“อธิบดีอัยการคดียาเสพติด” เผย บุคคลตามภาพหลักฐานอัจฉริยะ น่าเชื่อไม่ใช่อัยการ รอสอบเชิงลึก พร้อมดำเนินคดีกลับ หากสมอ้าง ส่วนคลิปเสียงจ่ายเงิน 5 แสน ยัน ไม่ใช่อัยการคดียาเสพติด แน่


เมื่อวันที่ 2 ต.ค.61 “นางชนิญญา ชัยสุวรรณ” อธิบดีอัยการสำนักงานคดียาเสพติด ได้กล่าวถึงความคืบหน้าการตรวจสอบข้อเท็จจริง กรณีที่นายอัจฉริยะ เรืองรัตนพงศ์ ประธานชมรมช่วยเหลือเหยื่ออาชญากรรม นำหลักฐานภาพถ่ายใบหน้าบุคคลอ้างเป็นอัยการ ร่วมช่วยเหลือคดียาเสพติดอดีตดาราสาว 'เอมี่ อาเมเรีย จาคอป' ที่ศาลจังหวัดมีนบุรี มีคำพิพากษายกฟ้องข้อหามียาเสพติดในครอบครองเพื่อจำหน่าย แต่ลงโทษเฉพาะข้อหาเสพยาไอซ์ ยาเสพติดประเภท 1 เท่านั้น ว่า หลังจากสัปดาห์ที่ผ่านมา (วันที่ 24 ก.ย.) ตนได้รับหลักฐานเอกสารที่นายอัจฉริยะอ้างถึง ตนก็ได้ดูภาพบุคคลเบื้องต้น ไม่ใช่อัยการคณะทำงานคดียาเสพติดที่มี 5 คน ซึ่งรับผิดชอบคดีดังกล่าว แต่บุคคลนั้นจะใช่อัยการหรือไม่ ก็ได้ส่งให้หน่วยงานของสำนักงานอัยการสูงสุดที่ดูแลเกี่ยวกับทะเบียนประวัติอัยการที่ทั่วประเทศมีจำนวนกว่า 3,000 คนแล้ว พร้อมกับสั่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงเรื่องนี้ทั้งหมดตั้งแต่การพิจารณาสำนวน การสืบพยานในชั้นศาล

อย่างไรก็ดี วันนี้นายอัจฉริยะ ก็ได้นำเอกสารมาให้อัยการเพิ่มเติมเกี่ยวกับการตรวจภาพบุคคลด้วย ซึ่งน่าเชื่อได้ว่า บุคคลดังกล่าวไม่ใช่อัยการโดยเราก็รับฟัง และจะดำเนินการตรวจสอบเชิงลึกต่อไป ถ้าเป็นกรณีแอบอ้างก็จะดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป โดยการตรวจสอบข้อเท็จจริงนั้นเรารับฟังข้อมูลทั้งหมดรวมทั้งการสอบสวนข้อเท็จจริงจากฝั่งตำรวจสังกัด บช.น.ด้วย ซึ่งวันนี้ได้ทำความเข้าใจกับนายอัจฉริยะแล้ว โดยการสอบสวนข้อเท็จจริงเรื่องนี้ อัยการพยายามจะดำเนินการให้รอบคอบที่สุด รวดเร็วที่สุด ทั้งนี้ หากมีความชัดเจนอย่างไร ตนก็พร้อมจะแถลงข่าวให้ทราบรายละเอียดข้อเท็จจริงต่อไป

...

เมื่อถามถึงคลิปเสียงที่ปรากฏเป็นข่าวก่อนหน้านี้ ที่บทสนทนาลักษณะเป็นผู้เสียหายหรือคู่ความในคดีกับบุคคลที่ถูกเรียกว่าอัยการและมีการพูดถึงเงิน 500,000 บาท นั้น “นางชนิญญา” อธิบดีอัยการสำนักงานคดียาเสพติด กล่าวว่า ยืนยันว่าคลิปเสียงดังกล่าวไม่เกี่ยวข้องกับอัยการในคดีเอมี่นี้ ส่วนจะเป็นอัยการส่วนใดจริงหรือไม่ เป็นคดีใด ยังไม่มีข้อมูลการตรวจสอบ


เมื่อถามถึงการพิจารณาอุทธรณ์คดีอดีตดาราสาวเอมี่ “นางชนิญญา” อธิบดีอัยการสำนักงานคดียาเสพติด กล่าวว่า การพิจารณาว่า คดีมีประเด็นจะอุทธรณ์หรือไม่ตามขั้นตอนอัยการเจ้าของสำนวนในชั้นต้น ก็จะสรุปความเห็นเสนอสำนักงานอัยการคดีศาลสูง ที่เป็นผู้มีอำนาจพิจารณาชี้ขาด โดยคดีนี้เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา อัยการคดียาเสพติดก็ได้คัดพิพากษาฉบับที่มีรายละเอียดทุกประเด็นมาพิจารณาแล้ว เบื้องต้น อัยการเจ้าของสำนวนมีความเห็นควรอุทธรณ์ในส่วนของเอมี่แล้ว ซึ่งเป็นการพิจารณาตามข้อกล่าวหาที่ฟ้องไว้ครั้งแรกว่า มีข้อหาร่วมมียาเสพติดเพื่อจำหน่ายด้วย แต่ทั้งนี้ตามขั้นตอนต้องรอให้อัยการคดีศาลสูงสุดพิจารณาและมีความเห็นในชั้นสุดท้ายด้วย ส่วนข้อกล่าวหาของแฟนหนุ่มอดีตดาราสาว เมื่อศาลมีคำพิพากษาครบตามข้อกล่าวหาซึ่งจำเลยนั้นก็ได้รับสารภาพจึงอาจไม่ต้องยื่นอุทธรณ์อีก อย่างไรก็ดี การที่อัยการเจ้าของสำนวนในชั้นต้นมีความเห็นควรให้อุทธรณ์ในส่วนของเอมี่นั้น ไม่ใช่เรื่องที่เกิดจากกรณีนายอัจฉริยะเข้าร้องเรียน และไม่ใช่จากกระแสสังคม แต่อัยการพิจารณาจากคำพิพากษาและประเด็นที่ได้มีการนำสืบในชั้นศาล


ด้าน “นายธรัมพ์ ชาลีจันทร์” รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด กล่าวว่า ตามขั้นตอนหากการพิจารณาอุทธรณ์-ฎีกานั้น สำนักงานคดีศาลสูงจะเป็นผู้พิจารณา หากคดีเอมี่นี้สำนักงานคดีศาลสูงเห็นว่ามีประเด็นต้องอุทธรณ์ก็สามารถยื่นอุทธรณ์ได้เลย แต่หากเห็นว่าไม่อุทธรณ์ก็จะแจ้งให้ตำรวจทราบคล้ายกับขั้นตอนการสั่งไม่ฟ้องคดี และหากตำรวจเห็นว่าควรต้องอุทธรณ์ตามสำนวนสอบสวนส่งมาก็จะเสนอให้อัยการสูงสุดชี้ขาด ซึ่งระหว่างนี้หากยังยื่นอุทธรณ์ไม่ทันเวลา 1 เดือนนับแต่วันอ่านคำพิพากษาตามกฎหมายก็ต้องยื่นขอขยายเวลาต่อศาลซึ่งไม่มีข้อจำกัดจำนวนวัน และจำนวนครั้งที่ยื่น แต่เป็นไปตามเหตุความจำเป็น และเป็นดุลยพินิจของศาลว่า จะอนุญาตให้ขยายเวลาหรือไม่ กี่วัน ถ้าศาลเห็นว่าขยายเวลาเนิ่นนานเกินไปแล้วก็อาจจะไม่อนุญาต ก็จะต้องยื่นอุทธรณ์ภายในเวลาที่กำหนด


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ระหว่างการพิจารณาจะยื่นอุทธรณ์คดีในส่วนของอดีตดาราสาวเอมี่หรือไม่นั้น ที่ผ่านมาเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 27 ก.ย. พนักงานอัยการได้ยื่นคำร้องขอขยายเวลาการยื่นอุทธรณ์ต่อศาลจังหวัดมีนบุรีแล้ว ซึ่งศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ขยายเวลาได้อีก 30 วัน โดยให้ยื่นอุทธรณ์ไม่เกินวันที่ 28 ต.ค.นี้


ขณะที่ในส่วนของเอกสารหลักฐานที่นายอัจฉริยะ นำมาแสดงเพิ่มเติมให้กับอัยการ มีรายงานแจ้งว่า ปรากฏว่าเป็นภาพบุคคลซึ่งนายอัจฉริยะได้ตรวจสอบเองด้วย โดยบุคคลตามภาพถ่ายนั้นเป็นชาย อายุปรากฏตามภาพประมาณ 50 ปี สวมเสื้อที่กระเป๋าเสื้อพิมพ์ตราสำนักงานอัยการสูงสุด โดยไปปรากฏตัวยังเรือนจำและสถานีตำรวจ ซึ่งอัยการได้ร่วมตรวจดูแล้วเห็นว่าไม่ใช่พนักงานอัยการ