สถ.-จุฬาฯ-อบก.- สภาสตรีฯ และชมรมแม่บ้าน สถ. ขับเคลื่อนการลดก๊าซเรือนกระจก จากโครงการถังขยะเปียกลดโลกร้อน ตั้งเป้า เม.ย.62 ทุกครัวเรือนมีถังขยะเปียกครบ 100 เปอร์เซ็นต์...

เมื่อวันที่ 29 ม.ค. 62 นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.) พร้อมด้วย ศ.ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นางประเสริฐสุข เพฑูรย์สิทธิชัย ผู้อำนวยการองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (อบก.) และ ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ ประธานชมรมแม่บ้านกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (ชม.สถ.) และประธานสภาสตรีแห่งชาติ ในพระบรมราชินูปถัมภ์ ลงนามความร่วมมือพัฒนาและขับเคลื่อนการแยกขยะเศษอาหารสู่ถังขยะอินทรีย์ หรือถังขยะเปียกครัวเรือน เพื่อแปลงเป็นสารบำรุงดินให้บรรลุเป้าหมายประเทศไทยสะอาด ณ ห้องรับรอง ชั้น 2 อาคารจามจุรี 4 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ กล่าวว่า เนื่องจากปัจจุบันสถานการณ์ปัญหาขยะของประเทศไทย ถือเป็นวาระแห่งชาติ ซึ่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และรัฐบาล ได้มีมติให้กระทรวงมหาดไทยดำเนินการแก้ไขปัญหาขยะของประเทศ ซึ่งขยะในประเทศไทยเข้าสู่ขั้นวิกฤติเนื่องจากมีการสร้างขยะเพิ่มมากขึ้น กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.) ที่มีภารกิจหลักในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวก็เห็นว่า หนึ่งในหนทางการแก้ไขที่สามารถทำได้ทันที คือ การจัดทำถังขยะอินทรีย์หรือถังขยะเปียกประจำครัวเรือนและชุมชนให้ได้มากที่สุด 

สำหรับ ปี 2562 นี้ กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ร่วมกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก จัดทำโครงการวิจัยการประเมินและรับรองผลการบริหารจัดการขยะเศษอาหารตามแนวทางการทำถังขยะเปียกในการช่วยลดสภาวะโลกร้อน โดยเทียบเท่าการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยได้มีการดำเนินการวิเคราะห์อัตราการเกิดขยะเศษอาหารต่อคนต่อวันของคนไทย โดยลงพื้นที่ 4 จังหวัด ซึ่งเป็นตัวแทนภูมิภาค ได้แก่ ภาคเหนือจังหวัดลำพูน ภาคกลางจังหวัดลพบุรี ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จังหวัดเลย และภาคใต้จังหวัดสงขลา เก็บตัวอย่างวัดปริมาณขยะจริงของครัวเรือนที่ร่วมโครงการจำนวน 2,400 ครัวเรือน

...

"โครงการนี้มีส่วนสำคัญในการช่วยลดภาวะโลกร้อน ซึ่งเป็นเทรนของโลก เพราะภาวะโลกร้อนในปัจจุบัน ไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป เนื่องจากปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นทั่วโลก ได้ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของคนทั้งโลกแล้ว ดังนั้น หากทุกคนใส่ใจกับเรื่องนี้อย่างจริงจัง โดยเฉพาะการแยกขยะเปียก ขยะแห้ง คุณก็มีส่วนสำคัญในการทำให้โลกใบนี้น่าอยู่ขึ้น และถือเป็นวิธีลดภาวะโลกร้อนในแบบที่ทำตามได้ในชีวิตประจำวันของทุกคน" นายสุทธิพงษ์ กล่าว

ขณะที่ รศ.ดร.ชนาธิป ผาริโน อาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ในส่วนของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เข้ามามีบทบาทร่วมในส่วนของการสนับสนุนแนวทางในการจัดการขยะให้เป็นที่ยอมรับทั้งในเชิงหลักวิชาการในประเทศและต่างประเทศ โดยได้มีการวางแผนอย่างมีระบบ และอยากให้การทำงานไม่ใช่เกิดการยอมรับเฉพาะในประเทศ แต่อยากให้บทเรียนนี้ สามารถเผยแพร่ให้ประเทศอื่นๆ ได้เรียนรู้ไปพร้อมกัน

ทั้งนี้ หากดำเนินการได้สำเร็จ ก็คาดหวังว่า การพัฒนาคน การพัฒนางานวิจัย หรือการถอดบทเรียนในเรื่องนี้ ก็จะถูกเผยแพร่ออกไป พร้อมย้ำด้วยว่า การเก็บข้อมูลในเรื่องนี้ เริ่มตั้งแต่ลักษณะปฐมภูมิ คือให้คนที่ก่อให้เกิดขยะ เป็นผู้ที่มีส่วนในการดูกระบวนการและเข้าไปบันทึกปริมาณขยะที่เกิดขึ้นทุกวันต่อเนื่อง เป็นระยะเวลา 1 สัปดาห์ และ 4 สัปดาห์ ก็จะได้ข้อมูลที่มีปริมาณที่มากพอ 

ทางด้าน ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ ประธานชมรมแม่บ้านกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นและประธานสภาสตรีแห่งชาติ ในพระบรมราชินูปถัมภ์ ในฐานะเครือข่ายจิตอาสา ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของพลังสตรีหรือพลังแม่บ้านในการเป็นจิตอาสาห่วงใยสิ่งแวดล้อม ห่วงใยสังคม และชุมชน และได้มีการเรียกประชุมชมรมแม่บ้านกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น และประธานชมรมแม่บ้านท้องถิ่นไทยจังหวัด เพื่อรับมอบนโยบายและเป็นฟันเฟืองในการขับเคลื่อนการบริหารจัดการขยะ โดยการคัดแยกขยะเศษอาหารตั้งแต่ต้นทาง นั่นคือ ครัวเรือน ซึ่งแม่บ้านเป็นผู้ใกล้ชิดที่สุด

นอกจากนี้ เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจ ดร.วันดี จัดโครงการประกวดผลสำเร็จชมรมแม่บ้านท้องถิ่นไทยจังหวัด ในการบริการจัดการขยะเศษอาหารจากครัวเรือน ซึ่งช่วงเริ่มต้นโครงการจะมีการสุ่มตรวจเยี่ยมมอบรางวัลให้กับชมรมฯ ที่มีการรายงานข้อมูลคนแยกขยะเศษอาหาร และจำนวนถังขยะเปียกที่เยอะที่สุด และร่วมกระบวนการถอดบทเรียนเลือกชมรมฯ ที่มีแนวทางการบริหารจัดการที่ดีที่สุด (Best Practice) โดยร่วมมือกับสภาสตรีแห่งชาติ ในพระบรมราชินูปถัมภ์ ซึ่งเป็นศูนย์กลางประสานงานขององค์กรสตรีทั่วประเทศร่วมกันขับเคลื่อนการดำเนินโครงการถังขยะเปียก ลดโลกร้อน อีกด้วย

"อยากเชิญชวนพลังสตรีทั่วประเทศมาช่วยกันรณรงค์การคัดแยกขยะ เศษอาหาร และจัดทำขยะเปียกในครัวเรือน ซึ่งความสำเร็จจะเกิดขึ้นได้ก็ด้วยพลังของสตรี ด้วยความร่วมมือร่วมใจที่จะร่วมกันทำความดีถวายแด่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในวันที่ 4-6 พ.ค.นี้ จะมีพระราชพิธีที่มีความสำคัญยิ่งต่อประชาชนทุกคนในประเทศ พร้อมขอให้พลังสตรีทั่วประเทศ จับมือกันทำเรื่องขยะเปียก แยกขยะ เศษอาหาร ให้สำเร็จร่วมกัน เราสามารถทำได้ด้วยพลังคนไทย" ดร.วันดี กล่าว