สมเด็จพระเทพฯ รับสั่งรักษารายงานนักโบราณคดี ทรงห่วงองค์ความรู้สูญหาย โดยทาง ศมส. ประสานขอทางกรมศิลป์สแกนไฟล์ดิจิทัล เผยแพร่คลังข้อมูลสาธารณะไว้ให้สืบค้นข้อมูลเชิงลึก...

เมื่อวันที่ 12 ก.พ.2562 นายพีรพน พิสณุพงศ์ ผอ.ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) (ศมส.) กล่าวว่า จากการที่ตนนำคณะกรรมการบริหาร ศมส. เข้าเฝ้าฯ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เพื่อถวายรายงานความคืบหน้าการดำเนินงาน ของ ศมส. ในโอกาสนี้ พระองค์มีรับสั่งถึงการเก็บรวบรวมเอกสารรายงานของนักโบราณคดี ที่จะต้องมีการบันทึกด้วยการสแกนเก็บไว้เป็นหลักฐานในการดำเนินงานโครงการต่างๆ ตั้งแต่เริ่มต้นการวางแผนโครงการ สำรวจ เก็บข้อมูล ขุดค้น การศึกษาวิเคราะห์ สังเคราะห์ เทคนิคการทำงาน และขั้นตอนการดำเนินงานต่างๆ จนจบโครงการ ซึ่งปัจจุบันมีจำนวนมากหลายพันรายการ แต่อยู่กระจัดกระจายไปตามหอสมุด หอจดหมายเหตุแห่งชาติ ในพื้นที่ต่างๆ และมีบางส่วนที่เป็นรายงานเรื่องสำคัญถูกทำลายหายไปเพราะเหตุภัยพิบัติ และการเก็บรักษาที่ไม่ดีนัก ทั้งปลวกกิน น้ำท่วม โดยทรงเห็นว่า ควรมีการเก็บรักษา และนำมาเผยแพร่ เพราะรายงานนักโบราณคดี เป็นประโยชน์ต่อการส่งต่อองค์ความรู้การดำเนินงานของนักโบราณคดี ในอดีตสู่ปัจจุบัน ตลอดจนนักศึกษา และผู้สนใจรุ่นต่อๆ ไป


ผอ.ศมส. กล่าวต่อว่า ตนได้ประสานงานไปยัง นายอนันต์ ชูโชติ อธิบดีกรมศิลปากร เพื่อหาแนวทางในการรวบรวมข้อมูล อนุรักษ์ และเผยแพร่รายงานของนักโบราณคดีให้เป็นรูปธรรม ซึ่งได้มีการประสานงานต่อไปยังสำนักศิลปากรทั่วประเทศ เพื่อช่วยสำรวจว่ามีจำนวนกี่เรื่อง พร้อมคัดแยก แบ่งหมวดหมู่ และจัดลำดับช่วงเวลาของรายงาน เพื่อให้สามารถนำมารวบรวมได้ง่าย พร้อมกันนี้ยังได้มีแนวทางในการดำเนินงานต่อไป แบ่งเป็น 2 ส่วน ได้แก่ 1. ทาง ศมส. จะโอนงบประมาณไปยังสำนักศิลปากร เพื่อจ้างผู้มีความรู้ความสามารถในการสแกนรายงานนักโบราณคดี เพื่อนำมาจัดเก็บรูปแบบไฟล์ดิจิทัล และ 2. ศมส. จะดำเนินการจ้างผู้มีความรู้ไปทำการสแกนในแต่ละพื้นที่เอง และหลังจากมีการสแกนเอกสารเสร็จแล้ว ทาง ศมส. จะต้องทำการจำแนกประเภทของรายงานอีกครั้ง โดยอาจจะเพิ่มเติมในส่วนการแบ่งพื้นที่จังหวัด และลักษณะการดำเนินงานของนักโบราณคดี ก่อนที่จะนำมาเผยแพร่สาธารณะผ่านคลังข้อมูลนักโบราณคดี ในเว็บไซต์ของ ศมส. ในช่วงปีงบประมาณ พ.ศ 2562 

...

“สมเด็จพระเทพฯ ทรงมีรับสั่งต่องาน ศมส. ว่า การจัดตั้ง ศมส. ขึ้นมา เพื่อเป็นศูนย์เผยแพร่ข้อมูลวิชาการ ในด้านมานุษยวิทยา พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น ขณะเดียวกัน ในส่วนรายงานของนักโบราณคดี ก็ถือว่ามีความสำคัญและเกี่ยวพันในการทำงานของศมส. และยิ่งนับวันจะเสี่ยงต่อความเสียหาย โดยบางเล่มที่มีการตีพิมพ์เป็นเอกสารทางการแล้วเป็นเรื่องที่มีประโยชน์แต่ไม่ได้รับความสนใจ ดังนั้น ควรมีการสแกนเก็บไว้ จะเป็นการรักษาองค์ความรู้ ทั้งนี้ หากเราทำให้สังคมสามารถสืบค้นข้อมูลเชิงลึก ซึ่งอยู่ในบันทึกของนักโบราณคดี ได้ก็จะทำให้องค์ความรู้ตั้งแต่ระดับปฐมภูมิ ที่ถูกบันทึกไว้โดยนักโบราณคดี จนถึงที่สังเคราะห์แล้วเป็นข้อมูลทุติยภูมิ สามารถนำมาใช้งานได้ ไม่ต้องแขวนขึ้นหิ้ง หรือถูกเก็บไว้ในกรุอีกต่อไป” นายพีรพน กล่าว