ผู้ตรวจการแผ่นดินสั่งยุติเรื่องร้องเรียน สถ.แล้ว ยันนโยบาย สถ.เรื่องให้ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กของ อปท.ไม่มีปิดเทอม ไม่ขัดต่อกฎหมายหรือนอกเหนือหน้าที่ของ อปท.แต่อย่างใด

เมื่อวันที่ 28 ก.พ.62 นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.) เปิดเผยถึงกรณีที่มีผู้ร้องเรียนต่อผู้ตรวจการแผ่นดินว่า กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.) กำหนดนโยบายให้ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เปิดการเรียนการสอนตลอดทั้งปีงบประมาณ โดยไม่มีการปิดการเรียนการสอน ที่ผู้ร้องเห็นว่า ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กของ อปท. เป็นสถานศึกษาเช่นเดียวกับสถานศึกษาสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ ที่มีการปิดภาคเรียนการศึกษาในแต่ละปีการศึกษา แต่กลับมีวิธีการจัดการศึกษาที่แตกต่างกัน ซึ่งกรมฯ ก็ได้ชี้แจงข้อเท็จจริงในกรณีดังกล่าวให้สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินทราบว่า วัตถุประสงค์หลักและความสำคัญของการไม่ปิดภาคเรียน คือ การให้ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กได้ทำหน้าที่อบรมเลี้ยงดูและพัฒนาการเรียนรู้ของเด็กเล็กได้อย่างต่อเนื่อง ให้ได้รับพัฒนาการที่สมบูรณ์ตามวัยครบทั้ง 4 ด้าน ได้แก่ ด้านร่างกาย อารมณ์-จิตใจ สังคม และสติปัญญา ทั้งยังเป็นการแบ่งเบาภาระของผู้ปกครอง เมื่อต้องออกไปประกอบอาชีพเลี้ยงดูครอบครัว ลดปัญหาเด็กถูกทอดทิ้งขาดการดูแลเอาใจใส่ และเพื่อส่งเสริมสุขอนามัยตลอดจนโภชนาการที่ถูกต้องในเด็ก ซึ่งสอดคล้องกับภาระงบประมาณที่รัฐสนับสนุน ไม่ว่าจะเป็นงบประมาณค่าอาหารกลางวัน หรืองบประมาณโครงการอาหารเสริม (นมโรงเรียน) ที่จัดสรรให้ปีงบประมาณละ 260 วัน

อธิบดี สถ. กล่าวต่ออีกว่า สำหรับกรณีที่ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กของ อปท.บางแห่ง มีเหตุผลและความจำเป็นที่ไม่สามารถเปิดการเรียนการสอนได้ตลอดปีงบประมาณ โดยมีข้อจำกัด เช่น ขาดแคลนบุคลากร หรืออุปกรณ์อำนวยความสะดวก กรมฯ ก็ได้ชี้แจงแล้วว่า นโยบายการเปิดการเรียนการสอนตลอดทั้งปีงบประมาณ โดยไม่มีการปิดการเรียนการสอนของ สถ.นั้น เป็นเพียงการขอความร่วมมือจาก อปท. ไม่ใช่กฎหรือมาตรการบังคับ ดังนั้น หาก อปท.ใดมีเหตุผลและความจำเป็นที่ไม่อาจเปิดการเรียนการสอนได้ตลอดปีงบประมาณ ทางผู้บริหาร อปท. ก็สามารถใช้ดุลพินิจที่จะปิดภาคเรียนได้ เพราะอำนาจสุดท้ายในการตัดสินใจเป็นของ อปท. ตามหลักกระจายอำนาจในการปกครองตนเอง ทั้งนี้ ข้อจำกัดต่างๆ ของ อปท. นั้น ทาง อปท. สามารถใช้งบประมาณที่มีอยู่ในการจัดหาครุภัณฑ์ที่ต้องใช้ในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กได้ หรือศูนย์พัฒนาเด็กเล็กเอง ก็สามารถขออนุมัติใช้เงินรายได้สะสมที่มีอยู่เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้ด้วยเช่นกัน

...

ล่าสุดทางสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน ก็ได้มีหนังสือแจ้งกลับมายังกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นแล้ว ถึงกรณีการร้องเรียนดังกล่าวว่า การจัดตั้งศูนย์พัฒนาเด็กเล็กของ อปท. มีพื้นฐานแนวคิดที่ความมุ่งหมายจะแบ่งเบาภาระผู้ปกครองในการดูแลเด็กเล็ก โดยภารกิจดังกล่าวได้รับการถ่ายโอนมาจากส่วนราชการต่างๆ ได้แก่ กรมการพัฒนาชุมชน กรมการศาสนา สำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติ ประกอบกับศูนย์พัฒนาเด็กเล็กได้รับการจัดสรรงบประมาณค่าอาหารกลางวันครอบคลุมไปถึงช่วงปิดภาคเรียน จึงเห็นได้ว่า ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กไม่ได้มีจุดกำเนิดหรือวัตถุประสงค์เช่นเดียวกับสถานศึกษาในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ ดังนั้น การที่ อปท. กำหนดนโยบายให้ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กเปิดการเรียนการสอนตลอดทั้งปีงบประมาณ จึงเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของการจัดตั้งศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก และอย่างไรก็ตาม กรณีที่ อปท. ใดมีเหตุผลและความจำเป็นที่ไม่อาจเปิดการเรียนการสอนตลอดทั้งปีงบประมาณได้ ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้นๆ ก็ยังสามารถใช้ดุลพินิจที่จะปิดภาคเรียนได้ด้วย ซึ่งข้อเท็จจริงดังกล่าวไม่ถือว่ากรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นไม่ปฏิบัติตามกฎหมายหรือปฏิบัตินอกเหนือหน้าที่ และอำนาจตามกฎหมาย ที่ก่อให้เกิดความเดือดร้อนหรือไม่เป็นธรรมแก่ประชาชน ทางผู้ตรวจการแผ่นดินจึงสั่งยุติเรื่องร้องเรียนดังกล่าวเรียบร้อยแล้วด้วยเช่นกัน

"กรมฯมุ่งหวังเป็นอย่างยิ่งที่จะให้ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กของ อปท. ให้มีการจัดการเรียนการสอนและกิจกรรมที่มีมาตรฐาน มีคุณภาพ ให้เด็กเล็กได้รับการพัฒนาครบทุกด้าน เพื่อให้ได้มีความพร้อมที่จะเข้าศึกษาต่อในระดับการศึกษาขั้นต่อไป ให้เด็กไทยสามารถเติบโตเป็นทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณค่าของประเทศชาติได้อย่างมีประสิทธิภาพ และร่วมกันเสริมสร้างชุมชนแห่งการเรียนรู้ ให้ชุมชนมีความเข้มแข็ง พัฒนาการศึกษาของลูกหลานเราให้กว้างไกล และมีประสิทธิภาพอย่างยั่งยืนต่อไปนั่นเอง" อธิบดี สถ. กล่าว