ย้อนรอย 29 ปี คดีโฮปเวลล์ ตอม่ออัปยศ ไม่สิ้นฤทธิ์ ยังตามหลอกหลอน รัฐบาลจ่อเสียค่าโง่มหาศาล เกือบ 1.2 หมื่นล้านบาท อีกคำรบ

และแล้ว วันนี้ (22 เม.ย. 2562) ศาลปกครองสูงสุด ได้อ่านคำพิพากษา ยกคำร้อง กรณีให้เพิกถอนคำชี้ขาดอนุญาโตตุลาการ คดีโฮปเวลล์ และให้ กระทรวงคมนาคม โดย รฟท. ต้องจ่ายคืนเงินค่าก่อสร้างแก่ บริษัทโฮปเวลล์ รวม 11,888 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี ภายใน 180 วัน 

อาจเป็นการเรียกว่า รัฐจ่อต้องเสียค่าโง่จำนวนมหาศาลอีกคำรบ ทีมข่าวเจาะประเด็นไทยรัฐออนไลน์ ลองย้อนคดีประวัติศาสตร์นี้ พบว่า โครงการโฮปเวลล์ เกิดขึ้นเมื่อปี 2533 สมัยรัฐบาล พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ มี นายมนตรี พงษ์พานิช นั่งเก้าอี้เป็น รมว.คมนาคม เพื่อหวังแก้ไขปัญหาจราจร โดยใช้วงเงินลงทุนทั้งโครงการประมาณ 8 หมื่นล้านบาท ใช้เวลาก่อสร้าง 8 ปี

ผู้ชนะการประมูลคือ นักธุรกิจชื่อดัง ‘กอร์ดอน วู’ ประธานบริหารโฮปเวลล์ โฮลดิ้ง ยักษ์ใหญ่แห่งวงการก่อสร้างของฮ่องกง

โดยวันที่ 9 พ.ย. 2533 ได้มีการลงนามเซ็นสัญญา โดยสัญญาสัมปทานมีอายุยาวนานถึง 30 ปี และรัฐบาลไทยไม่ต้องควักกระเป๋าตังค์จ่ายเองด้วย เพราะโฮปเวลล์จะเป็นผู้ลงทุนออกแบบเองทั้งหมด

...

องค์ประกอบของระบบ

1. ทางรถไฟของ ร.ฟ.ท. สำหรับขบวนรถไฟในระบบของ ร.ฟ.ท. 

2. ระบบทางรถไฟชุมชนของบริษัทโฮปเวลล์ ขนาบซ้าย-ขวาของ ร.ฟ.ท.อีกข้างละ 1 ทาง พร้อมสถานีรถไฟชุมชนทุกๆ ระยะ 0.7-1.2 กม. และเป็นระบบรถไฟฟ้าขนส่งผู้โดยสารใน กทม.และปริมณฑล

3. ระบบถนนยกระดับเก็บค่าผ่านทาง ขนาด 2-3 ช่องทาง มีลักษณะทำนองเดียวกับทางด่วน กทพ.

4. ระบบถนนเสมอระดับพื้นดิน เดินรถทางเดียวขนานสองข้างทางระบบทางยกระดับ

รวมระยะทางรถไฟทั้งสิ้น 60.1 กม. และทางรถยนต์ 56.8 กม.

รัฐบาลได้อะไรจากโครงการนี้?

• โฮปเวลล์จะต้องชำระเงินงวดแรก 300 ล้านบาท ในวันที่สัญญามีผลบังคับใช้ 6 ธ.ค. 2534
• โฮปเวลล์จะต้องชำระเงินงวดที่สอง 350 ล้านบาท (6 ธ.ค. 2535)
• ต่อจากนี้ โฮปเวลล์จะต้องชำระเงินเพิ่มขึ้นปีละ 50 ล้านบาท จนถึงงวดที่ 15 (6 ธ.ค. 2548) จำนวน 1,000 ล้านบาท และคงที่ที่ 1,000 ล้านบาท ไปจนถึงงวดที่ 23 (6 ธ.ค. 2556)
• โฮปเวลล์จะต้องชำระเงินงวดที่ 24 ถึง 38 งวดละ 2,404 ล้านบาท หรือ 30% ของผลกำไร

สรุปแล้วโฮปเวลล์จะต้องจ่ายเงินตอบแทนแก่การรถไฟฯ ตลอดสัมปทาน เป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 5 หมื่นล้านบาท!

ย้อนลำดับเหตุยืดเยื้อ สู้คดี จนสิ้นสุด

9 พ.ย. 2533 มีการลงนามสัญญาสัมปทานจากการรถไฟฯ

ปี 2534-2535 สมัย นายอานันท์ ปันยารชุน เป็นนายกรัฐมนตรี นายนุกูล ประจวบเหมาะ เป็น รมว.คมนาคม ได้สั่งตรวจสอบสัญญาสัมปทานและสั่งล้มเลิกโครงการ

ปี 2535-2538 โฮปเวลล์คืนชีพอีกครั้งในสมัย นายชวน หลีกภัย เป็นนายกรัฐมนตรี พ.อ.วินัย สมพงษ์ เป็น รมว.คมนาคม แต่ยังคงย่ำอยู่กับที่เพราะมีปัญหาด้านแหล่งเงินทุน หลักทรัพย์ค้ำประกันสัญญา อีกทั้งเรื่องแบบก่อสร้างที่ระยะห่างของรางรถไฟกับไหล่ทางมีน้อยเกินไป เพราะข้อจำกัดของพื้นที่ ซึ่งทำให้การก่อสร้างไม่ได้มาตรฐานตามความปลอดภัยสากล

ปี 2538-2539 สมัย นายบรรหาร ศิลปอาชา เป็นนายกรัฐมนตรี นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา เป็น รมว.คมนาคม มีพรรคพลังธรรมเป็นผู้ดูแลโครงการ ได้เร่งรัดการก่อสร้างโครงการ พร้อมทั้งให้ยืนยันเรื่องผู้รับเหมาและแหล่งเงินทุน แต่ก็ไม่มีความคืบหน้า

ปี 2539-2540 โฮปเวลล์ได้หยุดการก่อสร้างอย่างสิ้นเชิง ทำให้ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ซึ่งเป็นนายกรัฐมนตรีในสมัยนั้น และ นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ เป็น รมว.คมนาคม เห็นชอบให้ยกเลิกสัญญาสัมปทานโฮปเวลล์

...

ก่อนที่โครงการก่อสร้างจะสิ้นสุดในสมัยนายกรัฐมนตรีชวน หลีกภัย ได้บอกเลิกสัญญาอย่างเป็นทางการในวันที่ 20 ม.ค.2541 เนื่องจากหลังดำเนินโครงการมา 7 ปี แต่กลับมีความคืบหน้าเพียง 13.7%

เรื่องนี้ไม่จบง่ายๆ โฮปเวลล์ เดินหน้าฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายในการบอกเลิกสัญญาจากกระทรวงคมนาคม และการรถไฟฯ เป็นจำนวน 5.6 หมื่นล้านบาท ขณะที่ การรถไฟฯ ก็ฟ้องเรียกค่าเสียหายในการเสียโอกาสในการใช้ประโยชน์จากโครงการเป็นจำนวน 2 แสนล้านบาท

ต่อมาใน พ.ศ. 2551 คณะอนุญาโตตุลาการได้วินิจฉัยชี้ขาดให้กระทรวงคมนาคม และการรถไฟฯ คืนเงินชดเชยแก่โฮปเวลล์ 1.1 หมื่นล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปีให้แก่โฮปเวลล์ จากการบอกเลิกสัญญาไม่เป็นธรรม

จากนั้น กระทรวงคมนาคมและการรถไฟฯ ได้ยื่นคำร้องต่อศาลปกครองกลาง เพื่อขอให้เพิกถอนคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ ในกรณีพิพาทการบอกเลิกสัญญา โดยเมื่อวันที่ 13 มี.ค. 2557 ศาลปกครอง ซึ่งมีอำนาจพิจารณาข้อพิพาทสัญญาทางปกครอง จึงมีคำพิพากษาให้เพิกถอนคำวินิจฉัยชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ วันที่ 30 ก.ย. 2551 และ 15 ต.ค. 2551 ทั้งฉบับ และให้ปฏิเสธการบังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ ทำให้กระทรวงคมนาคมและการรถไฟฯ ไม่ต้องจ่ายค่าเสียหายในการบอกเลิกสัญญาแก่โฮปเวลล์

...

เนื่องจากทั้งสองฝ่ายต่างยื่นเรื่องให้คณะอนุญาโตตุลาการ เพื่อวินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาทนั้น เป็นการยื่นเรื่องให้วินิจฉัยที่เกินกรอบระยะเวลา 60 วัน ที่กำหนดไว้ในสัญญาสัมปทานข้อที่ 31 และระยะเวลาการยื่นฟ้องคดีต่อศาลปกครอง ภายในระยะเวลาสูงสุด 5 ปี ตามมาตรา 50 และ 51 พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 ซึ่งข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า กระทรวงคมนาคมและการรถไฟฯ ได้บอกเลิกสัญญากับโฮปเวลล์ วันที่ 27 ม.ค.2541 ดังนั้น หากจะยื่นเรื่องอนุญาโตตุลาการ วินิจฉัยต้องกระทำภายในวันที่ 27 ม.ค. 2546 ภายหลังจากที่ทั้ง 2 ฝ่าย รับทราบเรื่องการบอกเลิกสัญญา

ภาพประกอบ
ภาพประกอบ "บิ๊กตู่"ลงตรวจพื้นที่ก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีแดงของรฟท. (ไม่เกี่ยวข้องคดีเสียค่าโง่โฮปเวลล์)

...

ใครจะไปรู้! ตอม่อโฮปเวลล์ ที่ตั้งอยู่ริมถนนวิภาวดี-รังสิต ตั้งแต่ด้านหลังสถานีขนส่งหมอชิต 2 ยาวไปจนถึงท่าอากาศยานดอนเมือง เกือบ 30 ปี มาวันนี้ถูกรื้อถอนไปแล้ว ตามแผนการรื้อถอนเฉพาะช่วงวัดเสมียนนารี-ดอนเมือง เพื่อก่อสร้างรถไฟชานเมืองสายสีแดงของรฟท.

แม้ตัวเสาไม่อยู่แล้ว แต่ก็ยังพ่นพิษได้ ทำให้รัฐเสียค่าโง่กว่า 1.1 หมื่นล้าน พร้อมดอกเบี้ย ร้อยละ 7.5 ซึ่งก็ต้องเอาภาษีประชาชนจ่าย

ขอถามหน่อย ใครต้องรับผิดชอบ...???