รองโฆษก บก.ปอท.ระบุว่า คลิปเพลงแร็ป "ประเทศกูมี" พบเนื้อหาค่อนข้างให้ร้ายประเทศไทย น่าจะเข้าข่ายความผิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ หากมีคนร้องทุกข์ก็ต้องเชิญกลุ่มศิลปินกลุ่มนี้มาให้ข้อมูล...
เมื่อเวลา 13.00 น. วันที่ 26 ต.ค. พ.ต.อ.ศิริวัฒน์ ดีพอ ผกก.กก.3 บก.ปอท. ในฐานะรองโฆษก บก.ปอท. เปิดเผยถึง กรณีมีการแพร่คลิปเพลงแร็ป "ประเทศกูมี" ในโลกโซเชียล ว่า พ.ต.อ.ไพบูลย์ น้อยหุ่น รรท.ผบก.ปอท. ได้สั่งการให้ฝ่ายสอบสวนประชุมพิจารณาว่าเข้าข่ายข้อกฎหมายใด และให้ฝ่ายสืบสวนตรวจสอบว่าผู้ปรากฏในคลิปเป็นใคร เพราะว่าเนื้อหาค่อนข้างให้ร้ายประเทศไทย ทำให้ประเทศเสียหายอยู่หลายเรื่อง เบื้องต้นจากการตรวจสอบน่าจะเข้าข่ายความผิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 14(2) "ผู้ใดนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายต่อความมั่นคงของประเทศ หรือก่อให้เกิดความตื่นตระหนกแก่ประชาชน"
"ส่วนที่กลุ่มศิลปินหรือผู้ที่เกี่ยวข้องชี้แจงว่า เนื้อหาของเพลงเป็นสิ่งที่มีอยู่แล้ว ไม่ได้พาดพิงถึงบุคคลใดนั้น ก็เป็นสิทธิของเขาที่จะให้การ แต่เจ้าหน้าที่ก็ต้องรวบรวมพยานหลักฐานว่าผิดหรือไม่ หากพิจารณาแล้วเข้าความผิดตามมาตรา 14(2) และมีบุคคลที่ได้รับความเสียหายเข้ามาร้องทุกข์กล่าวโทษ และจะต้องเชิญกลุ่มศิลปินที่อยู่ในคลิปเข้ามาให้ข้อมูลเพิ่มเติมประกอบการพิจารณา ส่วนกรอบระยะเวลาดำเนินการเรื่องนี้จะดำเนินการอย่างเร็วที่สุด เพราะความหมายในเนื้อเพลงอาจกระทบกระเทือนกับเศรษฐกิจ อาจทำให้นักลงทุนขาดความเชื่อมั่น" พ.ต.อ.ศิริวัฒน์ กล่าว
รอง โฆษก บก.ปอท. เผยอีกว่า ส่วนภาพที่ปรากฏในมิวสิกวิดีโอบางส่วนคล้ายกับเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ในอดีตที่มีการจำลองหุ่นแขวนอยู่บนต้นไม้ และมีกลุ่มคนคอยเชียร์ให้ชายในคลิปนำเก้าอี้ฟาดหุ่นเป็นการเข้าข่ายเรื่องการก่อความรุนแรงหรือไม่นั้น ไม่สามารถระบุได้ แต่จากภาพรวม อาจเข้าข่ายความผิดในพ.ร.บ.คอมฯ
...
รายงานข่าวแจ้งว่า มิวสิกวิดีโอเพลงดังกล่าวเผยแพร่เมื่อวันที่ 22 ต.ค.ที่ผ่านมา มียอดวิวเกือบ 1 ล้านครั้ง และมีผู้แสดงความคิดเห็นจำนวนมาก โดยหนึ่งในนั้นมีบัญชีผู้ใช้ที่ใช้ชื่อว่า “พรรคอนาคตใหม่” ได้เข้ามาแสดงความคิดเห็นว่า “ขอคารวะในจิตวิญญาณนักสู้....”
ผู้สื่อข่าวได้พยายามสอบถาม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ถึงกรณีการเผยแพร่วิดีโอเพลงแร็ป “ประเทศกูมี” โดยนายกฯ ไม่ได้ตอบคำถามเพียงแต่ส่ายหน้า.