กุ้งแม่น้ำเผา เมนูยอดฮิตติดอันดับ Top Chart ของคนไทยในเวลานี้ ไม่ว่าจะขึ้นเหนือ ล่องใต้ ไม่ใครก็ใครต้องสั่งสักจานมารับประทานให้อิ่มหนำ จึงทำให้เราเห็นดราม่าเรื่องราคากุ้งแม่น้ำเผาแพงหูดับผลุบโผล่ในโซเชียลให้เห็นอยู่บ่อยครั้ง ทีมข่าวเจาะประเด็น เห็นว่าเป็นเรื่องเล็ก แต่มีประโยชน์ที่น่าสนใจ จึงไต่ถามมาให้ เพื่อคลายสงสัยโดยทั่วกัน...

หากุ้งแม่น้ำ เจอได้ 2 แหล่ง!

อาจารย์สรณัฏฐ์ ศิริสวย หัวหน้าภาควิชาเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ให้ความรู้กับทีมข่าวเจาะประเด็นว่า กุ้งแม่น้ำ หรือเรียกอีกชื่อว่า กุ้งก้ามกราม มีแหล่งที่มาอยู่ 2 แหล่ง คือ 1. การเพาะเลี้ยง และ 2. จับมาจากแม่น้ำ

“กุ้งแม่น้ำ เป็นกุ้งธรรมชาติ สามารถจับได้ในแม่น้ำเจ้าพระยา, แม่น้ำบางปะกง และแม่น้ำแม่กลอง ซึ่งปัจจุบันมีราคาค่อนข้างแพงมาก แม้ว่ากรมประมงจะมีการปล่อยลูกพันธุ์เพิ่มขึ้นต่อเนื่องทุกปี แต่ปริมาณกุ้งธรรมชาติในแม่น้ำก็ยังมีจำนวนน้อยลงทุกขณะ เนื่องจากอัตราการบริโภคกุ้งแม่น้ำค่อนข้างมาก”

...

“ส่วนกุ้งเลี้ยง ตัวจะใหญ่ไม่เท่ากับกุ้งแม่น้ำ จึงทำให้มีราคาลดลงมาเล็กน้อย แต่ก็ไม่ได้ถือว่าราคาถูก มิหนำซ้ำยังอยู่ในระดับราคาที่สูงอยู่”

ในขณะที่ การเพาะเลี้ยงกุ้งแม่น้ำนั้น จะใช้เวลาในการเลี้ยงอยู่ที่ราวๆ 4-5 เดือน จากนั้น เกษตรกรก็จะทยอยจับกุ้งที่มีขนาดใหญ่ที่สุดทุกๆ 1 เดือน จนกว่ากุ้งจะหมดบ่อ


กุ้ง 1 ตัววางไข่ได้ทีละล้านใบ แต่ทำไมกุ้งเผา จึงมีราคาแพง?

ในช่วงที่ผ่านมีคนตั้งข้อสงสัยที่น่าสนใจว่า วัว 1 ตัวใช้เวลาตั้งท้อง 9 เดือน ออกลูก 1 ตัว
หมู 1 ตัว ใช้เวลาตั้งท้องเกือบ 4 เดือน ออกลูกมาทีละ 8-10 ตัว
ไก่ 1 ตัว สามารถวางไข่ได้ปีละ 200-350 ใบ
แต่กุ้ง 1 ตัววางไข่ได้ทีละ 50,000-1,000,000 ใบ แต่ทำไมกุ้ง จึงมีราคาแพง?

อาจารย์สรณัฏฐ์ ตอบในทันทีว่า กุ้งมันรอดน้อยครับ แต่สัตว์ประเภทอื่นที่ออกลูกมาจำนวนน้อยๆ จะสามารถดูแลลูกอ่อนได้ง่าย จึงทำให้มีโอกาสรอดสูง แต่สำหรับกุ้ง เขาจะไม่ได้เลี้ยงลูก และปล่อยไข่ไปตามกระแสน้ำ ไข่จึงโดนสัตว์อื่นกิน ฉะนั้น โอกาสที่เขาจะโตขึ้นมาเป็นตัวใหญ่ๆ จึงมีไม่มาก หากเทียบอัตรารอดของกุ้งแม่น้ำเป็นเปอร์เซ็นต์ก็จะอยู่ที่ 1% เท่านั้น

...


หากเป็นกุ้งเพาะเลี้ยง โอกาสรอดจะมีมากกว่ากุ้งในแหล่งน้ำธรรมชาติ แต่ก็ไม่ได้ถือว่าเหลือรอดเยอะอยู่ดี เพราะเวลากุ้งมันลอกคราบ มันก็จะเริ่มกินกันเอง ตัวที่ไม่ได้ลอกคราบก็อาจจะมากินตัวที่ลอกคราบ ซึ่งพฤติกรรมเช่นนี้ของกุ้ง ทำให้ปริมาณกุ้งเหลือรอดน้อยมาก และเมื่อเจอเข้ากับความต้องการของคนที่มีจำนวนมาก จึงเป็นที่มาให้กุ้งแม่น้ำมีราคาแพง

กุ้งแม่น้ำเลี้ยง VS กุ้งแม่น้ำธรรมชาติ ต่างกันอย่างไร?

ผู้สื่อข่าว ถามอาจารย์สรณัฏฐ์ อีกว่า กุ้งแม่น้ำเลี้ยง และกุ้งแม่น้ำธรรมชาติ มีรสชาติแตกต่างกันหรือไม่?
อาจารย์สรณัฏฐ์ ให้คำตอบว่า “รสชาติจะต่างกัน ซึ่งกุ้งแม่น้ำที่จับจากแหล่งน้ำธรรมชาติ จะมีรสชาติอร่อยกว่า ตัวใหญ่กว่า หากคุณได้นำกุ้งแม่น้ำเลี้ยง และกุ้งแม่น้ำธรรมชาติมาชิมพร้อมๆ กัน คุณก็จะรู้ได้ทันทีเลยว่า รสสัมผัสต่างกัน มันกุ้งส่วนหัวของกุ้งธรรมชาติจะมีปริมาณมากกว่า”

...


กุ้งแม่น้ำที่มาจากการเพาะเลี้ยง จะเรียกว่ากุ้งแม่น้ำได้ด้วยหรือ? ผู้สื่อข่าว ซักนักวิชาการด้วยความงุนงงเล็กน้อย
“กุ้งแม่น้ำที่มาจากการเพาะเลี้ยง เขาจะเรียกว่ากุ้งก้ามกราม บางทีชาวบ้านก็จะเอามาเรียกว่า กุ้งแม่น้ำๆ แต่ถ้าอยากจะเรียกว่า กุ้งแม่น้ำ ก็ได้ แต่ความจริงแล้วมันก็คือ กุ้งก้ามกรามที่เลี้ยงอะครับ”.

อ่านข่าวเพิ่มเติม