ยังจำได้ไหม เมื่อปี 2558 ครั้งกลายเป็นข่าวดัง เพราะตรวจสอบพบ แคมป์โรฮีนจา อพยพเข้ามาตั้งบ้านพักอาศัยชั่วคราว บนเทือกเขาแก้ว บ้านตะโล๊ะ หมู่ 8 ตำบลปาดังเบซาร์ อำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา ซึ่งเป็นพื้นที่ชายแดนรอยต่อระหว่างไทยกับมาเลเซีย เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2558 จำนวนหลายร้อยชีวิต

สลดซ้ำเข้าไปอีกเมื่อตรวจพบว่าบริเวณแคมป์ดังกล่าวมีซากศพผู้เสียชีวิตถูกฝังไว้เป็นจำนวนมาก กระทั่งเรื่องแดงจนกลายเป็นข่าวใหญ่ระดับชาติ ทว่าปัญหาเหล่านี้บานปลายส่งผลกระทบให้นายตำรวจน้ำดีอย่าง พล.ต.ต.ปวีณ พงศ์สิรินทร์ รองผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 8 หัวหน้าชุดทำคดีโรฮีนจา ต้องรีบรุดไปลาออกจากราชการเพื่อหนีใครสักคน ทั้งๆ ตัวเค้าเองยืนยันว่าทำทุกอย่างตามกระบวนการขั้นตอนกฎหมาย และพยายามสู้เพื่อความถูกต้องอยู่พักใหญ่ ก่อนไปตั้งถิ่นฐานใหม่ที่ประเทศออสเตรเลีย

“ผมรักประเทศของผม ผมอยากทำเพื่อบ้านเพื่อเมืองของผม ผมเป็นตำรวจต้องปราบปรามโจรผู้ร้ายไม่ใช่เป็นพวกกับมัน อนาคตผมจะเป็นอย่างไรไม่รู้แต่ถ้าผมไม่ออกมาโวยวาย อันตรายจะเกิดกับผู้ใต้บังคับบัญชาทีมงานคดีค้ามนุษย์ และผมทำเพื่อพี่น้องข้าราชการตำรวจทั่วประเทศ ไม่ยอมให้คนที่เข้ามาเบียดเบียน มาแย่ง มาปล้น ด้วยวัฒนธรรมแปลกๆ....” นี่เป็นประโยคคำพูดที่สุดแสนจะคลุมเครือของ พล.ต.ต.ปวีณ พงศ์สิรินทร์ หลายครั้งเขาเองพยายามจะบอกอะไรกับสื่อมวลชนในวันนั้น แต่ท้ายที่สุดก็พูดไม่หมด 

...

จับทหาร 4 นายพัวพันค้ามนุษย์ ตัวเองถูกย้ายไป 3 จว.

อย่างที่เกริ่นไปว่าผู้บังคับบัญชาได้มอบหมายให้ พล.ต.ต.ปวีณ พงศ์สิรินทร์ ดูแลคดีสำคัญระดับโลก และสามารถออกหมายจับผู้กระทำความผิดที่เกี่ยวข้องในคดีได้ 153 ราย จับกุมได้ 91 ราย อีกทั่งกลุ่มบุคคลที่ถูกออกหมายจับชุดสุดท้ายก่อนพนักงานสอบสวนสรุปสำนวนส่งให้อัยการ เป็นทหาร 4 นาย คือ พันเอกณัฏฐ์สิทธิ์ มากสุวรรณ รองผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน จังหวัดสตูล (ผอ.รมน.จ.สตูล) ร้อยเอกวิสูตร บุนนาค สังกัดกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน จังหวัดชุมพร (กอ.รมน.จ.ชุมพร) ร้อยเอกสันทัด เพชรน้อย สังกัด กอ.รมน.จ.ชุมพร และ นาวาโทกัมปนาท สังข์ทองจีน สังกัดทัพเรือภาคที่ 3 โดย ร้อยเอกวิสูตร ได้เข้ามอบตัวกับพนักงานสอบสวนไปแล้ว ส่วนทหารอีก 3 นายยังไม่ยอมเข้าพบตำรวจ

ต่อมาไม่นาน ทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้เผยแพร่คำสั่งแต่งตั้งโยกย้าย พลตำรวจตรีปวีณ พงศ์สิรินทร์ รองผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 8 ไปประจำที่ศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศชต.) 

“ตลอดเวลากว่า 5 เดือนของผมและตำรวจทุกคนในคณะทำงานที่ร่วมกันสืบสวนสอบสวนคดี จนทำสำนวนคดีเป็นเอกสาร 2 แสนกว่าแผ่น ออกหมายจับผู้ที่เกี่ยวข้องไป 153 ราย ทุกคนทำงานอย่างยากลำบาก ไม่ได้กินนอนอย่างสบาย จริงๆ ทุกคนควรจะได้รับบำเหน็จ แต่สิ่งที่ผมได้รับคือถูกย้ายไปประจำที่ศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศชต.) ซึ่งตลอดอายุการรับราชการตำรวจของผมจนขณะนี้อายุ 57 ปีแล้ว ยังไม่เคยทำงานในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้มาก่อนเลย ไม่มีข้อมูลและไม่เคยทำคดีในพื้นที่นี้เลย การส่งผมลงไปทำงานในพื้นที่สามจังหวัด จึงไม่ได้เกิดประโยชน์อะไรกับพื้นที่ตรงนั้น ตรงกันข้ามเหมือนกับส่งผมไปเสี่ยงอันตรายด้วยซ้ำ ผมเคยขออยู่ที่เดิม แต่ก็ไม่ได้รับความเป็นธรรมในการโยกย้าย” พล.ต.ต.ปวีณ พงศ์สิรินทร์ กล่าว 

ถูกย้ายลง 3 จังหวัด ศัตรูเยอะ ไม่ปลอดภัย วอนบิ๊กแป๊ะพิจารณา  

ตั้งใจทำคดีระดับโลก มีทีมงานผู้ใต้บังคับบัญชามากมายที่อดหลับอดนอนยาวนานถึง 5 เดือนเต็ม แต่คำสั่งแต่งตั้งโยกย้าย พล.ต.ต.ปวีณ ให้ไปประจำที่ศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศชต.) ทำให้ตัวเค้าเองรู้สึกว่าไม่ยุติธรรม เนื่องจากที่ผ่านมาทำหน้าที่ตรงนี้อย่างสุดความสามารถ แต่ถูกโยกย้ายไปอยู่ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีพรรคพวกของผู้ต้องหาค้ามนุษย์โรฮีนจา จึงรู้สึกไม่ปลอดภัย และอาจถูกลอบทำร้ายได้ตลอดเวลา จนนำไปสู่การขอความเป็นธรรมผ่านสื่อมวลชน เพื่อส่งสารไปถึง พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผบ.ตร. ในฐานะผู้บังคับบัญชา เพื่อขอให้ทบทวนพิจารณาการแต่งตั้งโยกย้ายครั้งนี้อีกรอบ

ด้าน พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ได้ออกมาชี้แจงถึงกรณีการแต่งตั้งโยกย้าย พล.ต.ต.ปวีณ พงศ์สิรินทร์ รองผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 8 และหัวหน้าพนักงานสอบสวนคดีค้ามนุษย์โรฮีนจา ไปดำรงตำแหน่งรองผู้บัญชาการศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ ศชต. ว่า การดำเนินการดังกล่าว เป็นการแต่งตั้งโยกย้าย สับเปลี่ยนตามความเหมาะสม และความเห็นชอบของผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 8 เนื่องจากตนเองมองว่า พล.ต.ต.ปวีณ เป็นบุคคลที่มีความรู้เรื่องการพิจารณาสอบสวน เพราะงานสอบสวนของ ศชต.ต้องใช้คนที่มีความสามารถ จึงได้มอบหมายให้ พล.ต.ต.ปวีณ ลงไปรับผิดชอบ ซึ่งที่ผ่านมาตำรวจคนอื่นๆ ก็ทำงานในลักษณะเดียวกัน

...

“ทั้งนี้ยืนยันว่า ไม่ได้มีการกลั่นแกล้ง แต่หากไม่เห็นด้วยกับการโยกย้าย และเห็นว่าในพื้นที่มีความเสี่ยงเป็นการไม่เหมาะสมนั้น ทุกสิ่งขึ้นอยู่กับหัวหน้าหน่วยงาน” พล.ต.อ.จักรทิพย์ กล่าว

บิ๊กแป๊ะ เมินทบทวนคำสั่งโยกย้าย "ปวีณ" ตัดสินใจลาออกจากตำรวจ 

ในครั้งนั้น พล.ต.ต.ปวีณ ได้เปิดเผยกับทาง ”ทีมข่าวไทยรัฐออนไลน์” ว่า ได้ยื่นจดหมายลาออกจากการเป็นตำรวจเรียบร้อยแล้ว เมื่อวันที่ 5 พ.ย. 58 ที่ผ่านมา เนื่องจากทางครอบครัวรู้สึกเป็นห่วงและไม่สบายใจที่ต้องลงไปรับราชการอยู่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ ท่ามกลางบุคคลผู้ไม่ประสงค์ดี อีกทั้งมีผู้อิทธิพลในเขตพื้นที่

"ตลอดชีวิตข้าราชการตำรวจ ผมไม่เคยทำงานในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ ไม่มีข้อมูลในพื้นที่ ดังนั้น การที่ย้ายผมลงไปเป็นรองผู้บัญชาการที่นั่น ในระหว่างที่ผมเหลืออายุราชการอีกเพียง 3 ปี ผมจึงคิดว่าผมไม่น่าจะทำประโยชน์อะไรได้ อีกทั้งก่อนหน้านี้ ผมเป็นหัวหน้าสอบสวนจับกุมผู้ต้องหาเครือข่ายค้ามนุษย์โรฮีนจา ศัตรูของผมจึงมีอยู่รอบตัว ทางครอบครัวรู้สึกเป็นห่วงความปลอดภัย เกรงว่าอาจจะมีการล้างแค้น การลาออกจากราชการจึงน่าจะเป็นทางออกที่ดีที่สุด"

จากทางออกที่ พล.ต.ต.ปวีณ ตัดสินใจและยืนยันออกไป เจ้าตัวบอกว่า ไม่รู้สึกน้อยใจ พล.ต.อ.จักรทิพย์ ที่ไม่ทบทวนการแต่งตั้งโยกย้ายครั้งนี้ แต่เชื่อว่า พล.ต.อ.จักรทิพย์ น่าจะมีเหตุผลที่ไตร่ตรองมาดีแล้วจึงมีบทสรุปแบบนี้ เพราะตลอดชีวิตในการเป็นข้าราชการตำรวจ ได้ตั้งใจทำในสิ่งที่ถูกต้องเพื่อประโยชน์ของประชาชนอย่างเต็มความสามารถ เมื่อทุกอย่างเดินมาถึงจุดเปลี่ยน ก็คงต้องเลือกทางเดินใหม่ เพื่อรักษาชีวิตและครอบครัวไว้

"ผมรักอาชีพตำรวจมาก ผมเป็นแค่ลูกชาวบ้านธรรมดาๆ ได้เรียนจบ ร.ร.นายร้อย ได้เป็นตำรวจ กระทั่งมาดำรงตำแหน่งรองผู้บัญชาการ ทั้งหมดนี้สร้างความภาคภูมิใจให้ผมและครอบครัว หากถามว่าเสียใจไหมที่ต้องลาออกจากราชการก่อนวันเกษียณ ต้องขอตอบว่า "เสียใจมาก"

...

"บิ๊กแป๊ะ" ย้ำชัด ปม ปวีณ ลาออก ไม่ใช่สาเหตุจับทหารยศใหญ่เอี่ยวค้าโรฮีนจา

ด้าน พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ยืนยันว่า จะไม่มีการยับยั้งการลาออกจากราชการของ พล.ต.ต.ปวีณ พงศ์สิรินทร์ หัวหน้าพนักงานสอบสวนคดีค้ามนุษย์โรฮีนจา ซึ่งลาออกจากราชการเมื่อวันที่ 5 พ.ย. หลังถูกย้ายไปเป็นรองผู้บัญชาการศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ ศชต. และส่วนตัวคงไม่ต้องพูดคุยกับ พล.ต.ต.ปวีณ ก่อนการลาออกจะมีผล เพราะเจ้าตัวก็ไม่ได้เข้ามาคุยกับตนอยู่แล้ว ทั้งนี้ เนื่องจากเชื่อว่า พล.ต.ต.ปวีณ พิจารณาอย่างรอบคอบแล้ว พร้อมย้ำว่า การโยกย้ายดังกล่าวไม่ได้กลั่นแกล้ง หรือมีใบสั่งจากฝ่ายการเมือง รวมถึงเชื่อว่าไม่เกี่ยวข้องกับการจับกุม พล.ท.มนัส คงแป้น ผู้ทรงวุฒิกองทัพบก 1 ในฐานะผู้ต้องหา

ทั้งนี้ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ยังได้ตั้งข้อสังเกตถึงบทสัมภาษณ์ของ พล.ต.ต.ปวีณ ที่ออกมาระบุว่า ถูกข่มขู่จากการทำคดีค้ามนุษย์โรฮีนจา ว่ามีนัยอื่นแอบแฝงหรือไม่ แต่การเป็นตำรวจที่ดี ต้องมีวินัยรักษาภาพลักษณ์ ขณะเดียวกัน ยังไม่มีรายงานว่ามีตำรวจนายอื่นที่ทำคดีนี้ถูกข่มขู่แต่อย่างใด สำหรับกรณีของ พล.ต.ต.ปวีณ หากเห็นว่าถูกโยกย้ายไม่เป็นธรรม หรือถูกผู้บังคับบัญชากลั่นแกล้ง ก็สามารถร้องทุกข์กับกองร้องทุกข์และศาลปกครองได้

...

อย่างไรก็ตาม ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ระบุว่า ต่อจากนี้การมอบหมายคดีสำคัญจะต้องเรียกตำรวจมาสอบถามความสมัครใจว่า กลัวถูกข่มขู่ หรือฟ้องร้องคดีหรือไม่ ส่วนตนทำคดีสำคัญมามาก ไม่เกรงกลัวกับอิทธิพล การถูกข่มขู่และการฟ้องร้องคดี

เปลี่ยนท่าที ยอมทบทวนใบลาออก 'ปวีณ' ยอมรับเสียดายคนเก่ง

ต่อมา เมื่อวันที่ 10 พ.ย.2558 พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ กล่าวถึงกรณีที่ พล.ต.ต.ปวีณ พงศ์สิรินทร์ รองผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 8 ยื่นหนังสือลาออกจากราชการ หลังถูกไปปฏิบัติหน้าที่เป็นรองผู้บัญชาการศูนย์ปฏิบัติการตำรวจชายแดนภาคใต้ หรือ สชต. โดย พล.ต.อ.จักรทิพย์ ระบุว่า ขณะนี้ยังไม่มีการพูดคุยกับ พล.ต.ต.ปวีณ เป็นการส่วนตัว แต่ยอมรับว่ารู้สึกเสียดายความรู้ความสามารถของ พล.ต.ต.ปวีณ แต่ก็พร้อมพูดคุยและทบทวนถึงสาเหตุการยื่นหนังสือลาออก

ซึ่งตามระเบียบการยื่นหนังสือลาออก จะต้องใช้ระยะเวลา 30 วันหลังจากยื่นหนังสือ ส่วนจะอนุมัติการลาออกหรือไม่นั้น ขอพิจารณาอีกครั้ง และจะมีการปรับเปลี่ยนตำแหน่งอื่นให้พลตำรวจตรีปวีณหรือไม่ ต้องพิจารณาอีกครั้ง

ในช่วงนั้นข่าวลือสะพัดเกิดขึ้นในแวดวงตำรวจชี้ทิศทางชัด พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา จะพิจารณาให้ พล.ต.ต.ปวีณ พงศ์สิรินทร์ รับตำแหน่งเป็นรองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล แต่ยังไม่มีการออกมายืนยันอย่างแน่ชัด ....ท้ายที่สุดเรื่องก็เงียบไป 

ทหารไม่พอใจ "ปวีณ" ให้ข่าว ปัดไม่รู้ เรื่องขอลี้ภัยการเมืองในประเทศออสเตรเลีย 

ก็คิดว่าเรื่องจะจบตรงที่ว่า พล.ต.ต.ปวีณ พงศ์สิรินทร์ ได้ย้ายออกจากพื้นที่ 3 จังหวัด และกลับมานั่งในตำแหน่งที่ตัวเองพึงพอใจ แต่ที่ไหนได้กลับกลายเป็นว่าได้ทำเรื่องขอลี้ภัยทางการเมือง พร้อมก่อนหน้านี้ พล.ต.ต.ปวีณ เอง ก็ได้ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนไปในทิศทางเดียวกันว่า กระบวนการนำเข้าชาวโรฮีนจา มีผลประโยชน์มหาศาล อีกทั้งยังมีบิ๊กตำรวจ-ทหาร เข้ามาเกี่ยวข้องอยู่เบื้องหลังการลักลอบพาชาวโรฮีนจาเข้าเมืองไทย มูลค่าสูงถึงหัวละ 50,000 บาท  

พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ออกมาให้ข้อมูลอีกครั้งนึงว่า การออกมาเคลื่อนไหวของพลตำรวจตรีปวีณ จะมีความเชื่อมโยงเกี่ยวข้องกับทางการเมืองหรือไม่ หรือเป็นการจงใจทำลายประเทศ แต่จากสิ่งพลตำรวจตรีปวีณให้สัมภาษณ์ ตนเองได้สั่งการให้ฝ่ายกฎหมายเข้าตรวจสอบกลุ่มผู้มีอิทธิพลที่พลตำรวจตรีปวีณ กล่าวอ้างว่าเป็นบุคคลใด ส่วนจะมีการดำเนินคดีกับพลตำรวจตรีปวีณ ฐานหมิ่นประมาทหรือไม่ ต้องพิจารณาอีกครั้ง

"การโยกย้ายพลตำรวจตรีปวีณ ไม่มีการกลั่นแกล้ง แต่เป็นการพิจารณาตามความเหมาะสม เนื่องจากเห็นว่าพลตำรวจตรีปวีณเป็นบุคคลที่มีความรู้ความสามารถเรื่องการค้ามนุษย์โรฮีนจา ประกอบกับผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 8 ไม่ประสงค์จะให้พลตำรวจตรีปวีณเป็นผู้ใต้บังคับบัญชาต่อไป" 

พันเอกวินธัย สุวารี โฆษกกองทัพบก กล่าวถึงกรณีที่ พล.ต.ต.ปวีณ ให้สัมภาษณ์ อ้างว่ามีกลุ่มอิทธิพลในรัฐบาล กองทัพ รวมทั้งตำรวจ ว่าเป็นข้อมูลที่ใช้ความรู้สึกตัดสิน ไม่มีข้อเท็จจริงที่จับต้องหรือพิสูจน์ได้ ซึ่งการให้สัมภาษณ์ของพลตำรวจตรีปวีณ อาจเกิดจากความไม่พอใจส่วนตัวแล้วอาศัยประเด็นดังกล่าวตีรวนหรือไม่ ดังนั้นจึงจำเป็นต้องแยกแยะ เนื่องจากขณะนี้ผู้ถูกกล่าวหาก็ถูกดำเนินคดีแล้ว การพูดในลักษณะดังกล่าวส่งผลให้กองทัพเสื่อมเสีย ประชาชนเข้าใจผิด แต่คงต้องรอผู้บังคับบัญชาว่าจะดำเนินการอย่างไร

โฆษก ทบ.กล่าวด้วยว่า ในระบบการทำงาน หากผู้ปฏิบัติมีปัญหาหรือถูกข่มขู่คุกคามจริง ทางต้นสังกัดย่อมมีขั้นตอนการแก้ปัญหาตามกฎหมาย ไม่มีการละเลยอย่างแน่นอน

พล.ต.ต.ปิยะพันธ์ ปิงเมือง รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ(ในเวลานั้น)  ระบุว่า จากการตรวจสอบบันทึกประจำวันของตำรวจในพื้นที่ ไม่พบว่า พล.ต.ต.ปวีณ มีการแจ้งความเรื่องถูกข่มขู่ ซึ่งการออกมาให้ข้อมูลในลักษณะนี้อาจไม่สมเหตุสมผล เพราะพล.ต.ต.ปวีณ เป็นข้าราชการตำรวจ ไม่ใช่ประชาชนทั่วไป ที่จะถูกข่มขู่ได้อย่างง่ายดาย เพราะตามหลัก พล.ต.ต.ปวีณ ก็ควรเข้าแจ้งความเพื่อให้ตำรวจดำเนินการสืบสวนสอบสวนและเข้าสู่กระบวนการคุ้มครองพยาน

เจ้าตัวบอกเอง "บิ๊กตำรวจ" สั่งให้หนี 

ก่อนที่ข่าวคราวของ พล.ต.ต.ปวีณ จะเงียบหายไป ทางผู้สื่อข่าวไทยรัฐออนไลน์มีโอกาสได้พูดคุยกับ พล.ต.ต.ปวีณ อยู่ระยะใหญ่ มีการปรับทุกข์ และขอให้เก็บข้อมูลบางเรื่องราวไว้เป็นความลับห้ามไปเผยแพร่ที่ไหน ทว่าเหตุผลสุดท้ายก่อนที่เขาจะเก็บเสื้อผ้าลี้ภัยออกไปจากประเทศไทย เค้าให้ข้อมูลกับเราว่า ได้ไปเข้าพบตำรวจใหญ่นายหนึ่ง ซึ่งนายตำรวจคนดังกล่าวแนะนำให้หนีออกไปจากประเทศไทย และได้หันหลังให้กับอาชีพข้าราชการตำรวจโดยสิ้นเชิง 

"ต้องขอขอบคุณที่ช่วยนำเสนอข่าวของผมมาโดยตลอด ผมคิดไว้ตั้งแต่ต้นแล้วว่า ถ้าไม่มีการทบทวนคำสั่งแต่งตั้งโยกย้ายของผม ผมคงต้องขอลาออก ผมไม่อยากเอาชีวิตมาทิ้ง เหมือน พ.ต.อ.สมเพียร เอกสมยา ซึ่งท่าน พ.ต.อ.สมเพียร ถือเป็นตำรวจที่เก่งมาก และชำนาญในพื้นที่ สุดท้ายท่านต้องมาถูกยิงตายก่อนเกษียณราชการเพียงไม่นาน ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้ท่านเคยขอย้ายออกจากพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ ยิ่งเป็นตัวผมเองด้วยแล้ว ยิ่งเสี่ยงมาก ผมทำคดีค้ามนุษย์โรฮีนจามากับมือ ทำไมผมจะไม่รู้ว่าอะไรเป็นยังไง ถ้าไม่มีใครช่วยผม ผมก็ต้องช่วยตัวเอง ผมมีครอบครัวต้องรับผิดชอบอยู่เบื้องหลัง ขาดผมไปสักคน ครอบครัวผมจะอยู่อย่างไร โดยเฉพาะขณะนี้มีสัญญาณเตือนมาว่าให้ผมหนีไป ผมจึงต้องหนี" 

ชีวิตขณะลี้ภัยอยู่ในประเทศออสเตรเลีย 

แน่นอนว่าในช่วงแรกที่ พล.ต.ต.ปวีณ ได้ลี้ภัยในออสเตรเลีย ยังมีการพูดคุยกับเราผ่านทางแอปพลิเคชันไลน์ ซึ่งก็ได้ถามสารทุกข์สุกดิบ และอัพเดตความเคลื่อนไหวด้านสถานะผู้ลี้ภัยว่าดำเนินการสำเร็จหรือไม่ กระทั่งเมื่อต้นปี 2559 มีการพูดคุยกันครั้งสุดท้าย 

"ผมก็สบายดี แต่ไม่สบายเท่ากับประเทศไทยบ้านเรา ยังปรับตัวไม่ค่อยได้ แต่จะพยายามอยู่ให้ได้ ส่วนเรื่องการใช้ชีวิตต้องยอมรับว่าเงินเป็นปัญหาใหญ่ ผมอายุมากแล้ว ให้เริ่มต้นทำงานทำการอะไรก็ลำบาก แถมค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง กินอาหาร 1 มื้อก็แพงมาก แต่ผมก็ต้องอยู่ให้ได้"

'บิ๊กตู่' ขอ 'ปวีณ' กลับไทย บอกมาใครข่มขู่ ลั่นใหญ่แค่ไหนก็จับ 

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ระบุถึงกรณีดังกล่าวว่า ขอให้ พล.ต.ต.ปวีณ กลับมา แล้วบอกว่าใครเป็นผู้ข่มขู่ ตนจะจับมาดำเนินคดี ไม่ว่าจะใหญ่ขนาดไหนก็จะถูกลงโทษให้หมด ใครผิดหรือถูก ตนไม่รู้ ต้องมาตรวจสอบกันก่อน แล้วยังมีความรักชาติหรือไม่ เกิดมาในแผ่นดินนี้

ส่วนจะส่งผลกับการที่กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกา จัดอันดับในรายงานสถานการณ์ค้ามนุษย์หรือไม่นั้น ตนคิดว่าคนเพียงคนเดียว เขาพูดให้เพียงแค่เพื่อตัวเขา แต่ตนพูดให้กับคนทั้งประเทศ สื่อมวลชนก็ต้องช่วยตนพูดด้วย อย่าไปขยายความให้เขาอีก ขอร้องหากต้องการแก้ไขปัญหาระดับการค้ามนุษย์ก็ต้องช่วยกัน แต่ถ้าไม่อยากแก้ เราก็จะถูกประโคมข่าวต่อไป เรื่องแก้ปัญหาในการถูกจัดอันดับในรายงานสถานการณ์ค้ามนุษย์นั้น ตนเป็นคนเริ่มต้น เพราะที่ผ่านมาไม่มีใครมาแก้ปัญหาในเรื่องนี้อย่างจริงจัง ประเทศไทยจะติดกับแค่เพียงคนไม่กี่คนได้หรือ เพราะคนทำงานมีอีกมาก ในส่วนของคดีความก็ให้เป็นไปตามขั้นตอนของกระบวนการกฎหมาย หากปล่อยให้เหมือนเดิม ระวังจะถูกข้อหาหมิ่นประมาท จึงขอให้ร้องทุกข์กล่าวโทษมา ไม่ใช่โฆษณาผ่านสื่อมวลชน เพราะไม่ได้อะไรขึ้นมา มาทำลายประเทศชาติ ดีใจหรืออย่างไร.