้จำนวนและสัดส่วนประชากรสูงอายุของไทยเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งจากข้อมูลประชากรของประเทศไทยในปีพ.ศ. 2556 ประชากรไทยมีจำนวน 64.6 ล้านคน เป็นผู้สูงอายุมากถึง 9.6 ล้านคน คาดว่าในปี พ.ศ. 2573 จะมีจำนวนผู้สูงอายุ 17.6 ล้านคน (ร้อยละ 26.3) และปีพ.ศ. 2583 จะมีจำนวนถึง 20.5 ล้านคน หรือร้อยละ 32.1 ของประชากร ซึ่งหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน ได้ร่วมกันดำเนินงานเพื่อคุ้มครอง ส่งเสริม และสนับสนุนสถานภาพ บทบาท และกิจกรรมของผู้สูงอายุ.