ของหนุ่มอังกฤษ "หุ้นส่วนชีวิต"

ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้เกย์ควีนชาวไทยเป็นผู้จัดการมรดกสามีชายชาวอังกฤษที่เสียชีวิตกะทันหันโดยไม่ได้เขียนพินัยกรรม ก่อนนี้ ศาลชั้นต้นยกคำร้อง เผยศาลอุทธรณ์ชี้ทั้งคู่จดทะเบียน “หุ้นส่วนชีวิต” (Civil Partnership) ตามกฎหมายอังกฤษ ที่สถานทูตอังกฤษในประเทศเวียดนาม เมื่อนำมาพิจารณาเทียบกับกฎหมายไทย ถือเป็นการให้สิทธิเท่าเทียมกันแก่บุคคลเพศเดียวกันที่จะใช้ชีวิตร่วมกัน โดยไม่เลือกปฏิบัติอันเนื่องมาจากความแตกต่างทางเพศกำเนิด ตามหลักแห่งปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนที่ประเทศไทยเป็นภาคี อีกทั้งสอดคล้องกับหลักการตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย

วันที่ 10 มี.ค. มีรายงานว่า ในขณะนี้มีกระแส ฮือฮาในสื่อโซเชียลในกลุ่มผู้พิพากษา อัยการ ทนายความ นักศึกษากฎหมาย เมื่อปรากฏเอกสารทางกฎหมายออกเผยแพร่ถึงแนวคำพิพากษาที่เป็นบรรทัดฐานใหม่ของศาลอุทธรณ์ (กฎหมาย ป.วิ.แพ่ง ในปัจจุบัน คดีแพ่งร้อยละ 90 จบที่ชั้นอุทธรณ์ไม่มีฎีกาอีกแล้ว) รายละเอียดกล่าวคือ ระบบศาลไทยได้ยอมรับคำพิพากษาของศาลต่างประเทศ เพื่อแก้ไขเยียวยาอุดช่องว่างกรณีตัวความเป็นรักร่วมเพศไม่สามารถหาทางออกให้กับชีวิตคู่ได้ โดยศาลยึดหลักการของรัฐธรรมนูญเพื่อรักษาสิทธิของประชาชนไว้

คำพิพากษาดังกล่าว เป็นคำพิพากษาศาล อุทธรณ์ คดีแดงที่ 18776/2561 เรื่องเดิมมีว่านายรื่นฤดี (นามสมมติ) เชื้อชาติไทย สัญชาติไทย อยู่กินกับนายจอห์น (นามสมมติ) หุ้นส่วนชีวิตชาวอังกฤษ มีบ้านอยู่ที่เมืองเชสเตอร์ฟิลด์ ประเทศอังกฤษ เดินทางทำธุรกิจทั่วโลก ทั้งคู่ได้จดทะเบียนหุ้นส่วนชีวิต (Civil Partnership) ตามกฎหมายอังกฤษที่สถาน เอกอัครราชทูตอังกฤษ ประจำกรุงฮานอย ประเทศ เวียดนาม เพราะจดทะเบียนสมรสกันไม่ได้ ระหว่างเดินทางทั่วโลก มีเงินฝากมูลค่านับล้านบาทที่ธนาคารกรุงเทพ สาขาเอมโพเรียม กรุงเทพฯ

...

กระทั่งวันที่ 28 ส.ค.60 นายจอห์นเสียชีวิตกะทันหันที่ประเทศเม็กซิโก โดยไม่ได้ทำพินัยกรรม ต้นปี 2561 นายรื่นฤดีมาขอเบิกถอนเงินจากธนาคารกรุงเทพ แต่เนื่องจากไม่มีคำสั่งศาลที่ให้นายรื่นฤดี เป็น ผจก.มรดก เบิกถอนเงินผู้ตายไม่ได้ นายรื่นฤดี ไปร้องขอจัดการมรดกต่อศาลชั้นต้นที่มีเขตอำนาจ เนื่องจากทรัพย์สินกองมรดกอยู่ที่ธนาคารตั้งอยู่ในเขตอำนาจของศาล อ้างข้อเท็จจริงตามกฎหมายอังกฤษ คู่จดทะเบียนหุ้นส่วนชีวิต (Civil Partnership) มีสิทธิได้รับทรัพย์มรดกทั้งหมดของผู้ตาย ผู้ร้องยื่นคำร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกผู้ตายต่อศาลแพ่งกรุงเทพใต้ โดยได้รับความยินยอมจากทายาททุกราย ทั้งนี้ การจดทะเบียนหุ้นส่วนชีวิต ไม่ต้องเป็นชายกับหญิงเท่านั้น แต่จดกันระหว่างชายกับชายก็ได้ ศาล ชั้นต้นพิพากษายกคำร้องคืนค่าธรรมเนียมนายรื่นฤดีผู้ร้องอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์โดยที่ประชุมใหญ่พิเคราะห์แล้ว คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยว่าตามอุทธรณ์ของผู้ร้องว่า “ผู้ร้องมีสิทธิยื่นคำร้องขอจัดการมรดกของผู้ตายหรือไม่” ต้องพิจารณาตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมาย พ.ศ.2481 ข้อเท็จจริงได้ความว่า ผู้ร้องกับผู้ตายจดทะเบียนหุ้นส่วนชีวิตถูกต้องตามเงื่อนไขของ Civil Partnership Act 2004 กล่าวคือ เป็นบุคคลเพศเดียวกัน ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีอายุไม่ต่ำกว่า 16 ปี และไม่มีหุ้นส่วนชีวิตตามกฎหมายอยู่แล้ว หรือแต่งงานตามกฎหมายแล้ว และทั้งสองฝ่ายไม่อยู่ในลำดับชั้นญาติที่จะสมรสกันไม่ได้ ดังนั้น การจดทะเบียนหุ้นส่วนชีวิตเป็น “สัญญาชนิดหนึ่ง” มีผลบังคับตาม Civil Partnership Act 2004

การให้หุ้นส่วนชีวิต “มีสิทธิในมรดกของอีกฝ่าย” ตาม Administration of Estates Act 1925 ของประเทศสหราชอาณาจักร “ไม่เป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนแห่งประเทศไทย” ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมาย พ.ศ.2481 มาตรา 5 เพราะ “เป็นการให้สิทธิเท่าเทียมกันแก่บุคคลเพศเดียวกันที่จะใช้ชีวิตร่วมกัน โดยไม่เลือกปฏิบัติ อันเนื่องมาจากความแตกต่างทางเพศกำเนิด ตามหลักการแห่งปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนที่ประเทศไทยเป็นภาคี” อีกทั้งยังสอดคล้องกับหลักการตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 มาตรา 4 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคของบุคคล ย่อมได้รับความคุ้มครอง” และมาตรา 23 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “บุคคลย่อมเสมอกันในกฎหมาย มีสิทธิและเสรีภาพและได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายเท่าเทียมกัน”

เมื่อพระราชบัญญัติว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมาย พ.ศ.2481 ภาค 6 มรดก มาตรา 38 บัญญัติว่า “ในส่วนที่เกี่ยวกับสังหาริมทรัพย์ มรดกโดยสิทธิโดยธรรม หรือโดยพินัยกรรม ให้เป็นไปตามกฎหมายภูมิลำเนาของเจ้ามรดกในขณะที่เจ้ามรดกถึงแก่ความตาย” และได้ความจากทางไต่สวนว่าตาม Administration of Estates Act 1925 ของประเทศสหราชอาณาจักร อันเป็นกฎหมายภูมิลำเนาของผู้ตายในขณะถึงแก่ความตาย ข้อ 46 (1) บัญญัติให้หุ้นส่วนชีวิตมีสิทธิในทรัพย์มรดกที่เป็นสังหา-ริมทรัพย์ของผู้ตาย โดยไม่มีเงื่อนไข “ผู้ร้องจึงเป็นผู้มีส่วนได้เสีย” ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1713 มีสิทธิยื่นคำร้องขอจัดการมรดกของผู้ตาย

“ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องขอของผู้ร้องนั้น ศาลอุทธรณ์ไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของผู้ร้องฟังขึ้น พิพากษากลับให้ตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย ให้มีสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมาย” อ่าน ณ วันที่ 21 ก.พ.2562 เกี่ยวกับเรื่องนี้ นายเดชอุดม ไกรฤทธิ์ อดีตนายกสภาทนายความ อดีตสมาชิกวุฒิสภา ปัจจุบันสอนวิชากฎหมายระหว่างประเทศ ที่มหาวิทยาลัย ธรรมศาสตร์ และวิชาเอกสารทางจดหมาย ที่เนติบัณฑิตยสภาให้ความเห็นว่า ศึกษาคำพิพากษาฉบับนี้แล้ว คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในคดีนี้ เป็นคำพิพากษาที่ถึงที่สุดแล้ว ได้วางหลักเกณฑ์ที่สำคัญของการใช้ชีวิตคู่ร่วมกันของคนเพศเดียวกัน นับว่าเป็นคำพิพากษาของศาลสูงฉบับแรก รับรองความเป็นคุณส่วนชีวิตของการอยู่ร่วมกัน ถึงแม้จะเป็นกรณีของคนต่างชาติกับคนไทย

ในคำพิพากษาได้ปรับใช้กฎหมายพระราชบัญญัติขัดกันแห่งกฎหมายของไทยกับรัฐธรรมนูญพุทธศักราช 2560 ปรากฏว่าศาลยุติธรรมไทยยอมรับหลักการใช้ชีวิตอยู่คู่กันของคนเพศเดียวกันด้วย ถือเป็นบรรทัดฐานที่ต้องติดตาม ถึงประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายรองรับโดยตรงในเรื่องนี้ แต่ตามข้อเท็จจริงของคำพิพากษาข้างต้นย่อมถือเป็นแนวทางสำหรับผู้ที่จะใช้ชีวิตคู่ร่วมกันที่เป็นเพศเดียวกันได้ ในรูปของ “หุ้นส่วนชีวิต” ตามหลักกฎหมายอังกฤษ แต่อนุโลมมาใช้ในประเทศไทยได้ กรณีนี้จึงไม่แตกต่างกัน หากคนเพศเดียวกันสัญชาติไทยที่จะอยู่ร่วมกัน ก็น่าจะถือเอาหลักการของคำพิพากษาฉบับนี้เป็นแนวทางในการทำสัญญาหุ้นส่วนชีวิตคู่ ตามแนวกฎหมายอังกฤษที่น่าจะนำมาปรับใช้เป็นสัญญาระหว่างกันได้โดยไม่ต้องรอให้มีบทบัญญัติกฎหมายที่ชัดแจ้งของประเทศไทย

...

นายเดชอุดมกล่าวต่อไปว่า ปัญหาสังคมไทยโดยรวมจะยอมรับการถือปฏิบัติตามคำพิพากษา ศาลอุทธรณ์ฉบับนี้หรือไม่ คงขึ้นอยู่กับความประสงค์ และเจตนารมณ์ของคนเพศเดียวกันที่อยากจะใช้ชีวิตคู่ และให้มีผลในความเป็นหุ้นส่วนชีวิตคู่ร่วมกัน ในทำนองเดียวกันหรือใกล้กับความเป็น “สามีภรรยา” ให้มากที่สุด

นายเดชอุดมกล่าวตอบคำถามที่ว่า ต่อไปนี้กลุ่มชายรักชาย หญิงรักหญิง จะสามารถฝ่าอุปสรรคทางกฎหมาย ที่จะร่วมกันอดออม ร่วมสร้างรายได้ ร่วมกัน ทำธุรกรรมทางการเงินการลงทุนการค้า เริ่มตั้งแต่ในครอบครัวนำไปสู่การขยายตัวของสังคม ต่อเศรษฐกิจในวงกว้าง โดยไม่มีอะไรมาขวางกั้น จะมีผลกระทบต่อศีลธรรมหรือความเชื่อเดิม หรือการตั้งข้อรังเกียจหรือไม่ว่า คงยังไม่มีผลกว้างไกลที่จะไปกระทบกับสภาพสังคมหรือเศรษฐกิจโดยรวม เพราะเป็นเรื่องส่วนตัวของผู้มีเพศเดียวกันที่จะใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันเท่านั้น น่าจะบริหารทรัพย์สินที่ได้มาในระหว่างใช้ชีวิตคู่ร่วมกันอย่างไร ในความเป็นหุ้นส่วนชีวิตตามหลักการของคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ฉบับนี้ คำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ฉบับนี้ ถือได้ว่าเป็นการวางหลักการศึกษาการปรับใช้กฎหมายในประเทศ และกฎหมายระหว่างประเทศที่ให้เป็นไปตามหลักการของสิทธิมนุษยชนสากล โดยเฉพาะเรื่องของเสรีภาพในการใช้ชีวิตส่วนตัว และชีวิตคู่ของผู้ที่มีเพศเดียวกันที่ปัจจุบันเป็นที่ยอมรับกันยังเปิดเผยในหลายสิบประเทศทั่วโลก