ผอ.ศมส. ห่วงการเกิดเทคโนโลยีสมัยใหม่ในการทำการเกษตร เปลี่ยนให้กลุ่มชาติพันธุ์ที่เคยทำเกษตรแบบดังเดิม มาทำเกษตรเชิงเดี่ยว ต้นทุนสูงใส่สารเคมีมากมาย จนปนเปื้อนในผลผลิตเป็นอันตรายต่อสุขภาพ...
เมื่อวันที่ 18 เม.ย.2562 นายพีรพน พิสณุพงศ์ ผู้อำนวยการ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) (ศมส.) กล่าว่า ศมส. ได้ ดำเนินการจัดทำคลังข้อมูลด้านมานุษยวิทยาของประเทศไทย โดยมีการพัฒนาต่อยอดการศึกษา ค้นคว้า วิจัย ของนักวิชาการ นักวิจัย ให้มีคุณภาพทั้งระบบ โดยขณะนี้ได้จัดทำฐานข้อมูลและเผยแพร่ข้อมูลด้านสังคมและวัฒนธรรมในประเทศไทย รวม 26 ฐานข้อมูล ในส่วนฐานข้อมูลชาติพันธุ์ ก็ได้ทำการเผยแพร่ระบบออนไลน์ เพื่อให้เกิดการส่งเสริมความเข้าใจเกี่ยวกับกลุ่มชาติพันธุ์ในวงกว้าง ทั้งกลุ่มฐานข้อมูลกลุ่มชาติพันธุ์ในประเทศไทย ฐานข้อมูลงานวิจัยทางชาติพันธุ์ และฐานข้อมูลภาพยนตร์ชาติพันธุ์ ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนทุกกลุ่ม ศมส. จึงเปิดกว้างให้สามารถนำข้อมูลไปใช้ศึกษา อ้างอิง และยังสามารถประสานงาน เพื่อขอรายละเอียดข้อมูลเป็นเอกสารได้ด้วย
ผอ.ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร กล่าวต่อว่า ขณะเดียวกัน ศมส. ได้ส่งเสริมการให้ทุนค้นคว้าวิจัยด้านมานุษยวิทยาเพื่อให้ได้ข้อมูลเชิงลึก และนำมาใช้ศึกษาเปรียบเทียบกับการปรับเปลี่ยน ทั้ง วิถีชีวิต ความเป็นอยู่ สภาพสังคม วัฒนธรรม ประเพณี ความเชื่อ และการเกิดนวัตกรรมใหม่ๆในพื้นที่ ซึ่งผลวิจัยเป็นตัวชี้ทิศทางของกลุ่มชาติพันธุ์ในอนาคต โดยพบเรื่องที่น่าห่วง คือ การเกิดเทคโนโลยีสมัยใหม่ ในการทำการเกษตร ซึ่งปรับเปลี่ยนให้กลุ่มชาติพันธุ์ที่เคยทำเกษตรแบบดั้งเดิม เป็นการเกษตรเชิงเดี่ยว มีต้นทุนการผลิตสูง ไม่มีการสืบทอดการเกษตรจากบรรพบุรุษที่ผูกติดกับระบบธรรมชาติ มีการใช้ปุ๋ยเคมี แทนปุ๋ยอินทรีย์ และยาปราบศัตรูพืช ก่อสารปนเปื้อนในผลิตภัณฑ์ พืชผลทางการเกษตร และส่งผลกระทบให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพของประชาชนและสิ่งแวดล้อมโดยรวม
...
นายพีรพน กล่าวอีกว่า ที่ซ้ำร้ายกว่านั้น ชาวบ้านหลายพื้นที่รู้เท่าไม่ถึงการณ์ ถูกกลุ่มนายทุนหลอกให้ซื้อเครื่องมือทำการเกษตร ถึงกับล้มละลาย สิ้นเนื้อประดาตัว ดังนั้น ศมส. จึงมอบหมายให้นักวิจัยร่วมชี้แนะแนวทางการอนุรักษ์ของเดิมในการพึ่งพาตนเอง ให้เกิดการเรียนรู้ตลอดชีวิต และพัฒนาสู่ของใหม่ รู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงสู่โลกสังคมโลกาภิวัฒน์ เพื่อรักษาสมดุลทางชีวิตของกลุ่มชาติพันธุ์ไว้
“ทั้งนี้ ศมส. ได้ร่วมกับศูนย์เรียนรู้ชาติพันธุ์ในล้านนา สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่(มช.) จัดสัมมนาวิชาการ เรื่อง “ลื้อ ลัวะ พวน ขึน ไต” การปรับตัวในสังคมที่แปรเปลี่ยน นำเสนอผลงานวิจัย ที่ได้รับทุนการวิจัย 5 โครงการ ได้แก่ พัฒนาการและการปรับตัวของแรงงานไทใหญ่ในเมืองเชียงใหม่ , การปรับตัวในมิติความเชื่อและพิธีกรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ลัวะในประเทศไทยและลาว ,พลวัตและการปรับตัวของกลุ่มชาติพันธุ์พวน , ผญาไตขึน และ ลื้อสามแผ่นดิน ในวันที่ 25 เม.ย. ที่ อาคารรวมวิจัยและบัณฑิตศึกษา สถาบันวิจัยสังคม มช. โดยลงทะเบียนได้ที่ สัมนาวิชาการ นำเสนอผลงานวิจัย 5 โครงการ "ลื้อ ลัวะ พวน ขึน ไต" ในวันพฤหัสบดีที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2562 เวลา 08.30-16.30 น. ณ ห้องประชุม 1 อาคารรวมวิจัยและบัณฑิตศึกษา สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นอกจากนี้ จะจัดการประชุมเพื่อหารือแนวทางการพิจารณาทบทวน ชื่อเรียกกลุ่มชาติพันธุ์ในประเทศไทย เพื่อเป็นมาตรฐานเดียวกันสำหรับประเทศไทย ในวันที่ 26 เม.ย. ด้วย” ผอ.ศมส.กล่าว.