หลายคนเชื่อว่าเหตุการณ์ลอบสังหาร "หวังยิงหัวให้ดับ" เกิดขึ้นแล้วจริงๆ กับผู้นำระดับประเทศ อย่าง นายทักษิณ ชินวัตร เมื่อครั้งเป็นนายกรัฐมนตรี แต่หลายคน "ไม่เคยคิดจะเชื่อ" ประหนึ่งรู้อยู่เต็มอกว่าทั้งหมดเป็นเรื่องราว ที่สร้างกระแสให้ตัวเอง แม้ว่า นายทักษิณ จะตกเป็นข่าวใหญ่ถูกลอบฆ่ามาแล้วถึง 4 ครั้ง คนไทยหลายฝ่ายก็ยังรู้สึกคลุมเครือกับเรื่องราวที่เกิดขึ้นทั้งหมด 

ทีมข่าว "เจาะประเด็น ไทยรัฐออนไลน์" นำข้อเท็จจริงที่ถูกเผยแพร่ออกมาทางสื่อกระแสหลัก และจากปาก นายทักษิณ ชินวัตร เอง ที่เคยให้สัมภาษณ์ไว้กับสื่อต่างชาติ ปรากฏข้อมูลว่า นายทักษิณ ได้ถูกลอบฆ่ามาแล้วถึง 4 ครั้ง ท้ายที่สุดก็รอดปาฏิหาริย์ เฉียดจากการถูกยิง ถูกวางระเบิด เพราะเหตุการณ์ทั้งหมดมันยังไม่เกิดขึ้น เนื่องจากความบังเอิญหลายๆ อย่างที่ทำให้ นายทักษิณ ไม่พาตัวเองเข้าไปยังสถานที่นั้นๆ 

ลอบสังหารครั้งแรก "ระเบิดเครื่องบิน โบอิ้ง 737-400" สุดท้ายตายคนเดียว 

เมื่อวันที่ 3 มี.ค. 2544 เกิดเหตุระเบิดเครื่องบินการบินไทย โบอิ้ง 737-400 ทะเบียน HS-TDC กรุงเทพฯ-เชียงใหม่ ที่คณะของนายทักษิณ จะเดินทางไปบ้านเกิดที่ จ.เชียงใหม่ ก่อนเวลาออกเดินทางเพียงเล็กน้อย ทำให้เครื่องบินถูกไฟไหม้เสียหายทั้งลำ มีผู้เสียชีวิต 1 ราย หลังเหตุการณ์ครั้งนั้น นายทักษิณ ให้สัมภาษณ์ว่า รายงานของเจ้าหน้าที่ค่อนข้างชัดเจน สาเหตุของเครื่องบินระเบิดน่าจะมาจากวัตถุระเบิดที่มีผู้นำมาติดไว้ที่ใต้ท้องเครื่องบิน บริเวณที่นั่งวีไอพี

"เป็นการปองร้าย ไม่ใช่การก่อการร้าย ไม่ทราบว่าปองร้ายใคร ส่วนคนที่ทำนั้นสิ้นคิด ไม่ต้องทำกับนายกรัฐมนตรี ทำกับใคร ประเทศชาติก็เสียหาย" พ.ต.ท.ทักษิณ ระบุ

...

ในวันนั้น สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ตั้งคณะกรรมการสืบสวนสอบสวนเรื่องนี้ โดยมี พล.ต.อ.สันต์ ศรุตานนท์ รอง ผบ.ตร. เป็นหัวหน้า ท่ามกลางกระแสข่าวการก่อวินาศกรรมของกลุ่มก่อการร้ายข้ามชาติ หรือขบวนการค้ายาเสพติด

จากนั้นในวันที่ 5 มี.ค.2544 คณะกรรมการชุด พล.ต.อ.สันต์ ฟันธงเป็นการ "วางระเบิด" แน่นอน คาดว่าเป็น "ซีโฟร์" เนื่องจากตรวจพบสารอาร์ดีเอ็กซ์ที่เป็นส่วนประกอบของซีโฟร์กระจายอยู่ พร้อมแจกแจงการจุดระเบิดว่าน่าจะเป็นการใช้นาฬิกาประกอบกันเป็นระเบิดแบบแสวงเครื่องในการจุดชนวน แต่ไม่พบซากอุปกรณ์ดังกล่าวในที่เกิดเหตุ  ขณะที่สภาผู้แทนราษฎรได้ตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาศึกษากรณีเครื่องการบินไทยระเบิดควบคู่ไปด้วย โดย พล.ต.ท.วิโรจน์ เปาอินทร์ ส.ส.อ่างทอง ประธาน กมธ. แถลงเมื่อวันที่ 3 เม.ย. 2544 ว่า สาเหตุมีแนวโน้มว่าจะเป็นอุบัติเหตุ

ด้านผลสรุปการสอบสวนของ “คณะกรรมการความปลอดภัยด้านการขนส่งแห่งชาติสหรัฐอเมริกา(NTSB)" ซึ่งเป็นองค์กรการบินระดับโลก ระบุสาเหตุจากอุบัติเหตุที่เกิดจากการเปิดแอร์ระหว่างเติมน้ำมัน สุดท้ายจึงมีแถลงการณ์ร่วมระหว่างรัฐบาลไทยกับ NTSB ว่า คาดว่าสาเหตุมาจากอุปกรณ์ทำความเย็นทำงานต่อเนื่องอย่างหนักได้ปล่อยความร้อนออกมา เป็นเหตุให้ถังเชื้อเพลิงที่อยู่เหนืออุปกรณ์ทำความเย็นเกิดระเบิด เหตุการณ์ครั้งนั้นถูกบางฝ่ายมองว่าเป็นการสร้างข่าวเพื่อกลบกระแส “บกพร่องโดยสุจริต” ในคดี “ซุกหุ้น” ไว้กับคนรับใช้ คนสวน และคนขับรถในภาคแรก

กลุ่มว้าแดง ตั้งค่าหัว ทักษิณ 80 ล้าน ต้องนั่งรถกันกระสุนเพิ่มชุดคุ้มครอง

ครั้งที่ 2 ในปี 2546 ช่วงสงครามล้างยาเสพติดมีการปล่อยข่าวว่า “กลุ่มว้าแดง” ได้ตั้งค่าหัว นายทักษิณ ไว้ 80 ล้านบาท เนื่องจากไม่พอใจนโยบายปราบปรามยาเสพติดของรัฐบาล ที่ทำให้สูญเสียผลประโยชน์จำนวนมาก ทำให้  นายทักษิณ ต้องเปลี่ยนรถประจำตำแหน่งเป็นรถตู้หุ้มเกราะ และสั่งเพิ่มทีมรักษาความปลอดภัย เรียกได้ว่าเป็นกองทัพขนาดย่อมๆ โดยมีการเพิ่มรถคุ้มครองหลายคัน มีชุดล่าสังหาร อาวุธครบมือ

ส่วนสถานการณ์ทางการเมืองในขณะนั้น ตกอยู่ในห้วงที่ นายทักษิณ ถูกฝ่ายค้านและสังคมตั้งข้อสังเกตการเอื้อประโยชน์ให้กลุ่มทุน โดยเฉพาะชินคอร์ป ซึ่งเป็นธุรกิจครอบครัว

ระเบิดทีเอ็นที - ซีโฟร์ ผูกติดกับกระโปรงท้ายใกล้บ้านพักจรัญสนิทวงศ์ 69 

ครั้งที่ 3 ฮือฮาที่สุด วันที่ 24 ส.ค.2549 จับกุม ร.ท.ธวัชชัย กลิ่นชะนะ ทหารสังกัด กอ.รมน. ขับรถเก๋งยี่ห้อแดวู ภายในบรรทุกระเบิดไปจอดรออยู่บริเวณสี่แยกบางพลัด พบระเบิดทีเอ็นทีและซีโฟร์ผูกติดกันไว้ในกระโปรงท้าย รัศมีทำลายล้างไม่น้อยกว่า 1 กิโลเมตร ใกล้บ้านพักในซอยจรัญสนิทวงศ์ 69 ของ พ.ต.ท.ทักษิณ และเป็นเส้นทางผ่านของขบวนรถนายกฯ แต่ทีม รปภ.ของ นายทักษิณ ตรวจพบเสียก่อน

ทั้งนี้ มีการสรุปจากฝ่ายรัฐบาลว่า เป็นการมุ่งลอบสังหาร นายทักษิณ โดยคนร้ายถูกดำเนินคดีในความผิดร่วมกันเคลื่อนย้ายและมีวัตถุระเบิดไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต ส่วนข้อหาพยายามฆ่า นายทักษิณ องค์คณะตุลาการศาลทหารกรุงเทพได้ยกฟ้อง แต่เมื่อดูจากพยานหลักฐานและผลการสอบสวน เหตุการณ์ครั้งนั้นหลายฝ่ายจึงมองว่า เป็น “คาร์บ๊อง” มากกว่า “คาร์บอมบ์”

...

โดยวลี “คาร์บ๊อง” มาจากคำพูดของ พล.อ.พัลลภ ปิ่นมณี ที่ถูกคำสั่งปลดกลางอากาศพ้นตำแหน่ง รอง ผอ.รมน.ในขณะนั้น เพราะถูกกล่าวหาว่าอยู่เบื้องหลัง สำหรับสถานการณ์ในขณะนั้น ว่ากันว่า นายทักษิณ กำลังอยู่ในช่วง “ขาลง” และถูกกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ออกมาขับไล่ จับผิดข้อสังเกตกรณีการขายหุ้นในเครือชินคอร์ปให้กับกองทุนเทมาเส็ก ประเทศสิงคโปร์

หวนกลับไทย ก้มกราบแผ่นดิน ข่าวสะพัดอาจถูกลอบยิง จึงบินหนีหาย  

ครั้งที่ 4 ช่วงรัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช เป็นนายกฯ หลัง นายทักษิณ ได้เดินทางกลับบ้าน และกราบแผ่นดินเกิด ก่อนขออนุญาตศาลเดินทางออกนอกประเทศเพื่อชมการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกที่กรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน แล้วไม่กลับมาอีก พลพรรคฝ่าย นายทักษิณ ล้วนให้ข่าวตรงกันว่ามีแผนประทุษร้ายจากบางฝ่าย โดยมีการอ้างถึง "สไนเปอร์" หรือพลแม่นปืน ทำให้ นายทักษิณ ต้องเดินทางออกนอกประเทศ

 - “ทักษิณ” ให้สัมภาษณ์สื่อนอก เปิดใจปมเคยถูกลอบสังหาร -

วันที่ 29 ก.พ.59 นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ได้ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวอัลจาซีร่า “Thaksin Shinawatra: Let Thailand return to democracy” ระบุถึง สาเหตุที่ออกมาเคลื่อนไหวต่อเนื่องขณะนี้ เพราะเห็นการปรองดองไม่เกิดขึ้นเสียที หลังผ่านเวลามาปีครึ่งของการบริหารประเทศ โดยรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จึงรู้สึกถึงความไม่ยุติธรรม พร้อมวิจารณ์เรื่องรัฐธรรมนูญฉบับนายมีชัย เป็นรัฐธรรมนูญที่แย่ที่สุด

...

“รัฐบาล คสช.พูดเสมอว่า รัฐบาลอยากสร้างความปรองดอง อยากเห็นประเทศเดินหน้าได้ แต่นี่มันปีครึ่งแล้ว มันแทบไม่มีสัญญาณของการปรองดองใดๆ ในทางกลับกัน กลับเอาอกเอาใจฝ่ายหนึ่ง และกดดันบีบคั้นอีกฝ่ายหนึ่ง ความปรองดองมันก็เกิดขึ้นไม่ได้ การขับเคลื่อนประเทศให้เดินหน้า ผมมองเห็นแต่ประเทศถอยหลังมากกว่าเดินหน้า นี่คือสิ่งที่ผมกังวล และร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ก็เป็นฉบับที่เลวร้ายที่สุด ถ้าเราเปรียบเทียบกับเกาหลีเหนือ”

พร้อมยืนยันว่า ที่ผ่านมาไม่เคยพูดคุยโดยตรงกับรัฐบาล คสช. และฝากเตือนว่า ไม่ต้องห่วงอะไรตน ให้ห่วงประชาชน ประเทศชาติเป็นหลัก

“เขาก็พูดเองว่าไม่ต้องการพูดคุย แต่ผมไม่ได้สนใจ ผมแค่ตั้งใจเตือนว่า อย่าห่วงอะไรผม ให้ห่วงประเทศชาติ ให้ห่วงประชาชน ประเทศไม่ใช่แค่แผ่นดิน แต่หมายถึงประชาชนที่อาศัยร่วมกันอยู่บนผืนแผ่นดิน อีกทั้งยังไม่เห็นด้วยกับกระบวนการตัดสินกรณีโครงการรับจำนำข้าว ซึ่งเป็นนโยบายเดียวในโลกที่นโยบายไม่ผิด แต่คนทำนโยบายผิด ทั้งที่รัฐบาลอยู่ในฐานะผู้ให้นโยบาย รับผิดชอบในระดับนโยบาย ในระดับปฏิบัติจะมีระบบข้าราชการนำนโยบายไปปฏิบัติต่อ" 

...

นอกจากนี้ นายทักษิณ ยังได้กล่าวว่า หากกลับบ้านได้ ตนอยากกลับประเทศไทย แต่ถ้าไม่ได้ ก็สามารถปรับตัวและอยู่ได้ทุกประเทศ แต่เรื่องกลับบ้าน ตนยังมองเรื่องความปลอดภัยเป็นหลัก เพราะที่ผ่านมา พบว่ามีความพยายามลอบสังหารตนถึง 4 ครั้ง สมัยเป็นนายกรัฐมนตรี ส่วนใครต้องการฆ่าตน ไม่สามารถเปิดเผยได้

“ผมไม่สามารถพูดได้ ผมไม่สามารถบอกคุณได้ ผมไม่รู้ว่าใคร ผมถูกลอบสังหาร ผมก็พยายามค้นหาความจริง แม้กระทั่งพยานในคดีคาร์บอมบ์ ซึ่งเมื่อเดือนสิงหาคม ปี 2006 เคยบอกว่ามีคนพยายามฆ่าผม หากไม่สำเร็จก็จะใช้วิธีรัฐประหารขับไล่ นั่นคือสิ่งที่พยานได้ให้ปากคำในการสอบสวนไว้ในเดือนสิงหาคม จากนั้นในเดือนกันยายน ผมก็ถูกรัฐประหาร และในเดือนตุลาคม ก็มีการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีคนที่ถูกพยานกล่าวถึง”

สุดท้ายนี้ ต่อคำถามที่ว่ากองทัพไทยพยายามที่จะฆ่าตนหรือไม่นั้น อดีตนายกฯ ทักษิณ ตอบว่า “ผมไม่รู้หรอก ผมไม่ต้องตอบอะไร…. มันชัดเจน”

ข่าวเกี่ยวข้อง