อีกหนึ่งสาวไทย ที่ก้าวสวมมงกุฎเป็นรานีของประเทศมาเลยเซีย "เรียม เพศยนาวิน" นางสาวไทยประจำปี 2482 "เรียม" เธอมีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการว่า "รานีตวนกูมาเรียม" (รานีคือภรรยาคนที่สอง) ของ เอช.เอช. ซุดพัตรา ชามา ลุลลาอิล รายาแห่งรัฐเปอร์ลิศ อธิบายคร่าวๆ คือ ประเทศมาเลเซียมี 13 รัฐ แต่ 9 รัฐที่มีสุลต่าน คือ ยะโฮร์ เคดะห์ (ไทรบุรี) กลันตัน ปาหัง เนกรีเซมบิลัน เปรัค เปอร์ลิศ (ปลิศ) เซลังงอ ตรังกานู  

ย้อนกลับไปในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ โปรดฯ ให้จัดการปกครองไทรบุรี แบ่งเขตเป็น 12 มุเกม (ทำนองอำเภอ) จัดเป็น 4 เมือง คือ เมืองไทรบุรี 1, เมืองกะบังปะสู 1, เมืองปลิศ 1, เมืองสตูล 1 ทั้งหมดต่างไม่ขึ้นแก่กัน ต้องฟังบังคับบัญชาโดยตรงจาก เมืองนครศรีธรรมราช ทั้ง 4 เมือง โปรดฯ ตั้งตวนกู ญาติวงศ์พระยาไทรบุรี (อับดุลลา) เป็นผู้ว่าราชการเมืองไทรบุรี เมืองกระบังปาสู และเมืองสตูล แต่เมืองเปอร์ลิศ (ปลิศ) นั้น ทรงตั้ง "เสด ฮูเซน" (เจ้าชาย หรือโอรสสุลต่าน) เป็นผู้ว่าราชการ  

- สาวไทยคนแรกคือ "เรียม เพศยนาวิน" - 

ตั้งแต่ พ.ศ.1477-2481 สมัยนั้นการประกวดยังเรียกกันว่า นางสาวสยาม การประกวดนางสาวสยาม รัฐบาลสมัยนั้นเห็นว่าเป็นสีสันของงานฉลองรัฐธรรมนูญ จึงจัดให้มีการประกวดคู่กันกับงานฉลองฯ ทุกปี สุภาพสตรีผู้เข้าประกวดในยุคแรกๆ นั้น ต้องมีผู้หลักผู้ใหญ่ขอต่อบิดามารดาผู้ปกครอง และมิใช่จะได้รับการยินยอมง่ายๆ ผู้เข้าประกวดนั้นก็ถือว่ามีเกียรติ ยิ่งหากได้รับเลือกเป็นนางสาวสยาม หรือรองก็ยิ่งนับว่าเป็นเกียรติยศของตนและครอบครัว รัฐบาลยกย่องให้ออกงานสำคัญๆ ของบ้านเมือง สมัยก่อนๆ นั้น คัดเลือกจากสาวงามที่เข้าประกวดเกือบทั่วทั้งประเทศ โดยส่วนมากผู้ว่าราชการจังหวัดขอตัวนางงามของจังหวัดนั้นๆ

...

ภาพจาก เงาหลังภาพ ของ ลาวัณย์ โชตามระ
ภาพจาก เงาหลังภาพ ของ ลาวัณย์ โชตามระ

นางสาวสยามทั้ง 5 พ.ศ. ประกอบด้วย นางสาวกันยา เทียนสว่าง พ.ศ.2477 นางสาววณี เลาหเกียรติ พ.ศ.2478 สอง พ.ศ.แรกนี้ กำหนดให้แต่งกายนุ่งจีบ ห่มผ้าตาด ครั้น พ.ศ.2478 เปลี่ยนเป็นนุ่งผ้าลายโจงกระเบน ห่มผ้าสไบ คือ นางสาววงเดือน ภูมิรัตน์ พ.ศ.2479 นางสาวมยุรี วิชัยวัฒนะ พ.ศ.2480 และ นางสาวพิศมัย โชติวุฒิ พ.ศ.2481 ทั้ง 5 นี้ เป็นนางสาวสยาม

ต่อมา ปี พ.ศ.2482 ปีที่ นางสาวเรียม เพศยนาวิน เข้าประกวด รัฐบาลให้เปลี่ยนชื่อประเทศสยาม เป็น "ประเทศไทย" นางสาวเรียม เพศยนาวิน จึงเป็นนางสาวไทยคนแรก ประจำปี พ.ศ.2482 เปลี่ยนการแต่งกาย จากนุ่งผ้าโจงห่มสไบ เป็นสวมเสื้อเป็นชุดติดกับกางเกงขาสั้น เสื้อนั้นคล้องคอแบบเสื้อราตรี เปิดหลังพอสมควร กางเกงขาสั้นสูงกว่าเข่าเล็กน้อย ปลายบานแบบกางเกงกีฬาสมัยนั้น ก็ฮือฮากันว่าสมัยใหม่ น่าดูกว่านุ่งจีบ นุ่งโจง งดงามแต่ไม่โป๊ สมกับสุภาพสตรี

- ที่มาที่ไป นางสาวไทยกลายเป็น "รานีตวนกูมาเรียม - 

"มาเรียม" นั้นเป็นชื่ออิสลามดั้งเดิมของเธอ และใช้ชื่อไทยว่า "เรียม" ในการเข้าประกวดนางสาวไทย กระทั่งต่อมาเมื่อมีการออก พ.ร.บ.วัฒนธรรมแห่งชาติ พ.ศ.2485 จึงต้องเปลี่ยนชื่อเป็น "เรียมรมย์" และเมื่อผ่านยุคนั้น ก็กลับมาใช้ชื่อ "เรียม" ตามเดิม พื้นเพของเธอ เกิดวันที่  20 เมษายน พ.ศ.2465 อำเภอบางรัก จังหวัดพระนคร ประเทศสยาม เป็นชาวพระนครแต่กำเนิด เรียม เป็นบุตรคนโตจากทั้งหมดเจ็ดคนของ สุมิต เพศยนาวิน ชาวไทยมุสลิม กับภริยาไทยเชื้อสายจีน เบื้องต้นพระองค์เข้ารับการศึกษาระดับมัธยมศึกษาจากโรงเรียนมหัสดัมอิสลามวิทยาลัย

ภาพจาก เงาหลังภาพ ของ ลาวัณย์ โชตามระ
ภาพจาก เงาหลังภาพ ของ ลาวัณย์ โชตามระ

ในปี 2494 ส.ส.เจ๊ะ อับดุลลา หวังปูเต๊ะ ซึ่งสนิทกับ นายจิ๋ว หรือนิพนธ์ สิงห์สุมาลี เจ้าของบ้านที่เรียมพักอยู่ด้วย ได้แจ้งมาว่า รายาหนุ่มแห่งรัฐเปอร์ลิศ มาเลเซีย จะเสด็จอย่างไม่เป็นทางการมาเที่ยวประเทศไทย ในการนี้ท่านรายาประสงค์จะพักกับครอบครัวมุสลิมด้วยกันเพื่อหลีกเลี่ยงการต้อนรับที่เอิกเกริก รายาหนุ่มนักเรียนนอกอังกฤษ จึงได้เสด็จมาประทับที่บ้านนายจิ๋ว โดยนอกจากมาเที่ยวเมืองไทยธรรมดาแล้ว ยังประสงค์จะได้ชมโฉมนางสาวไทยที่เป็นมุสลิมอีกด้วย เพราะท่านรายาเคยได้ยินคำกล่าวขวัญถึงความงามของเธอที่ลือกันไปไกลถึงมาเลเซียมานานแล้ว

...

ในฐานะพระราชวงศ์ชั้นสูงองค์หนึ่งของมาเลเซีย รายาแห่งเปอร์ลิศ เอช.เอช. ซุดพัตรา ชามา ลุลลาอิล ซึ่งเสด็จมาเป็นการส่วนพระองค์ ได้รับการดูแลจากทางรัฐบาลไทยเป็นอย่างดี พลตำรวจเอกกระเษียร ศรุตานนท์ อธิบดีกรมตำรวจในขณะนั้น ได้ส่งตำรวจมาอารักขา และมีรถขบวนนำเสด็จ ทั้งที่พำนักอยู่ในบ้านหลังเดียวกัน แต่รายาไม่เคยเจอเรียม เพราะเจ้าตัวจะหลบทุกครั้งที่ได้ยินเสียงรถขบวนเสด็จวิ่งเข้าสู่ประตูรั้วบ้าน

- พรหมลิขิต นาทีพบรัก - 

กระทั่งวันหนึ่ง เรียมอยู่บ้าน ในชุดเสื้อกางเกงขาสั้น กำลังเล่นแบดมินตันอยู่กับลูกสาวนายจิ๋ว ขณะที่รายาเสด็จกลับมาโดยที่เรียมหลบไม่ทัน ซึ่งคนใกล้ชิดเล่ากันว่า ท่านรายาสะดุดตาเรียมทันทีที่เห็น และถามเจ้าบ้านว่า เป็นคนเดียวกับในรูป (ที่ตั้งไว้ในบ้าน) ที่เห็นหรือเปล่า?... ในที่สุด รายาหนุ่มก็ได้รับรู้ว่าเธอเป็นคนเดียวกับที่พระองค์ได้ยินกิตติศัพท์ถึง "ความงาม" มานานแล้ว รายาแห่งเปอร์ลิส บอกกับฝ่ายไทยว่า ท่านทรงชอบพอในตัวเรียมและอยากจะอภิเษกสมรสด้วย....

เมื่อทราบเรื่อง ผู้ใหญ่ฝ่ายเรียม ไม่ได้เรียกร้องเรื่องสินสอดทองหมั้น โดยนายสุมิตร ผู้พ่อขอเพียงให้เลี้ยงดูลูกของตนให้ดี "ผมไม่ได้เลี้ยงลูกไว้เพื่อขาย" นายสุมิตร ได้พูดออกไปเช่นนั้น 

ภาพจาก เงาหลังภาพ ของ ลาวัณย์  โชตามระ
ภาพจาก เงาหลังภาพ ของ ลาวัณย์ โชตามระ

...

- แหวนเพชร 10 กะรัต เงิน 1 หมื่นบาท หมั้นที่บ้านพัก - 

จากนั้นเป็นต้นมา รายาแห่งเปอร์ลิส จึงได้ให้นายซินเปอร์ลิศ เลขานุการคนสนิทนำของหมั้นบินมาทำพิธีที่กรุงเทพฯ โดยญาติผู้ใหญ่ทั้งสองฝ่ายได้ประกอบพิธีหมั้นในวันอาทิตย์ที่ 28 พฤษภาคม 2495 เวลา 16.00 น. โดยท่านจุฬาราชมนตรี (ต่วน สุวรรณศาสตร์) ได้นำของหมั้นอันประกอบด้วย แหวนเพชร 10 กะรัต และเงิน 1 หมื่นบาท มาหมั้นที่บ้านพักของเรียม

เรียม เพศยนาวิน อดีตนางสาวไทย วัย 29 จึงเข้าสู่พิธีเสกสมรสกับ เอช.เอช. ซุดพัตรา ชามา ลุลลาอิล รายาแห่งรัฐเปอร์ลิศ ที่บ้านนายจิ๋ว สิงห์สุมาลี ย่านถนนตก เมื่อ 18 กรกฎาคม 2494 เมื่อเวลา 17.00 น. พิธีเริ่มขึ้นโดยมีท่านรายากับที่ปรึกษาฝ่ายศาสนา และเลขานุการกับผู้ช่วย ผู้ติดตามซึ่งเป็นบุคคลสำคัญรวม 6 ท่าน ทางฝ่ายเจ้าสาวมีท่านจุฬาราชมนตรีเป็นประธาน นายเจ๊ะ อับดุลลา หวังปูเต๊ะ ส.ส.อิหม่าม พร้อมด้วยพ่อค้าคหบดีอีก 50 คน เมื่อได้ฤกษ์แล้ว บิดาฝ่ายเจ้าสาวได้มอบหมายให้จุฬาราชมนตรีทำพิธีทางศาสนา ซึ่งมีนายสุรินทร์ นิภารัตน์ และอิหม่ามมัสยิดโรงภาษีเป็นสักขีพยาน ตลอดเวลาที่ทำพิธีนี้เจ้าสาวห้ามปรากฏตัวออกมา

- "รานี" หรือภรรยาคนที่สอง -

ต่อจากนั้นพระเจ้าย่า ประทานของรับขวัญด้วยสายสร้อยทองคำ พระมรดกตกทอดมาหลายชั่วกษัตริย์ พระเจ้าแม่ประทานกำไลทองคำสลักลวดลายเป็นพระมรดกของเก่าเช่นเดียวกัน ขณะนั้นชาวเมืองมาล้อมรอบที่ประทับเพื่อชมโฉม ทุกคนพากันยินดีที่รายาได้รานีที่งามจนคาดไม่ถึง ซึ่งก่อนสมรสกับนางสาวไทย รายาแห่งรัฐเปอร์ลิส มีมเหสีชาวมาเลเซียอยู่แล้ว มีโอรสธิดา 8 องค์ หลังแต่งงาน เรียมจึงมีตำแหน่งเป็น "รานี" หรือภรรยาคนที่สอง

"ตามหลักศาสนาอิสลาม รายา สามารถมีภรรยาได้ถึง 4 องค์ แต่รายาซุดพัตรานั้น หลังจากเสกสมรสกับเรียมแล้ว ก็มิได้มีชายาอื่นใดอีกเลย ทรงมีพระทัยรักใคร่ผูกพันในรานีของพระองค์ตลอดมา ทั้งมีพระทัยเยือกเย็น แจ่มใส และน้ำพระทัยดีเป็นแม่น้ำ"

...

ภาพจากลายน้ำ
ภาพจากลายน้ำ

- เชปูวันมาเรียม บินตีอับดุลละห์ "รานี" อันเป็นที่รักคนสุดท้าย - 

ประวัติศาสตร์บันทึกว่า หลังจากได้เสกสมรสกับรายาแล้ว "มาเรียม" ได้รับความผาสุกอย่างเต็มที่ และเมื่อตั้งครรภ์ครบกำหนดคลอด เธอก็ได้เดินทางไปยังโรงพยาบาลนครหลวงอลอสตาร์ ครั้นเมื่อตี 3 วันที่ 18 เมษายน 2495 รานีเรียมได้คลอดทารกออกมาเป็นเพศชาย น้ำหนักตัว 5 ปอนด์กว่า มหารายา ได้โทรเลขแจ้งข่าวให้ญาติทั้งสองฝ่าย เมื่อคลอดแล้ว ทางรัฐบาลได้แก้ไขกฎใหม่ระบุว่า ในการประสูติกาลของโอรส มหารายาองค์ใดก็ตาม ให้มีการยิงปืนสลุตเป็นเกียรติยศด้วย

"รานีเรียม" มีโอรสธิดากับรายา 4 องค์ คือ เซด ราชิต, เซด อัศนีย์, เซด บัดรีชา ซึ่งโอรสองค์ที่ 3 นี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชทานชื่อไทยให้ว่า "รังสิกร" ส่วนองค์สุดท้ายเป็นธิดา คือ ชารีฟะ เมลานี (คำว่า "เซด" ในภาษามาเลย์หมายถึง เจ้าชาย "ชารีฟะ" หมายถึง เจ้าหญิง) โอรสทั้ง 3 ของเรียมทำธุรกิจส่วนตัวทั้งหมด คงเหลือแต่ธิดาองค์สุดท้องที่ไปศึกษาอยู่ประเทศอังกฤษ

- ชีวิตมีความสุข สบายทั้งกายและใจ -

รายาซุดพัตราได้รับแต่งตั้งเป็นสมเด็จพระราชาธิบดียังดีเปอตวนอากงองค์ที่ 3 ของมาเลเซีย เมื่อปี 2503 และครบเทอมเมื่อปี 2508 จึงได้กลับมาดำรงพระยศรายาแห่งเปอร์ลิศ ชีวิตของรานีเรียม ทรงพำนักอยู่ที่พระราชวังอิสตาน่า ซาฮาย่า ที่รัฐเปอร์ลิศ บางครั้งก็จะเดินทางไปพักผ่อนเยี่ยมเยียนลูกที่อังกฤษ ซึ่งท่านรายามีบ้านพักอยู่ที่นั่น เธอจะกลับมาเมืองไทยปีละ 3 ครั้ง พร้อมด้วยลูกๆ และไม่บ่อยนักที่พี่น้องชาวไทยก็จะเดินทางไปเยี่ยมเยียนเธอที่เปอร์ลิศ แต่รานีเรียม สอนให้ลูกๆ ทุกคนพูดภาษาไทยได้ และมีความใกล้ชิดกับญาติทางเมืองไทยเป็นอย่างดี

- สิ้นอายุขัย ด้วยโรคหัวใจวายเฉียบพลัน - 

เรียม เพศยนาวิน หรือ "รานีซุดพัตรา ชามาลุลลาอิล ตวนมาเรียม" ถึงแก่อนิจกรรมอย่างกะทันหันด้วยโรคหัวใจวายเฉียบพลัน เมื่อเวลาประมาณ 9 นาฬิกาเศษของวันที่ 29 กันยายน 2529 ขณะอายุ 64 ปี ร่างของเธอถูกฝังอยู่ ณ สุสานหลวงประจำตระกูลของสุลต่านรัฐเปอร์ลิศ ม่านชีวิตของเธอปิดฉากลงแล้ว และนี่เป็นตำนานเพียงเสี้ยวหนึ่งซึ่งคนรุ่นหลังจะได้รับรู้ เป็นตำนานเทพนิยายของหญิงสาวสวยชาวไทยผู้ก้าวสู่ตำแหน่งรานีแห่งรัฐเปอร์ลิศ เริ่มต้นและปิดฉากสุดท้ายลงอย่างแสนสุข.

ภาพจากอินเทอร์เน็ต
ภาพจากอินเทอร์เน็ต