“รายงานวันจันทร์”-อีซี่พาสกับทางด่วนยุคใหม่ไม่ใช้เงินสด
“รายงานวันจันทร์” วันนี้มีข่าวดีสำหรับคนใช้บัตรอีซี่พาสที่ไม่ต้องต่อคิวเติมเงิน และคนที่ไม่พกเงินสดก็ขึ้นทางด่วนได้ เพราะการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เตรียมยกระดับการให้บริการระบบเก็บค่าผ่านทางอัตโนมัติ หรือบัตรอีซี่พาส (Easy Pass) ด้วยการเพิ่มช่องทางการเติมเงินและการชำระค่าผ่านทางด่วนด้วยบัตรเครดิตและบัตรเดบิต
งานนี้รูปแบบและวิธีการเป็นอย่างไร “รายงานวันจันทร์” มีข้อมูลจากผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย กทพ. สุชาติ ชลศักดิ์พิพัฒน์ มาชี้แจงให้ทราบ
----------------------------
ถาม-ปัจจุบันบัตรอีซี่พาสคนใช้มากน้อยแค่ไหน
สุชาติ-กทพ.เริ่มนำระบบบัตรอีซี่พาสมาใช้ตั้งแต่ปี 2553 ข้อมูลล่าสุดจนถึงเดือน ก.พ.2562 มียอดสมาชิกทั้งหมด 1.69 ล้านราย มีการใช้บัตรอีซี่พาสผ่านทางด่วน เฉลี่ยประมาณ 7.6 แสนเที่ยว/วัน ถือว่ายังไม่มาก กทพ.จึงพยายามรณรงค์ส่งเสริมให้ผู้ใช้ทางหันมาใช้บัตรอีซี่พาสแทนเงินสดเพิ่มขึ้น โดยการยกเลิกค่ามัดจำบัตร การให้ส่วนลดค่าผ่านทาง และการเพิ่มช่องทางให้บริการเติมเงินหลากหลายมากยิ่งขึ้น
...
จากการทดลองให้ส่วนลดค่าผ่านทางที่ดำเนินการครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 25 ก.พ.ถึงวันที่ 26 มี.ค.2562 ระยะเวลา 30 วัน ที่ด่านบางขุนเทียน 1 และ 2 ทางพิเศษสายกาญจนาภิเษก (ทางด่วนสายบางพลี-สุขสวัสดิ์) อัตรา 5 บาท เฉพาะรถ 4 ล้อ พบว่า ยอดผู้ใช้บัตรอีซี่พาส ทั้ง 2 ด่านรวมกันเพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 22,000 เที่ยว/วัน จากเดิมประมาณ 20,000 เที่ยว/วัน หรือคิดเฉลี่ยเพิ่มขึ้นประมาณ 10% นอกจากจะช่วยลดการจราจรติดขัดบริเวณหน้าด่านแล้ว ยังพบว่าปัญหาฝุ่น PM 2.5 ที่ด่านบางขุนเทียน 1 และ 2 ดีขึ้นตามลำดับ ดังนั้น กทพ.จึงคิดที่จะดำเนินการมาตรการให้ส่วนลดต่อไป คาดว่าเริ่มมาตรการดังกล่าวได้อีกเดือน มิ.ย.นี้
ถาม-นอกจากให้ส่วนลดจะมีวิธีการอื่นอีกหรือไม่
สุชาติ–ขณะนี้ กทพ.กำลังศึกษารูปแบบการเติมเงินบัตรอีซี่พาสผ่านตู้เติมเงินของ กทพ. เรียกว่าระบบ KIOSK เพิ่มอีก 1 ช่องทาง จากเดิมผู้ใช้ทางสามารถเติมเงินผ่านธนาคาร เคาน์เตอร์เซอร์วิส และตามด่านเก็บค่าผ่านทางที่กำหนดเท่านั้น
สำหรับตู้เติมเงิน ใช้หลักการเดียวกับตู้เติมเงินบัตรโทรศัพท์ วิธีการใช้เริ่มต้นจากกดหมายเลขบัตรอีซี่พาส ถ้าไม่ทราบให้นำบัตรสมาร์ทการ์ดที่ได้รับคู่กับบัตรอีซี่พาสไปสแกนที่หน้าจอบนตู้แทนก็ได้ จากนั้นหน้าจอจะแสดงไอคอนให้เลือก
ปุ่มเปลี่ยนราคา ให้กดปุ่มดังกล่าวเพื่อไปหน้าเลือกราคา กดปุ่มเลือกราคาที่ต้องการจะเติม โดยกำหนดราคาขั้นต่ำ 200 บาท เมื่อเลือกราคาเสร็จแล้ว จะมี QR CODE ขึ้นมา ให้นำโทรศัพท์ที่มีแอปพลิเคชัน E-BANKING สแกน QR CODE พร้อมกดยืนยัน เป็นอันเสร็จสิ้นการเติมเงิน
นอกจากนี้ กทพ. ยังได้เพิ่มช่องทางการชำระค่าผ่านทาง โดยใช้บัตรเครดิต หรือบัตรเดบิต ชำระค่าผ่านทางโดยตรงแทนการชำระด้วยเงินสด หรือบัตรอีซี่พาส เพียงนำบัตรเครดิต หรือเดบิต แตะที่เครื่องอ่าน (Pay Wave) แทนการรูดบัตรแบบทั่วไป ซึ่งเครื่องอ่านจะติดตั้งบริเวณตู้เก็บค่าผ่านทาง เมื่อขับรถผ่านเข้าช่องเก็บค่าผ่านทาง พนักงานจะ
สอบถาม วิธีการชำระ หากประสงค์จะชำระด้วยบัตรให้แจ้งพนักงานก่อน จากนั้นให้นำบัตรไปแตะที่เครื่องอ่าน โดยเครื่องจะหักค่าผ่านทางตามอัตราที่ต้องการใช้ผ่านทางเส้นทางนั้นๆ เมื่อหักค่าผ่านทางแล้วระบบจะส่งข้อมูลไปยังเจ้าของบัตรผ่านทางโทรศัพท์ หรือระบบออนไลน์ที่ลงทะเบียนไว้ หลักการเหมือนกับการรูดบัตรเครดิต หรือเดบิตในการซื้อสินค้าและบริการทั่วไป
ถาม-จะเริ่มใช้งานได้เมื่อไหร่
สุชาติ-สำหรับตู้เติมเงินออกแบบจัดทำและติดตั้งระบบการทำงานเสร็จแล้ว เหลืองานระบบหลักทางบัญชีซึ่งจะต้องมีการเชื่อมกับธนาคาร คาดว่าประมาณ 3 เดือน จะเริ่มเปิดให้บริการได้ ส่วนการชำระค่าผ่านทางด้วยบัตรเครดิต หรือ เดบิต กทพ.ได้ติดตั้งเครื่องอ่านบัตรที่ด่านทุ่งครุ ทางด่วนบางพลี-สุขสวัสดิ์ เพื่อทดลองมาได้สักระยะได้ผลดี แต่ยังไม่ 100% คาดว่าจะเริ่มเปิดใช้งานเร็วๆนี้เช่นกัน.