ฝุ่นละออง PM2.5 หรือฝุ่นจิ๋ว มีฤทธิ์ทะลวงปอด ฉีดน้ำแล้วก็ยังไม่ไปไหน อยู่ต่ออีกหลายวัน ถ้าหาต้นเหตุไม่เจอ ฝุ่นกทม.เกิดทุกปี ไม่ใช่ 3 ปีรอรถไฟฟ้าสร้างเสร็จอย่างที่บางคนบอก

ดร.อานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ผู้อำนวยการ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศ และภูมิสารสนเทศ (สทอภ.) หรือ จิสด้า เปิดเผยว่า ฝุ่นละอองขนาดเล็ก (Particulate Matter หรือ PM) ที่ทำให้บรรยากาศขมุกขมัว อากาศแย่ทั่ว กทม. มีทั้งฝุ่นละอองขนาดเล็ก 10 ไมครอน (PM10) ที่มาจากการก่อสร้าง การเผากลางแจ้ง ฝุ่นขนาดนี้มีผลต่อระบบทางเดินหายใจ แต่กำจัดง่าย ด้วยการฉีดน้ำ หรือฝนตก อากาศก็ดีขึ้น อย่างที่เห็นฟ้าใสหลังฝนตกช่วงนี้ เพราะฝุ่น PM10 ลดลง 

ฝุ่นจิ๋ว PM2.5 ฤทธิ์เยอะ กำจัดยาก

อีกขนาดคือ ฝุ่นจิ๋ว ฝุ่นละออง PM2.5 ที่กระทรวงสาธารณสุขเปรียบเทียบว่ามีขนาดประมาณ 1 ใน 25 ของเส้นผ่าศูนย์กลางเส้นผมมนุษย์ ขนจมูกกรองไม่ได้ และทะลุทะลวงเข้าร่างกายผ่านถุงลมปอดได้ ที่เห็นอยู่ใน กทม.นั้นมีที่มาจาก 2 ส่วน คือ ฝุ่นละอองตามธรรมชาติ เช่น มาจากทะเล ผสมปนกับฝุ่นละอองจากมลพิษที่เกิดจากการเผาไหม้ไม่สมบูรณ์ เช่น ควันรถที่ใช้น้ำมันดีเซลคุณภาพต่ำ การเผาขยะ เตาเผาศพ เป็นต้น

...

ดังนั้นช่วงที่ก่อสร้างกันมาก เมื่อมีฝุ่นจิ๋ว PM2.5 มาก เจอกับฝุ่นขนาด PM10 ช่วงก่อสร้าง ก็ทำให้ฝุ่นปกคลุมหนาแน่นมากขึ้นอย่างที่เห็น แต่ฝุ่นขนาด PM10 กำจัดได้ง่าย ส่วนการกำจัดฝุ่นจิ๋ว PM2.5 ยากกว่า ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องนำไปวิเคราะห์ว่าเกิดจากสาเหตุใด เพื่อหาวิธีกำจัดที่ต้นเหตุ เช่น ถ้ามาจากน้ำมันดีเซลคุณภาพต่ำ ก็ต้องควบคุมการใช้ มีกระบวนการทางเคมีให้เกิดเมฆจับฝุ่นจิ๋ว และกลายเป็นฝน เป็นลักษณะฝนกรด ส่วนการรอให้ฝุ่นจิ๋วสลายตามธรรมชาติ ขึ้นอยู่กับฤดูกาล ลมพาฝุ่นลอยตัวขึ้นสู่ชั้นโอโซนในบรรยากาศ สูงขึ้นไปประมาณ 50-60 กิโลเมตร

สภาพใน กทม.ขณะนี้จึงมีฝุ่นละอองทั้งสองขนาดอยู่แล้ว เมื่อมีมวลอากาศเย็นทางตอนเหนือปะทะอากาศอุ่นชื้นจากทะเล ที่มวลอากาศเย็นปกคลุมด้านบน ทำให้ฝุ่นละอองขนาดเล็กสะสมอยู่ด้านล่างมากขึ้น ลักษณะนี้จะเกิดขึ้นทุกปี การป้องกันใส่หน้ากาก N95 จึงจำเป็น ซึ่ง ดร.อานนท์ แนะนำว่า การแก้ปัญหาเฉพาะหน้าอย่างฉีดน้ำก็ต้องทำเพื่อกำจัดฝุ่น PM10 แต่อย่าลืมว่าฝุ่นจิ๋วที่เป็นอันตรายต่อร่างกายมากยังอยู่ การแก้ปัญหาจากต้นเหตุจึงจำเป็นอย่างยิ่ง เช่น ที่ประเทศจีนสามารถแก้ปัญหาได้ เพราะมีการวิเคราะห์ว่าฝุ่นจิ๋วมาจากไหน เมื่อพบว่าส่วนหนึ่งมาจากฝุ่นทะเลทราย ก็มีการปลูกต้นไม้ดูดซับมากขึ้น เป็นต้น.