หลังจาก กทม.จัดทำโครงการจับจริงปรับจริง รถยนต์ รถจักรยานยนต์ จอดหรือขับขี่บนทางเท้า โดยกำหนดจุดกวดขันทั่วพื้นที่กรุงเทพฯ 233 จุด ตั้งแต่วันที่ 9 ก.ค.ที่ผ่านมา จนขณะนี้ (ข้อมูล ณ วันที่ 26 ธ.ค.2561) มีการจับกุมผู้กระทำความผิดแล้ว 12,197 ราย ว่ากล่าวตักเตือน 3,675 ราย ปรับ 8,222 ราย อยู่ระหว่างสืบสวน ติดตาม หรือตรวจสอบข้อมูลเจ้าของรถที่กระทำผิดจำนวน 334 ราย รวมค่าปรับที่ได้ปรับแล้ว 5,025,000 บาท
ทั้งนี้ มีรายงานว่าพื้นที่ที่มีผู้ฝ่าฝืนกระทำความผิดจำนวนมาก เช่น พื้นที่เขตจตุจักร เขตวังทองหลาง รายงานพิเศษ ได้ไปพูดคุยกับผู้อำนวยการเขตทั้ง 2 เขต ถึงมาตรการการป้องปราม หรือกวดขันไม่ให้มีผู้ฝ่าฝืนขับรถบนทางเท้า
โกมินทร์ ชินบุตร ผอ.เขตวังทองหลาง ระบุว่า ถนนที่มีผู้ฝ่าฝืนขี่บนทางเท้าจำนวนมากในพื้นที่เขตวังทองหลาง เช่น ที่ถนนลาดพร้าว มักอ้างว่าจุดกลับรถไกล การก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีเหลืองทำให้รถติดจึงขี่ขึ้นบนทางเท้าเพื่อหนีรถติด เขตจึงจัดเจ้าหน้าที่กวดขันในจุดที่มีผู้ฝ่าฝืนจำนวนมากมาโดยตลอด ล่าสุดได้เพิ่มจุดกวดขันจาก2 จุด เป็น 4 จุด และจัดทีมออกตระเวนตรวจดูทางเท้านอกเหนือจาก 4 จุด หากพบผู้ฝ่าฝืนก็จะดำเนินการตามกฎหมายทันที
ผอ.เขตวังทองหลางบอกอีกว่า หลังจากเพิ่มการประชาสัมพันธ์อย่างเข้มข้น เพิ่มค่าปรับขั้นต่ำเป็น 1,000 บาท รวมถึงผู้ใช้โซเชียลมีเดียร่วมเป็นหูเป็นตา ปรากฏว่าสถานการณ์เริ่มดีขึ้น แต่ยังมีบางกลุ่มที่ยังแอบขี่บนทางเท้า แต่เมื่อเห็นเจ้าหน้าที่ก็จะดับเครื่องยนต์และเข็นรถแทน ซึ่งเจ้าหน้าที่ไม่สามารถเอาผิดได้ อย่างไรก็ตาม เขตพยายามกวดขันเรื่องการขับขี่บนทางเท้าอย่างต่อเนื่อง เชื่อว่าหลังจากนี้จะมีผู้กระทำผิดน้อยลง และคนที่สัญจรบนทางเดินเท้าสามารถใช้ทางเท้าได้อย่างสะดวกและปลอดภัย
อาฤทธิ์ ศรีทอง ผอ.เขตจตุจักร ให้ข้อมูลว่า พื้นที่เขตจตุจักรกำหนดจุดกวดขันผู้ฝ่าฝืนขับ-จอดรถบนทางเท้า 2-3 จุด และได้จัดทีมออกตระเวนตรวจตามถนนอื่นๆด้วย โดยกวดขันผู้ฝ่าฝืนกระทำความผิดอย่างเข้มข้น อีกทั้งเพิ่มอัตราค่าปรับขั้นต่ำจาก 500 เป็น 1,000 บาท เพิ่มความถี่การตระเวนตามจุดที่ได้รับการร้องเรียนจำนวนมาก แม้ว่ากำลังเจ้าหน้าที่จะมีไม่เพียงพอและยอมรับว่าอาจดูแลไม่ทั่วถึง แต่เขตไม่ได้ปล่อยปละละเลย พยายามดูแลให้ทั่วถึงมากที่สุด โดยเฉพาะจุดที่มีการฝ่าฝืนจำนวนมาก เช่น หน้าโรงเรียนหอวัง, บริเวณแยกรัชดา-ลาดพร้าว, บริเวณสถานีรถไฟฟ้าสถานีหมอชิต
...
อย่างไรก็ตาม ถึงเขตจะลงพื้นที่กวดขันอย่างเข้มข้นรวมถึงประชาสัมพันธ์เรื่องทางเดินเท้ามาโดยตลอด แต่พบว่าผู้กระทำความผิดยังคงทำผิดอยู่ และไม่เห็นว่าจะมีแนวโน้มลดลง เพราะความมักง่าย เอาความสะดวกสบายของตัวเองเป็นที่ตั้งจนไม่เคารพกฎหมาย ไม่เคารพสิทธิผู้อื่น ในส่วนนี้ ผู้บริหาร กทม.มีความห่วงใย ความปลอดภัยผู้ใช้ทางเท้า และได้มอบนโยบายนอกเหนือจากการกวดขันตามกฎหมายแล้ว ให้เร่งทำการประชาสัมพันธ์มากขึ้น เพื่อหวังสร้างจิตสำนึกให้ประชาชนเคารพสิทธิผู้อื่นจะได้ไม่กระทำผิด.