‘ส้ม-ชนากานต์’ ปิ๊ง ยัดขนมไทยส่งนอก

สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ย้ำกฎหมาย คลายล็อกให้ใช้กัญชาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ เท่านั้น วอนประชาชนแจ้งครอบครองกัญชาก่อน 19 พ.ค. หวังเช็กยอดความต้องการใช้กัญชา เล็งให้องค์การเภสัชกรรมผลิตลอตเร่งด่วน เดือน พ.ค. ด้านกรมการแพทย์เตรียมเปิดหลักสูตรติว “แพทย์-ทันตแพทย์-เภสัชฯ” ใช้กัญชารอบ 2 วันที่ 10 พ.ค. ด้าน “แม่มดกัญชา” อ้างมีออเดอร์ ขนมไทยจากสหรัฐฯ เลยผุดไอเดียทำขนมทองเอกผสมสารกัญชาแต่ไปผลิตที่สหรัฐฯ

เมื่อวันที่ 24 เม.ย. นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา กล่าวถึงความคืบหน้าการแจ้งขอครอบครองกัญชาตามกฎหมายนิรโทษ ว่า ข้อมูลถึงวันที่ 21 เม.ย. มีผู้ขอครอบครองกัญชาแบ่งเป็น กลุ่มที่ 1 คือ ผู้ที่มีคุณสมบัติในการขอใบอนุญาตได้ 19 ราย ในกรุงเทพฯ 14 ราย ต่างจังหวัด 5 ราย กลุ่มที่ 2 คือ ผู้ป่วยที่ใช้กัญชารักษาโรคอยู่มี 6,395 ราย แบ่งเป็นกรุงเทพฯ 1,185 ราย ต่างจังหวัด 5,210 ราย กลุ่มที่ 3 คือ บุคคลอื่นๆ ที่ต้องส่งมอบของกลางและหากจะขออนุญาตต้องทำตามกฎหมายมี 1 ราย ทั้งนี้ อยากให้กลุ่มที่เข้าข่ายตามกฎหมายให้รีบมาแจ้งภายในวันที่ 19 พ.ค. หากเกินกำหนดจะไม่สามารถมาแจ้งได้

นพ.ธเรศกล่าวอีกว่า แต่ในกรณีผู้ป่วยเมื่อมาแจ้งภายในระยะเวลาดังกล่าวจะสามารถขอใช้กัญชาทางการแพทย์ได้อีก 90-180 วัน แล้วแต่ความเหมาะสม สิ่งสำคัญขอให้รีบมาแจ้งการครอบครอง เพราะมีความจำเป็นมาก เพื่อจะได้มีข้อมูลและเป็นประโยชน์ในการผลิตยาสำรองสำหรับผู้แจ้ง โดยจะมีการหารือกับองค์การเภสัชกรรมเรื่องนี้ อย่างไรก็ตามมีความเห็นตรงกันกัญชามีประโยชน์ทางการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุขจึงพยายามผลักดันเรื่องนี้ให้เป็นประโยชน์ภายใต้พื้นฐานข้อมูลวิชาการและความรู้ แต่ก็เข้าใจดีว่าก่อนหน้านี้มีการใช้กัญชามาก่อนแล้ว องค์ความรู้ตรงนี้จึงเป็นประโยชน์มาก อยากเชิญชวนผู้มีความรู้เข้ามาทำวิจัยร่วมกัน

...

ผู้สื่อข่าวถามว่า ยังคงมีความกังวลเรื่องยาหรือสารสกัดกัญชาทางการแพทย์ผลิตไม่เพียงพอ นพ.ธเรศกล่าวว่า เรื่องนี้จะแบ่งเป็น 2 ส่วน คือแพทย์ที่ผ่านการรับอนุญาตให้ใช้กัญชาทางการแพทย์ และวัตถุดิบในการผลิต วันที่ 29-30 เม.ย. จะมีแพทย์ที่ผ่านการอบรมการใช้กัญชาเพื่อทางการแพทย์ 200 คน ออกมารุ่นแรก ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาได้ขอกรมการแพทย์ให้เพิ่มการอบรมอีก เพื่อให้มีแพทย์กระจายทั่วประเทศ ส่วนเรื่องการผลิตกัญชามาใช้ทางการแพทย์นั้น องค์การเภสัชกรรมคิดว่าจะผลิตได้ในเดือน ก.ค. จะมีน้ำมันกัญชามาใช้ในกลุ่มนี้

นพ.ธเรศกล่าวอีกว่า แต่ในกรณีที่จำเป็นองค์การเภสัชฯจะพิจารณาว่าจะผลิตออกมาลอตเร่งด่วนก่อนในเดือน พ.ค. ส่วนวัตถุดิบไม่ต้องกังวล อาจจะไปขอของกลางแบบคัดเกรดคุณภาพจาก ป.ป.ส. ขอย้ำว่าตามกฎหมายที่มีการคลายล็อกให้นำกัญชามาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ ยังอนุญาตให้นำกัญชามาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์เท่านั้น ผู้ที่จะใช้ได้ต้องมีการอบรมและขออนุญาตก่อนด้วย

นพ.อรรถสิทธิ์ ศรีสุบัติ ผอ.สถาบันวิจัยและประเมินเทคโนโลยีทางการแพทย์ กรมการแพทย์ กล่าวถึงเนื้อหาการอบรมหลักสูตรการใช้กัญชาทางการแพทย์ของแพทย์ ทันตแพทย์ และเภสัชกรรมในวันที่ 29-30 เม.ย. ว่า เป็นหลักสูตรที่ทำให้ผู้เข้าอบรม มีความรู้ความสามารถในการดูแลผู้ป่วยได้ในระดับหนึ่ง ส่วนเภสัชฯจะเป็นผู้จ่ายยา ต้องมีความรู้เพื่อจะได้ไปอธิบายและให้ความรู้กับผู้ป่วยได้ เบื้องต้นหลักสูตรจะมีทั้งหมด 6 รุ่น รุ่นแรกเริ่มวันที่ 29-30 เม.ย. รุ่นที่ 2 เริ่มวันที่ 23-24 พ.ค. เปิดรับสมัครวันที่ 10 พ.ค. ทางระบบออนไลน์ ส่วนรุ่นต่อไปยังไม่ได้กำหนด หากมีความต้องการเพิ่มก็จะดำเนินการต่อ การดำเนินการทำภายใต้คณะกรรมการพิจารณาและรับรองหลักสูตรการนำกัญชาไปใช้ทางการแพทย์ มีตัวแทนจากหลายภาคส่วน ทั้งราชวิทยาลัยและสมาคมต่างๆ หลักสูตรนี้เปิดกว้าง หากหน่วยงานใดอยากจะจัดหลักสูตร ก็ส่งข้อมูลหลักสูตรมาให้คณะกรรมการพิจารณา หากคณะกรรมการเห็นชอบก็จัดหลักสูตรได้

นพ.อรรถสิทธิ์กล่าวต่อว่า ผู้ป่วยที่จะได้รับกัญชา เช่น โรคลมชัก ภาวะคลื่นไส้อาเจียนในผู้ป่วยมะเร็งที่ได้รับยาเคมีบำบัด ผู้เป็นโรคปวดประสาท และโรคบางโรค ต้องพิจารณาเป็นรายๆ ส่วนผู้ป่วยที่ไม่ควรใช้ เช่น กลุ่มที่มีประวัติโรคทางจิต ผู้ที่แพ้สารที่ใช้ในการสกัดกัญชา โรคหัวใจที่มีอาการ โรคตับรุนแรง เป็นต้น ในไทยยังไม่มีการใช้ตัวยาจากสารสกัดกัญชา จะมีแค่ในต่างประเทศที่ใช้รักษาโรคลมชัก รักษาภาวะกล้ามเนื้อหดเกร็งในผู้ป่วยที่เป็นโรคปลอกประสาทหดเกร็ง ดังนั้น ในไทยหากได้สารสกัดจากกัญชาจะเป็นผลิตภัณฑ์ยังไม่ใช่ยา ขณะนี้ก็จะมีขององค์การเภสัชฯที่จะมีการสกัดผลิตภัณฑ์น้ำมันมาให้ใช้ก่อนในเดือน ก.ค. ส่วนใช้ในโรคใดก็อยู่ที่การพิจารณาขององค์การเภสัชกรรม

อีกด้านวันเดียวกัน ที่สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยรามคำแหง รศ.ดร.วรรณา มุสิก คณบดี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ดร.แก้มหอม ณ ลานช้าง หรือ แม่มดกัญชา นายบัณฑูร นิยมาภา หรือลุงตู้ ผู้บุกเบิกให้สารกัญชารักษามะเร็งและ ส้ม-ชนากานต์ ชัยศรี อดีตมิสไทยแลนด์เวิลด์ 1990 ที่เป็นเจ้าของร้านขนมไทย แถลงข่าวเตรียมจัดงานอบรมวิชาการองค์ความรู้ด้านกัญชากับการรักษาโรคในวันที่ 30 เม.ย. ที่หอประชุมพ่อขุนรามคำแหง ให้ความรู้เกี่ยวกับการผลิตแปรรูปผลิตภัณฑ์กัญชา การปลูกกัญชาแบบเกษตรอินทรีย์และการทำการตลาดที่เกี่ยวข้องกับกัญชาแก่ประชาชนที่สนใจธุรกิจกัญชา โดยมีการเก็บค่าใช้จ่ายผู้เข้าอบรมคนละ 2,000 บาท

ในการแถลงข่าว ดร.แก้มหอมและส้ม-ชนากานต์ อ้างว่า จะนำขนมหวานไทยชื่อขนมทองเอกไปผลิตที่สหรัฐอเมริกา โดยมีการผสมสารสกัดกัญชาและจะนำไปวางจำหน่ายในรัฐโอกลาโฮมา รัฐเนวาดา รัฐฟลอริดา และรัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา เป็นเจ้าแรกของไทย พร้อมกันนี้ได้มีการนำขนมทองเอกมาโชว์ด้วย

...

ดร.แก้มหอมกล่าวอ้างว่า ขนมทองเอกที่จะไปวางขายที่สหรัฐฯ ได้ออเดอร์จากโรงแรมแห่งหนึ่งในลาสเวกัส ที่ติดต่อมาว่าอยากจะนำขนมไทยไปวางขายในร้านอาหารของโรงแรม จึงคิดจะนำขนมผสมกัญชาไปวางขายในต่างประเทศที่มีความเสรีในเรื่องกัญชา ด้าน ส้ม-ชนากานต์กล่าวว่า ขนมทองเอกผสมกัญชา เป็นสูตรที่คิดขึ้นเพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยโรคเบาหวาน ภายใต้การควบคุมส่วนผสมจากสารสกัดของกัญชาตามมาตรฐานทางการแพทย์ โดย ดร.แก้มหอม เรื่องรสชาติมีรสชาติจะปกติไม่แตกต่างจากขนมทองเอกทั่วไป เนื่องจากเป็นการใช้สารกัญชาที่สกัดแล้ว ไม่ใช่ใช้กัญชาโดยตรง สำหรับขนมทองเอกที่นำมาโชว์วันนี้ เป็นขนมทองเอกที่ปลอดกัญชา