อธิบดี สถ.ชี้โรงไฟฟ้าพลังงานขยะ เป็นตัวช่วยสำคัญจัดการขยะปลายทางอย่างมีประสิทธิภาพและได้ประโยชน์สูงสุด ช่วยประหยัดงบฯจัดเก็บขยะปีละ 1.8 หมื่นล้านบาท วอน ก.พลังงาน เปิดกว้างนโยบายให้ไฟฟ้าจากขยะเข้าสู่สายส่งได้อย่างยั่งยืน

วานนี้ (2 ต.ค.) นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ร่วมเสวนาพิเศษหัวข้อ "โรงไฟฟ้าพลังงานขยะ : ทางเลือกการจัดการขยะมูลฝอยที่สอดคล้องกับบริบทสังคมไทย" ในโครงการอบรมหลักสูตรด้านวิทยาการพลังงานสำหรับนักบริหารรุ่นใหม่ รุ่นที่ 6 ที่จัดโดยสถาบันวิทยาการพลังงาน มีนักบริหารระดับเทียบเท่าข้าราชการพลเรือนระดับ 6 และ 7 จากองค์กรภาครัฐ เอกชน สื่อมวลชน นักวิชาการ และประชาชนเข้าร่วมโครงการฯ เพื่อสื่อสารความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องในเรื่องพลังงาน เสริมสร้างศักยภาพในการวิเคราะห์ผลกระทบของธุรกิจพลังงานที่มีต่อเศรษฐกิจ สังคม ชุมชน วัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม ได้อย่างสร้างสรรค์ในเชิงองค์รวม พร้อมทั้งสร้างเครือข่ายนักบริหารรุ่นใหม่ ในภาคส่วนต่างๆของสังคม เพื่อนำไปสู่การวางนโยบายด้านพลังงาน และการประยุกต์ใช้พลังงานอย่างเหมาะสมและยั่งยืน โดยมีผู้ร่วมเสวนาประกอบไปด้วย คุณนฤภัทร อมรโฆษิต เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน คุณคณพศ นิจสิริภัช ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อีสเทิร์น เอเนอร์จี้ จำกัด และมี ดร.อำพล อาภาธนากร ผู้จัดการโครงการฝ่ายนวัตกรรมเพื่อสังคม สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ เป็นผู้ดำเนินรายการ ณ ห้อง Synergy Hall ศูนย์เอ็นเนอร์ยี่คอมเพล็กซ์ ถนนวิภาวดี-รังสิต กรุงเทพมหานคร

นายสุทธิพงษ์ กล่าวว่า รัฐบาลได้กำหนดให้ปัญหาขยะเป็นวาระแห่งชาติ เนื่องจากการบริหารจัดการขยะของไทยที่ผ่านมา มีปัญหาขยะตกค้างตามชุมชนชนหรือท้องที่ต่างๆ มากมาย และจากการอุปโภคบริโภคของประชาชนในชีวิตประจำวัน ทำให้ขยะเพิ่มขึ้นทุกวัน ดังนั้นรัฐบาลจึงเห็นความสำคัญและมอบหมายให้กระทรวงมหาดไทย โดยกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น เป็นองค์กรหลักในการดำเนินนโยบายในการแก้ไขปัญหาขยะของประเทศ

...

ทั้งนี้โรงไฟฟ้าพลังงานขยะก็เป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการกำจัดขยะ โดยมีเป้าหมาย คือ การกำจัดขยะที่ปลายทางให้มีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุด ส่วนค่าไฟฟ้าที่แต่ละครัวเรือนต้องจ่ายเพิ่มขึ้นหน่วยละไม่กี่สตางค์จากการใช้ไฟฟ้าจากแก๊สถ่านหิน ซึ่งล้วนแล้วแต่มีต้นทุนด้านทำลายสิ่งแวดล้อมนั้น คือค่ากำจัดขยะที่ผู้ใช้ไฟฟ้าทุกคนเป็นผู้ผลิตขึ้น ซึ่งทุกวันนี้เรามักจะเรียกโรงกำจัดขยะที่มีผลพลอยได้เป็นไฟฟ้าผิด ทำให้คนในสังคมบางส่วนเข้าใจผิดว่าเป็นธุรกิจโรงไฟฟ้า เพราะแท้ที่จริงวัตถุประสงค์หลักของเราคือ แก้ไขปัญหาขยะ หรือกำจัดขยะ ไม่ใช่ตั้งโรงงานผลิตไฟฟ้า แต่ไฟฟ้าเป็นผลพลอยได้ จึงอยากให้ผู้เข้ารับการอบรมได้เข้าใจในเป้าหมายที่แท้จริง ของโรงกำจัดขยะเพื่อผลิตไฟฟ้า ที่เป็นการกำจัดขยะปลายทาง แต่สิ่งที่สำคัญก็คือ การจัดการขยะต้นทาง และกลางทางด้วย

อย่างไรก็ตาม ในการจัดเก็บขยะนั้น สิ่งแรกที่ต้องคำนึงถึงก็คือต้นทางของขยะหากมีการจัดการที่เหมาะสม การเก็บขยะก็จะมีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งทุกคนต้องช่วยกัน โดยใช้หลัก 3R หรือ 3 ช ก็คือ Reuse ก็การใช้ให้น้อยลง หรือใช้เฉพาะที่จำเป็น Reduce ใช้ซ้ำ เพื่อลดปริมาณขยะที่เกิดขึ้น และ Recycle ก็คือนำกลับมาใช้ใหม่ ทั้งนี้ก็เพื่อลดปริมาณขยะที่เกิดขึ้น

ปัจจุบันประเทศไทยใช้งบประมาณในการจัดเก็บขยะถึง ปีละประมาณเกือบ 18,000 ล้านบาทต่อปี และไม่มีงบประมาณในการจัดหารถขยะแบบแยกประเภทขยะได้ กระทรวงมหาดไทย จึงรณรงค์ให้มีการคัดแยกขยะเป็น 3 ประเภท คือ 1. ขยะพิษ ให้ชุมชนมีจุดทิ้งขยะพิษ เป็นศูนย์กลางในการทิ้งขยะอันตราย เพื่อส่งต่อไปยังองค์การบริหารส่วนจังหวัดในการดำเนินการส่งไปทำลายอย่างถูกต้อง 2. ให้มีถังขยะประเภททั่วไปตามที่ต่างๆ ในชุมชน หรือครัวเรือน สำหรับทิ้งขยะทั่วไปที่ไม่สามารถย่อยสลายได้ 3. ขยะเปียก ให้แต่ละครัวเรือนแยกทิ้งขยะเปียก หรือขยะที่ย่อยสลายได้ของแต่ละครัวเรือน ในที่ที่เหมาะสมหรือหลังบ้านทำเป็นปุ๋ยหมัก เพื่อใช้ปลูกดอกไม้หรือปลูกพืชผักต่างๆ ซึ่งหากทุกชุมชนสามารถดำเนินการจัดการขยะดังกล่าวข้างต้น ขยะที่ตกค้าง หรือที่จำเป็นต้องมีการจัดเก็บ ก็จะเหลือเฉพาะขยะทั่วไป ที่ได้ทำการแยกไว้แล้วเรียบร้อย การจัดเก็บขยะกลางทางก็ง่ายขึ้น มีประสิทธิภาพ และมีความยั่งยืนยิ่งขึ้น

"กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ได้วิงวอนเรียกร้องให้กระทรวงพลังงานได้มีนโยบายที่เปิดกว้างให้ไฟฟ้าจากขยะเข้าสู่สายส่งให้ได้ทุก 324 Cluster ขยะหรือภูเขาขยะ โดยสามารถแปลงข้อมูลปริมาณขยะเก่าและขยะใหม่เป็นจำนวนกระแสไฟฟ้าได้ ซึ่งกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นได้ส่งตัวเลข และพิกัดที่ตั้งให้กระทรวงพลังงานและ กกพ.พร้อมข้อเสนอไปแล้ว มิเช่นนั้นปัญหาขยะที่เรื้อรังมานานก็จะไม่มีทางสำเร็จได้สมดังเจตนารมณ์ของรัฐบาลที่ประกาศเรื่องขยะเป็นวาระแห่งชาตินั่นเอง" นายสุทธิพงษ์ กล่าว