“เกาะเซนติเนลเหนือ” เกาะชื่อดังที่ผู้คนในเกาะปกป้องตัวเองจากโลกภายนอกโดยสิ้นเชิง ซึ่งตลอดระยะเวลาหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา เรื่องราวทุกอย่างเกี่ยวข้องกับเกาะแห่งนี้เท่าที่พอจะปรากฏเป็นเอกสาร หรือเป็นคำบอกเล่าจากบุคคลที่เชื่อถือได้ ถูกนำมาตีแผ่อย่างละเอียดแทบทุกซอกทุกมุม จนเกาะที่เร้นตัวจากโลกโลกาภิวัฒน์มาแสนนาน กลายเป็นเกาะอันโด่งดังที่ผู้คนทั่วโลกจับตามากที่สุด ณ เวลานี้...

ทีมข่าวเจาะประเด็น พูดคุยกับ ดร.อุเทน วงศ์สถิตย์ หัวหน้าภาควิชาภาษาตะวันออก คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร เกี่ยวกับเกาะแห่งนี้อีกครั้ง แต่ลงลึกถึงเรื่องราวแปลกใหม่ที่ว่า “เคยมีคนนำสิ่งของไปให้ชาวเซนติเนลได้สำเร็จมาแล้ว”

...

ดร.อุเทน วงศ์สถิตย์ หัวหน้าภาควิชาภาษาตะวันออก คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร
ดร.อุเทน วงศ์สถิตย์ หัวหน้าภาควิชาภาษาตะวันออก คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร

นายที เอ็น พันดิท (T.N. Pandit) นักมานุษยวิทยาชาวแคชเมียร์วัย 84 ปี ซึ่งดำรงตำแหน่งระดับสูงของกระทรวงที่รับผิดชอบดูแลกลุ่มคนพื้นเมืองของอินเดีย ได้ออกมาให้สัมภาษณ์กับสื่อหลายแห่งว่า ย้อนกลับไปในปี 1991 (พ.ศ.2534) ก่อนที่ทางการอินเดียจะประกาศให้พื้นที่โดยรอบเกาะแห่งนี้ 3 ไมล์ทะเล (5.5 กิโลเมตร) เป็นพื้นที่หวงห้าม เขาเคยเดินทางไปที่เกาะเซนติเนลเหนือ

“โดยนักมานุษยวิทยาท่านนี้ เป็นนักวิชาการคนเดียว ที่เขียนหนังสือเกี่ยวกับเกาะเซนติเนลเหนือ ซึ่งข้อมูลทุกอย่างนั้นมาจากการคาดการณ์จากภาพที่เขาเคยเห็นทั้งสิ้น”

นายที เอ็น พันดิท(T.N. Pandit) นักมานุษยวิทยาชาวแคชเมียร์วัย 84 ปี ขอบคุณภาพจาก NDTV
นายที เอ็น พันดิท(T.N. Pandit) นักมานุษยวิทยาชาวแคชเมียร์วัย 84 ปี ขอบคุณภาพจาก NDTV
นายที เอ็น พันดิท พบชาวเซนติเนล
นายที เอ็น พันดิท พบชาวเซนติเนล

...


“นอกจากนี้ นายที เอ็น พันดิท ยังนำสิ่งของต่างๆ ไปให้ชาวเซนติเนลอีกหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็น หม้อ, กระทะ, มีด และมะพร้าว โดยที่ตัวนักมานุษยวิทยาคนนี้และทีมงานไม่ได้เหยียบย่างขึ้นไปบนแผ่นดิน แต่ยืนแช่น้ำทะเลสูงระดับคอ พร้อมกับยื่นสิ่งของต่างๆ ให้กับชาวเซนติเนล”

ทำไมถึงเกิดภาพเหตุการณ์เช่นนี้ได้ ทั้งๆ ที่ชาวเซนติเนลพร้อมที่จะฆ่าทุกคนที่เดินทางไปยังเกาะแห่งนี้? ผู้สื่อข่าวซักถาม ดร.อุเทน ในฐานะที่เขาศึกษาและติดตามชีวิตของผู้คนในอินเดียมานานหลายสิบปี

“นายที เอ็น พันดิท ได้เล่าเหตุการณ์ในครั้งนั้นไว้ว่า ชาวเซนติเนล คอยสังเกตการณ์อย่างระมัดระวัง และมีท่าทีไม่พอใจ เพราะพวกเขาหยิบธนูและลูกศร เตรียมพร้อมจะยิงตลอดเวลานะครับ”

นายที เอ็น พันดิท พบชาวเซนติเนล
นายที เอ็น พันดิท พบชาวเซนติเนล

...

“เพราะฉะนั้น ผมมองว่าในการเดินทางไปเยือนเกาะเซนติเนลเหนือของนักมานุษยวิทยาท่านนี้ เขาพาชาย 3 คน ที่มาจากชนเผ่าอองเก (Onge) ซึ่งอาศัยอยู่ในหมู่เกาะอันดามัน (ไม่ไกลจากเกาะเซนติเนลเหนือ) ร่วมเดินทางไปด้วย และคอยแปลภาษาที่ชาวเซนติเนลใช้ให้ทีมงานฟัง”

“แต่ภาษาที่ชาวเซนติเนลใช้ก็ไม่ใช่ภาษาเดียวกันกับชายจากชนเผ่าอองเก แต่ก็ถือว่าเป็นภาษาที่มีลักษณะใกล้เคียงกับภาษาของชนพื้นเมืองในแถบนั้น”

“ขณะที่การเดินทางไปยังเกาะเซนติเนลในครั้งนี้ มีการกล่าวอ้างว่า ทางทีมงานได้ใช้วิธีการสื่อสารพื้นฐานของมนุษย์ นั่นก็คือ วาดรูป โดยทีมงานได้วาดรูปลูกมะพร้าว ซึ่งเป็นสิ่งที่วิเคราะห์กันมาแล้วว่า เป็นสิ่งที่ชาวเกาะต้องรู้จักอย่างแน่นอน แต่ก็โดนชาวเซนติเนลพุ่งหอกใส่อย่างไม่ไยดี” ดร.อุเทน บอกเล่าตามเอกสารวิชาการที่ปรากฏอยู่

นายที เอ็น พันดิท พบชาวเซนติเนล
นายที เอ็น พันดิท พบชาวเซนติเนล

...

ดร.อุเทน บอกเล่าถึงชนเผ่ากลุ่มหนึ่งที่มีความคล้ายคลึงกับชาวเซนติเนลอยู่บ้างบางประการ “อย่างไรก็ตาม ในหมู่เกาะอันดามัน มีชาวเผ่าต่างๆ อยู่ 5 กลุ่มชาติพันธุ์ที่อาศัยอยู่ในละแวกนั้น โดยมีชนเผ่าอยู่กลุ่มหนึ่งที่ใช้ภาษาใกล้เคียงกับชาวเซนติเนลมากที่สุด ชื่อกลุ่มว่า Jarawas (คนไทยอ่าน จารวา คนอินเดียอ่าน ชาวารา) ที่แยกตัวอย่างโดดเดี่ยว และดำรงชีพด้วยการล่าสัตว์หาของป่า แต่ในปี 1998 รัฐบาลมีแผนให้ชาวเกาะติดต่อกับโลกภายนอก (ก่อนหน้านี้มีความพยายามติดต่อชาวจารวานานนับสิบปี) และนี่จึงเป็นครั้งแรกที่สมาชิกจากชนเผ่านี้ได้ติดต่อกับผู้คน”

“แม้รัฐบาลอินเดียจะกำหนดเขตพื้นที่สงวนสำหรับชาวจารวา แต่สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาก็คือ วิถีชีวิตของพวกเขากลายเป็นส่วนหนึ่งของการท่องเที่ยว มิหนำซ้ำ ยังมีผู้คนจำนวนมากมาสร้างที่อยู่อาศัยบริเวณพื้นที่โดยรอบของชนเผ่า”

“ปัจจุบัน จำนวนประชากรชาวจารวาเหลืออยู่น้อยมาก (หลักร้อย) และเสี่ยงที่จะสูญพันธุ์เป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากที่ผ่านมา กลุ่มคนเหล่านี้เขาโดดเดี่ยวตัวเองเป็นเวลานาน เขาจึงไม่คุ้นเคยกับเชื้อโรคที่มาจากบุคคลภายนอก เพราะฉะนั้นแค่ติดเชื้อหวัดธรรมดาๆ ก็ทำให้เสียชีวิตได้แล้ว”

“ด้วยเหตุนี้ นายที เอ็น พันดิท นักมานุษยวิทยาที่เคยมอบสิ่งของให้ชาวเซนติเนล จึงตระหนักถึงเรื่องนี้เป็นอย่างดี และให้ความสำคัญกับทีมงานที่ร่วมเดินทางไปยังเกาะเซนติเนลเหนือเป็นอย่างมาก ฉะนั้น ทุกคนที่ร่วมเดินทางไปยังเกาะแห่งนี้ จะต้องมีร่างกายที่แข็งแรง และได้รับการตรวจสุขภาพอย่างละเอียดทุกคน เพราะถ้าคนใดคนหนึ่งนำเชื้อโรคไปติดชาวเซนติเนล อาจทำให้ติดเชื้อ จนสูญพันธุ์กันไปทั้งเผ่าพันธุ์ก็เป็นได้

อย่างไรก็ตาม การเดินทางไปยังเกาะเซนติเนลของนายที เอ็น พันดิท (T.N. Pandit) และทีมงานไม่เกิดขึ้นอีก เนื่องจากทางการอินเดียมีความพยายามที่จะคุ้มครองชาวเซนติเนลจากความเสี่ยงของโรคติดต่อจากโลกภายนอก ซึ่งอาจส่งผลให้ชนพื้นเมืองที่ไม่ได้ติดต่อโลกภายนอกมาอย่างยาวนานเกิดการสูญพันธุ์ก็เป็นได้

ส่วนเหตุการณ์ที่ผู้บัญชาการกองกำลังรักษาชายฝั่งอินเดีย เคยเข้าไปกู้ศพชาวประมง 1 ใน 2 รายที่ไปทิ้งชีวิตไว้ที่เกาะเซนติเนลเหนือนั้น ดร.อุเทน กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า เรื่องนี้เป็นความจริงที่เกิดขึ้นเมื่อปี 2549 (12 ปีก่อน) ทางการอินเดียเคยขึ้นไปบนเกาะเซนติเนลเหนือ หลังจากได้รับแจ้งเหตุว่า ชาวประมง 2 คนหายตัวไป ทางการจึงนำกำลังขึ้นเฮลิคอปเตอร์ออกตามหาจนทั่ว สุดท้ายพบว่าเรือของชาวประมง 2 คนที่หายไปจอดอยู่บริเวณชายฝั่งของเกาะเซนติเนลเหนือ โดยมีกองดิน 2 กองอยู่ไม่ไกลออกไปจากเรือลำดังกล่าว ซึ่งคาดว่าเป็นจุดที่ชาวเซนติเนลฝังศพชาวประมง


“ทันทีที่เฮลิคอปเตอร์เข้าใกล้เกาะเซนติเนลเหนือ ฝูงห่าของลูกธนูและหน้าไม้ก็พุ่งเข้าไปที่เฮลิคอปเตอร์ทันที โดยมีชาวเซนติเนลที่คาดว่าเป็นนักรบราวๆ 50 คนตั้งท่าต่อสู้อยู่บริเวณชายหาด”

“ทีมกู้ศพวางแผนให้เฮลิคอปเตอร์บินออกไปให้ไกลจากจุดฝังศพ เพื่อหลอกล่อให้นักรบกลุ่มนี้วิ่งตาม และให้อีกทีมขึ้นไปบนฝั่งเพื่อขุดศพออกมา แผนนี้สามารถขุดศพออกมาได้แค่ 1 ศพ เพราะชาวเซนติเนลไหวตัวทัน วิ่งกลับมายังหลุมฝังศพ พร้อมยิงธนูเข้ามาที่ทีมงานขุดศพอย่างไม่ไยดี แต่โชคดีที่ทุกคนปลอดภัย”

“ทีมกู้ศพพยายามใช้แผนเดิมอีกครั้ง แต่นักรบเซนติเนลไม่ยอมพลาดซ้ำสอง พวกเขาไม่ยอมหลงกล อีกทั้งยังแบ่งกองกำลังออกเป็นสองชุด ชุดหนึ่งไล่ตามเฮลิคอปเตอร์ ส่วนอีกชุดหนึ่งเฝ้าอยู่ที่จุดฝังศพ สถานการณ์ครั้งนี้ตึงเครียดมาก จนในที่สุดภารกิจนี้ต้องล้มเลิกไป และได้ศพชาวประมงกลับคืนครอบครัวเพียง 1 ศพเท่านั้น ดร.อุเทน ให้รายละเอียดเหตุการณ์เมื่อ 12 ปีก่อน.

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง